(13) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (03-04-2020)

(13) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (03-04-2020)

ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

แปลกใจที่สื่อเสนอข่าวและมีการแชร์ชื่นชม 13 จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยกเป็นโมเดลอีกต่างหาก เพราะตอนที่ลาวกับพม่ายังไม่มีผู้ติดเชื้อก็ไม่เห็นมีใครไปชื่นชมเขา มีแต่ไปให้ความเห็นว่า เขาคงไม่มีเครื่องมือ หรือเพราะไม่ได้ตรวจหรือเปล่า ตั้งข้อสังเกตไปต่าง ๆ นานา

ยังมีหลายประเทศในโลกที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ ซึ่งองค์การอนามัยโลกบอกว่า อาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ อาจจะมีแต่ยังตรวจไม่พบเพราะไม่ได้ตรวจ ไม่มีเครื่องมือหรือระบบสาธารณสุขที่ดี หรือเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล อย่างกรณีเกาหลีเหนือที่คนสงสัย

เวลาประเทศต่าง ๆ ยกบางประเทศให้เป็นตัวอย่าง เป็นต้นแบบหรือเป็น “โมเดล” การควบคุมการระบาดของโควิด-19 เขาไม่ได้ยกลาวกับพม่าหรือประเทศไหนที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ เขากลับไปยกเกาหลีที่ผู้ติดเชื้อมากมายหลายพัน วันนี้ก็น่าถึงหนึ่งหมื่นพอดี ชื่นชมเกาหลีที่มีการตรวจ (test) อย่างมากมาย ไล่ตามหาผู้ติดผู้แพร่โดยละเอียด และดูแลแต่ละคนตามสภาพ ทำให้การเพิ่มขึ้นช้ามากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

เขาประเมินกันว่าใครและวิธีไหน “เอาอยู่” มากกว่าวัดกันที่ตัวเลข จึงมีการยกสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นตัวอย่างของมาตรการป้องกันการระบาดได้ดีแม้จะด้วยวิธีการต่างกัน ไม่เห็นเขายกตัวอย่างประเทศที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ หรือติดแต่เพียงคนสองคนมากมายหลายสิบประเทศ

เพราะการติดนั้นยังไงก็ป้องกันไม่ได้ แต่เมื่อติดแล้วก็ไม่ให้แพร่กระจาย ให้อยู่ตัว และค่อย ๆ ลดลง ตามแนวทางที่ไทยก็พยายามทำอยู่ นั่นคงจะ “น่าชม” มากกว่า เพราะจังหวัดต่าง ๆ มีผู้ติดเชื้อไม่ใช่เพราะเขาป้องกันไม่ดี แต่เพราะมีคนจังหวัดนั้นไปทำงานกรุงเทพฯ กลับบ้านบ้าง คนเดินทางจากที่อื่นไปจังหวัดนั้นบ้าง ใช่ว่าจะควบคุมได้ทั้งหมด แต่เมื่อเข้าไปในจังหวัดนั้น อยู่ที่ว่าเขาจัดการอย่างไรไม่ให้แพร่กระจาย

จังหวัดที่ยังไม่มีผู้ติดเชื้อ อาจ “โชคดี” ที่ผู้ที่กลับบ้าน หรือเดินทางไปที่นั่นไม่มีใครติด เพราะถ้าติดก็คงไปห้ามเขากลับไปบ้านไม่ได้ ก็ต้องให้กักตัวที่บ้าน หรือไปโรงพยาบาล แล้วแต่อาการมากน้อย

แทนที่สื่อต่างๆ จะยกเอาจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อเป็น “โมเดล” ควรไปศึกษาว่า จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเขามีวิธีการจัดการอย่างไรเพื่อไม่ให้แพร่ระบาด ถ้าหากตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้วเขาจัดการอย่างไร จะได้เป็นแบบอย่าง สร้างแรงบันดาลใจให้จังหวัดอื่น

การตัดสินว่าประเทศไหนสถานการณ์ย่ำแย่หรือดีกว่าประเทศอื่น ยังไม่มีใครกล้า “ฟันธง” ตรง ๆ อาจจะเป็นห่วงบางประเทศอย่างอิตาลี สเปน สหรัฐอเมริกา ที่เหมือนกับจะบอกประเทศต่างๆ ว่า “ดูเราไว้ให้ดี เพราะเราคืออนาคตของพวกคุณ”

