ชนะคาม – เชียงคาน “พระหด” สิ่งมหัศจรรย์ของอาเซียน


 

ชนะคาม – เชียงคาน
เขียนโดย: ทองแถม นาถจำนง 18 สิงหาคม 2557
ภาพโดย: Sai L. January 13, 2013

อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย กำลังเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังพุ่งแรง นักท่องเที่ยวชื่นชอบบรรยากาศสงบงามริมน้ำโขง

อาคารรุ่นเก่าริมถนนแคมโขงสายสั้น ๆ เป็นที่นิยมสูงสุดแต่นอกจากภูมิทัศน์แคมโขงแล้ว “เชียงคาน” ยังมีเรื่องน่าสนใจน่าทัศนศึกษาอีกหลายจุด

จุดที่นักท่องเที่ยวไม่พลาดอยู่แล้วคือ “วัดท่าแขก” มีพระพุทธรูปหินทรายเป็นโบราณวัตถุที่มีค่ามาก

ประวัติความเป็นมาวัดท่าแขกตามเอกสารที่เผยแพร่กันทั่วไปบอกว่า เป็นวัดเก่าแก่โบราณกาล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงห่างจาก อำเภอเชียงคาน ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร ก่อนถึงบ้านน้อยและสถานที่ท่องเที่ยวแก่งคุคคู้ วัดท่าแขก สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ พ.ศ.2209 ตรงกับ จุลศักราช 1028 วันเสาร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย ตามหลักศิลาจารึกตัวหนังสือ กล่าวว่า ท้าวสุวรรณแผ่นแผ้ว พระโอรสของกษัตริย์ล้านช้าง แห่งเมืองหลวงพระบาง เป็นผู้สร้างขึ้น

วัดใหญ่ผาหด

สมัยก่อนผู้เขียนก็ตื่นเต้นมาก เพราะพระพุทธรูปโบราณ(องค์กลาง)สลักจากหินทรายขนาดใหญ่ทีเดียว ตามตำนานว่า สร้างคู่กันกับพระยืนองค์ใหญ่มาก แล้ว “พระพุทธรูปยืน”สลักจากหินทรายอยู่ที่ไหน ?

ผู้เขียนตามหาจนพบ พระพุทธรูปยืนนั้นอยู่ที่วัดใหญ่ผาหด เมืองสานะคาม(ชนะคาม) ทางลาวเรียก “พระหด”

สลักจากหินทรายทั้งแท่ง สูงใหญ่มาก นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งในอาเซียนได้เลย

ผู้เขียนจึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวไทย เมื่อไปเที่ยวอำเภอเชียงคานแล้ว ควรข้ามไปเที่ยวเมืองชนะคามฝั่งลาวด้วยจะได้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมมากขึ้น

สมัยโบราณนั้นตัวอำเภอเชียงคานกับเมืองสานะคามหรือชนะคามเป็นเมืองเดียวกัน(เมืองอกแตก คือ มีสองฝั่ง ส่วนใหญ่แล้วบริเวณตัวเมืองใหญ่จะอยู่ฝั่งลาว ตัวเมืองเล็กอยู่ฝั่งไทย เช่น “ศรีเชียงใหม่ก็คือส่วนหนึ่งของเมืองเวียงจันโบราณ) เมืองเชียงคานโบราณเป็นเมืองสำคัญอยู่กึ่งกลางระหว่างหลวงพระบางกับเวียงจัน

เมืองเชียงคานโบราณเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ล้านช้างสำคัญเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “ศึกเวียด” พวกญวนมาตีหลวงพระบางแตก พระเจ้าไชจักพัด(ไชยจักรพรรดิ)ทรงหนีญวนมาตั้งหลักอยู่ที่เมืองเชียงคาน ต่อมาโอรสผู้ครองเมืองทรายขาว (อยู่ในอำเภอวังสะพุง จ.เลย)รวบรวมกำลังยกทัพไปขับไล่ญวนได้สำเร็จ

เพื่อเสริมข้อมูล ขอเสนอประวัติศาสตร์รัชกาล “พระเจ้าไชจักพัด” แปลจากหนังสือภาษาลาวเรื่อง “ความเป็นมาของลาว หรือ เล่าเรื่องชาติลาว” ของ “อู่คำ พมวงสา” (พิมพ์เมื่อ พ.ศ ๒๕๐๑) ดังต่อไปนี้

