ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)

สภาพวัดพระแก้ว ที่ถูกกองทัพสยามเข้าเผาเมืองเวียงจันทน์ ในปีพ.ศ. ๒๓๗๑ ภาพนี้ถ่ายราวปี พ.ศ. ๒๔๕๑

บทความโดย: Guy Intarasopa

การเทครัวชาวลาวล้านช้างครั้งที่๓ ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๙-๒๓๗๑ และอีกหลายครั้งตลอดรัชสมัยรัชกาลที่๓(ถือเป็นการกวาดต้อนคนลาวจำนวนมากที่สุดมายังภาคกลางของสยาม)

ความต่อจากครั้งที่แล้ว เมื่อรัชกาลที่๑ โปรดให้เจ้าอินทวงศ์ไปครองเวียงจันทน์หลังจากเจ้านันทเสนสิ้นพระชนม์ที่กรุงเทพฯ ในปีพ.ศ.๒๓๓๘ ในระหว่างนี้เจ้าอนุวงศ์ผู้เป็นอนุชาได้แสดงความสามารถในการรบให้เป็นที่ประจักษ์ และทำความชอบให้กับสยามไม่น้อย จึงเป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่๑ ทั้งยังเป็นพระสหายกับเจ้าฟ้าฉิม(ต่อมาคือรัชกาลที่๒) ร่ำเรียนและเล่นหัวกันมาตั้งแต่พระเยาว์ จึงมีความสนิทสนมกันมาก ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเวียงจันทน์กับสยามในสมัยรัชกาลที่๒ เป็นไปด้วยความราบรื่น

ต่อมาในปีพ.ศ.๒๓๔๕ พม่ายกทัพมารุกรานเชียงใหม่ ทางกรุงเทพฯมีคำสั่งให้เวียงจันทน์นำกำลังช่วยทัพสยามตีพม่า เจ้าอินทวงศ์ออกรบไม่ได้ด้วยมีอาการป่วย จึงให้เจ้าอนุวงศ์นำทัพลาวเข้าตีเชียงแสน ศึกครั้งนั้นเจ้าอนุวงศ์ได้ชัยงดงาม กวาดต้อนเชลยเมืองเชียงแสนได้จำนวนมาก เชลยที่กวาดต้อนมาล้วนเป็นคนยวนหรือคนล้านนา แบ่งออกเป็นหลายส่วน ส่วนหนึ่งเจ้าอนุวงศ์นำไปเวียงจันทน์ไปอยู่รวมกับชาวยวนเดิมแถบเมืองศรีเชียงใหม่ อีกส่วนหนึ่งส่งลงมากรุงเทพฯ ให้ไปอยู่แถบเมืองสระบุรี ซึ่งปรากฏชุมชนชาวยวนล้านนาจำนวนมากในปัจจุบันแถบอำเภอเสาไห้ อำเภอวังม่วง

กระทั่งในปีพ.ศ. ๒๓๔๗ เจ้าอินทวงศ์สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่๑ ทรงโปรดให้เจ้าอนุวงศ์ขึ้นครองนครเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์ได้ทำการทำนุบำรุงบ้านเมืองในหลายๆด้าน เช่นสร้างวัดวาอาราม บูรณะพระราชวัง สร้างสะพานข้ามน้ำโขงมายังฝั่งเมืองศรีเชียงใหม่ ฯลฯ จนนครเวียงจันทน์กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง

ในระหว่างปีพ.ศ.๒๓๖๐-๒๓๖๔ ได้เกิดกบถขึ้นแถบนครจำปาสัก เรียกกันว่า กบถสาเกียดโง้ง ซึ่งนำโดยพระภิกษุสา รวบรวมไพร่พลชาวข่าจำนวนมาก เพื่อปลดแอกไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของสยาม พระพรหมภักดีเจ้ายกกระบัตรเมืองนครราชสีมาอาสาไปเกลี้ยกล่อมชาวเมืองจำปาสัก แต่ไม่เป็นผลกลุ่มพระสาเกียดโง้ง นำกำลังเข้าเผานครจำปาสัก ชาวข่าถูกทหารสยามซึ่งมีอาวุธที่ทันสมัยกว่าฆ่าทิ้งจำนวนมาก เลือดนองแผ่นดิน ถือเป็นการสังหารชาวข่าครั้งใหญ่ที่สุดก็ว่าได้

