“บุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ ประเพณีโบราณอีสาน สะท้อนพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ผ่านผืนผ้า”

“บุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ ประเพณีโบราณอีสาน สะท้อนพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ผ่านผืนผ้า”

เรื่องพระเวสสันดรเป็นชาดกขนาดยาว จึงถูกเรียกว่า “มหาชาติ” คนอีสานมักเรียกรวมกันว่า “บุญผะเหวด เทศน์มหาชาติ” ในงานบุญนี้จะมีพิธีกรรมสำคัญ ๒ อย่าง คือ การแห่ผ้าผะเหวด และการฟังเทศน์มหาชาติ

ตามโบราณจารีตของชาวอีสาน จะมีการจัดงานบุญประเพณีในแต่ละเดือน เรียกว่า ฮีต ๑๒ ซึ่งเป็นการผสานคติชนจากครั้งบรรพกาล จนเกิดเป็นแบบแผนประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวอีสาน ในช่วงเดือนมีนาคม หรือเดือนสี่ในทางจันทรคติ ชาวอีสานจะจัดงานบุญที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อชุมชนอีสานอย่างยิ่ง เรียกว่า “บุญเดือนสี่” หรือ “บุญผะเหวด”

“ผะเหวด” เป็นคำสำเนียงอีสาน ตรงกับคำว่า “พระเวส” หมายถึง พระเวสสัดร อดีตชาติของพระพุทธเจ้าเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดร เรียกว่า “เวสสันดรชาดก” ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก โดยชาวพุทธมีความเชื่อว่า หากได้ฟังเทศน์เรื่องเวสสันดรชาดกให้จบในวันเดียว จะได้ไปเกิดในยุคของพระศรีอริยเมตไตรย การจัดงานบุญผะเหวดของชาวอีสานจึงมีความสำคัญและยิ่งใหญ่ ทั้งในเนื้อหาของเรื่อง รูปแบบของพิธีกรรม และรายละเอียดของงานบุญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ชาวอีสานได้ “แต้มฮูป” (วาดภาพ) เรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดรลงบนผืนผ้าขนาดยาวเพื่อประดับศาลาในงานบุญ โดยจะมีการสอดแทรกภาพบรรยากาศวิถีชีวิตชาวอีสานลงไปด้วย ผ้านี้เรียกว่า “ผ้าผะเหวด” เอกลักษณ์งานบุญผะเหวดที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ

ผ้าผะเหวด ทำจากผ้าฝ้ายสีขาว ผืนผ้ามีความกว้างประมาณ ๖๐ – ๙๐ เซนติเมตร ความยาวไม่ต่ำกว่า ๒๐ เมตร บนผืนผ้าจะถูกวาดภาพแต่งแต้มเรื่องราวตามมหาเวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์ โดยมีภาพประกอบที่สะท้อนถึงเรื่องราวของชาวอีสาน กิจกรรมแรกของงานบุญผะเหวด คือการแห่ผะเหวดเข้าเมือง โดยชาวบ้านจะจัดคนสมมุติเป็นพระเวสสันดร พระนางมัทรี พระกุมารกัณหาชาลี ให้ไปรอที่ชายป่า หรือร่มไม้ใหญ่ใกล้หนองน้ำนอกหมู่บ้าน จากนั้นชาวบ้านจะจัดขบวนออกไปเชิญให้ทั้งสี่พระองค์กลับเข้าหมู่บ้าน สมมุติเป็นการเชิญพระเวสสันดรกลับเข้าเมือง ผ้าผะเหวดจะกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในพิธีกรรมนี้ โดยจะถูกคลี่ออกให้เป็นผืนยาว ชาวบ้านจะไม่ข้ามม้วนผ้าเพราะถือว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ และจะถือไม้ไผ่ที่ยาวประมาณหนึ่งเมตร มีปลายด้านหนึ่งผูกติดกับขอบบนของผ้าผะเหวดที่ทำเป็นหูห้อยไว้ แล้วถือในระดับที่ลายด้านบนสูงกว่าศีรษะ แห่เข้ามาในหมู่บ้าน ขบวนแห่จะมีเครื่องดนตรีอีสาน เช่น พิณ แคน กลอง บรรเลงตลอดทาง เมื่อเข้ามาถึงหอแจก (ศาลาการเปรียญ) จึงขึงกางผ้าผะเหวดนั้นภายในศาลาเพื่อให้ผู้ฟังเทศน์มหาชาติได้ชมเรื่องราวประกอบคำเทศน์

 

 

 

*****

บทความที่เกี่ยวข้อง

ผ้าผะเหวด : บันทึกอีสานบนงานทอ

Related Posts

สาระวิพากษ์…คนแห่งลุ่มน้ำโขง
หลับคาตีน
ผ้าผะเหวด : บันทึกอีสานบนงานทอ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com