ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาด : ปราชญ์ผู้นำอนุรักษ์จุดประทีปตีนกาของเมืองกาญจน์

ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาด : ปราชญ์ผู้นำอนุรักษ์จุดประทีปตีนกาของเมืองกาญจน์

ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาด ผู้นำการอนุรักษ์ประเพณีจุดประทีปตีนกาของชาวเบญพาด

ตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน กาญจนบุรี

ความเป็นมา

       กว่าจะเป็นปราชญ์ต้องเป็นปู่

ศึกษาเป็นผู้รู้ดำรงที่องอาจ

       กอปรด้วยรักเมตตาเป็นสามารถ

เป็นที่นับถือของเบญพาดทุกรูปนาม

ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาด ผู้อาวุโสสูงสุดของบ้านเบญพาด วัย ๙๘ ปี ได้เล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษของบ้านเบญพาดมาจากบ้านฆ้องโพธาราม ราชบุรี มีเชื้อสายชาติพันธุ์ โซ่ง หรือ ไททรงดำได้อพยพมาทำมาหากินตั้งถิ่นฐานที่ บ้านเบญพาด ตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี นับเป็นเวลาสองร้อยกว่าปีมาแล้ว

สิ่งที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมาของชาวเบญพาดที่สำคัญ มีสองเรื่อง คือ สงกรานต์ยกธงหรือยกธงตอนสงกรานต์ ที่คนในชุมชนแห่เสาธงมาปักธงยกธงกันที่วัดเบญพาด เป็นการแสดงออกถึงความรักความสามัคคี ของผู้ที่มาตั้งถิ่นฐาน ณ ย่านนี้ และอีกประเพณีหนึ่งคือ การจุดประทีปตีนกา ในเพลาออกพรรษา

การยกธงในคราวสงกรานต์นั้นสืบทอดกันมาได้ไม่ขาดสาย แต่สำหรับประเพณีจุดประทีปตีนกานั้น ได้หยุดการสืบต่อกันมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาดให้รู้สึกเสียดายที่จะให้ประเพณีอันดีงามของชาวเบญพาด ตำบลพังตรุนี้ต้องสูญหายไปกับกาลเวลา จึงได้พยายามหาหนทางให้ได้รื้อฟื้นการจุดประทีปตีนกากลับขึ้นมาใหม่ ให้จงได้

ฝันเป็นจริงเมื่อร่วมใจ

ถึงวันนี้ วัยวันอีกสองปีจะครบร้อยปีของปู่น้ำเงิน ปู่บอกสบายใจได้ เพราะว่าโรงเรียนได้ให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องประเพณีจุดประทีปตีนกาเข้ามาอยู่ในโรงเรียน อยู่ในหลักสูตรท้องถิ่นศึกษา อีกประการหนึ่ง เป็นเรื่องที่สภาวัฒนธรรมตำบลพังตรุเห็นความสำคัญ รับเรื่องการจุดประทีปตีนกาเป็นเรื่องของวัฒนธรรมท้องถิ่นประจำตำบลพังตรุและได้ร่วมใจกันทำงานนี้ให้กลับคืนมา

วันนี้เมื่อถึงเทศกาลวันออกพรรษา ในวันออกพรรษาและวันตักบาตรเทโวโรหณะ กลางคืนจะมีการจัดงานพิธีจุดประทีปตีนกาของชาวเบญพาดมาร่วมพิธีกันอย่างคับคั่งอีกด้วย ซึ่งชาวเบญพาด ตำบลพังตรุ โดยปู่น้ำเงินเป็นผู้นำ และได้ร่วมกับวัดเบญพาด วัฒนธรรมตำบลพังตรุ เทศบาลตำบลพังตรุ และชาวบ้านตำบลพังตรุ ได้ช่วยกันฟื้นประเพณีอันดีงาม พิธีจุดประทีปตีนกากลับคืนมามีชีวิตชีวาตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ แล้วแม้จะช้าไปบ้างแต่ทุกอย่างยังไม่สายเกินกว่าที่จะก้าวตามรอยบรรพบุรุษต่อไปอย่างมีความสุขด้วยความศรัทธา เข้าใจ จึงได้สร้างบุญกุศลและก่อบังเกิดความสามัคคีอันดียิ่ง

ปู่และย่ากิมเฮียะ ช่วยสอนนักเรียน ฟั่นด้ายเป็นรูปตีนกาด้ายที่ฝั้นเป็นรูปตีนกา

ความหมายจุดประทีปตีนกา

ตำนานจุดประทีปตีนกา ปู่น้ำเงินเล่าให้ลูกหลานและคนรุ่นหลังฟัง จับความตามบรรพบุรุษเล่าสืบต่อมาให้รับรู้ได้ว่า ในสมัยปฐมกัป มีพญากาเผือกผัวเมียทำรังอยู่ที่ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา ในเวลาต่อมาแม่กาเผือกออกไข่ได้ห้าฟองวันหนึ่งแม่กาออกไปหาอาหารเกิดพายุใหญ่ หลงทางหาทางกลับไม่ถูก ส่วนไข่ที่ไข่ออกมา ก็มีแม่เลี้ยงดูแลและไข่ออกมาเป็นพระโพธิสัตว์ห้าพระองค์

