ตามรอยจาริกหลวงปู่มั่น จากอีสานสู่ล้านนา

ตามรอยจาริกหลวงปู่มั่น จากอีสานสู่ล้านนา

“อย่าลดละท้อถอยความเพียร ธรรมเป็นสมบัติกลาง และเป็นสมบัติของทุกคนที่ใคร่ต่อธรรม พระพุทธเจ้ามิได้ผูกขาดไว้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ต่างมีสิทธิครอบครองเป็นเจ้าของได้ด้วยการปฏิบัติดีของตนด้วยกัน” 

(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

นับเป็นเรื่องน่าปีติยินดี เมื่อองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “ยูเนสโก” ประกาศยกย่องหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นบุคคลสำคัญของโลกในวาระ ๑๕๐ ปีชาตกาล พ.ศ. ๒๕๖๓ นับเป็นพระอริยสงฆ์รูปที่สามของประเทศไทยที่ได้รับการยกย่อง นับตั้งแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส และท่านพุทธทาสภิกขุ

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต คือหนึ่งในพระวิปัสสนาจารย์สำคัญของไทย เป็นผู้มีปฏิปทาสันโดษ มักน้อย แสวงหาความวิเวก และมีความเพียรตั้งแต่วันแรกบรรพชา – อุปสมบทจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เป็นพระเถรานุเถระสายวิปัสสนากรรมฐาน ที่พุทธศาสนิกชนให้ความเคารพนับถือ นามของท่านได้รับการกล่าวถึงทั้งในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จวบจนละสังขารขันธ์ไปแล้ว ด้วยท่านเป็นผู้นำในการฟื้นฟูวงการพระพุทธศาสนาของประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง

คนส่วนใหญ่รับรู้ว่าท่านเป็นบูรพาจารย์ของพระป่าสายอีสาน ทว่าท่านยังจาริกสู่แผ่นดินล้านนา ในช่วงพุทธศักราช ๒๔๗๑ ขณะมีสมณศักดิ์เป็น “พระครูวินัยธร” (มั่น ภูริทตฺโต) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหารวัดสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ท่านจำใจรับตำแหน่ง เพราะเห็นแก่พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ซึ่งกำลังอาพาธ ทั้ง ๆ ที่หลักคิดในใจท่านคือ

สกฺกาโร ปุริสํ หนฺติ ลาภสักการะฆ่าบุรุษให้ตาย เพราะมัวเมาในลาภยศ แล้วการปฏิบัติต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ จมลงทุกที ในที่สุดก็เกิดการฆาตกรรมตัวเอง คือเอาแต่สบาย ไม่มีการบำเพ็ญกรรมฐานให้แก่กล้ายิ่งขึ้น

ดังนั้นเมื่อออกพรรษา ท่านจึงสละตำแหน่งเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์ แล้วออกธุดงค์วิเวกตามป่าเขาในภาคเหนือเป็นเวลานานถึง ๑๒ ปี

ช่วงเวลาหนึ่ง ท่านออกจาริกไปพำนัก ณ ป่าช้าร้างติดกับสวนเจ้าสบาย เขตพระตำหนักดาราภิรมย์ของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเป็นสถานที่สงบ เป็นสปายะในการบำเพ็ญกรรมฐาน และมีพระสงฆ์ได้เข้ามาบำเพ็ญกรรมฐาน ณ ที่แห่งนี้ เมื่อชาวบ้านในละแวกนั้นเห็นแล้วเกิดศรัทธา จึงร่วมกันสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ถวายเพื่อให้คณะสงฆ์ได้ใช้ในกิจการสงฆ์

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๔ เจ้าลดาคำ ณ เชียงใหม่ ทายาทของเจ้าดารารัศมี พระราชชายาได้ถวายที่ดินดังกล่าว ซึ่งอยู่ในเขตพระราชฐานพระตำหนักเจ้าดารารัศมีให้แก่วัด จึงมีการเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ นามว่า “วัดป่าดาราภิรมย์” เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

ปัจจุบัน ยังปรากฏร่องรอยของหลวงปู่มั่นที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร คือวิหารไม้ พุทธศิลป์ล้านนาอันวิจิตรตา สร้างอุทิศถวายหลวงปู่มั่นภูริทตฺโต สะท้อนศรัทธาของชาวล้านนาที่มีต่ออริยสงฆ์รูปนี้ ในขณะที่วัดป่าดาราภิรมย์ได้รับพระบรมราชานุญาตยกฐานะให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ที่มีพุทธศิลป์งดงามตระการตายิ่งนัก

แม้วันนี้จะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต เมื่อ ครั้งหลวงปู่มั่นจาริกมาธุดงค์ ทว่า หลักธรรมคำ สอนของท่านยังก้องกังวานบนแผ่นดินล้านนา แห่งนี้ไม่เสื่อมคลาย

ใครเพียร ใครอาจหาญ ใครอดทน ในการต่อสู้กับกิเลสตัวฝืนธรรมอยู่ตลอดเวลา ผู้นั้นจะเจอร่มเงาแห่งความสงบเย็นใจในโลกนี้ ในบัดนี้และในดวงใจนี้  (หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

อ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ภายในวิหารหลวงปู่มั่น ที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่วัดป่าดาราภิรมย์ ซึ่งหลวงปู่มั่นเคยจาริกมาธุดงค์ตั้งแต่ ครั้งยังเป็นป่าช้าร้างวิหารไม้ ณ วัดเจดีย์หลวง สร้างอุทิศถวายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

****

คอลัมน์ ห้องศิลป์อีศาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๘ ฉบับที่ ๙๔ | กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ตอนที่ 3 จากตำนานสู่สถานการณ์จริง
มรดกวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน
ปิดเล่ม ทางอีศาน 94
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com