(5) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (24/3/20)

(5) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (24/3/20)

ขอบคุณภาพจาก https://www.afro.who.int/fr/node/12206

#บทเรียนจากอิตาลี

(5) Covit-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (24/3/20)

จากผู้ติดเชื้อ 3 คนเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์กลายเป็น 64,000 คนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม เพียง 5 สัปดาห์ให้หลังได้อย่างไร คนตายรวม 6,000 คน ตายวันเดียว 600 คน เหล่านี้คือโศกนาฎกรรมของมนุษยชาติ

ขอสรุปบทเรียนจากที่ได้ติดตามสถานการณ์ ได้อ่านรายงาน ได้ฟังการสัมภาษณ์ผู้นำ แพทย์ ประชาชนชาวอิตาเลียน และจากการเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในเยอรมนี ที่ได้ติดตาม ได้รู้จักสองประเทศนี้จากการได้ไปศึกษาที่นั่นหลายปี บางอย่างอาจมี “อคติ” บ้าง แต่คงเป็นประโยชน์ให้บ้านเราบ้าง

1.ความไม่พร้อมรับมือ

ความไม่พร้อมที่เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจลักษณะและผลร้ายของไวรัสตัวนี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ นึกว่าเหมือน “เรื่องเก่ามาใหม่” อย่างไข้หวัดใหญ่ บางส่วนประมาท และเมื่อระบาดออกไปอย่างรวดเร็วก็ทำอะไรไม่ถูก ไม่มีมาตรการที่เหมาะสมรองรับไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ

ยกตัวอย่าง 2 กรณี กรณีแรกเป็นชายอายุ 38 ปี ไปโรงพยาบาลวันที่ 18 ก.พ. ที่เมือง Codogno เมื่องเล็กๆ ประชากร 16,000 คนในแคว้นลอมบาร์เดีย 60 ก.ม. จากเมืองมิลาน มีอาการหวัดอย่างแรง ไม่ยอมอยู่โรงพยาบาล กลับบ้านไม่กี่ชั่วโมงต้องกลับไปโรงพยาบาล เข้าห้องไอซียู วันที่ 20 ก.พ. จึงทราบว่าติดเชื้อโควิด19

กว่าจะรู้ก็สายไปมากแล้ว ไวรัสได้แพร่ไปสู่คนอีกหลายร้อยที่เขาได้ไปเกี่ยวข้องด้วยในสองสามสัปดาห์ก่อนหน้านั้น รวมทั้งแพทย์พยาบาลก็ติดไปด้วย เขาเป็นนักกีฬา ไปวิ่ง ไปเล่นฟุตบอล ไปร่วมรับประทานอาหารค่ำกับคนอื่นๆหลายครั้ง เป็นนักธุรกิจในบริษัทใหญ่

เขาได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ป่วยรายแรก” (patient one) ที่มีการขนานนามว่าเป็น “super spreader” (ซุปเปอร์ผู้แพร่) 13 มีนาคม มีคนตายที่ Codogno 34 คน ติดเชื้อหลายร้อย แม้จะปิดเมืองตั้งแต่ต้นๆ ก็ไม่อาจหยุดได้

กรณีที่สอง เป็นคำบอกเล่าของผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมืองแบร์กาโม 52 ก.ม.จากเมืองมิลาน เธอบอกว่ารายแรกที่ติดเชื้อเป็นพยาบาลในสถานพยาบาลผู้สูงอายุเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ตรวจพบหลังจาก 5 วัน ซึ่งสายไปมากแล้ว เพราะผู้สูงอายุ 6-7 คนในสถานพยาบาลนั้นเป็นโรคปอดบวมและพบว่ามาจากเชื้อนี้ จากนั้นก็กระจายไปอย่างรวดเร็ว

ผู้อำนวยการหญิงท่านนี้ก็ติดเชื้อนี้ด้วย เธอบอกว่า ก็ป้องกันทุกอย่าง แต่เข้าใจว่า ไม่ได้ติดจากคนไข้ แต่ติดตอนที่อยู่ร่วมกับแพทย์พยาบาลคนอื่นที่ยังไม่มีอาการ แต่แพร่เชื้อ ทำให้บุคลากรสาธารณสุขติดเป็นจำนวนมาก ตอนแรกๆ หมอพยาบาลที่เป็นไข้ก็กินยาแล้วไปทำงานเหมือนปกติ ไม่ได้กักตัวเองที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล เธอบอกว่าเป็นความผิดพลาดสำคัญ เพราะเมื่อหมอพยาบาลติดก็ไม่มีคนดูแลรักษาคนไข้อื่นๆ

