วงโสเหล่ เสียงตอบจากแม่ญิงอีสานถึงสังคมไทย “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกคน”

รายงานทางอีศาน

วงโสเหล่ เสียงตอบจากแม่ญิงอีสานถึงสังคมไทย “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกคน”

วงโสเหล่เสวนาเรื่อง เสียงตอบจากแม่ญิงอีสาน ที่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จากบทความชื่อ อุปนิสัยที่ชี้ชะตา กรรม ในคอลัมน์ โลกหมุนเร็ว ของ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๑๓ – ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ ได้สร้างความโกรธแค้นและลุกขึ้นมาตอบโต้โดยผู้หญิงอีสานหลายผู้หลายนาม เนื่องจากเนื้อหาบทความชิ้นนี้ได้ดูถูกเหยียดหยามผู้หญิงอีสาน จนทนไม่ไหว โดยได้ระบุว่า ผู้หญิงอีสานส่วน ใหญ่มักเลือกแต่งงานแทนการศึกษาเพราะผู้หญิงอีสานมีวัฒนธรรมพึ่งพาคนอื่นมากกว่า พึ่งพาตัวเอง เลือกทางรอดมากกว่าศักดิ์ศรีจน กลายเป็นดีเอ็นเอฝังลึก ผู้ชายอีสานเลือกการเรียนและมีเป้าหมายมากกว่า แม่บ้านอีสานบางคนท่องสูตรคูณไม่ได้ และมีเทรนด์  Marriage Migration คือการแต่งงานกับฝรั่งเพื่อเขยิบฐานะของตนเอง…

.

เนื้อหาบทความดังกล่าวถูกเผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๒ ทำให้เกิดกระแสการ แฮชแท๊ก #เพ็ญศรีเผ่าเหลืองทอง ในสื่อออนไลน์ และเรียกร้องให้ผู้เขียนบทความและสื่อยักษ์ใหญ่อย่างมติชนออกมาขอโทษ จนกระทั่งนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ออกมาขอโทษและประกาศปลด เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ออกจากการเป็นคอลัมนิสต์ โดยมีผลงานตีพิมพ์เป็นครั้งสุดท้ายในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ฉบับต่อมา และเป็นการลงบทความขอโทษจากผู้เขียนคอลัมน์นี้ แต่ผู้อ่านยังมองว่าการขอโทษดังกล่าว “ไม่จริงใจ” และมีคนเดินหน้าฟ้องร้องเอาผิด เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง โทษฐาน “หมิ่นประมาท” ผู้หญิงอีกด้วย

ในขณะเดียวกันจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการจัดเสวนาแบบไม่เป็นทางการ เพื่อสะท้อนมุมคิดและต้องการสื่อสารถึงผู้เขียนบทความดังกล่าว พร้อมกับสื่อสารให้คนในสังคมไทยได้รับรู้ว่า “ปรากฏการณ์เหยียดหยามดูถูกคนอีสานยังมีอยู่” แม้โลกจะหมุนเร็วแล้วแต่ความคิดดั้งเดิมที่เคยฝังหัวมานานหลายร้อยปียังอยู่

โดยเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๗ ธันวาคมที่ผ่านมา ที่ห้องศรีบุญ กองจันทร์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้มีการจัดเสวนาเล็ก ๆ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม, พิณทอง เล่ห์กันต์ สาวอีสานผู้ลุกมารณรงค์เรื่องการดูหมิ่นแม่หญิงอีสาน, สุมาลี สุวรรณกร บรรณาธิการศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคอีสาน และ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมี เจริญลักษณ์ เพ็ชรประดับ เจ้าของหนังสือพิมพ์อีสานบิช เป็นผู้ดำเนินรายการ

