(12) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (02-04-2020)

(12) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (02-04-2020)

ภาพโดย Elliot Alderson จาก Pixabay

#เหมือนติดอยู่ในถ้ำ

มีข้อถกเถียง ความเห็นต่างและแนวปฏิบัติต่างเกี่ยวกับโควิด-19 เพราะวันนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเหมือนคนติดอยู่ในถ้ำ หาทางออกไม่เจอ ยังไม่เห็นแสงสว่างอยู่ปลายถ้ำปลายอุโมงค์ไหน เพราะนี่คืออุบัติการณ์ใหม่ มาตรการอะไรที่ใช้กันมาก่อนใช่ว่าจะใช้ได้กับโควิด-19 นี้ เป็นโคถึกที่คึกอย่างยิ่ง ยังเอาไม่อยู่

@ นายเฮลมุต มาร์โก หน้าหน้าใหญ่ของรถแข่งสูตร1 “กระทิงแดง” เสนอว่า ควรให้นักแข่งติดเชื้อเพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกัน ต่อไปจะได้ไม่กังวลและวางแผนจัดการแข่งขันได้ เขาไม่อยากเห็นการหยุดยาวอย่างไม่แน่นอนอย่างในขณะนี้ เพราะจะเสียหายต่อกีฬาและธุรกิจนี้มาก

แม้ว่าข้อเสนอของเขาจะได้รับการปฏิเสธ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นข้อเสนอประหลาดโลกอะไร มีคนอีกไม่น้อยที่คิดเช่นนี้ เพราะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสู้กับไวรัสตัวนี้หรือตัวไหนก็ได้ ที่เมื่อคนติดเชื้อแล้วก็มีภูมิต้านทาน

หลายประเทศคงมีแนวคิดนี้อยู่เบื้องหลัง มีมาตรการที่ดูจะ “หลวม ๆ” คือ ไม่จำกัดการไปมาของผู้คน ไม่ปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดประเทศ แต่ก็มีการตรวจ การติดตาม การช่วยเหลือคนติดเชื้อ คนป่วย อย่างที่สวีเดน ที่ไม่ได้ปิดโรงเรียน ร้านอาหาร ร้านค้าต่าง ๆ ที่เกาหลี ที่ญี่ปุ่น ก็ปิดบางแห่ง ไม่ได้จำกัดเหมือนประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่

มีผู้เสนอออกมาชัดเจนว่า น่าจะให้คนหนุ่มคนสาว คนอายุไม่มากติดเชื้อนี้เพื่อจะได้มีภูมิต้านทาน กันกลุ่มเสี่ยงออกไป ปกป้องคนกลุ่มนี้มากกว่า คือ คนสูงอายุและคนป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ เป็นความคิดที่เป็นได้ทางทฤษฎี แต่ก็ไม่มีใครกล้านำไปปฏิบัติ เพราะคนอายุต่ำ คนหนุ่มคนสาวที่ติดแล้วป่วยไปจนถึงป่วยหนักต้องรักษาที่โรงพยาบาล และเสียชีวิตด้วยก็มีจำนวนหนึ่ง ไม่คุ้มที่ต้องเสี่ยงกับแนวคิดนี้

แต่การที่มีการระบาดใหญ่ ตัวเลขพุ่งสูงเกือบล้านคนแล้ว คนตายก็มากขึ้น ดูเหมือนผู้นำประเทศต่าง ๆ จะ “ทำใจ” และปลอบใจว่า เมื่อแพร่ไปได้ระยะหนึ่ง ไวรัสนี้คงสลายตัวไปเอง คนจำนวนมากคงเกิดภูมิต้านทานไวรัสตัวนี้และตัวไหนในตระกูลนี้ที่คงอยู่ในโลกนี้ไปอีกนาน

@ ยาและวัคซีนที่ตีข่าวกันเมื่อไม่นานว่าจะออกมาเร็วกว่าที่คิด พอตั้งสติได้ก็บอกใหม่ว่า แม้จะเริ่มทดลองในคน แต่กระบวนการก็คงไม่ได้เร็วขนาดสองสามเดือนจบ เพราะถ้าไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซนต์คงเอาออกมาใช้กับคนทั่วโลกไม่ได้ เพราะถ้าฉีดวัคซีนแล้วเกิดป่วยด้วยอีกโรคหนึ่งที่เป็นผลข้างเคียงคงไม่คุ้ม รอให้ได้ผลจริง ๆ สัก 1 ปีถึง 1 ปีครึ่งจะดีกว่า อย่าไปเร่งรีบเพราะต้องเอาไปหาเสียงหาคะแนนทางการเมือง

@ หน้ากากอนามัย กำลังกลายเป็นประเด็นความเห็นขัดแย้งกันหนักขึ้น เพราะก่อนนี้มีแต่บางประเทศในเอเชียอย่างจีน ไทย และอื่น ๆ ที่มีมาตรการให้ผู้คนสวมหน้ากากเมื่อไปในสถานที่สาธารณะ ต่อมาก็เริ่มไปยังประเทศอื่น ๆ ในยุโรป อเมริกา แม้ว่าองค์การอนามัยโลกยัง “ยืนกระต่ายขาเดียว” ว่า “ไม่จำเป็น” สำหรับคนไม่ป่วย ควรเก็บไว้ให้คนติดเชื้อ คนป่วย ให้แพทย์พยาบาลดีกว่า

