ผ้าผะเหวด : บันทึกอีสานบนงานทอ

ใบเสมาสลักภาพเวสสันดรชาดก ขุดพบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ (ภาพจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น)

งานศิลปะที่เป็นการบันทึกเรื่องราวทางศาสนาของชาวสุวรรณทวีปในอดีต ไม่ว่าจะบนหลักหิน หรือบนผืนผ้า ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่นำไปสู่การศึกษาตีความเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนในอดีต ที่ปรากฏเป็นองค์ประกอบอยู่ในงานศิลปะนั้น บนพื้นที่อีสานมีงานศิลปะแห่งศรัทธาที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง คือ ผ้าผะเหวดซึ่งเป็นการบันทึกเรื่องราวในมหาเวสสันดรชาดกลงบนผืนผ้าขนาดยาว ภาพที่ปรากฏไม่ได้มีเฉพาะเหตุการณ์ในชาดก แต่ยังมีการสอดแทรกสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตของผู้คนในยุคสมัยนั้นลงไปด้วยอันเป็นประเด็นที่จะเปิดผ้าม่านกั้งในครั้งนี้

ชาดกบนหลักหิน

การบันทึกเรื่องราววิถีชีวิต สังคมวัฒนธรรม ในยุคก่อนประวัติศาสตร์จะบันทึกเป็นภาพเขียนสีตามบริเวณเพิงผาหน้าถ้ำ เรียกว่า ศิลปะถ้ำ (Cave art) หรือศิลปะบนหิน (Rock art) หมายถึงภาพที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นบนเพิงผา ผนังหิน หรือในถ้ำ ซึ่งนับจาก พ.ศ. ๒๔๖๗ ที่มีการค้นพบศิลปะถ้ำครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน พบแหล่งศิลปะถ้ำกว่า ๑๓๑ แห่งในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ เลย อุดรธานี ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา สกลนคร กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี และมุกดาหาร (กรมศิลปากร, ๒๕๓๒ : ๒๐)

เมื่อผ่านเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ ในช่วงประมาณ พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นต้นมา ได้เริ่มปรากฏการบันทึกเรื่องราวของชาวอุษาคเนย์โดยใช้ตัวอักษรของชาวชมพูทวีป ที่ผ่านเข้ามาพร้อมกับการค้าขายและการเผยแผ่ศาสนา

นอกจากจะพบจารึกอักษรของชาวชมพูทวีปในพื้นที่ต่าง ๆ แล้ว ยังได้เกิดพัฒนาการของอักษรผ่านกาลเวลาที่ยาวนาน จนคลี่คลายมาเป็นอักษรของชาวสุวรรณภูมิเอง

นอกจากนี้ ในดินแดนอีสานยังพบหลักหินที่มีการสลักรูปเรื่องราวทางพุทธศาสนา ซึ่งถูกสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมาเรื่องราวที่ปรากฏบนหลักหินส่วนใหญ่เป็นเรื่องในชาดก อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของหลักหินในเขตภาคอีสานที่แตกต่างจากดินแดนอื่น โดยหลักหินเหล่านี้ถูกใช้ในการทำหน้าที่บอกเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ตามคติการปัก ใบเสมา ในจารีตของพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ที่เป็นร่องรอยการปะทะสังสรรค์ระหว่างการสร้างใบเสมาของพุทธศาสนาเถรวาทจากชมพูทวีป และวัฒนธรรมหินตั้งคติเดิมของศาสนาอุษาคเนย์ในสุวรรณทวีป

ใบเสมาสมัยทวารวดีจำหลักเรื่องในทศชาติชาดกกระจายอยู่ทั่วไป เช่น เวสสันดรชาดก ภูริทัตชาดก ที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ สุวรรณสามชาดก ที่วัดโนนสิลาอาสน์ จังหวัดอุดรธานี พรหมนารถชาดก ที่บ้านกุดโง้ง จังหวัดชัยภูมิ แสดงให้เห็นว่าในแผ่นดินอีสานมีการรับรู้เรื่องราวของทศชาติชาดก มาตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๒

เวสสันดรชาดกสำนวนอีสาน

นิบาตชาดกที่ปรากฏใน ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎกทั้ง ๕๔๗ เรื่อง มีเรื่องที่สำคัญที่ได้รับความนิยมสูงสุดในอุษาคเนย์มาตั้งแต่อดีตคือ เวสสันดรชาดก เรื่องราวของพระเวสสันดรที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ บันทึกในพระไตรปิฎกเป็นภาษาบาลี ยาวถึง ๑,๐๐๐ พระคาถา