พิณทอง เล่ห์กันต์

ทนไม่ไหวที่ดูถูกผู้หญิงอีสานถึงดีเอ็นเอ

วงเสวนาเริ่มต้นจาก พิณทอง เล่ห์กันต์ ผู้ลุกมารณรงค์เรื่องการดูหมิ่นแม่หญิงอีสาน และรณรงค์ล่ารายชื่อในเว็บไซต์ change.org เพื่อตอบโต้ผู้เขียนคอลัมน์นี้ โดยเธอบอกว่า เป็นลูกค้าของมติชนสุดสัปดาห์มาเกือบ ๑๐ ปี แล้วก็อ่านคอลัมน์โลกหมุนเร็วเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของสถานการณ์โลก ปกติก็อ่านผ่าน ๆ แต่พอฉบับนี้มันเห็นปุ๊บแล้วปิ๊งเลย อ่านแล้วเกิดความรู้สึกแบบภาษาอีสานเรียกว่า “สูน” คือ โกรธมาก สูนตั้งแต่หัวข้อ พอเข้าไปอ่านรายละเอียด แต่ละพารากราฟ แต่ละย่อหน้ายิ่งรู้สึกสูน เหมือนบั้งไฟแสนที่มันพุ่งขึ้นทีละนิดอ่านเสร็จทนไม่ไหวต้องลุกมาทำอะไรบางอย่างลุกขึ้นมาพูด อัดคลิปวิดีโอและปล่อยลงในยูทูปเพื่อตอบโต้คนเขียนคอลัมน์นี้

สิ่งที่ทนไม่ได้เมื่ออ่านคอลัมน์นี้เพราะคนเขียนดูถูกผู้หญิงอีสานมากเกินไป โดยเฉพาะที่เขียนว่าผู้หญิงอีสานถ้ามีทางเลือก ๒ ทางเลือกระหว่างการศึกษากับการแต่งงาน ผู้หญิงอีสานเลือกการแต่งงานกับผู้ชายฝรั่งเพื่อเขยิบฐานะเนื้อหาบทความเป็นการตีตราว่าผู้หญิงอีสานรักสบาย รับฟังคำสั่ง รักงานบริการ คำว่ารักสบายนี่โดยนัยของคำเนื้อหาลบมากกว่าบวก คำเหล่านี้มันเป็นคำที่บ่งบอกว่าอันนี้คือการดูหมิ่น พอคำว่าดูหมิ่นก็ไปถึงคำว่าศักดิ์ศรี โดยที่ผู้หญิงอีสานเลือกทางรอดมากกว่าศักดิ์ศรี ถ้าไปอ่านต้นฉบับถึงแม้ว่าคุณจะไม่ใช่คนอีสานพออ่านแล้วคุณจะรู้สึกโกรธ

“การที่บอกว่าผู้หญิงอีสานไม่เลือกโอกาสทางการศึกษา แต่เลือกการแต่งงาน คุณเข้าใจบริบทของชีวิตคนไหม คุณเข้าใจไหมว่าโครงสร้างของสังคมไทยมันกดทับ มันไม่เท่าเทียม ที่คุณเพ็ญศรีบอกว่าโอกาสทางการศึกษาเปิดให้ทุกคน ทำไมผู้หญิงอีสานถึงไม่เลือกการเรียนหนังสือแต่กลับเลือกมีสามี ขอถามหน่อยว่าประตูมหาวิทยาลัยเปิดเท่ากันอยู่ แต่ประตูที่ออกมาจากบ้านมามันเปิดเท่ากันไหม ต้นทุนของแต่ละคนมันไม่เท่ากัน เศรษฐกิจครัวเรือนมันไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นอย่าใช้คำว่าโอกาสทางการศึกษาเท่ากัน และยังบอกอีกว่าพฤติกรรมแต่งงานข้ามชาติส่งผ่านดีเอ็นเอ นี่มันแรงมากด่าไปถึงบรรพบุรุษเราเลย เพราะฉะนั้นถ้อยคำเหล่านี้มันไม่ได้เกิดจากการเขียนที่มีข้อมูล แต่เป็นการเขียนโดยอคติ อคติที่มีอยู่ในใจ อคติที่มีปม” พิณทอง บอก

รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น

นักบริหารมือรางวัลบอก เขียนแบบนี้เท่ากับเหยียบย่ำกัน

ในขณะที่ รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักบริหารดีเด่น ๕ สมัยซ้อน ให้ทัศนะเกี่ยวกับบทความชิ้นนี้ว่า ณ วันนี้ตัวอย่างคนแบบคุณเพ็ญศรีคือคอลัมน์นิสต์ เป็นกลไกหนึ่งที่มีอำนาจอยู่ในมือ เพราะฉะนั้นอำนาจที่อยู่ในมือของสื่อคืออะไร เป็นอำนาจที่มีผลต่อวิธีคิดผลต่อค่านิยมของคนในสังคม นี่คือบทบาทที่สำคัญของสื่อมวลชนในทางสังคมวิทยา สื่อคือสถาบันหนึ่งทางสังคมที่มีหน้าที่ในการกล่อมเกลา ขัดเกลา เรียกว่าโซเชียลไลท์เซชั่น เรื่องนี้ถ้าพูดในเชิงสร้างสรรค์มันก็เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ถ้าพูดในทิศทางตรงกันข้าม มันก็เป็นตัวที่ปลูกฝังสิ่งเหล่านี้เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงทางสังคม เพราะฉะนั้นจะบอกว่าวันนี้สิ่งที่คุณเพ็ญศรีทำ คุณเพ็ญศรีไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย คุณเพ็ญศรีไม่ใช่ผู้บริหาร คุณเพ็ญศรีเป็นคอลัมนิสต์ เป็นสื่อมวลชนที่มีอำนาจอยู่ในมือที่มีพลัง เพราะสื่อรวดเร็ว เป็นสื่อยุคใหม่สื่อออนไลน์ มันเผยแพร่ไปทั่วโลก เพราะฉะนั้นการขอโทษ การถอดบทความออกจึงไม่ใช่สิ่งที่เรียกว่า มันจะเยียวยาได้ เพราะมันถูกแพร่กระจายไปแล้ว

“พออ่านชื่อเรื่องบทความโลกหมุนเร็วอุปนิสัยที่ชี้ชะตากรรม บอกได้เลยว่าบทความนี้ชี้ชะตากรรมคนเขียน ชะตากรรมของคนเขียนไม่น่าที่จะมีที่ยืนในปัจจุบัน เพราะสิ่งที่คุณสื่อออกไปไม่ต้องไปตั้งคำถามว่าจริงหรือไม่จริงเพราะเราสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ในเชิงหลักการ ข้อมูลอะไรต่าง ๆ ทั้งหมด แต่สิ่งที่สื่อออกมาเห็นถึงคำที่เรียกว่ามายาคติ สื่อด้วยอคติ แล้วเป็นอคติเชิงลบที่มีต่อสังคม และเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ ซึ่ง ๓๓ เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศไทยอยู่ในอีสาน และถ้าวิเคราะห์ลงไปแล้วจะพบว่า ๓๓ เปอร์เซ็นต์ตรงนี้ คนกลุ่มใหญ่คือผู้หญิง เพราะแนวโน้มของผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย และไม่ใช่ผู้หญิงตามลำพัง ด้วย เพราะบทบาทของผู้หญิงไม่ว่าจะมองในเชิงของเจนเดอร์ หรือมองตามสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันผู้หญิงเหล่านี้ก็คือแม่ของผู้ชาย นั่นหมายความว่า แม่ ยาย น้อง ถูกดูถูกด้วย เพราะฉะนั้นมันแยกไม่ออกเลยระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย” รศ.ดร.ศุภวัฒนากรกล่าว และยังบอกว่า

ประเด็นของชาติพันธุ์ เราเคยมองแต่ชาติพันธุ์ที่หลากหลาย มีวิถีชีวิตที่ต่างกัน มีความเชื่อ มีค่านิยม มีแนวปฏิบัติที่ต่างกัน เพราะนี่คือหลักการของการปกครองท้องถิ่น เชื่อในชาติพันธุ์ เชื่อในบริบท เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือบริบท แต่ละที่มีบริบทต่างกัน เพราะฉะนั้นแนวคิด ยุทธศาสตร์การพัฒนา วิธีการแก้ไขปัญหาย่อมต่างกัน ถ้าน้ำท่วมในที่หนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะท่วมเหมือนกัน จะต้องแก้แบบเดียวกัน นี่คือฐานคิด เพราะฉะนั้นฐานคิดในลักษณะนี้เชื่อในความต่างว่า ความต่างคือความงดงาม เมื่อไรก็ตามที่เรามีมุมเดียว วิธีคิดแบบเดียว เราถือว่าแล้วมันจะทำให้เกิดความงดงามได้อย่างไร…

ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง

คนเขียนไม่เข้าใจบริบทสังคมไทย – ชาย เป็นผู้นำ

ส่วน ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ นักวิชาการจากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ทำวิจัยเรื่องการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม บอกว่า ขอเริ่มเรื่องความเท่าเทียมมีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสิทธิมักจะมากับเรื่องความเท่าเทียมเสมอ และเรื่องความเท่าเทียมตอนนี้มันเป็นประเด็นที่เป็นทางเจนเดอร์ของประเทศไทย ถ้าใครที่อยู่ในวงการวิจัย ตอนนี้เป็นช่วงกำลังส่งให้ สกว. สวสก.ทั้งหลาย ทุกวงการวิจัยจะต้องพูดถึงเรื่องนี้ เรื่องความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม จริง ๆ แล้ว ถ้าเราพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำมันก็จะมากับความเท่าเทียมด้วยเหมือนกัน แต่บางครั้งเวลาเราพูดถึงประเด็นพวกนี้ อย่างพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม เรามักจะพูดถึงคำเหล่านี้ในบริบทกว้าง ๆ อย่างเช่นเราบอกว่ามีความเท่าเทียมทางการศึกษา แต่เราไม่ได้คิดว่าประตูออกจากบ้านเป็นอย่างไร เราคิดแค่ประตูเข้ามหาวิทยาลัยมันเท่ากัน ถึงเราจะบอกว่ามันมีความเท่าเทียม แต่อันหนึ่งที่เราต้องตระหนักถึงนั่นคือแต่ละคนก็มีทุน

ดิฉันขอใช้คำว่า “ทุน” นะคะ แต่ละคนมีทุนในตัวที่ไม่เหมือนกัน พวกเราอาจจะมีทุนหลาย ๆ อย่างที่แตกต่างไปจากผู้หญิงชนบท ซึ่งตอนนี้คือคนส่วนใหญ่ที่มีการแต่งงานกับผู้ชายชาวตะวันตก เรามีทุนแตกต่างจากเขา มันเลยทำให้พวกเรามีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา หรือถ้าเปรียบเทียบพวกเรากับคนที่คุณเพ็ญศรียกเป็นตัวอย่างในบทความ คือคุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ก็อาจจะสู้ท่านไม่ได้ ทุนหลาย ๆ อย่างเราสู้ท่านไม่ได้ มันเป็นคู่มวยที่เทียบกันไม่ได้…

อันนี้ดิฉันมองว่าถ้าเรามองเรื่องนี้อย่างเข้าใจ แล้วก็เอากรอบคิดหรือเอามุมมองทางเรื่องเจนเดอร์เข้าไปจับ และพยายามทำความเข้าใจว่าสังคมไทย วัฒนธรรมในเรื่องที่เกี่ยวกับเพศยังไงบ้าง ในเมื่อสังคมไทยมองว่าผู้ชายควรจะทำอะไร มีบทบาทอย่างไร ผู้หญิงควรจะทำอะไร เราก็จะไม่ตั้งคำถามแบบที่คุณเพ็ญศรีตั้งคำถาม เพราะว่าจริง ๆ แล้วผู้ชายไทยหรือว่าผู้ชายในโลกนี้ก็ถูกมองว่าเป็นผู้นำ เราอยู่สังคมที่เรียกว่าสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายเป็นผู้นำ ผู้หญิงเป็นผู้ตาม ซึ่งผู้ชายก็ถูกคาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นคนที่ได้เรียนหนังสือ ออกไปหาเงิน เพื่อสร้างครอบครัว เป็นที่พึ่งของครอบครัว ผู้หญิงถูกคาดหวังยังไง ผู้หญิงถูกคาดหวังว่าคุณต้องอยู่บ้านนะ คุณจะต้องดูแลครอบครัว แม้ว่าทุกวันนี้โลกหมุนเร็ว ผู้หญิงก็ออกไปทำงานข้างนอกเพราะฉะนั้นการที่ผู้ชายใช้ช่องทางการศึกษาเป็นโอกาสในการสร้างความก้าวหน้าในชีวิตเพราะอะไร เพราะผู้ชายมีโอกาสมากกว่า ถ้าสมมุติว่าในกรณีที่เป็นชนบท ถ้าเป็นลูกสาวที่เรียนจบชั้น ป.๔ ป.๖ พ่ออาจจะให้ออกมาช่วยทำนาดีกว่า มาช่วยเลี้ยงน้องดีกว่า แต่ส่งลูกชายเรียน โอกาสผู้หญิงกับผู้ชายมันไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นเลยมองว่าสิ่งที่ถูกเขียนในบทความมันขาดความเข้าใจในเรื่องของเจนเดอร์ และความเข้าใจในสังคมอีสานมากพอสมควร

