วัฒนธรรมแถน (๕) ปู่แถน ย่าแถน

.๑ ปู่แถน ย่าแถน ล้านนา

บางท่านอาจจะเข้าใจว่า ความเชื่อเรื่อง “แถน” (ผีฟ้า) เป็นคติความเชื่อของ ชาวอีสาน-ลาว เท่านั้น ความจริงไม่ใช่ ดังที่ข้าพเจ้าได้เล่าเรื่อง “พญาแถน” ในคติความเชื่อของชาวไทหลวง (ไทใหญ่) ไทอาหม ฯลฯ ไปแล้ว

บทความต่อไปนี้จะขอยกตัวอย่างคติความเชื่อเกี่ยวกับ “แถน” ในล้านนา เท่าที่ค้นหามาได้ ซึ่งก็ยังมีจำนวนน้อย ทั้ง ๆ ที่วัฒนธรรมชาวบ้านล้านนามีเรื่องเกี่ยวกับ “วัฒนธรรมแถน” มาก เพียงแต่ยังมีนักวิชาการสนใจรวบรวมศึกษาวิจัยกันน้อย

เรื่องแรกขอนำเสนอบทความของ “สถาบันวิจัยสังคม” เรื่อง “ปู่แถน ย่าแถน” จากเว็บไซต์ http://www.sri.cmu.ac.th/~elanna/lannachild/scripts/tale/folktale/nitan_folk_puteanyatean.html ดังต่อไปนี้

ปู่แถน ย่าแถน

“นิทานที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นนิทานที่คนเฒ่าคนแก่เล่ากันมาจนถึงปัจจุบันนี้ มันก็มีว่าคนภาคเหนือหรือคนล้านนาเรานี้เขาว่า การที่คนเรานั้นทำอะไรไม่สำเร็จหรือว่าเกิดป่วยเป็นนั่น ๆ นี่ ๆ ทำอะไรก็ล้มเหลวนั้นเขาว่าเกิดจากการที่ปู่แถนย่าแถนนั้นแช่งให้เป็น บางครั้งก็มีการส่งแถนหรือว่าทำเครื่องพลีกรรมส่งให้แถนเพื่อให้เคราะห์ภัยต่าง ๆ นั้นหายไป

ปู่แถนย่าแถนนี้เป็นเทพองค์หนึ่ง คืออยู่ในพิภพโลกเรา ไม่ใช่อยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้าอะไร ปู่แถนนี้ก็อยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ถ้ำนั้นวิจิตรด้วยแก้วเจ็ดประการ งามหาที่สุดไม่ได้ ทีนี้ปู่แถนจะเป็นผู้แบ่งบุญแบ่งบาปแบ่งกรรมก่อนที่คนจะลงมาเกิด จะต้องไปรับเอาที่ถ้ำแก้วเจ็ดประการนั้นใครที่สร้างบุญสร้างบาปมาก็จะไปรับเอาที่นั่น ปู่แถนย่าแถนมีหน้าที่จำหน่ายจ่ายแจกแบ่งบุญบาปแบ่งกรรมให้

เรื่องมันก็มีอยู่ว่า ชายสองคนพ่อแม่ตายมาตั้งแต่ยังเล็ก ๆ ทีนี้ก็อยู่ด้วยกันมารับจ้างเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย จนอายุได้ ๒๐ ปี ทั้งสองคนนั้นก็มาเจรจากันว่า

“เอ้อ เราเกิดมาพ่อแม่ก็ไม่มี เข้าของมรดกอะไรก็ไม่มี เกิดมาทุกข์ยากแท้หนอ เราจะทำอย่างไรกันดี ยิ่งคิดก็ยิ่งน้อยใจตัวเองเนาะ”

อีกคนหนึ่งก็ว่า

“โอ ปล่อยไปตามเรื่องตามราวมันเถอะ”

อีกคนก็ว่า

“อยู่ไปอย่างนี้ไม่ได้ อายบ้านอายเมืองเขาเขามีกันเราไม่มี”

