(11) Covid 19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (31.03.2020)

(11) Covid 19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (31.03.2020)

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

#เศรษฐกิจเสียหายใหญ่หลวง

สองคำที่น่าจะทำให้เราเข้าใจสถานการณ์เศรษฐกิจวันนี้ คือ เศรษฐกิจถดถอย (recession) และเศรษฐกิจตกต่ำหรือเสียหายใหญ่หลวง (depression) ซึ่งยกเอาสหรัฐอเมริกามาเป็นกรณีศึกษา เพราะนอกจากจะมีตัวเลขที่มีการวิเคราะห์ไว้โดยละเอียด สหรัฐยังเปรียบเสมือนหัวรถจักรสำคัญที่ลากเศรษฐกิจโลก และเป็นต้นแบบของการพัฒนา

เพื่อให้เห็นภาพ คำว่าเศรษฐกิจถดถอย (recession) ใช้กับสถานการณ์วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008-2009 ที่สหรัฐอเมริกาที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และคำว่าเศรษฐกิจตกต่ำหรือเสียหายใหญ่หลวง (depression) ใช้กับสถานการณ์เมื่อปี 1929-1933 ที่ตลาดหุ้น “แตก” เศรษฐกิจเสียหายอย่างรุนแรง โรงงานปิด บริษัทล้มละลายจำนวนมาก คนตกงานกว่าร้อยละ 20 จีดีพีลดลงอย่างหนัก เป็นสถานการณ์ร้ายแรงที่ยาวนานถึง 3-4 ปี

คำถามวันนี้ คือ วิกฤติโควิด-19 จะคล้ายเศรษฐกิจถดถอย (the great recession 2008-2009) หรือเศรษฐกิจตกต่ำเสียหายอย่างร้ายแรง (the great depression 1929-1933) ?

เหตุการณ์ในปี 1929-1933 เศรษฐกิจเสียหายมากกว่าเมื่อปี 2008-2009 ถึง 4 เท่า จีดีพีลดลงกว่าร้อยละ 20 ผลิตผลหายไปกว่าหนึ่งในสาม วันนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่ได้ถึงขีดสุด และไม่มีใครบอกได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมก็ปรากฏขึ้นแล้ว

เพื่อเข้าใจสถานการณ์ ควรเข้าใจก่อนว่า ระบบเศรษฐกิจที่ใช้ “จีดีพี” ชี้วัด มีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง เปรียบได้กับเครื่องยนต์ 3 ตัวที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ คือ ๑) การบริโภคของประชาชน ๒) การใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนของภาครัฐและเอกชน และ ๓) รายได้จากการส่งออกลบการนำเข้า

วิกฤติโควิด-19 ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงเพราะแทบจะทำให้เครื่องยนต์ทั้ง 3 ดับไปเลย เครื่องบินลำนี้จึงบินขึ้นไม่ได้ ต้องจอดซ่อม และไม่รู้เมื่อไรจะบินได้อีก นักวิเคราะห์จำนวนมากจึงเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นเพียง recession แต่กำลังจะเป็น depression และเป็น the great depression เสียด้วย

ในปี 2019 เศรษฐกิจสหรัฐมีจีดีพีอยู่ที่ 21.43 ล้านล้านเหรียญ (คูณ 33 ก็จะได้เป็นเงินบาท) ประกอบด้วยการบริโภคของครัวเรือนประชาชน 14.56 ล้านล้านเหรียญ หรือ 68% ปีนี้เกิดโรคระบาด เครื่องยนต์ตัวนี้ถูกทำให้ดับไป คนอเมริกัน “ถูกห้ามบริโภค” ไม่ให้ออกจากบ้านไปกินข้าวตามร้านอาหาร ไปซื้อของ ไปท่องเที่ยว เดินทางด้วยรถยนต์ เครื่องบิน ไปดูหนังดูโชว์พักผ่อนหย่อนใจ

การลดเลิกการบริโภคเช่นนี้เท่ากับว่าเงินหายไปจากตลาดถึง 2.09 ล้านล้านเหรียญ 1.02 ล้านล้านจากเรื่องการบริการอาหารและที่พัก 587,000 ล้าน จากการพักผ่อนหย่อนใจ 478,000 ล้านจากการขนส่ง รวมแล้ว เพียงสามเรื่องนี้ก็เข้าไปถึง 1 ใน 7 ของการบริโภคทั้งหมด หรือเกือบ 10% ของจีดีพี

แม้ว่าการลดลงคงไม่เป็น 0 แต่ก็ลงไปเกือบต่ำสุด โควิด-19 คงส่งผลให้เกิดการถดถอยไม่น้อยกว่า 8.4% ตัวเลขต่ำสุดจากเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2008 ในวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และโดยรวมน่าจะรุนแรงกว่าอีก เพราะประชาชนจะตัดการใช้จ่ายในเรื่องอื่น ๆ อีก เช่น ไม่ซื้อรถยนต์ บ้านและสินทรัพย์ราคาแพงต่าง ๆ