จากนิบาตชาดกภาษาบาลีในพระไตรปิฎกโบราณจารย์ได้นำไปรจนาเป็นภาษาท้องถิ่นของตนเองในดินแดนสุวรรณทวีป ทั้งลุ่มแม่น้ำอิระวดี ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำปิง และลุ่มแม่น้ำโขง สันนิษฐานว่าชาวอาณาจักรล้านช้างได้รับเผยแพร่ต้นฉบับมาจากอาณาจักรล้านนา แล้วมีการแต่งเติมบริบทความเป็นล้านช้างเข้าไป จนมีเอกลักษณ์เฉพาะ และต่อมาได้แพร่หลายเข้าสู่แผ่นดินอีสานตามอำนาจทางการเมืองของอาณาจักรล้านช้าง

ชื่อชาดกว่า พระเวสสันดร ออกเสียงตามสำเนียงท้องถิ่นอีสาน-ล้านช้างว่า ผะ – เหวด สัน – ดอน และเรียกจนติดปากอย่างกระชับว่า ผะเหวด

โดยธรรมเนียมของชาวอีสาน – ล้านช้างแล้ว วรรณกรรมที่มีเนื้อหายาว มีฉันทลักษณ์ในการแต่งเป็นร้อยกรอง นิยมนำมาเทศน์หรืออ่านเป็นทำนอง มักเรียกวรรณกรรมเหล่านั้นว่า “ลำ” เช่น ลำสินไซ ลำการะเกด รวมถึงลำผะเหวด ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดรนั่นเอง

เรามักได้ยินเรื่องราวของเวสสันดรชาดกว่ามี ๑๓ กัณฑ์ ๑,๐๐๐ พระคาถา คือ ๑. ทศพร พระอินทร์ประสาทพรทิพย์ ๑๐ ประการ แก่นางผุสดี ก่อนลงมาจุติเป็นพระมารดาของพระเวสสันดร ๒. หิมพานต์ พระเวสสันดรถูกขับไล่ออกจากเมืองสีพีเพราะบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์ ๓. ทานกัณฑ์ พระเวสสันดรแจกสัตตสดกมหาทาน ๔. วนปเวสน์ สี่กษัตริย์เดินทางสู่เขาวงกต ๕. ชูชก ชูชกได้เมียและออกเดินทางไปขอกัณหาชาลีมาเป็นทาส ๖. จุลพล ชูชกหลอกพรานเจตบุตรให้บอกทาง ๗. มหาพล ชูชกหลอกอจุตดาบสให้บอกทาง ๘. กุมาร พระเวสสันดรพระราชทานกัณหาชาลีให้ชูชก ๙. มัทรี นางมัทรียอมร่วมอนุโมทนากับพระเวสสันดร ๑๐. สักบรรพ์ พระอินทร์แปลงมาขอนางมัทรีแล้วถวายคืน พร้อมให้พร ๘ ประการ ๑๑. มหาราช พระเจ้ากรุงสีพีไถ่ตัวสองกุมารจากชูชก ๑๒. ฉกษัตริย์ หกกษัตริย์พบกัน ฝนโบกขรพรรษตก ๑๓. นครกัณฑ์ หกกษัตริย์กลับสู่นครสีพี

แต่ลำผะเหวดสำนวนอีสาน จะมีเนื้อหาพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก ๔ กัณฑ์ โดยเพิ่มตอนต้นเรื่องอีก ๓ กัณฑ์ คือ ๑. สังกาศ เล่าพุทธประวัติ ปัญจอันตรธานจนถึงสิ้นศาสนาใน พ.ศ.๕๐๐๐ ๒. มาลัยหมื่น กล่าวถึงพระมาลัยไปไหว้พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ถามเหตุที่เทวดามีบริวารร้อยตนถึงแสนตน ๓. มาลัยแสน กล่าวถึงพระมาลัยได้พบพระอริยเมตตรัยเทพบุตร และมีเพิ่ม กัณฑ์ฉลอง ตอนท้ายเรื่อง เพื่อบอกอานิสงส์ของการฟังเทศน์

ผ้าผะเหวดบ้านท่าม่วง แบ่งฝั่งซ้ายเป็นเหตุการณ์นอกเมือง ฝั่งขวาเป็นเหตุการณ์ในเมือง มีบันไดนาคเป็นจุดเชื่อมโยง