ทีนี้ชายคนที่คิดหนักนั้น ตกกลางคืนมาก็แอบหนีเข้าป่าเป็นเวลานานมาก จนชายผู้นี้ไม่รู้วันเวลาว่าเปลี่ยนไปถึงไหนยังไงแล้ว เขาก็ได้แต่เดินทางไปเรื่อยจนไปถึงถ้ำทองที่หนึ่ง ซึ่งเป็นที่สถิตอยู่ของปู่แถนหรือท้าวพระยาแถน ชายหนุ่มก็เห็นสุพรรณรังสีรัศมีแห่งแสงแก้วเจ็ดประการนั้นงามตาจึงได้เดินเข้าไปดูให้รู้ว่าเป็นแสงอะไร

“ไหน ๆ กูก็จะมาตายละไม่กลับไปอีก ถึงเสือจะกินช้าง ๆ จะกินหมี ๆ จะกินช้าง กูก็ไม่กลัวกูยอมตายละ ขอเข้าไปเห็นให้มันถึงซักทีซิ”

มันก็เดินเข้าถ้ำไป ถ้ำนั้นเป็นที่เจริญหูเจริญตา พื้นปูด้วยพรมประดับด้วยแก้วเจ็ดประการผนังประดับประดาไปด้วยแก้วทั้งเจ็ดประการชายหนุ่มก็เดินไปพบกับพระยาแถนที่นั่งอยู่บนบัลลังก์แก้ว เมื่อชายหนุ่มเห็นดังนั้นเขาจึงยกมือขึ้นไหว้พระยาแถนแล้วกล่าวว่า

“ข้าแด่ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นใครมาจากไหน ท่านมาทำอะไรอยู่ที่นี่เหรอ”

พระยาแถนก็ว่า

“เอ่อ เรานี้ชื่อว่าท้าวพระยาแถน พระพรหมส่งให้เรามาอยู่นี่ เราเป็นผู้แบ่งบุญแบ่งบาปแบ่งกรรมให้คนที่จะไปเกิดในโลกมนุษย์ ไปเกิดเป็นคนจะต้องมาจากที่นี่ไป”

พระยาแถนนี้หากว่าใครจะไปเกิดนั้น ท่านจะขีดเส้นบนมือทั้งสองของผู้ที่จะไปเกิดยังโลกมนุษย์ หมอโหราจารย์ทั้งหลายก็จะดูที่เส้นบนมือคนเรานี้แล้วทำนายทายทักไปตามนั้น

ทีนี้ชายคนนั้นก็ถูกถามว่า

“เรามาที่นี้เคืองใจอะไรรึเปล่า”

“ไหว้สาเจ้า ข้าอยู่ในโลกมนุษย์นั้นทำอะไรต่าง ๆ นานา ก็ไม่มีไม่เจริญรุ่งเรืองเหมือนกับคนอื่นเขา ข้าก็อยากจะรู้ว่ามันเพราะสาเหตุอันใดข้าก็หมายจะมาตายให้รู้แล้วรู้รอดไป”

พระยาแถนก็ว่า

“ช้าก่อนใจเย็น ๆ ไว้ ข้านี้เป็นท้าวแถนที่จะประสิทธิ์ประสาทพรให้ แต่ว่าจะประสิทธิ์ประสาทให้นั้น คนที่ได้รับพรจะต้องได้สร้างบุญกุศล สร้างคุณงามความดีมาแต่ชาติปางก่อนจึงจะได้สำเร็จ ไม่ใช่ว่าคนทุกข์เลี้ยงให้สุข คนสุขเลี้ยงให้ทุกข์ อย่างนี้ไม่ใช่ เจ้ามีความประสงค์อันใดบ้าง”

“เออ… ข้านี้ก็… หนึ่งขอให้ได้เป็นมหาเศรษฐีมีเงินทองช้างม้าเหมือนเศรษฐีทั้งหลายและสองขอให้ได้ลูกได้เมียที่งาม เท่านี้ก็พอละ”

“เอาเท่านี้หรือ”