จากนั้นสยามมีบัญชาให้เจ้าอนุวงศ์ซึ่งครองเวียงจันทน์อยู่นำทัพไปปราบพระสาเกียดโง้ง แต่เจ้าอนุวงศ์กลับใช้วิธีนุ่มนวลโดยให้เจ้าราชบุตรโย้เข้าไปเกลี้ยกล่อมพระสาเกียดโง้งให้ยอมมอบตัว ประชาชนจะได้ไม่ลำบาก พระสาเกียดโง้งยอมมอบตัวและยอมไปรับโทษที่กรุงเทพฯ ภายหลังถูกปลดออกจากสมณะเพศแล้วปล่อยให้เป็นผู้พเนจร ส่วนพรรคพวกพระสาให้ไปเป็นตะพุ่นเลี้ยงช้าง

ความชอบในครั้งนั้นรัชกาลที่๒ เห็นถึงความจงรักภักดีของเจ้าอนุวงศ์ จึงทรงแต่งตั้งเจ้าราชบุตรโย้ โอรสของเจ้าอนุวงศ์ขึ้นครองนครจำปาสัก ทำให้อำนาจการปกครองของเจ้าอนุวงศ์มีมากขึ้นโดยครอบคลุมไปถึงอาณาจักรล้านช้างจำปาสักด้วย

พอถึงปีพ.ศ.๒๓๖๗ รัชกาลที่๒ สวรรคต เจ้าอนุวงศ์ลงมาปลงพระศพรัชกาลที่๒ พอเสร็จงานสยามได้ใช้ให้คนของเจ้าอนุวงศ์ไปตัดต้นตาลแถบเมืองเพชรบุรี เมืองสุพรรณบุรี แล้วล่องตามแม่น้ำมาเพื่อขวางปากแม่น้ำที่สมุทรปราการ ป้องกันทัพของอังกฤษไม่ให้เข้ามาตีเมืองตามที่มีข่าว ครานั้นทหารลาวถูกใช้เยี่ยงทาสนับเป็นการดูแคลนทหารลาวของเจ้าอนุวงศ์เป็นอย่างยิ่ง

ครั้นจะเดินทางกลับเวียงจันทน์เจ้าอนุวงศ์ได้กราบทูลรัชกาลที่๓ ว่าคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมาสยามเมือครั้งก่อนอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอน จึงขอให้ครัวลาวแถบสระบุรีกลับเวียงจันทน์ด้วยเถิด คำขอของเจ้าอนุวงศ์ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลต่างๆนานา ทำให้เจ้าอนุวงศ์มีความไม่พอใจเป็นอย่างมาก

การใช้แรงงานและการเก็บส่วยของสยามอย่างหนักได้ทำให้เกิดความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัสให้แก่คนลาว ทั้งต้องทำนา ขุดคลอง สร้างกำแพงเมือง รวมทั้งกองสักเลกของสยามที่ขึ้นไปสักเลกชาวลาว(การสักเลขคือใช้เหล็กจี่ไฟให้ร้อนแล้วจี้เป็นหมายเลขหรืออักษรไว้บนร่างกาย) เพื่อสะดวกในการกะเกณฑ์แรงงานและถือเป็นการบังคับคนลาวให้กลายเป็นคนในบังคับของสยาม(กลืนชาติ) เหตุการณ์นี้ได้ทำให้คนลาวได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และมีเรื่องร้องเรียนไปยังเจ้าอนุวงศ์ไม่เว้นแต่ละวัน

