[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

ภาพปราสาทหินพิมายก่อนการบูรณะ ที่มา: พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย

จากเส้นทางตามหานางอรพิม และเส้นทางขันหมาก ที่กล่าวไปในตอนก่อนหน้านี้ ผู้อ่านคงได้เห็นถึงเมืองต่าง ๆ ที่มีความสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งเป็นที่อยู่อาศัยที่เคยรุ่งเรืองในอดีตและซบเซาในปัจจุบัน ทั้งในแง่ประวัติศาสตร์ การเดินทางติดต่อค้าขาย และการสัญจรระหว่างญาติพี่น้อง

กลุ่มเส้นทางอีกกลุ่มหนึ่งคือ เส้นทางการหนีของปาจิตและอรพิม หลังจากที่ได้สังหารท้าวพรหมฑัต ซึ่งลักพาตัวนางอรพิมมาที่เมืองพิมายแล้ว โดยตำนานกล่าวว่านางอรพิมได้มอมเหล้าพรหมฑัต แล้วปาจิตซึ่งได้รับการต้อนรับจากพรหมฑัตอย่างดี เนื่องจากคิดว่าเป็นพี่ชายของนางอรพิม ได้สังหารพรหมฑัตเสีย แล้วทั้งสองจึงต้องรีบเดินทางออกจากเมืองพิมาย เดินทางต่อไปยังบ้านยาง โนนตำหนัก บ้านนางออ นางโท นางรำ นางรอง ทุ่งกระเต็น และพลัดพรากจากกันไปอีกหลายปี ในกลุ่มเส้นทางนี้ เป็นเรื่องเล่าจากชาวบ้านที่มีความเชื่อว่าชื่อบ้านนามเมืองของตน โบราณสถาน และภูมิทัศน์ในละแวกบ้าน เกี่ยวเนื่องกับตำนานเรื่องนี้

กำเนิดเมืองพิมาย

เมืองพิมายเป็นเมืองโบราณ จากตำนานเชื่อว่า เป็นเมืองที่มีกำเนิดมาจากตอนที่นางอรพิมซึ่งถูกลักพาตัวมาอยู่ในเมืองพาราณสี ได้พบกับพระปาจิต ที่ได้เข้ามาช่วยพาหนีจากท้าวพรหมฑัต เมื่อเห็นปาจิตจึงตะโกนว่า “พี่มาเมือง” เพื่อให้ท้าวพรหมฑัตคิดว่า ปาจิตเป็นพี่ชายของตน และเพี้ยนเป็น “เมืองพี่มา” เมื่อออกเสียงสำเนียงคนพิมาย ก็จะได้ว่า เมืองผี่ม่า ลากเสียงยาว เรียกต่อ ๆ กันมานานจึงแผลงเป็นเมืองพิมายในที่สุด ดังเช่นใน “ตำนานเมืองพิมาย” สมัยกรุงธนบุรีบันทึกไว้ว่า

จึงกล่าวว่าเทวดาท่านบอกไว้

เมืองพิมายเดิมชื่อเมืองพาราณสี

เพิ่งมาเปลี่ยนเพี้ยนเรียกเอาดิบดี

เมื่อปาจิตพระจักรีกับอรพิม

เดิมปาจิตนั้นมาได้นางพิมก่อน

พระเนื้ออ่อนคืนไปเมืองโดยปัจฉิม

อยู่ภายหลังพรหมฑัตทำวุมวิม

ไปเอานางอรพิมมาเป็นเมีย

โฉมพระปากลับมาครั้นรู้เรื่อง

ให้แค้นเคืองพรหมฑัตประดาเสีย

ในอกร้อนเหมือนหนึ่งไฟประลัยเลีย

พระมุ่งหมายจะเอาเมียนั้นคืนมา

จักรพงศ์ตรงเข้าพระราชฐาน

แม่นงคราญแลเห็นพระเชษฐา

จึงร้องทักออกประจักษ์ว่าพี่มา

ชาวพาราลือสะท้อนขจรเมือง

แต่นั้นมาชาวพาราพากันเรียก

นำสำเหนียกลือเล่าเป็นราวเรื่อง

ให้นามเมืองชื่อว่าพี่มาเมือง

ทุกคนเนื่องเรียกเป็นเรื่องเมืองพี่มา

ที่เกิดใหม่ชายหญิงไม่รู้เรื่อง

เรียกนามเมืองผิดกันนั้นหนักหนา

เมืองพี่มาก็มาเพี้ยนเปลี่ยนวาจา

ทุกคนว่าเรียกเป็นเรื่องเมืองพิมาย

(กรมศิลปากร ๒๕๓๓ : ๖๓)