ผ้าผะเหวด

ในงานบุญผะเหวดของชาวอีสาน นอกจากจะมีการฟังเทศน์ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักแล้ว ยังมีองค์ประกอบของงานบุญที่สำคัญคือ ผ้าผะเหวด

ผ้าผะเหวดเป็นผ้าขนาดยาวไม่น้อยกว่า ๓๐ เมตร หน้ากว้างประมาณ ๘๐ เซนติเมตร เขียนเรื่องราวในมหาเวสสันดรชาดกลงบนผืนผ้าส่วนใหญ่มักเขียนเรียงลำดับเหตุการณ์จากกัณฑ์ทศพรไปถึงนครกัณฑ์ โดยอาจจะมีกรอบคั่นระหว่างแต่ละกัณฑ์ หรือใช้ภาพต้นไม้ หรือภูเขาหรืออาคาร ในการแบ่งภาพแต่ละกัณฑ์

แม้จะไม่มีหลักฐานว่าการสร้างผ้าผะเหวดเกิดขึ้นเมื่อใด แต่จากการที่ปรากฏภาพชาดกสลักบนหลักหินหรือใบเสมาปักรอบศาสนสถานมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นสิ่งยืนยันได้ว่าคติการสร้างภาพชาดกเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมณฑลพิธีศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นมานานแล้วตั้งแต่สมัยทวารวดี และมีพัฒนาการมาสู่การสร้างผ้าบฏ โดยวาดภาพพระพุทธเจ้าบนผืนผ้าที่ยังไม่ยาวนัก จนกระทั่งมีการวาดเรื่องราวจากมหาเวสสันดรชาดกทั้งหมดลงบนผืนผ้าม้วนยาว เกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะกลุ่มในงานบุญผะเหวดลุ่มแม่น้ำโขง ผ้าผะเหวดจะถูกใช้ในกิจกรรมแรกของงานบุญผะเหวด โดยจะมีการแห่ผ้าผะเหวดจากนอกหมู่บ้านเข้ามาแขวนไว้ในหอแจกหรือศาลาการเปรียญ เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นงานบุญผะเหวด ในบางชุมชนจะแห่ผ้าผะเหวดพร้อมกับการแห่พระอุปคุตเข้ามาปกปักรักษางาน

(เรื่อง พระอุปคุตปราบมาร เขียนไว้ในนิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๙๑)

ผ้าผะเหวดยุคจารีต

ผ้าผะเหวดโบราณบ้านท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด น่าจะเป็นตัวแทนของผ้าผะเหวดยุคจารีตที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันลักษณะสำคัญของผ้าผะเหวดผืนนี้คือ การจัดแบ่งช่วงเนื้อหาที่ไม่ได้แบ่งไปตามลำดับเรื่องตั้งแต่กัณฑ์ทศพรไปจนถึงกัณฑ์นคร แต่เป็นการแบ่งผืนผ้าเป็นสองส่วนแล้วจัดวางเนื้อหาภาพให้ฝั่งซ้ายเป็นเหตุการณ์นอกเมืองและฝั่งขวาเป็นเหตุการณ์ในเมือง โดยใช้บันไดนาคเป็นจุดเชื่อมพื้นที่ทั้งสอง

นอกจากเรื่องราวในมหาเวสสันดรชาดกที่มีคำอธิบายด้วยอักษรตัวธรรมและอักษรตัวไทน้อยปะปนกันไปแล้ว ผ้าผะเหวดบ้านท่าม่วงยังมีภาพประกอบที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนอีสานในอดีตไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ ภาพชาวจีน ภาพคนพายเรือ ภาพคนประกอบอาหาร ภาพคนทำนา ภาพการเกี้ยวสาวลงข่วงเข็นฝ้าย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังไม่พบการวาดเรื่องราวในกัณฑ์สังกาศ มาลัยหมื่น และมาลัยแสน แต่จะมีเรื่องราวในอดีตชาติของนางผุสดี ซึ่งไม่พบในผ้าผะเหวดม้วนอื่น เหล่านี้ล้วนเป็นเสน่ห์ที่คนโบราณได้บันทึกไว้บนผืนผ้าเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ติดตามเรียนรู้