ทีนี้ท้าวพระยาแถนก็สร้างเมียก่อน ท่านก็เอาด้ายสามสิบสองเส้น แต่ละเส้นมีสามสิบสองสีเอาผูกรวมกัน เอาด้ายแต่ละเส้นไปผูกข้อมือนางต่าง ๆ ไว้ในถ้ำไม่ให้เห็น ด้ายแต่ละเส้นนี้มัดข้อมือนางต่าง ๆ เอาไว้ นางงามที่สุดก็มี ไม่งามก็มี ฟันหลุดร่วงก็มี เฒ่าแก่ก็มี แล้วท่านก็บอกชายหนุ่มว่า

“ถ้าว่าเจ้านี้มีบุญมาก่อนก็จะได้เลือกเอาว่าจะได้เมียงามหรือไม่ แต่ละเส้นจะมีนางต่าง ๆ อยู่ คนงามนั้นมีเพียงหนึ่ง เราให้เวลาเลือกสามวัน”

ชายหนุ่มก็เลือกเอาเต็มที่ ครบสามวันก็เอามาเส้นหนึ่ง พระยาแถนก็บอกว่า

“ให้เจ้าสาวเดินตามด้ายนี้ไปนะ”

ชายหนุ่มก็สาวเข้าไปเรื่อย ๆ ไปพบกับนางผู้หนึ่ง เป็นนางงามหาที่เปรียบไม่ได้ ท้าวแถนก็กล่าวว่า

“อันนี้ตัวโบราณกรรมนะ อันชาติที่แล้วได้รักษาศีลห้าศีลแปดจะได้เมียงาม เอ่อ ได้เมียงามแล้วนะ ยังเหลือข้าวของสมบัติ”

ท้าวแถนก็เอาเครื่องชั่งมา

“เอ้า…เจ้าขึ้นชั่งน้ำหนักซิ เจ้ามีน้ำหนักเท่าไหร่ เราจะเอาให้เท่านั้นนะ”

ชายหนุ่มก็ขึ้นชั่ง พญาแถนก็คิดคำนวณดูว่าเท่าไหร่แล้วก็บอกกับชายคนนั้นว่า

“โอ ข้าวของที่เราเก็บไว้ห้าพันพรรษา เราก็จะได้มอบให้เจ้า เจ้านี่ชาติก่อนได้สร้างบุญไว้มากมายนัก ชาตินี้เจ้ามาขนเอาของ ๆ เจ้ากลับไป”

ชายหนุ่มคนนี้ก็ขนทรัพย์สมบัติกลับไปบ้านตนเองพร้อมกับจูงเมียสาวงามกลับไปด้วยทีนี้สหายสนิทก็มาหาชายคนนี้ที่บ้าน ก็มาเห็นทรัพย์สมบัติพร้อมกับเมียที่งามงดก็เลยเอ่ยถามเพื่อนตนว่า

“นี่สหาย เจ้าไปเอาทรัพย์สมบัติช้างม้าวัวควาย ทรัพย์สิ่งของเหล่านี้มาจากไหน พร้อมกับได้สาวงามปานนางฟ้านี้ได้มาอย่างไร”

ชายหนุ่มก็บอกตามที่เป็นมานั้น มันก็ไปที่ถ้ำทองท้าวแถนอยู่นั้น มันก็ไปหาพระยาแถนทำเหมือนที่สหายของตนนั้นบอกทุกอย่าง พระยาแถนก็บอกว่า

“เออ มีแก้วแหวนแสนสิ่งให้ แต่ว่าการที่จะให้นั้น สุดแต่เจ้านั้นได้สร้างวาสนามานะ จะให้มากให้น้อยนั้นเราไม่รู้ แล้วแต่บุญที่เจ้าทำมาตั้งแต่ชาติปางก่อนนะ เอ้า…จะเอาอะไรก่อน”

“ผมจะเอาเมียก่อนครับ”

พระยาแถนก็เอาด้ายมาให้เลือกเช่นเดียวกับชายคนแรก ชายคนที่สองก็เลือกเอาอย่างจริงจังจนครบสามวัน ชายคนที่สองนั้นก็สาวด้ายมาดู ชายคนที่สองนั้นถึงกับตะลึงในความงามของนางอย่างหาที่สุดไม่ได้