ความจริง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน เกินร้อย เกินพัน เกินหมื่นขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยมี “แนวคิดทฤษฎี” เบื้องหลังการจัดการและมาตรการที่แตกต่างกัน และจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนผู้เสียชีวิตจนถึงวันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก หรือน้อยกว่าประเทศที่ “ปิดบ้านปิดเมือง” เช่น สวีเดนที่ไม่เคร่งครัด ติดกับนอร์เวย์ เดนมาร์ก เพื่อนบ้านที่มีมาตรการเคร่งครัดกว่า สถานการณ์ก็ไม่ต่างกันนัก แต่สวีเดนก็กำลังคิดว่าอาจต้องปรับมาตรการให้เหมือนประเทศอื่นๆ เขา เพราะผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตัวเลขสูง ๆ ของผู้ติดเชื้ออาจจะไม่ใช่ผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั้งหมด แต่เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีแต่น้อย ที่กักตัวที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลสนาม อย่างกรณีของเยอรมนีที่มีผู้ติดเชื้อวันนี้ 73,522 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 872 คน จำนวนพอ ๆ กับผู้เสียชีวิตวันเดียวที่สเปน อิตาลี และสหรัฐอเมริกา (ตัวเลขทางการของสถาบันระบาดวิทยาของเยอรมันต่ำกว่าของจอห์นส์ ฮอปคินส์)

แม้แต่การตรวจ หรือการสวมหน้ากากอนามัยก็ยังมีแนวคิดที่แตกต่างกัน กว่าจะยอมรับว่าการสวมดีกว่าไม่สวมก็ระบาดกันถึงล้านคนแล้ว องค์การอนามัยโลกกลายเป็นผู้ตามหลังประเทศทั่วโลกในเรื่องนี้ไปแล้ว

ตัวชี้วัดประสิทธิภาพของจังหวัดในการควบคุมและดูแลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่น่าจะอยู่ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาด คุณภาพในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อผู้ป่วยมากกว่า การชะลอการระบาดจนสามารถควบคุมได้

โควิด-19 มาปราบเซียน ปราบความอหังการ์ของมนุษย์ มาพร้อมกับความแปลกใหม่หลายอย่างจนคนหาทางจัดการไม่ทัน เพราะวิธีการเดิม ๆ หลายอย่างใช้ไม่ได้ จึงมีวิธีการมาตรการแตกต่างกันมากมาย ยังสรุปและประเมินไม่ได้จนกว่าจะถึงวันที่วิกฤติผ่านไป ว่าใครผิดใครถูก วิธีไหนดีกว่าวิธีไหน

ดูแต่สถานการณ์ที่อิตาลี สเปน สหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทำไมจึงปรากฏความโกลาหลอย่างน่ากลัว ไม่น่าเขื่อว่าประเทศพัฒนา มีบุคลากร มีทรัพยากร เทคโนโลยีมากมายกลับไม่สามารถรับมือกับการระบาดของไวรัสนี้

ขณะที่จีนที่ไม่ใช่ประเทศ “ประชาธิปไตย” ใช้ระบอบ “เผด็จการ” แบบหนึ่งกลับสามารถควบคุมและจัดการกับการระบาดของไวรัสนี้ได้ในเวลาไม่กี่เดือน ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่เป็น “ประชาธิปไตย” ยังดิ้นรนหาทางออกไม่เจอ หลายประเทศยังทะเลาะกันไม่จบ หาข้อสรุปและมาตรการร่วมกันไม่ได้

หลายประเทศยังสับสนว่าจะเอายังไงดี อย่างอินเดีย ที่มีประชากร 1,300 ล้านคน แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังต่ำ (2,500 คน ตาย 72 คน) แต่รัฐบาลก็กลัวว่า สถานการณ์จะเลวร้ายอย่างรวดเร็ว และคงเอาไม่อยู่แน่ จึงรีบประกาศ “ปิดบ้านปิดเมือง” อย่างกระทันหันด้วยมาตรการแรง ๆ ปิดโรงงาน ปิดร้าน ปิดสถานที่มีคนไปรวมกันทั้งหมด ชาวอินเดียในเมืองใหญ่หลายล้านต้องเดินเท้ากลับบ้าน เพราะอยู๋ในเมืองก็อาจอดตาย เพราะไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ กลับบ้านยังพอมีทางรอด

ตอนนี้ข่าวว่า รัฐบาลอินเดียอาจเปลี่ยนใจมาใช้มาตรการผ่อนปรน เพราะคนหลายล้านที่กลับบ้าน อาจนำไวรัสนี้ไปแพร่ในชนบททั่วประเทศ ที่ซึ่งระบบสาธารณสุขยังไม่ดีพอที่จะรับมือ กลัวว่าจะระบาดใหญ่

จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่า วิกฤตินี้จะจบอย่างไรและเมื่อไร เลขาธิการสหประชาชาติจึงบอกว่า นี่คือเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ท้าทายการอยู่รอดของมนุษยชาติ

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com