รัชกาลพระเจ้าไชจักพัด(ไชยจักรพรรดิ) พ.ศ ๑๙๘๑ ถึง ๒๐๒๒

เสนาอำมาตย์จึงอัญเชิญท้าวลือไช ราชโอรสของพระเจ้าสามแสนไท ซึ่งประสูติ เมื่อ พ.ศ ๑๙๕๘ ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าจักพัดแผ่นแผ้ว” (จักรพรรดิแผ่นแผ้ว) เมื่อ พ.ศ ๑๙๘๑

(ตอนนี้กรรมการวรรณคดีให้บันทึกมาว่า “ที่ถูกคือท้าววังบุรี เวลานั้นเป็นเจ้าเมืองอยู่เวียงจัน ท้าววังบุรีประสูติจากนางแก้วยอดฟ้า พระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา” และปีครองราชสมบัติของพระเจ้าไชจักพัดว่า “บางฉบับว่า พ.ศ ๑๙๙๙”)

เมื่อขึ้นครองราชสมบัติใหม่ๆ บ้านเมืองยังไม่ทันสงบเรียบร้อยดี ด้วยว่าหัวเมืองทั้งหลายยังกระด้างกระเดื่องเนื่องจากภายในเมืองหลวงเกิดวุ่นวายกันถึงสิบปี ข้างฝ่ายเมืองเวียงจัน พระยาไชมุนี(ไชยมุนี)เจ้าเมืองได้เตรียมไพร่พลไว้เพื่อจะยกไปตีกรุงล้านช้าง (ตอนนี้กองวรรณคดีบันทึกว่า “บางฉบับเรียกว่า เจ้าชายมุ่ย [ชายมุ่ยกับไชมุนี เสียงใกล้กัน] ดังนี้) ฝ่ายข้าราชการทั้งหลายพอได้ทราบข่าวว่า พระเจ้าไชจักพัดขึ้นเสวยราชย์แล้ว จึงไม่พอใจที่จะยกกองทัพไปตีกรุงล้านช้าง และได้ลอบฆ่าพระยาไชมุนีเสีย การที่จะยกกองทัพไปตีกรุงล้านช้างเพื่อแย่งราชสมบัตินั้นจึงล้มเลิกไป ฝ่ายหัวเมืองอื่น ๆ ได้ทราบข่าวก็พากันสงบไปไม่กล้าแข็งเมือง เหตุการณ์ภายในราชอาณาจักรล้านช้าง จึงค่อยสงบเรียบร้อยลงเป็นปกติตามเดิม………

เกิดศึกแกวมาประชิดกรุงล้านช้าง

ในสมัยแผ่นดินของพระเจ้าไชจักพัดเกิดศึกแกวยกมารุกรานกรุงล้านช้าง คือพระเจ้าแหลทันตังกษัตริย์แกว(เวียดนาม) ซึ่งสืบต่อจากพระเจ้าแหลลอย ยังไม่ลืมเหตุการณ์ที่ลาวทำให้แกวในสมัยพระเจ้าล้านคำแดง เมื่อเหตุการณ์ทางกรุงเวียดนามสงบก็ได้ยกกองทัพมาทำการแก้มือกรุงล้านช้าง โดยพระเจ้าแหลทันตังได้เกลี้ยกล่อมเอาแคว้นพวนไว้เป็นพวกได้สำเร็จ จึงให้บัวของชุน และเนิกอง เป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงล้านช้าง บัวของชุนและเนิกองได้รวมพลที่แคว้นพวนและยกเข้าตีกรุงล้านช้าง ตีได้เมืองตามสายทางมาจนถึงกรุงล้านช้าง ได้ตั้งค่ายล้อมกรุงล้านช้างไว้

ฝ่ายกรุงล้านช้างได้ตกแต่งป้องกันบ้านเมืองไว้และได้ต่อสู้อย่างเข้มแข็ง เจ้าอุปราชเชียงลอได้แต่งทหารออกต่อสู้กับกองทหารแกว ได้ต่อสู้รบเป็นสามารถ แต่ไม่อาจขับไล่ทหารแกวให้ถอยออกไปได้ มีแต่นับวันบุกล้อมใกล้กรุงเข้ามาเรื่อย ๆ ทหารล้านช้างได้รักษาเมืองไว้อย่างสามารถ เจ้าอุปราชเชียงลอพร้อมด้วยแม่ทัพสายนายมี หมื่นบุน หมื่นเรือง และหมื่นหล้า ได้นำทหารออกรบกับแกวด้วยอาวุธสั้น เจ้าอุปราชเชียงลอตายในสนามรบใกล้พระราชวังเชียงทอง ทหารแกวก็เข้ายึดกรุงล้านช้างได้เมื่อ พ.ศ ๒๐๒๒ ในพงศาวดารล้านช้างของกรมพระยาดำรงฯ ว่าเจ้าเชียงลอเห็นทหารเจ็บกันมากก็เสด็จลงจากคอช้างพาทหารลงเรือข้ามมาทางฝั่งขวา แต่เรือพระที่นั่งล่ม เจ้าเชียงลอสวรรคตในกลางแม่น้ำโขง ทหารแกวได้ตายในการรบครั้งนี้มากมาย