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก วันนี้แพทย์พยาบาลติดเชื้อกว่า 2,000 คน หมอคนหนึ่งต้องดูแลผู้ป่วย 1,200 คน หมอพยาบาลจึงหมดแรง ต้องไปเกณฑ์คนเกษียณและนักเรียนแพทย์มาช่วยกัน

นักระบาดวิทยาสรุปว่า ไวรัสแพร่จากคนหนึ่งไปสู่อีก 2.5 คนใน 5 วัน ก็ลองคูณต่อไปเรื่อยๆ 30 วันก็ถึง 400 คน (ถ้าลดได้ครึ่งหนึ่ง 30 วันก็จะติดเพียง 15 คน) แต่เมื่อ “ปล่อย” เราจึงเห็นผู้ติดเชื้อในอิตาลีจากไม่กี่คนไปเป็น 60,000 คนในเวลาเพียงเดือนเศษ

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ติดเชื้อทำให้ระบบสาธารณสุขล่ม ไม่อาจรองรับได้ ไม่ว่าเตียงผู้ป่วยหนัก ไอซียู อุปกรณ์หายใจ แม้แต่หน้ากากสำหรับแพทย์พยาบาล

ระบบการติดตามผู้ติดเชื้อ ผู้เกี่ยวข้อง การกักตัวผู้ต้องสงสัย ผู้ป่วย ไม่ได้ทำอย่างจริงจังตั้งแต่ต้น เป็นเรื่องของท้องถิ่นที่ต้องดำเนินการเองในแคว้น ในเมือง ในเทศบาล เมื่อเอาแต่รอรัฐบาลจากกรุงโรมก็สายเกินไป เมื่อไม่ตาม ไม่กักตัว ทุกอย่างก็เลยตามเลย มาปิดเมือง ปิดแคว้น ปิดประเทศ 10 วันให้หลังก็ช้าเกินไปแล้ว นักระบาดวิทยาให้ความเห็น

2.ภาวะผู้นำกับการเมือง

มาตรการที่รัฐบาลอิตาลีประกาศออกมาใช่ว่าจะไม่ดี อิตาลีเป็นประเทศแรกที่ห้ามการบินจากจีนเข้าประเทศตั้งแต่วั้นที่ 30 มกราคม แต่พรรคการเมืองและผู้นำหลายคน “ประมาท” ยังกินดื่มและสังสรรค์เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้การสื่อสารกับประชาชนเป็นไปอย่างสับสน

เดือนมกราคม พรรคการเมืองฝ่ายขวา (La Liga) เสนอให้รัฐบาลกักบริเวณนักเรียนที่กลับมาจากไปเที่ยวเมืองจีน ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคนจีนอพยพในอิตาลี นายกรัฐมนตรีคอนเตปฏิเสธ คนในรัฐบาลหัวเราะเยาะว่าเป็นมาตรการคลั่งชาติและขี้ขลาด

เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ติดเชื้อ 130 คน รัฐบาลสั่งปิด 11 เมืองที่ภาคเหนือ มีตำรวจทหารไปคุมด่านต่างๆ ปิดโรงเรียน ร้านกาแฟ ร้านอาหาร โรงหนังโรงละคร แต่นายกฯ ยังปากแข็งบอกว่า อิตาลียังปลอดภัยกว่าหลายประเทศ

รัฐมนตรีต่างประเทศ Luigi Di Maio สบประมาทสื่อว่า “ที่อิตาลีเราผ่านความเสี่ยงจากโรคระบาดไปเป็นสื่อระบาด” มิลานยังเปิดประตูมหาวิหารให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเป็นปกติ หัวหน้าพรรคเดโมเครต Nicola Zingaretti ยังโพสท์ภาพถือแก้วเหล้าโชว์เลย แต่ไม่กี่วันเขาก็ติดเชื้อไปด้วย

อิตาลีแตกแยก มีคนเห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลและคนไม่เห็นด้วย เพราะสับสนกับการสื่อสาร และมาตรการที่ ไม่มี “หัวใจความเป็นมนุษย์” (humanized way) ไม่เข้าใจจิตวิทยามวลชน คนส่วนใหญ๋ไม่ไว้ใจนักการเมืองอยู่แล้ว เรื่องโรคระบาดพวกเขาอยากฟังแพทย์ นักวิทยาศาสตร์มากกว่า ซึ่งรัฐบาลอิตาลีไม่เข้าใจเรื่องนี้นัก ทำให้เกิดปฏิกิริยาเพราะไปฟื้นความรู้สึกต่อต้านฟัสซิสม์ในยุคมุสโสลินี ที่ใช้อำนาจสั่งการเด็ดขาด ทำร้ายผู้คนไปทั่ว ที่ถูกบังคับจนหมดเสรีภาพ