จากเหตุผลและความคับแค้นใจในเรื่องที่กล่าวมา ได้เป็นเหตุให้เจ้าอนุวงศ์คิดกอบกู้เอกราช ไม่อยู่ใต้อำนาจของสยาม โดยมีการนัดประชุมลับๆกับเจ้าเมืองหลายเมือง เพื่อเตรียมปลดแอกจากสยาม สาส์นลับที่มีการส่งต่อไปยังเจ้าเมืองที่ร่วมวางแผนในขณะนั้นเรียกกันว่า สาส์นลึบพระสูน(ดับพระอาทิตย์) พร้อมกันนั้นได้มีการส่งสาส์นไปบอกเจ้าเมืองหลวงพระบาง น่าน แพร่ และเจ้าเมืองในภาคอีสาน เพื่อให้ช่วยส่งกองกำลังสำหรับการก่อการในครั้งนี้ แม้นกระทั่งนครหลวงพระบางซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งมาตลอด เจ้าอนุวงศ์ก็พยายามพูดคุยให้ปรองดองกันเพื่อการจะได้สำเร็จ แต่เจ้านครหลวงพระบางกลับลอบส่งข่าวไปบอกสยามให้ล่วงรู้ การในครั้งนี้เพื่อกวาดต้อนคนลาวกลับไปเท่านั้น ส่วนการยกทัพตีกรุงเทพฯหากทำได้ก็จะเป็นเป้าหมายรอง

จากนั้นในราวปีพ.ศ.๒๓๖๙ ทัพเจ้าอนุวงศ์เริ่มรวบรวมไพร่พลตามหัวเมืองต่างๆ ว่ากันว่าน่าจะมีไพร่พลประมาณ 30,000 คนยกไพร่พลลงมาปราบปรามเจ้าเมืองที่สวามิภักดิ์สยามก่อนเช่น เมืองกาฬสินธุ์ เมืองสุวรรณภูมิ และขับไล่กองสักเลกของสยามลงไปให้พ้นเมืองโคราช ส่วนเจ้าราชบุตรโย้นำกำลังเข้าปราบเจ้าเมืองเขมราฐ ขับไล่กองสักเลกของสยามตามสองฝั่งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี

ทัพของเจ้าอนุวงศ์ตีเมืองโคราชแตกและเผาทำลายเมือง กวาดต้อนผู้คนแถบนครราชสีมาขึ้นไปเวียงจันทน์ ครั้นเดินทางถึงทุ่งสำริดจึงหยุดพักก่อน พระยาปลัดทำทีเป็นสวามิภักดิ์ อาสาพาครัวลาวไปเวียงจันทน์ แล้วใช้แผนให้ทหารที่ซ่อนตัวอยู่ สกัดและทำลายการเคลื่อนกระบวนที่ทุ่งสำริดได้สำเร็จ พระยาปลัดก็ตั้งมั่นอยู่ที่ทุ่งสำริด เมื่อความทราบถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่๓ โปรดให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพเป็นแม่ทัพใหญ่ยกทัพขึ้นมาปราบเจ้าอนุวงศ์ สงครามครั้งนั้นถือเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สยามให้ความสำคัญมาก

ส่วนเจ้าราชวงศ์นำทัพมาล่วงหน้ากวาดต้อนผู้คนจากเมืองสระบุรี ทราบข่าวก็รีบนำครัวลาวที่กวาดต้อนได้ขึ้นไปแจ้งข่าวแก่เจ้าอนุวงศ์ ครั้นทราบข่าวเจ้าอนุวงศ์ก็ถอยขึ้นไปทางเมืองหนองบัวลุ่มภูตั้งค่ายที่ช่องข้าวสาร ส่วนเจ้าราชวงศ์ให้แยกไปตั้งค่ายที่เมืองหล่มสัก

ทัพของกรมพระราชวังบวรฯเข้าตีเมืองภูเวียง เมืองสี่มุม(จัตุรัส) จากนั้นยกทัพเข้าตีค่ายช่องข้าวสารรบกันเป็นสามารถ ทัพลาวไม่สามารถสู้กองทหารที่มีอาวุธทันสมัยของสยามได้ จึงถอยไปตั้งรับที่เวียงจันทน์ ส่วนทัพจากหัวเมืองเหนือนำโดยเจ้าพระยาอภัยภูธรและพระยาไกรโกษาตีค่ายเจ้าราชวงศ์ที่เมืองหล่มสักแตก

ส่วนพะยาราชสุภาวดี(ต่อมาคือเจ้าพระยาบดินทรเดชา) เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองจำปาสัก จับตัวเจ้าราชบุตรโย้ได้ ก็ส่งตัวลงไปกรุงเทพฯ จากนั้นจึงเดินทัพไปสมทบกับทัพใหญ่ของกรมพระราชวังบวรฯเข้าตีเวียงจันทน์ เจ้าอนุวงศ์เห็นทีว่าจะต้านทัพสยามไม่อยู่จึงรวบรวมพระราชวงศ์ทั้งหลายลงเรือไปยังเมืองเหง่อานของเวียดนามเพื่อลี้ภัยทางการเมือง