ดังกรณีที่เกิดที่เมืองจีนที่ขายของได้น้อยลงถึง 20.5% เมื่อเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเมื่อมีการ “ปิดเมือง” “ปิดประเทศ” กักบริเวณประชาชนที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม การขายรถยนต์ลดลงถึง 80%

ปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมายเป็นลูกโซ่ บริษัทต่าง ๆ ตัดค่าใช้จ่ายลง ลดพนักงาน ลองนึกถึงว่าในเดือนกุมภาพันธ์มีแรงงานในงานบริการอาหารและที่พักในสหรัฐอยู่ 14.4 ล้านคน เท่ากับ 11.1% ของแรงงานทั้งหมด คนอีกครึ่งล้านทำงานในการขนส่งทางอากาศ (การบิน) อีก 2.5 ล้านคน ทำงานในด้านศิลปะ การแสดง ความบันเทิง และในการค้าปลีกอีก 15.7 ล้านคน

วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2008-2009 คนตกงาน 10% วิกฤติโควิดครั้งนี้สูงกว่านั้นแน่ เพราะปัญหาใหญ่ที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ วิกฤติการเงิน เพราะคนเป็นหนี้ ไม่มีเงินจ่าย ไม่มีเงินชำระหนี้ กระทบธุรกิจน้อยใหญ่ทั้งหมด

ปี 2017 ในสหรัฐอเมริกามีบริษัทที่ทำเรื่องอาหารและที่พักอยู่ 539,886 บริษัท กว่า 76% (413,464 บริษัท) มีพนักงานน้อยกว่า 20 คน วิกฤติโควิด-19 ทำให้บริษัท พนักงาน ครอบครัวขาดรายได้ไปเกือบทั้งหมด ขาดสภาพคล่องเพื่อพยุงธุรกิจ ไม่มีเงินใช้จ่ายและไปชำระหนี้

บริษัทใหญ่ข้ามชาติก็ไม่มีเงินชำระตราสารหนี้ เงินกู้ระยะสั้น และหนี้สินอื่น ๆ ธุรกิจขนาดย่อมไม่มีเงินจ่ายสินเชื่อหรือเงินกู้จากธนาคาร บุคคล-ครอบครัวไม่มีเงินจ่ายสถาบันการเงิน เงินกู้เล่าเรียน สินเชื่อผ่อนรถผ่อนบ้าน บัตรเครดิต

วิกฤติโควิด-19 จึงน่าจะเลวร้ายรุนแรงกว่า the great recession การถดถอยครั้งใหญ่เมื่อปี 2008-2009 และอาจเทียบกับเศรษฐกิจเสียหายร้ายแรง the great depression เมื่อปี 1929-1933 ที่จีดีพีหายไป 30% คนตกงาน 20%

แม้วันนี้จะยังไม่มีใครบอกได้ว่า โรคระบาดครั้งนี้จะยาวนานเท่าไร จะหยุดเมื่อไร บางคนบอกว่าอีกหลายสัปดาห์ บางคนบอกอีกหลายเดือน บางคนบอกว่าคงเป็นปี เพราะโรคนี้มีอะไรที่คาดคะเนไม่ได้จริง ๆ ยาก็ยังไม่มี วัคซีนก็ยังไม่เกิด รักษาตามอาการ ส่วนหนึ่งก็รอว่ามันจะจากไปเองหรือไม่เมื่อไร

ถึงอย่างไร นักเศรษฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญต่างก็สรุปว่า หนทางที่จะป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจทรุดจนเกิดผลกระทบร้ายแรงและระบบเศรษฐกิจพังเสียหายจนต้องใช้เวลาฟื้นฟูนาน มี 3 ประการ คือ

1.ต้องลงทุนด้านสุขภาพเพื่อหยุดการระบาดของโควิด-19 นี้ให้ได้เร็วที่สุด ต้องคิดถึงสุขภาพของประชาชนมากกว่าห่วงเศรษฐกิจ เพราะถ้าประชาชนเจ็บป่วยมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นแหละที่ระบบเศรษฐกิจจะพัง ดูแลคนให้ดี ดีกว่ารักษาทีหลัง (better care than cure)

เพราะถ้ามาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเนิ่นนานไปเท่าใด การบริโภคใช้จ่ายก็ยิ่งช้าลง การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจก็ไม่เกิด การลดการบริโภค 2-3 ล้านล้านเหรียญ เท่ากับสูญเสีย 10,000 ล้านเหรียญทุกวันทำงาน

ผู้เชี่ยวชาญเสนอว่า สหรัฐอเมริกาต้องลงทุนด้านสาธารณสุขให้หนัก เครื่องมือตรวจ (test kit) เตียงคนไข้ เครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัย และเสื้อผ้ากันโรคของบุคลากรการแพทย์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการนำเข้าอุปกรณ์การแพทย์ ผนึกพลังกันทุกภาคส่วนเหมือนกับตอนรวมพลังกันสู้ในสงครามโลก