ปัญหา คือ ไม่มีหน้ากากอนามัยเพียงพอ ซึ่งความจริงก็ไม่น่าจะเป็นปัญหานาน เพราะที่สุดทุกคนก็อาจจะหาทางออกเอง ทำเอง กลุ่ม องค์กร บริษัทต่าง ๆ ระดมกันทำก็ทำได้ แยกแยะว่าอะไรให้คนทั่วไป ให้ผู้ป่วย ให้บุคลากรการแพทย์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเริ่มเชื่อว่า หน้ากากอนามัยน่าจะช่วยป้องกันการระบาดได้ เพราะคนจำนวนมากไม่ทราบว่าตนเองติด ไม่สวมหน้ากาก ย่อมกระจายแพร่เชื้อไปได้มาก และเริ่มมีเหตุการณ์อย่างการระบาดในกลุ่มนักร้องหมู่ที่สหรัฐอเมริกา ที่ไปซ้อมร้องเพลง เว้นระยะห่าง ตรวจเช็คไข้ก่อนก็ไม่มีใครติด แต่หลังจากนั้นก็ติดกันกว่าครึ่ง การร้องเพลงทำให้เชื้อออกมาอยู่ในอากาศ กระจายไปยังคนข้างเคียง ไม่ว่าจะร้องเพลงในโบสถ์ (อย่างเกาหลีและอเมริกา) หรือเชียร์มวยด้วยเสียงดัง (อย่างสนามมวยลุมพินี)

ที่สุด คงไม่พ้นที่ให้มีมาตการสวมหน้ากากอนามัยกันทุกคนเวลาออกไปนอกบ้าน ไปที่สาธารณะ แต่ถึงขั้นต้องปรับกัน 20,000 บาทอย่างที่ผู้ว่าฯ สมุทรสาครประกาศเมื่อวันที่ 1 เมษาฯ ก็ดูจะมากไป ยังกับเรื่องโกหกวัน April fool ถามว่า ผู้ว่าฯ ได้ช่วยให้ชาวบ้านเขามีอย่างเพียงพอหรือยัง เพราะหาซื้อได้ยาก อ้างอำนาจไปบังคับอย่างเดียวก็เกินไป มาตรการดีแต่วิธีการไม่ดี ในยามวิกฤติแบบนี้น่าจะคิดให้ดีนะครับ เปราะบางทั้งนั้น

@ วิธีการควบคุมการระบาดที่ทำกันวันนี้ มีอยู่หลายขั้นตอน การติดตาม (trace) ว่าใครติดเชื้อ ใครเกี่ยวข้องกับผู้ติดเชื้อ จากนั้นจึงตรวจ (test) ว่าติดเชื้อหรือไม่ ถ้าติด มีอาการ ป่วยก็ดูแลรักษา (treat) ไม่ว่าการกักบริเวณหรือส่งไปโรงพยาบาล

ที่ถกเถียงกัน คือ การตรวจ (test) ซึ่งเชื่อว่าเป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมการระบาด ยิ่งตรวจมาก พบมาก ก็จะดูแลได้ง่ายกว่าปล่อยให้ระบาดไปจนป่วยไข้หนักเอาไม่อยู่เหมือนในหลายประเทศ (อิตาลี สเปน สหรัฐ) มักยกตัวอย่างเกาหลีว่าควบคุมการระบาดได้ดีเพราะมีการตรวจมาก

ที่เยอรมันก็เช่นกัน สัปดาห์แรก ๆ ของเดือนมีนาคมตรวจอาทิตย์หนึ่ง 50,000 ปลายมีนาคมสัปดาห์ละเกือบ 300,000 คนติดเชื้อที่เยอรมันวันนี้มี 70,000 เศษ เสียชีวิต 900 กว่าคน จำนวนผู้ติดเชื้อสูงเพราะตรวจมาก

เหมือนกับมาเลเซียที่มีการตรวจมากและพบมากที่สุดในอาเซียน (3,000 คน) แต่อัตราการเพิ่มก็ไม่พุ่ง รวมทั้งผู้เสียชีวิตก็มีเพียง 45 คน

แต่ถึงกระนั้นก็มีข้อถกเถียงว่า ตรวจเท่าไรจึงจะดี หมายถึงการตรวจเต็มรูปแบบไม่ใช่วัดไข้ ที่วันนี้ไม่ได้ใช้เวลานานเป็นวัน บางประเทศเหลือเพียง 45 นาทีหรือ 2 ชั่วโมงเท่านั้น และถามว่า มีผลคุ้มจริงหรือ เพราะต้องลงทุนสูงทั้งอุปกรณ์และบุคลากร ประเทศประชากรมากอย่างอินเดีย หรือไนจีเรีย ในแอฟริกา คงไม่มีปัญญาตรวจกันมากมาย เพราะขนาดสหรัฐอเมริกาที่ประธานาธิบดีคุยว่าตรวจมากที่สุดในโลก ดูอัตราต่อประชากรก็ไม่ได้มากอย่างที่คุยโม้ และอัตราการติดเชื้อและป่วยหนักก็เพิ่มขึ้นจนบางรัฐรับไม่ไหว

@ เรื่องอาหาร อาหารเสริม สมุนไพร ไม่มีอะไรที่ “รักษา” โควิด-19 แต่เพิ่มภูมิต้านทาน ทำให้ร่างกายแข็งแรง ต้านการรุกรานของไวรัสได้แน่ กินให้เป็น ออกกำลังกายไม่ว่ากีฬาหรือทำงาน การพักผ่อนนอนหลับ และลดความเครียด ทำให้แข็งแรง ไม่ได้ต้านแต่โควิด-19 แต่ต้านสารพัดเชื้อที่อยู่รอบตัวเราได้

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com