ในสังคมประชาธิปไตยไม่ใช่ว่าผู้นำอยากพูดอะไรก็พูด คนไม่ใช่สัตว์สิ่งของที่จะบังคับหรือจับวางไว้ตรงไหนก็ได้ มีประเด็นจริยธรรม สิทธิ เสรีภาพและความเป็นธรรม

การวิจารณ์ว่า คนอิตาเลียนรักอิสระ ทำอะไรตามใจ ไม่มีวินัย น่าจะจริงบ้างและมีส่วนทำให้มาตรการทางการเมืองสังคมไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด เรื่องนี้คงไม่มีแต่ที่อิตาลี ประเทศไหนผู้คนก็รักอิสระ ไม่ใช่จะฟังรัฐบาลง่ายๆ ไปทุกเรื่อง เมื่อเป็นเรื่องความเป็นความตาย ถ้ามีวิธีการสื่อสารที่ชัดเจน และเข้าใจจิตวิทยาประชาชน เอาใจชาวบ้านมาใส่ใจตน ความร่วมมือน่าจะเกิดมากกว่านี้ ไม่ใช่เพราะมีตำรวจทหารถือปืนคอยคุม แต่เพราะ “จิตสำนึก” ที่ทำให้เกิดความพร้อมเพรียงในการแก้ปัญหาร่วมกัน

อิตาลีกับเยอรมัน

เยอมันวันที่ 23 มีนาคม มีผู้ติดเชื้อ 30,000 คน ติดใหม่ 4,200 คน ตายรวม 123 คน

กลางเดือนกุมภาพันธ์ อิตาลีมีผู้ติดเชื้อ 3 คน เยอรมัน 16 คน แต่หลังจากนั้นอิตาลีแซงหน้าไปอย่างรวดเร็ว วิเคราะห์กันว่า ความต่างมาจากการรับมือการระบาดที่เยอรมันลงมือทำทันที กักบริเวณคนที่มาจากอู๋ฮั่นและเมืองจีนทันที ติดตามผู้ที่เกี่ยวข้องสงสัย มีการเทสท์จำนวนมาก กักบริเวณ รับผู้ป่วยไว้ที่โรงพยาบาล และติดตามคนที่ติดต่อสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อผู้ป่วยทุกคน

มาจนถึงมาตรการที่เข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ จากการปิดสถานที่คนไปชุมนุมกันทั้งหมด ไม่ว่าโรงเรียน สนามกีฬา ร้านอาหาร ฯลฯ ไปจนถึงการ “ปิดเมืองปิดรัฐ” แต่ก็เพียงบางเมือง (ไฟรบูร์ก) และบางรัฐ (บาวาเรีย) จนถึงมาตรการร่วมของสหพันธรัฐ คือ ห้ามชุมนุมเกิน 2 คนนอกบ้าน แต่ไม่ได้ห้ามออก เพียงแต่ไปในธุระจำเป็นเท่านั้น ไปซื้อยาหาหมอ ซื้ออาหาร เดินเล่น ออกกำลังกายเดี่ยว เป็นต้น

เยอรมันมีการสรุปสถานการณ์ทุกวันโดยสถาบัน Robert Koch ซึ่งทำงานด้านระบาดวิทยา และตอบคำถามสื่อ นอกนั้น รัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ (เศรษฐกิจ, การเงิน, แรงงาน, ครอบครัว เป็นต้น) ก็ออกมาสื่อสารกับผู้คนในประเด็นที่ตนเองเกี่ยวข้อง ที่เป็นนโยบายและมาตรการของรัฐบาล เช่น การชดเชยต่างๆ จึงไม่ได้มีแต่เรื่องโรคระบาด แต่เรื่องงาน เรื่องการเยียวยา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ประชาชนมีความหวังกำลังใจ ร่วมมือกับรัฐในมาตรการสุขภาพและอื่นๆ

ระบบสาธารณสุขของอิตาลีไม่ได้ด้อยไปกว่าของเยอรมัน แต่เหตุการณ์อย่างที่บอกตอนต้นทำให้ระบบล่ม ทั้งปัญหาบุคลากร อุปกรณ์ และอื่นๆ ขณะที่เยอรมันพยายามประคับประคองสถานการณ์ให้ช้าลงมากที่สุด จะได้รับมือได้