2.พยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการลดการบริโภคของประชาชน เหตุการณ์เมื่อปี 1929-1933 และ 2008-2009 เริ่มจากการล้มของระบบการเงิน วิกฤติโควิด-19 ไม่ได้เริ่มที่ตลาดทุน แต่ “บนถนน” ที่ผู้คนไม่สามารถจับจ่ายใช้สอย ถูกกักบริเวณ ขาดรายได้ ธุรกิจเสียหาย โกลแมนแซคทำนายว่า จีดีพีในไตรมาสสองของปีนี้จะร่วงไปถึง 24%

3.หลีกเลี่ยงวิกฤติการเงินให้ได้ เมื่อเกิดหนี้สินไปทั่ว สถาบันการเงินก็มีปัญหาตามมาเพราะคนไม่มีเงินชำระหนี้ พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลแนะนำรัฐบาลว่า การถดถอยครั้งนี้ก็เหมือนกับที่คุ้นเคยกันมา น่าจะจัดการได้ด้วยนโยบายการเงินการคลัง ขณะที่อีกด้านหนึ่งเป็นเหมือนภัยพิบัติร้ายแรง รัฐบาลต้องช่วยประชาชนให้พ้นความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เร่งให้กลับไปทำงาน

รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ดูเหมือนจะฟังคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญและคณะทำงานพิเศษที่ทำเนียบขาว จึงเสนอให้สภาคองเกรซอนุมัติงบประมาณกว่า 2 ล้านล้านเหรียญเพื่อพยุงเยียวยาเศรษฐกิจ ลงทุนด้านสาธารณสุข ช่วยเหลือผู้คนให้มีเงินเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป เพื่อใช้หนี้ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีส.ส. ส.ว. หลายคนเสนอให้เยียวยาครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คนถึง 18,000 เหรียญ (เกือบ 600,000 บาท) แม้การพิมพ์เงินและ “ดั้ม” เข้าระบบอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า วิกฤติครั้งนี้ไม่น่าจะสาหัสเท่า the great depression เมื่อปี 1929-1933 เพราะสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างก็ได้สรุปบทเรียน เกิดการสร้าง “ตาข่ายความปลอดภัย” (safety net) ให้ระบบเศรษฐกิจ ระบบการประกันภัย ประกันสังคม และมาตรการตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมาเพื่อบรรเทาปัญหาเยียวยาความเดือดร้อน ทำให้ลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเหมือนตอนนั้นได้

ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอย่างเยอรมนี ก็มีมาตรการต่าง ๆ มากมายออกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ “ล้ม” เหมือนช่วยเรือไม่ให้อับปางกลางพายุรุนแรงนี้ การช่วยสภาพคล่องให้การประกอบการขนาดกลางขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้ช่วยเหลือคนงาน ไม่ให้เลิกจ้างและจ่ายค่าจ้างค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานได้ รวมไปถึงช่วยคนที่มีงานอิสระต่าง ๆ (self-employed) ให้อยู่รอดให้ได้

ที่บ้านเรา เข้าใจว่า รัฐบาลก็ได้สรุปบทเรียนของไทยและของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อเยียวยาและป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติเลวร้ายไปกว่านี้ เพราะสิ่งที่เกิดที่อเมริกาก็ไม่ได้แตกต่างไปจากบ้านเรา ต่างกันที่ปริมาณหรือตัวเลขเท่านั้น บทเรียนบ้านเขาหลายอย่างน่าจะใช้ได้ที่บ้านเราด้วย

ดูแค่เรื่องจีดีพีที่ลดลงไปเรื่อย ๆ ที่เคยคิดว่าจะโต 3% ก็อาจเหลือ -0.3% หรือน้อยกว่าด้วยซ้ำ นักท่องเที่ยวทั้งเทศและไทยที่คิดว่าจะมีถึง 40 ล้านคน จะทำให้เกิดรายได้ถึง 3 ล้านล้านบาท ปีนี้จะเหลือเท่าไรก็ไม่ทราบ เพราะเครื่องจักรสำคัญอย่างการท่องเที่ยว “หยุดทำงาน” ธุรกิจการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรม และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเสียหายอย่างหนัก จำนวนหนึ่งคงล้มละลาย รวมไปถึงสายการบินหลายสาย

รัฐบาลมีมาตรมากมายหลายอย่างออกมาเยียวยา โดยเฉพาะการให้เงิน “ผู้มีรายได้น้อย” ที่ลงทะเบียนกันกว่า 20 ล้านคน คงตรวจสอบกันไปว่าใครเป็นใคร ว่าแต่รัฐบาลประชาสัมพันธ์มาตรการต่าง ๆ น้อยไป ทั้ง ๆ ที่ทำมากมาย และภาคธุรกิจเอกชนเองก็ได้รับการเรียกร้องให้เสียสละช่วยเหลือสังคมมากกว่านี้ ยามลำบากควรคืนทุนให้สังคมบ้าง

ที่สำคัญ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนคงต้องผนึกพลังกันครั้งใหญ่ ไม่เช่นนั้น เราอาจจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้อย่างบอบช้ำหนักมาก จนยากและนานกว่าจะกลับฟื้นคืนสู่สภาพเดิมได้

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com