ผ้าผะเหวดยุคประชาธิปไตย

ด้วยข้อจำกัดของวัสดุ แม้ว่าผ้าผะเหวดจะถูกนำออกมาใช้เพียงปีละครั้ง แต่ก็ย่อมเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ผ้าผะเหวดที่เหลือให้ศึกษาในปัจจุบันจึงมีอายุราว ๑๐๐ ปีลงมาอย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนับว่าเป็นช่วงระยะเวลาสำคัญที่แผ่นดินอีสานได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยคณะราษฎร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ในขณะที่ม้วนผ้าเป็นสิ่งที่หาได้ง่ายขึ้นจากการเติบโตในภาคอุตสาหกรรม

งานสร้างผ้าผะเหวดในยุคนี้ได้เริ่มปรับตัวจากงานยุคจารีตมาสู่การสอดแทรกเรื่องราวที่เป็นปัจจุบันสมัย เช่น ภาพทหารที่ไม่ได้แต่งกายด้วยเครื่องแบบอย่างโบราณ แต่เป็นการสวมเครื่องแบบอย่างทหารยุคใหม่ รวมไปถึงการใช้ธงไตรรงค์ประดับราชรถเป็นองค์ประกอบในภาพ

นอกจากนี้ในยุคมาลานำไทยในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ได้รณรงค์ให้คนสวมหมวกและนุ่งผ้าถุงแทนการนุ่งโจงกระเบนเช่นในอดีต ได้กลายมาเป็นภาพบันทึกที่ปรากฏอยู่บนผ้าผะเหวดได้อย่างลงตัว สอดรับกับสีสันของภาพที่มีความจัดจ้านของสีเคมีที่เป็นของหาง่ายและท้าทายฝีมือในการวางองค์ประกอบศิลป์ของช่างแต้มที่ต้องปรับตัวกับเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดผลงานที่ตรงกับความประสงค์ของเจ้าศรัทธา และรองรับสาระของมหาเวสสันดรชาดกที่สืบทอดมาจากอดีต

ความส่งท้าย

เรื่องราวรายละเอียดของผ้าผะเหวดแต่ละผืน คงต้องนำมาขยายความเป็นตอน ๆ เฉพาะผืนเป็นลำดับไป เพราะการสอดแทรกเรื่องราวความเป็นปัจจุบันสมัยของผู้แต้ม ลงไปแทรกในเรื่องราวของมหาเวสสันดรชาดกบนผ้าผะเหวดแต่ละผืนนั้น มีความพิเศษเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ครั้งนี้จึงเป็นแต่เพียงเกริ่นนำออกแขกในเรื่องผ้าผะเหวดพอสังเขป สำหรับผู้สนใจจะได้ตามติดต่อไปในรายละเอียดของสาระสำคัญที่ช่างแต้มได้บันทึกไว้บนผืนผ้า เพื่อจะได้ร่วมกันลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

แม่ค้ายุคไทยอารยะ ภาพสะท้อนความเป็นชาตินิยมในผ้าผะเหวด ผ่านการสร้างจินตนาการใหม่ ด้วยคำว่า ไทยอารยะ ที่ต้องการเปลี่ยนการแต่งกายของหญิงไทย จากเปลือยท่อนบน/ใช้ผ้าแถบ นุ่งโจงกระเบน มาเป็นสวมเสื้อนุ่งซิ่น จากผ้าผะเหวด พ.ศ. ๒๔๙๗ วัดศรีบุญเรืองบ้านโนนรัง ต.สาวัตถี จ.ขอนแก่น

การสวมหมวกยุค “มาลานำไทย” ในสมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม ถูกแต้มไว้ในผ้าผะเหวด วัดศรีบุญเรืองบ้านโนนรัง ตำบลสาวัตถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

การแต่งกายทหารที่ต่างจากยุคจารีต และการใช้อักษรไทยแทนอักษรตัวธรรมในการบรรยายภาพในผ้าผะเหวด
วัดเสมอภาพ บ้านลาดนาเพียง ตำาบลสาวัตถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

อ้างอิง

กรมศิลปากร. ๒๕๓๒. ศิลปะถ้ำผาแต้มโขงเจียม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น. ๒๕๕๒. นำชมใบเสมาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น. กรุงเทพฯ : อรุณการพิมพ์.

รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. ๒๕๖๑. หลักหิน – ใบเสมาในวัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มิตร41.

*****

บทความที่เกี่ยวข้อง

“บุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ ประเพณีโบราณอีสาน สะท้อนพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ผ่านผืนผ้า”

Related Posts

สาระวิพากษ์…คนแห่งลุ่มน้ำโขง
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com