ในขณะที่ ธิดา สาระยา กล่าวว่า พิมาย นั้นมาจากคำในจารึกภาษาสันสกฤต “กมรเตงชคตวิมาย” ที่อยู่กรอบประตูปราสาทหินพิมาย ซึ่งหมายถึง พระวิมายอันเป็นเทพเจ้าแห่งจักรวาล นอกจากนั้นชื่อเมืองพิมายก็ได้ปรากฏไปในจารึกของเขมรอยู่หลาย ๆ แห่ง และนอกจากนั้น ยังมีชื่อ เมืองวิมาย และภีมปุระ และยังมีการบันทึกถึงเส้นทางเดินทางระหว่างเมืองพระนครถึงเมืองพิมาย หรือเส้นทางราชมรรคา ซึ่งมีร่อยรอยของอโรคยศาลา และที่พักคนเดินทางไว้ตลอดระยะทาง ความรู้ทางศาสตร์โบราณคดีนั้นจึงมีที่มาต่างจากชื่อในตำนาน ที่คนในท้องถิ่นได้เล่าต่อ ๆ กันมา

เมืองพิมายและเมืองพระนครมีการติดต่อค้าขายสืบสานมาได้ตั้งแต่อดีตกาล คนพิมายเก่า ๆ มักเล่าถึงขบวนเกวียนที่มีการนำเกลือไปแลกสินค้ามาจากโตนเลสาบ หรือทะเลสาบที่อยู่ในเขตพระนครของกัมพูชา แล้วนำปลาจากโตนเลสาบกลับมา โดยแปรรูปเป็นปลาแห้ง หรือหมักปลาร้ากลับมาขายตามทาง บางครั้งก็ยังไม่กลับบ้านที่พิมาย แต่เปลี่ยนเส้นทางไปยังภาคกลางหรือกรุงเทพมหานครแทน เพื่อนำสินค้าที่ได้แลกเปลี่ยนมาไปขาย เมื่อขายหมดแล้วคาราวานเกวียนจึงเดินทางกลับบ้าน

เกวียน จากบันทึกการเดินทางของ Smyth จากหนองคายไปโคราช พ.ศ. ๒๔๓๘ภาพปราสาทหินพนมวัน ก่อนการบูรณะ ที่มา: McCarthy พ.ศ. ๒๔๔๓

ตำนานสร้างปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินพนมวัน

นอกจากตำนานการสร้างเมืองพิมายจากตำนานปาจิตอรพิมแล้ว ตำนานสร้างเมืองพิมายก็ยังมีคู่กับการสร้างปราสาทหินพนมวัน ด้วยเหตุที่ว่าเป็นโบราณสถานที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันในสายตาของชาวบ้าน และยังอยู่ไม่ไกลจากกันนัก ภาพปราสาทที่มีแต่ซากปรักหักพังก่อนการบูรณะจากกรมศิลปากร ทำให้เกิดจินตนาการเรื่องเล่า

ตำนานการสร้างปราสาททั้งสองนั้นมีอยู่ว่าเทวดาทั้งหญิงและชาย ต่างก็สร้างเมืองขึ้นคนละแห่ง จึงคิดหาวิธีที่จะสร้างเมืองขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยการแข่งขันกัน ฝ่ายหญิงนั้นสร้างปราสาทหินพิมาย ส่วนฝ่ายชายสร้างปราสาทหินพนมวัน โดยมีกติกาคือใครสร้างเสร็จก่อนให้ชักโคมขึ้น ด้วยลักษณะที่ปราสาทหินพิมายมีความสมบูรณ์มากกว่า จึงเกิดเรื่องราวว่า ฝ่ายหญิงต้องการเป็นฝ่ายชนะ จึงคิดกลวิธีชักโคมขึ้นก่อนทั้ง ๆ ที่ฝ่ายตนยังสร้างปราสาทไม่เสร็จ ฝ่ายชายคิดว่าพ่ายแพ้จึงหลบหนีไป ฝ่ายหญิงจึงสร้างปราสาทและเมืองพิมายต่อไปเรื่อย ๆ จนเสร็จสมบูรณ์