ทัพของสยามเข้าเมืองเวียงจันทน์ได้ เข้าไปกวาดเอาทรัพย์สินมีค่าและพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์กลับไปยังสยามได้แก่ พระสุก พระเสริม พระใส พระแซกคำ พระฉันสมอ พระบุเงิน พระบุคำ ฯลฯ และกวาดต้อนเชลยชาวเวียงจันทน์จำนวนมากลงไปยังสยาม ทัพของกรมพระราชวังบวรฯได้เลิกทัพกลับไป ให้ทัพของพระยาราชสุภาวดีจัดการเรื่องต่อไปเองทั้งหมด

เมือกลับไปถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่๓ทรงกริ้วมากเหตุที่จับตัวเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้ แล้วพระยาราชสภาวดียังแต่งตั้งคนให้รวบรวมผู้คนให้เป็นบ้านเมืองอีก ดังนั้นในปีพ.ศ.๒๓๗๑ จึงมีพระราชบัญชาให้ทัพพระยาราชสุภาวดียกทัพไปเผาเมืองเวียงจันทน์ให้สิ้นซาก ไม้ผลไม้ยืนต้นที่เป็นอาหารได้ให้โค่นทิ้งให้หมด ครั้งนั้นพระยาราชสุภาวดีตั้งค่ายที่หนองบัวลุ่มภู ให้พระยาพิไชยสงครามนำกำลังพลไปตั้งพัก ณ วัดกลางเวียงจันทน์ ในเวลานั้นข้าหลวงเวียดนามได้พาเจ้าอนุวงศ์และเจ้าราชวงศ์ มาแจ้งความว่าพระเจ้าเวียดนามให้พาเจ้าอนุวงศ์มาอ่อนน้อมขอพระราชทานอภัยโทษ และจะทำคุณสนองฝ่ายไทยต่อไป แต่พอกลับมาเห็นเวียงจันทน์ในสภาพเพพัง ก็ทำให้เกิดความเคียดแค้น เจ้าอนุวงศ์จึงนำกำลังเข้าตีและฆ่าทหารไทยตายแทบสิ้น ส่วนที่เหลือนำข่าวไปแจ้งพระยาราชสุภาวดี

เจ้าราชวงศ์นำกำลังติดตามทัพของพระยาราชสุภาวดี เกิดการต่อสู้ที่บ้านบกหวาน เจ้าราชวงศ์สู้กับพระยาราชสุภาวดีตัวต่อตัว แทงพระยาราชสุภาวดีล้มลง หลวงพิพิธน้องชายพระยาราชสุภาวดีจะเข้าช่วยก็ถูกฆ่าตาย ส่วนเจ้าราชวงศ์ถูกปืนยิงเข่าขวาล้มลง บ่าวไพร่หามใส่แคร่พาหนี พระยาราชสภาวดีตามตีกองทัพลาวแตกพ่าย เจ้าอนุวงศ์หนีอีกครั้งไปซ่อนตัวแถบเมืองพวน แต่ถูกกองทัพหัวเมืองเหนือคือ ทัพเมืองลับแล(อุตรดิตถ์) ทัพน่าน จับตัวได้ที่น้ำฮ้ายเชิงเขาไก่แล้วส่งตัวให้สยาม(บางตำราว่าเจ้าน้อยเมืองพวนจับตัวเจ้าอนุวงศ์ส่งให้สยาม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด)

เจ้าอนุวงศ์พร้อมพระเหสีและพระราชวงศ์ราว 11 องค์ถูกจับขังใส่กรงแล้วนำมาทรมานหน้าพระที่นั่งสุทไธสววรค์ ให้ประชาชนที่เกลียดชังด่าทอ ถุยน้ำลายใส่ อยู่ได้ประมาณ 7 วันก็สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่๓ ให้นำศพไปเสียบประจานที่สำเหร่