ฝ่ายพระเจ้าไชจักพัดและพระบรมวงศานุวงศ์ได้พากันลงเรือพระที่นั่งออกจากกรุงล้านช้างล่องลงมาตามลำแม่น้ำโขงก่อนกรุงแตก ทรงหยุดขบวนฟังข่าวอยู่ที่เชียงคาน บัวของชุนได้พาทหารยกตามมาถึงปากน้ำพูน ฝ่ายทหารลาวที่ลงมาจากกรุงล้านช้างได้มารวมกันที่เชียงคานแล้ว จึงได้โปรดให้ท้าวแท่นคำนำกองทหารไปตีแกวที่ปากน้ำพูน ทหารแกวสู้ไม่ได้ก็ ถอยหนีไป ท้าวแท่นคำจึงนำทหารตามตีแกวไปถึงกรุงล้านช้าง บัวของชุนและเนิกองนำทหารที่เหลือตายกลับไปยังกรุงเวียดนาม เมื่อเข้าเขตแดนแกว บัวของชุนถูกฟ้าผ่าตาย ซึ่งเป็นข้อที่พากันนำมาพูดกันภายหลังว่าแกวผิดคำสาบานของขุนบูรม ผู้เป็นต้นสกุล โดยได้นำกองทัพมาตีลาว(กรุงล้านช้าง) จึงเป็นไปตามคำสาบานที่ว่า “เทียวทางให้ฟ้าผ่า เมือป่าให้เสือกิน” นั้น
เมื่อได้ขับไล่กองทัพแกวให้ถอยไปจากดินแดนลาวแล้ว ท้าวแท่งคำ(หรือแท่นคำ) ก็นำทหารกลับมาเฝ้าพระเจ้าไชจักพัด พระเจ้าไชจักพัดทรงชราภาพมากแล้ว และทรงเสียพระทัยที่แกวยกมาย่ำยีพระนครจนเจ้าเชียงลออุปราชถึงสิ้นชีวิต พระองค์จึงเสด็จสวรรคตในวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือนห้า ปี พ.ศ ๒๐๒๒ รวมอายุได้ ๖๔ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๔๑ ปี

ท้าวแท่นคำจึงพาเสนาอำมาตย์และไพร่ฟ้าราษฎรทำศพพระราชบิดา สร้างพระธาตุองค์หนึ่ง สิม และวิหาร แล้วนำอัฐิไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ให้ชื่อว่า “วัดสบเชียงคาน” และเมืองเชียงคานจึงได้ชื่อว่า “เมืองชนะคาม” (ฝรั่งเศสเขียนว่า เมือง SANAKHAM) แล้วพาไพร่ฟ้าราษฎรกลับคืนสู่กรุงล้านช้าง (ตอนนี้กองวรรณคดีให้บันทึกมาว่า “ชนะคาม” อาจย่อมาจาก “ชนะสงคราม” ดังนี้)

…………………………………

เรื่องศึกญวนนี้ยังสงสัยหน่อยหนึ่งว่า ก่อนหน้านี้ทางกรุงล้านช้างเป็นไมตรีใกล้ชิดกับกรุงศรีอยุธยา(พระมเหสีของพระเจ้าสามแสนไทยคือพระราชธิดากรุงศรีอยุธยา – พระนางแก้วยอดฟ้า) แต่ทางอยุธยามิได้ไปช่วยกรุงล้านช้าง

พระธาตุองค์ที่พระเจ้าสุวันบันลัง(สุวรรณบัลลังก์ หรือท้าวแท่นคำ)สร้างบรรจุพระอัฐิของพระเจ้าไชจักพัด ยังแข็งแรง พระราชวังเก่าที่พระเจ้าไชจักพัดประทับอยู่ก็ยังเห็นรองรอยในพงรก ยังมิได้ขุดค้นทางโบราณคดีแล้วบูรณะขึ้น

ข้ามไปเที่ยวกันเถิดครับ เมืองสานะคามหรือชนะคาม มีอะไรให้ศึกษาเยอะ โดยเฉพาะ “พระหด” พระพุทธรูปยืนสลักจากหินทรายทั้งแท่ง สิ่งมหัศจรรย์ของอาเซียน !

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com