เทวดาองค์หนึ่งจึงกล่าวว่า

เราอย่าช้าโยงโคมขึ้นไว้ก่อน

จึ่งทำแต่งจนสายแสงทินกร

อย่าย่อหย่อนยอมเขาชาวเรา

แล้วตามไฟใส่โคมขึ้นแขวนไว้

เทพไทผู้นั้นโฉดเขลา

เห็นโคมโยงแดงเป็นแสงวาว

นึกสำเนาว่าจะแพ้เขาแน่นอน

ไม่อยู่ช้าพากันหนีไปแซ่แซว

จึ่งสร้างปรางค์นั้นไม่แล้วเป็นครึ่งท่อน

เรียกว่าวัดพนมวันชาวนิกร

เอาสิงขรเข้ามาตั้งเป็นนาม

(กรมศิลปากร ๒๕๓๓ : ๑๒)

 

ดังนั้นปราสาทหินพนมวัน จึงดูเล็กกว่าปราสาทหินพิมาย และได้รับการบูรณะสมบูรณ์ไปไม่นานมานี้ แต่ตลอดมาที่คนท้องถิ่นเห็นคือมีวัดและพระสงฆ์อยู่ในปราสาทหินพนมวันทำให้มีโบราณวัตถุที่เป็นพระพุทธรูปหลงเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก และทำให้ชาวบ้านผู้เล่าได้บันทึกไว้ว่าเป็นวัดพนมวัน

เมืองพิมายที่เทวดาฝ่ายหญิงช่วยกันสร้างนั้นจึงมีความสมบูรณ์กว่าพนมวัน โดยกลอนในสมัยธนบุรีนั้นได้บรรยายไว้โดยละเอียด โดยบรรยายลักษณะทางกายภาพของสถาปัตยกรรมที่ชาวบ้านมองเห็นจากซากปรักหักพัง โดยบรรยายฉากการสร้างปราสาทที่ทำด้วยหินดังนี้

เทวดาครั้นลงมาถึงพื้นภพ

ต่างอพยพชวนกันเข้าแห่โหม

บ้างชักเส้นขึงขันเป็นการโรม

โครมโครมขนถมลุ่มตํ่าทำได้ดี

ที่เนินสูงเกลียวปราบให้ราบเลี่ยน

สะอาดเตียนผ่องใสวิไลศรี

ดูราบรื่นพื้นสุธาหน้าเภรี

ครั้นดิบดีแล้วเอาดินมาบนวาง

ทำเป็นแผ่นแน่นหนาสักห้าศอก

ประกอบทายาพอกทุกแผ่นขวาง

อธิษฐานจงบันดาลขึ้นไว้วาง

บุญได้สร้างจงมาช่วยข้าด้วยแรง

อันดินดานต้องพิษฐานเทพเจ้า

ก็กลับเข้าเป็นหินศิลาแข็ง

 

ผู้เล่าได้เล่าถึงการสร้างองค์ปรางค์ที่มีการแกะสลักลวดลายรอบองค์ปรางค์ รวมทั้งระเบียงรอบปราสาท ประตูทั้งสี่ด้าน

โลกสมมติว่านิมิตด้วยฤทธิ์แรง

จึ่งจัดแจงก่อบรรจงเป็นทรงปรางค์

ทำเป็นยอดสอดใส่บายฉลัก

เหลี่ยมนั้นย่อก่อเป็นพักตร์พุ่มกระถาง

ชักเป็นลวดเขียนเป็นลายเลิศสำอาง

จับประจำเห็นกระจ่างเหมือนดอกจันทน์

ที่รอบปรางค์ทำถ้วยถี่มีระเบียง

บริเวณเป็นเฉลียงแลสลัน

มีปรางค์เล็กเหลี่ยมเสลียงขึ้นเคียงกัน

ปรางค์นั้นทำวิถีสี่ประตู

ในเฉลียงเรียงสล้างวางเป็นลวด

บานประตูดูยิ่งยวดสูงเพียงหู

แซะเป็นลวดแกะประจำเหมือนก้ามปู

บานประตูมีประดับสำหรับกัน

บัญชรฉายใส่ประสาธน์สิ้นทุกช่อง

ดูโปร่งปล่องพิศเพียงเวียงสวรรค์

 