ด้วยการจัดระบบ การแยกแยะผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย การกักบริเวณที่บ้าน ที่โรงพยาบาล ทำให้มีคนตายที่เยอรมันด้วยโรคนี้ต่ำมากเมื่อเทียบกับที่อิตาลี แม้จะมีเหตุผลหลายอย่างที่นำมาอธิบายว่า ทำไมที่อิตาลีตัวเลขจึงสูง ก็ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น เพราะโดยรวมมีปัญหาไปหมด

สถาบันโรเบิร์ต คอค บอกว่า อาทิตย์นี้กร๊าฟน่าจะไม่พุ่งขึ้น จะค่อยๆ ราบลง ทำอย่างไรให้ราบลง (flatting the curve) และลดลงไปเรื่อยๆ เพิ่มก็ไม่มากในแต่ละวัน เริ่มลดลงคล้ายกับที่จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่ถูกยกเป็นตัวอย่างว่าทำได้ดี เยอรมันมีความเชื่อมั่นว่า “เอาอยู่”

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นความเชื่อมั่นในผู้นำอย่างนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เกิลและรัฐบาล ที่สื่อสารกับประชาชนได้ดี ไม่ทำให้เกิดความสับสน เธอข้อร้องด้วยน้ำเสียงและคำพูดที่ใครฟังก็ไม่ขัดหูขัดใจ แม้อาจไม่เห็นด้วยทั้งหมด ก็ไม่มีใครขัดขืน ที่สุดจึงไม่ได้มีมาตรการ “ปิดเมืองปิดประเทศ” เพราะแค่นี้ก็น่าจะ “เอาอยู่”

นางอังเกลา แมร์เกิล ดั้งเดิมเป็นคนเยอรมันตะวันออก เธออ่อนไหวมากกับกฎระเบียบที่เคร่งครัดเกินไป เพราะยังจดจำระบอบคอมมิวนิสท์ก่อนการรวมประเทศ อ่อนไหวกับมาตรการรุนแรง ใครที่ได้ฟังการพูดของเธอที่หน้าค่ายนรกเอาสวิตช์ ในโปแลนด์ ที่เยอรมันสังหารชาวยิวไปหลายล้านคน คงไม่แปลกใจว่า ทำไมท่าทีของเธอในยามวิกฤติถึงมีความสงบและระมัดระวัง ทำอะไรด้วยความละเอียดอ่อน

เธอบอกกับชาวเยอรมันทั้งประเทศว่า นี่คือยามลำบากที่สุดที่ชาติต้องเผชิญตั้งแต่หลังสงครามโลกมา เธอลำบากใจเป็นอย่างยิ่งที่จะขอร้องให้ร่วมมือกันอยู่แต่ในบ้าน ไม่ไปไหน ไม่ไปเยี่ยมปู่ย่าตายาย เป็นความเสียสละที่เธอเห็นใจทุกคน ฟังแค่นี้ก็ใจอ่อนแล้ว

ตอนแรกๆ ที่ดูเหมือนว่า ผู้คนยังไม่ฟังการข้อร้องของเธอที่ให้ “อยู่บ้าน” และถือระยะห่างทางสังคม แต่ที่สุดก็ได้เห็นภาพของความสามัคคีร่วมมือเป็นอย่างดี จนไม่ต้องปิดเมืองปิดประเทศอย่างที่หวั่นเกรงกัน

แต่ถึงอย่างไร ผมก็ยังรักอิตาลี รักคนอิตาเลียน ที่มีอะไรคล้ายคนไทยหลายอย่าง หวังแต่ว่า เราคนไทยจะไม่พลาด ทำให้สถานการณ์วิกฤตินี้ลุกลามจนกลายเป็นโศกนากฎกรรมที่น่าเศร้าที่สุด แม้แต่สงครามโลก คนตายก็ยังมีญาติไปฝัง วันนี้ คนตายที่อิตาลีไม่มีคนไปดูแลสวดมนต์ร่วมทำพิธี ตายอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีใครไปฝังหรือเผา น่าเศร้าที่สุด

แต่คนอิตาเลียนก็ผ่านวิกฤติมากมายมาหลายร้อยหลายพันปี ยังเปิดประตูหน้าต่างมายืนร้องเพลงกันทั้งบ้านทั้งเมือง ตั้งแต่เพลงชาติ ไปจนถึงเพลงประจำชาติอย่าง O Sole Mio, Santa Lucia, Nessun Dorma !

รวมทั้งเพลง Bella Ciao เพลงเก่าแก่ที่ปรับมาใช้ในขบวนการปลดปล่อยอิตาลีจากฟัสชิสม์ รวมพลังเพื่อให้พ้นวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้

Viva Italia ! สู้ๆ พี่น้องอิตาเลียน !

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com