ทั้งฟันเหยินแถมบางซี่ร่วงด้วย ผิวนั้นเหมือนกับน้ำป่าที่ไหลหลากจากดอยและเหลือซากเอาไว้ ขาทั้งสองข้างไม่เท่ากันอีกต่างหาก ตาของนางนั้นเป็นประกายวาวแววแต่ตาดำทั้งสองข้างมารวมกันที่หัวตา หูดั่งช้างสาร รูจมูกเหมือนกับถ้ำคูหาทองแห่งนี้ที่กว้างโอ่โถง อ้วนต่ำเนื้อแน่นเหมือนโคถึก ชายคนที่สองนี้หันมาหาพระยาแถนทันทีแล้วกล่าวว่า

“ทำไมของเพื่อนผมนั้นถึงสวยปานนางฟ้าอย่างนั้นนะ”

“อันนั้น เขาได้รักษาศีลห้าศีลแปด เขาได้เมียงามเขามีวาสนาดี ส่วนเจ้ามันมาเท่านี้แหละอันนี้ตัวโบราณกรรมของเจ้า ชาติก่อนเจ้าได้ถวายทานข้าวเย็นแกงบูดมา พวกเจ้าได้มาเจอกันก็ยอมรับกันไปเสียเถอะ”

“แล้วเงินทองละท่าน”

“จะเอาเงินทองด้วยเหรอ”

พญาแถนก็ให้ชายคนนี้ขึ้นนั่งบนตาชั่งแล้วก็เอาแก้วแหวนเงินทองเข้าถ่วงอีกด้าน เมื่อเอาแก้วแหวนเงินทองขึ้นวางเครื่องชั่งก็เด้งอีกด้านขึ้นชายคนนี้เกือบจะกระเด็น เมื่อพญาแถนถ่วงดูน้ำหนักอย่างนั้นแล้วก็เอาทองแก้วแหวนออกทีละนิดเพื่อที่จะได้ถ่วงและสมดุลกันกับชายคนนี้ หยิบออก ๆ จนพญาแถนเอ่ยขึ้นว่า

“โอ้ ทำไมมันเบาเช่นนี้เนี่ย”

“ทำไมเราได้ทรัพย์สินเงินทองน้อย ๆ ๆ ๆ จังละท่าน เพื่อนของเรานั้นทำไมมันได้มาก ๆ ๆ ๆ ขนาดนั้นละ ท่านลำเอียงรึเปล่า”

“เจ้านี่เมื่อชาติปางก่อนนั้นไม่ได้สร้างคุณงามความดี ไม่ทำตนให้เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง ไม่ทำบุญเข้าวัดเข้าวาฟังพระธรรมคำสอนเห็นแก่ตัว ชอบลักขโมยของคนอื่นเขา ลักเล่นชู้สู่เมียท่าน ส่วนของเจ้าที่ได้นั้น เอ้า…เอาไปทองคำได้เท่าบุญที่เจ้าสั่งสมมานะ ขนาดเท่าเม็ดผักกาดเนี่ย”

นิทานเรื่องนี้ก็สอนให้รู้ว่า เห็นคนอื่นมั่งมีก็อย่าได้อย่าโลภเอาของเขา เห็นคนอื่นตกต่ำก็อย่าได้ดูหมิ่นดูแคลนเขา”

นิทานเรื่องนี้ แถน ที่อยู่ในถ้ำแก้วเจ็ดสีนี้ แม้จะทำหน้าที่คล้าย แถนแนน (เทียบให้คนสมัยนี้เข้าใจง่าย ๆ คือ ทำหน้าที่กำหนดชะตาชีวิตของคน อย่างที่คนไทยทั่วไปใช้คำว่า พรหมลิขิต ) แต่ก็มิได้เล่าอะไรเกี่ยวกับเรื่องของตัวพญาแถนเองเลย ส่วนเนื้อเรื่องที่เน้นเรื่องการทำบุญกุศลในชาติปางก่อน ก็ดูโน้มเอียงมาทางศาสนาพุทธมาก ข้าพเจ้าจึงคิดว่าเป็นนิทานเรื่อง แถน ในชั้นหลัง ๆ หลังจากที่คนไทดึกดำบรรพ์ได้รับวัฒนธรรมพุทธศาสนาแล้ว.

Related Posts

อายหลาวก๊ก 哀牢国
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com