สุมาลี สุวรรณกร บ.ก. ศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคอีสาน

สื่อมองเรื่องนี้เป็นการผิดพลาดของทัศนคติที่อคติ

ด้าน สุมาลี สุวรรณกร บรรณาธิการศูนย์ข่าวเครือเนชั่นภาคอีสาน อดีตประธานสโมสรนักเขียนภาคอีสาน ๕ สมัย บอกว่า อ่านบทความนี้ค่อนข้างใช้เวลามาก คือแวบแรกที่อ่าน เราไม่อยากตัดสิน เพราะเรากลัวว่าถ้าหากตัดสินแล้วเหมือนกับมันจะไม่ยุติธรรมกับคนเขียน เพราะว่าในมุมของการเป็นนักเขียน การเป็นสื่อมวลชนเรามองว่าอะไรก็ตามที่มันปล่อยออกมาในสื่อมันต้องผ่านการคัดกรองก่อน มันมีการตรวจสอบก่อน นั่นคือหน้าตาของคนเขียน โดยเฉพาะบทความชิ้นนี้มันเป็นคอลัมน์ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำของประเทศที่เราก็เป็นแฟนคลับ แล้วก็เป็นนิตยสารรายสัปดาห์ที่เหลืออยู่ไม่กี่หัวในแผงหนังสือของประเทศไทย ดิฉันเห็นบทความนี้ในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ที่มีการแชร์ออกมาในออนไลน์เราไม่กล้าตัดสิน แวบแรกที่อ่านไม่กล้าที่จะไปบอกว่าดี ไม่ดี แต่รู้สึกไม่พอใจก็เลยแชร์ไปเก็บไว้ในเพจของสโมสรหนอนหนังสือก่อน แล้วก็ขอเวลาในการอ่านแบบทบทวน แล้วก็ใคร่ครวญว่าคนเขียนต้องการสื่ออะไร

สิ่งแรกที่ตั้งคำถามก็คือ คนเขียนต้องการสื่ออะไร คนเขียนเป็นผู้หญิง นามสกุลดิฉันรู้จักแล้วก็อยู่ในหนังสือที่ใคร ๆ ก็อ่าน เราก็กลับมาอ่านแล้วก็มาคิดว่า เขาต้องการสื่ออะไร การเขียนออกมาแบบนี้ เราอยู่ในแวดวงนักเขียนแวดวงสื่อมวลชน เราจะรู้เลยว่าคอลัมนิสต์จะไม่เขียนงานที่นำไปสู่การสร้างปัญหาและความขัดแย้ง การเขียนมันต้องสร้างสรรค์ อ่านเสร็จคนอ่านจะต้องได้ความรู้ ได้ประโยชน์ในการนำไปใช้ แต่อ่านบทความนี้เสร็จมันไม่ให้อะไรเลยให้แต่ความรู้สึกโกรธขึ้นมา ดิฉันมองว่าไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงอีสานที่โกรธ ผู้ชายอีสานก็ควรโกรธ คนอีสานทั้งภูมิภาคควรจะโกรธกับบทความบทนี้…