ไข่ฟองที่หนึ่ง ได้มีแม่เลี้ยงเป็นไก่ เกิดเป็นพระโพธิสัตว์องค์ที่หนึ่งนาม กกุสันโธ

ไข่ฟองที่สอง มีแม่เลี้ยงเป็นนาค เกิดเป็นพระโพธิสัตว์องค์ที่สองนามพระโกนาคมโน

ไข่ฟองที่สาม มีแม่เลี้ยงเป็นเต่า เกิดเป็นพระโพธิสัตว์นามว่า พระกัสสโป

ไข่ฟองที่สี่ มีแม่เลี้ยงเป็นโค เกิดเป็นพระโพธิสัตว์นามว่า พระโคตโม

ไข่ฟองที่ห้า มีแม่เลี้ยงเป็นราชสีห์ เกิดเป็นพระโพธิสัตว์นามว่า พระศรีอริยเมตไตรโย

เป็นพระพุทธเจ้า ห้าพระองค์ เป็นที่มาของ นะ โม พุทธ ธา ยะ พระโพธิสัตว์ทั้งห้าพระองค์ได้ออกบวชบำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรม และตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้พบแม่ที่แท้จริง

แม่กาเผือกที่ตายลงได้ไปเกิดเป็นท้าวผกามหาพรหม ได้ทราบเรื่องราวทั้งสิ้นแล้ว จึงแปลงเป็นกาเผือกผู้เป็นแม่มาเล่าเรื่องให้ฟัง จึงทราบเรื่องทั้งหมด จึงนึกถึงพระคุณของแม่กาเผือกผู้ให้กำเนิดชีวิต ขอน้อมนมัสการผู้เป็นแม่ ขอสัญลักษณ์ของแม่กาเผือกมาไว้บูชา จึงได้มีการทำฝ้ายตีนกาเป็นสัญลักษณ์ของแม่กาเผือก ไว้เป็นไส้ประทีปจุดบูชาในวันเพ็ญเดือนสิบสอง

บรรพบุรุษของชาวเบญพาด ได้พร้อมใจกันทำพิธีจุดประทีปตีนกา เพื่อบูชามารดาของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์ในวันเวลาออกพรรษามาแต่อดีตกาลนับเป็นเวลาสองร้อยกว่าปี

คุณค่าและความสคัญ

ในวันออกพรรษายามค่ำจะนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ บทธรรมจักกัปวัตนสูตรแล้วจึงได้มีพิธีจุดประทีปตีนกา ที่ชาวบ้านทำพิธีกันแบบเรียบง่าย ใช้ไม้ไผ่วัสดุที่หาได้ง่ายจากธรรมชาติของชุมชน มาทำเป็นเสาตั้งสองข้างที่ด้านหัวและปลาย แล้วมีไม้ไผ่อีกลำทำเป็นไม้พาดบนระหว่างเสา ที่ไม้ไผ่ลำที่พาดจะเจาะรูเก้ารู เพื่อวางกะพ้อสำหรับจุดบูชา พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ และธาตุทั้งสี่ รวมเป็นเก้ากะพ้อ ในกะพ้อจะใส่น้ำมันละหุ่งหรือน้ำมันมะพร้าว

ผู้มาร่วมพิธีจะนำด้ายตีนกาเก้าเส้นมาจุดบูชาที่กะพ้อ มีคาถาบูชาว่า อิมัง เตสัง นัตถุผา นิตัง มัยหัง ปาปุมันติ แปลความว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายประทีปตีนกานี้ แด่ท้าวผกามหาพรหม เพื่อทำลายอาสวะกิเลสให้สิ้นไป ขอให้ข้าพเจ้าทั้งหลายเข้าถึงซึ่งพระนิพพานในอนาคตกาลเบื้องหน้าโน้นเทอญ

ด้วยความศรัทธาและความเชื่อว่าการได้ร่วมพิธีจุดประทีปตีนกาเพื่อบูชามารดาของพระพุทธเจ้าห้าพระองค์นั้น มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชน และก่อให้เกิดอานิสงส์ เป็นดังประทีปส่งผลพวงให้เกิดดวงปัญญาสว่างไสว ได้เห็นแสงสว่างเห็นธรรมของตถาคต