ในตอนท้ายบรรยายถึงกำแพงศิลาแลงและสถาปัตยกรรมต่าง ๆ รอบด้าน รวมทั้งสระประจำเมือง สระพลุ่ง สระเพลง สระแก้ว สระขวัญ

มีกำแพงล้อมรอบเป็นขอบคัน

มีสองชั้นกำแพงแก้วแล้วศิลา

ในกำแพงเลิศลํ้าทำเป็นคลัง

เทพสร้างลํ้าเลิศดูเลขา

ทำเป็นวังสร้างเป็นสระปทุมา

สระนั้นเล่าเต่าปลาบรรดามี

แล้วจารึกชื่อสระไว้สำคัญ

ชื่อสระแก้วสระขวัญนามสระศรี

อีกสระเพลงสระพลุ่งบุ่งนัทที

ทำถ้วนถี่ครั้นว่าจะช้าทาง

(กรมศิลปากร ๒๕๓๓ : ๖)

ทั้งหมดที่กวีบรรยายจากคำบอกเล่านั้น ก็แสดงให้เห็นสถานที่ ภูมิทัศน์ และสถาปัตยกรรมเหล่านี้ ได้อยู่คู่กับเมืองพิมายมาช้านาน เรื่องเล่านี้เล่าต่อ ๆ กันมาก่อนที่จะมีการบันทึกเป็นวรรณกรรมกลอนสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งมีอายุจนถึงปัจจุบันก็สองร้อยกว่าปี และในปัจจุบันก็ยังเห็นสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์เหล่านี้อยู่ ซึ่งคนในเมืองพิมายมีส่วนที่จะอนุรักษ์มรดกเมืองและสถาปัตยกรรม จากการเล่าเรื่องราวในตำนานต่อกันไป

ขณะนี้เมืองเก่าพิมายกำลังประสบปัญหาไม่ต่างจากเมืองเก่าอื่น ๆ ที่ย่อมมีความขัดแย้งในเรื่องถิ่นที่อยู่ในการทับซ้อนพื้นที่โบราณสถานเหมือนเป็นผู้บุกรุกโบราณสถาน แต่การอยู่อาศัยมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย และการมีโฉนดที่ดินที่ถูกต้อง ก็ยากที่จะเข้าใจ หรือจัดการได้ ว่าสิ่งใดถูกผิด นอกจากภาครัฐจะมีมาตรการเด็ดขาดในการเพิกถอนโฉนด แต่การกระทำเช่นนั้นก็ย่อมแต่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและชุมชน ซึ่งควรจะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการดูแลโบราณสถานร่วมกับภาครัฐ

ในขณะเดียวกัน หากปราศจากคนในท้องถิ่น หรือชาวบ้านเหล่านี้เมืองพิมายก็ปราศจากชีวิต การที่คนต่างถิ่นเคลื่อนย้ายมาตั้งรกราก ก็เป็นธรรมชาติของคนที่ย้ายถิ่นฐานแต่เมื่อมีการลงหลักปักฐานถาวรแล้ว และมีความรู้สึกว่าถิ่นที่อยู่นั้นคือบ้านของตน ลูกหลานก็ได้เกิดในแผ่นดินใหม่ ซึ่งกลายเป็นแผ่นดินแม่ของลูกหลาน คนในชุมชนทุกคนจึงเกิดความหวงแหนและรักถิ่นฐาน การที่จะจัดการหรือขจัดความคิดของคนในท้องถิ่นให้มีความเชื่อในศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว เปรียบเสมือนการทำลายรากมรดกวัฒนธรรมอันเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ ซึ่งก็คือเรื่องเล่า ตำนาน หรือมุขปาฐะ นั่นเอง

****

บทความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร [๒]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

Related Posts

ฮูปแต้มวัดโพธาราม นาดูน
คน และการเปลี่ยนผ่าน
[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com