“จากบทความนี้ทำให้ได้บทเรียนว่า การจะเขียนอะไรมันจะสะท้อนตัวตนของคนที่เขียนเพราะฉะนั้นการจะนำอะไรไปเผยแพร่ในวงการสื่อต่าง ๆ ซึ่งตอนนี้มันเป็นโลกออนไลน์ สมัยก่อนมีสื่อเก่า สื่อเก่าคือสื่อสิ่งพิมพ์ที่กว่ามันจะมาถึงเรา เราอ่านเสร็จ คนอ่านรู้สึกไม่พอใจ ต้องการเขียนจดหมายตอบโต้ไปถึงคอลัมนิสต์ อาจใช้เวลาในการเดินทางนาน พอเขียนจดหมายกลับไป คอลัมนิสต์อ่านไหม บรรณาธิการอ่านไหม จะได้รับการตีพิมพ์ตอบรับไหม ต้องใช้เวลา แต่ทุกวันนี้พอมันออนไลน์แบบสื่อใหม่ ฟีดแบคมันเร็วมาก เขาโพสต์ในเวลาเช้าของวันที่ ๒๒ ธันวาคมพอคนที่อ่านมันคือนาทีต่อนาทีที่เกิดความรู้สึกฟีดแบคมันโต้กลับทันที เพราะฉะนั้นจะเป็นตัวหนึ่งที่จะสอนให้เรารู้ว่า ก่อนที่จะทำอะไร ก่อนจะเขียนอะไร ก่อนจะโพสต์อะไรลงไปในสื่อออนไลน์ต้องระวัง เพราะเมื่อมันโพสต์ลงไปแล้วไม่มีทางที่คุณจะสามารถไปลบมันได้ แม้คุณจะลบในเพจของคุณแล้วแต่เราก็อปไว้อยู่

“อย่างที่ ๒ ก็คือ การนำภาพของบุคคลอื่นมาใช้ มารู้ทีหลังว่าภาพนี้ไม่ได้มีการขอเจ้าตัวมาก่อน มันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและเป็นความผิดทางกฎหมาย สามารถฟ้องร้องได้ ตอนนี้คุณบีเจ้าของภาพก็เตรียมจะฟ้องร้องเหมือนกันว่าเอารูปเขาไปได้อย่างไร ซึ่งล่าสุดคุณเพ็ญศรีออกมาขอโทษ แต่ขอโทษเฉพาะคุณบี ไม่ได้ขอโทษคนอีสาน ไม่ได้ขอโทษผู้หญิงอีสาน” สุมาลีบอก

นี่คือทัศนะของผู้หญิงอีสานส่วนหนึ่งที่ได้บอกเล่าและตอบโต้บทความของ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง แม้เป็นเพียงกลุ่มคนเล็ก ๆ แต่อย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นว่า มีคนอีสานที่ไม่ยอมรับสิ่งที่ถูกเขียนถึง ไม่ยอมรับสิ่งที่ถูกตีตราว่า โง่ จน เจ็บ และพร้อมจะลุกขึ้นสู้เพื่อศักดิ์ศรีของตนเอง นอกจากนั้นยังมีผู้หญิงอีสานอีกหลายคนทั่วโลกที่ลุกขึ้นมาตอบโต้บทความแห่งอคตินี้ด้วยเช่นกัน และ พิณทอง เล่ห์กันย์ หนึ่งในผู้หญิงอีสานกำลังเดินหน้าฟ้องร้อง เพ็ญศรีเผ่าเหลืองทอง ข้อหาหมิ่นประมาทที่ดูหมิ่นเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้หญิงอีสานอยู่ขณะนี้

*****

อ่านรายงานทางอีศาน วงโสเหล่ เสียงตอบจากแม่ญิงอีสานถึงสังคมไทย “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทุกคน” ฉบับเต็มได้ในคอลัมน์ แม่ญิงอีสาน หน้า ๑๗ นิตยสารทางอีศาน ฉบับ แม่ญิงอีสาน ฉบับที่ ๙๕ เดือนมีนาคม ๒๕๖๓

Related Posts

ทำไมฝนจึงตกตามฤดูกาล
ก้อยไข่โพ๊ะ : แหย่ไข่มดแดงในป่า หาปลากั้งน้อย ไปทำก้อยไข่โพ๊ะ
พระธรรมบาล ประติมากรรมขอม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com