ปู่น้ำเงิน เป็นผู้นำทำพิธีจุดประทีปตีนกาที่ตั้งประทีปตีนกาที่ทำด้วยไม้ไผ่วัสดุเรียบง่ายของชุมชนงานจุดประทีปตีนกา

ผู้นำสืบสานการอนุรักษ์

ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาด ปราชญ์ท้องถิ่นเบญพาดได้เรียนรู้พิธีกรรมเหล่านี้มาจากบรรพบุรุษ จึงได้นำพิธีกรรมเหล่านี้มาเล่าขานและสืบสานต่ออีกรุ่น หวังให้ยืนยาวสืบไปชั่วลูกชั่วหลาน

วิชา จุลทลักษณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเบญพาด กรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลพังตรุ กล่าวว่า

“ได้รู้จักปู่น้ำเงิน ได้เห็นความสำคัญ จึงได้ศึกษาเรื่องการจุดประทีปตีนกาจากปู่ และในที่สุดทางโรงเรียนและชุมชนก็ร่วมกันจัดงานขึ้นที่โรงเรียนวัดเบญพาด อันเป็นที่มีโบสถ์เก่าของวัดสิงห์ทะยานอยู่ในบริเวณโรงเรียน และโรงเรียนเป็นฝ่ายดำเนินการให้ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาดเป็นผู้ให้ความรู้แก่ชาวบ้านและเป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมที่โรงเรียนตลอดมา”

ครูธนวันต์ ภักดีวัน บอกว่า “ได้ศึกษาเรื่องราวจุดประทีปตีนกาจากปู่น้ำเงิน แล้วก็เรียบเรียงเป็นหลักสูตรวิชาท้องถิ่นศึกษาไว้สอนเด็ก ๆ และได้นำตำนานจุดประทีปตีนกา ทำเป็น แสงสีเสียงให้นักเรียนได้ร่วมแสดง ใน แสงสี เสียงตำนานจุดประทีปตีนกาให้ผู้มาร่วมงานได้ชมทำให้คนที่ร่วมพิธีจุดประทีปตีนกา ได้รู้เหตุผลที่มาที่ไปของการจุดประทีปตีนกาและให้นักเรียนของโรงเรียนได้มีส่วนร่วมอีกด้วย”

นวลถนอม เดชสมบูรณ์ ชาวชุมชนเบญพาด พูดถึงจุดประทีปตีนกาว่า

“เป็นประเพณีที่ดีของชุมชนเรา ก่อนนั้นก็ไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร เมื่อได้ร่วม พิธีจุดประทีปตีนกา ครั้งแรกตอนที่จุดก็รู้สึกตื่นเต้นแปลกดีกลัวจะทำผิดทำถูก สายตาก็แอบมองว่าคนอื่นเค้าทำกันยังไง พอได้ร่วมพิธีจึงเข้าใจ ปู่น้ำเงินเป็นผู้นำทำพิธี และมีลูกของปู่เป็นผู้สืบทอดศึกษาไว้ พิธีจุดประทีปตีนกานี้จะอยู่กับชุมชนเบญพาดไปอีกนาน รู้สึกดีใจภูมิใจที่หมู่บ้านของเรามีงานมีประเพณีนี้ เพื่อให้คนในหมู่บ้านมีกิจกรรมร่วมกันหนึ่งปีมีงานหนึ่งครั้ง เป็นบุญกุศลที่เราได้ร่วมกันสร้าง เป็นเอกลักษณ์ของชาวเบญพาดของเรา”

ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาด กล่าวไว้ในวันรับรางวัล “มณีกาญจน์” ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีว่า

“ตลอดระยะเวลา ๙๘ ปีที่ผ่านมา ชีวิตได้อุทิศสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาทุกลมหายใจด้วยการปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดี เป็นผู้นำสืบทอดประเพณีจุดประทีปตีนกาจากบรรพบุรุษของชุมชน วันนี้ทั้งบ้านวัดโรงเรียนได้ช่วยกันรักษาประเพณีนี้ไว้ ให้อยู่คู่กับชุมชนเบญพาดของเรา ผมไม่หวังอะไรมาก ขอเพียงแค่มีลูกหลานสืบทอดต่อไป แค่นี้ก็พอแล้ว”

 

ปู่น้ำเงิน เบ็ญพาด รับรางวัล มณีกาญจน์ ของมหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานมอบ

ขอบคุณ ครูเล็ก บ้านใต้ รัตนากร พุฒิเอก เอื้อเฟื้อภาพ

****

คอลัมน์ ไผว่าอีศานฮ้าง โดย สมปอง ดวงไสว

นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๙๐ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๒

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

เข้าพรรษาที่เชียงคาน
บรูไน : ใน-นอก ความเป็นมลายู (๑)
มาเป็นนักดื่มฝันกับฉันไหม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com