หลังจากศึกครั้งนั้นเวียงจันทน์ถูกเผาวอด ทั้งบ้านเรือน วัดวาอารามถูกเผาสิ้น เหลืออยู่เพียงวัดเดียวคือวัดสีสะเกดที่ไม่ถูกเผาสันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นที่พำนักของแม่ทัพสยาม เหตุการณ์ครั้งนั้นชาวเวียงจันทน์และเมืองอื่นๆถูกกวาดต้อนมาสยามจำนวนมาก และถือเป็นการกวาดต้อนคนลาวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ให้เวียงจันทน์ฟื้นกลับมาเป็นเมืองอีกครั้ง รวมทั้งเมืองที่เคยร่วมกับเจ้าอนุวงศ์ก็ถูกเก็บส่วยอย่างหนัก บางเมืองถูกกวาดต้อนผู้คนลงมายังสยามด้วยเช่น เมืองนครพนม เมืองสกลนคร

ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาครั้งนี้เป็นชาวลาวเวียงมากที่สุด ให้ไปอยู่แถบสระบุรี ศรีษะเกษ สุรินทร์ ราชบุรี นครนายก ลพบุรี ชัยนาท กำแพงเพชร เป็นต้น บางพวกอพยพต่อไปแถบนครสวรรค์ อุทัยธานี สุโขทัย หรือขึ้นไปทางภาคเหนือก็มี

ส่วนฝั่งขวาแม่น้ำโขงมีการกวาดต้อนคนเมืองนครพนม ให้ไปอยู่พนัสนิคม พนมสารคาม คนจากสกลนครไปอยู่กบินทร์บุรี ประจันตคาม เนื่องจากเมืองเหล่านี้ภักดีกับเวียงจันทน์และอยู่ใกล้เวียงจันทน์

นอกจากนี้ยังมีการอพยพคนลาวล้านช้างลงมาอีกหลายระลอกทั้งจากหลวงพระบาง ปากลาย แก่นท้าว รวมทั้งไทดำ ไทพวน อีกจำนวนหนึ่ง แต่การอพยพครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งคือในปีพ.ศ.๒๓๘๗ อพยพผู้ไทจากเมืองวัง เมืองเซโปน เมืองนอง เมืองกะปอง เมืองคำอ้อคำเขียว ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแขวงสะหวันนะเขตในปัจจุบัน เข้ามายัง เรณูนคร พรรณนานิคม กุฉินารายณ์ เสนางนิคม ภูแล่นช้าง(หนองสูง) คำเขื่อนแก้ว จำปาชนบท วาริชภูมิ เป็นต้น ซึ่งเป็นหัวเมืองในภาคอีสาน

ขณะนั้นสยามได้เข้าไปปกครองดินแดนเดิมของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และจำปาสักบางส่วนไว้ทั้งหมด และพยายามกวาดต้อนผู้คนจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมายังฝั่งขวาแม่น้ำโขง เพื่อมิให้อำนาจทางล้านช้างได้ฟื้นตัวขึ้นอีก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ ร.ศ.๑๑๒ แผ่นดินล้านช้างจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยใช้แม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นเขตแดน ฝั่งซ้ายเป็นของฝรั่งเศส ส่วนฝั่งขวาเป็นของสยาม คนลาวล้านช้างจึงถูกแบ่งแยกออกเป็นสองประเทศในปัจจุบันทั้งที่เป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน

พระเสริม พระพุทธรูปสำคัญของล้านช้าง ถูกนำมาหลังสงครามกับเวียงจันทน์ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ มาประดิษฐานที่วังหน้า ภายหลังสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต รัชกาลที่๔ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดปทุมวนารามถึงปัจจุบันพระใสพระพุทธรูปสำคัญที่นำมาพร้อมกันกับพระเสริมและพระสุก แต่พระสุกจมลงแม่น้ำโขง ส่วนพระใสนี้จะนำมากรุงเทพฯ แต่เกิดเหตุให้ต้องประดิษฐานพระใสไว้ที่วัดโพธิ์ชัย หนองคาย จนกระทั่งปัจจุบันพระแซกคำหรือพระพุทธสิหิงค์ล้านช้าง เป็นพระพุทธรูปทองคำ สยามนำมาจากเวียงจันทน์หลังเสร็จศึกปี พ.ศ.๒๓๗๑ ปัจจุบันประดิษฐานที่วัดคฤหบดี กรุงเทพมหานครภาพจินตนาการ ขณะเจ้าอนุวงศ์ถูกจับตัวได้ที่เมืองพวน

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๖)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com