คลองขุดเชื่อมทะเลกับแม่น้ำโขง

๑. แผนที่แสดงที่ตั้งเมืองสำคัญ รวมทั้งคลองขุดเชื่อมทะเลกับแม่น้ำโขง ระหว่างเมืองพุทไธมาศและเมืองโจดก
๒. แผนที่แสดงบริเวณแหลมญวน ซึ่งเป็นแหลมที่มีมรสุมแปรปรวน
๓. ภาพจำลองเรือรบปากปลา ติดตั้งปืน สมัยรัชกาลที่๓
๔. ภาพจำลองการโจมตีค่ายทหารเวียดนามของกองทัพสยาม

ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
บทความโดย: Guy Intarasopa

ก่อนจะเล่าการสงคราม อานามสยามยุทธ์ ในปี พ.ศ.๒๓๗๖ จำเป็นต้องเล่าความสำคัญของเมืองพุทไธมาศหรือฮาเตียน ให้ท่านได้ทราบก่อนว่า เมืองพุทไธมาศนี้ในอดีตเป็นเมืองของเขมร เรียกกันว่าบันทายมาศ จากนั้นเขมรได้เสียดินแดนนี้ รวมถึงเมืองไซ่ง่อนให้แก่เวียดนาม ทำให้เวียดนามมีอิทธิพลมาถึงแหลมญวน ในราวปลายกรุงศรีอยุธยาญวนเวียดนามได้ขุดคลองจากเมืองพุทไธมาศนี้เข้าไปเชื่อมกับแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ เรือสำเภาสามารถแล่นเข้าไปได้ แล้วเกิดเมืองสำคัญที่ปากคลองขุดกับแม่น้ำโขงคือเมืองโจดกหรือโจฎก ถือเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญของเวียดนาม เพราะหากผ่านเมืองนี้ได้ก็จะล่องน้ำโขงตีเมืองไซ่ง่อนได้

กองทัพของพระเจ้าตากสินยึดเมืองนี้ได้ในราวปีพ.ศ.๒๓๑๕ แล้วตั้งเจ้าเมืองปกครองคือพระยาราชาเศรษฐี(คนจีน) ในอดีตเมืองนี้ก็มีเจ้าเมืองเป็นพระยาราชาเศรษฐี(ญวน)เช่นเดียวกัน ที่มีชื่อเสียงเรียงนามเป็นที่รู้จักคือ “มักเทียนตื้อ” ซึ่งมีเรื่องบาดหมางกับพระเจ้าตากสิน มักเทียนตื้อนี้เองเป็นคนทูลข้าหลวงเมืองจีน ไม่ให้รับรองสถานะกษัตริย์ของพระเจ้าตากสิน จนเฉียนหลงฮ่องเต้ไม่ให้การรับรอง แม้จะมีการส่งบรรณาการไปหลายครั้ง แต่ภายหลังก็ให้การรับรองเนื่องจากขณะนั้นพระเจ้าตากสินทรงรวบรวมดินแดนได้เป็นปึกแผ่นแล้ว

ภายหลังมักเทียนตื้อนี้นำกำลังเข้ายึดเมืองพุทไธมาศคืน แต่ก็ขอขึ้นกับไทย จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่๒ เวียดนามส่งกองทัพเข้ายึดเมืองแห่งนี้ แล้วส่งราชทูตมาขอเมืองคืนกับรัชกาลที่๒ ดังกล่าวไปแล้ว

การเดินทางไปค้าขายกับจีนต้องผ่านแหลมญวน ซึ่งบางครั้งมีลมมรสมไม่แน่นอน เกิดปัญหาในการเดินเรืออยู่เสมอ ดังนั้นหน้ามรสมเรือค้าขายมักเดินทางโดยผ่านคลองขุดนี้เข้าไปผ่านเมืองโจดกแล้วล่องแม่น้ำโขง ไปยังเมืองไซ่ง่อน ออกสู่ทะเลบริเวณปากแม่น้ำโขง เมืองพุทไธมาศึจงมีความสำคัญมาตั้งแต่บัดนั้น

การยึดเมืองพุทไธมาศคืนจึงเป็นจุดประสงค์ของการสงครามในครั้งนี้ รวมทั้งสั่งสอนเวียดนามไม่ให้เหิมเกริมมายุ่มยามกับดินแดนในปกครองของสยาม แต่สยามประเมินกองทัพเวียดนามต่ำไป ถึงแม้จะยกกองทัพพลเกือบ 120,000 คนมาตีเวียดนาม แต่ผลของสงครามครั้งนี้ ทัพสยามกลับถอยกลับไม่เป็นขบวนทั้งที่ยังไม่ได้เข้าตีเมืองไซ่ง่อน เพราะได้เจอกับกองทัพเรือของเวียดนามที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้รับการฝึกปรือจากฝรั่งเศส การสงครามในครั้งนี้มีเรื่องราวมากมายดังจะเล่าให้ฟังกันครับ

สมรภูมิรบที่สำคัญในครั้งนี้คือ บริเวณเกาะเจียนซ่ายหรือเกาะแตง(ไทยเรียก)ในคลองวามนาว ซึ่งเป็นเกาะอันเป็นที่ตั้งของกองทัพใหญ่เวียดนาม คลองวามะนาวนี้เป็นคลองใหญ่เรือรบสามารถแล่นผ่านได้

สยามได้ฤกษ์ยกทัพในวันเสาร์ขึ้นสิบสองค่ำ เดือนอ้าย เวลาเช้าสามโมงเก้าบาท พ.ศ.๒๓๗๖ ปีที่10ในรัชกาลที่3 กองทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี)และทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ บุนนาค) นัดพบกันที่เกาะแตงในคลองวามนาว ภายหลังได้รวมพลกันที่เมืองโจดก โดยกองทัพบกยกทัพลงเรือคลองสำโรงไปยังแม่น้ำบางปะกงจากนั้นพายเรือทวนน้ำไปยังเมืองปราจีนบุรี ทัพหลวงของเจ้าพระยาบดินทรเดชายกไปทางเมืองพระตะบอง โพธิสัตว์ อุดง พนมเปญ โจดก ส่วนทัพหน้าของพระยานครราชสีมายกไปเคลียร์เส้นทางก่อน ผ่านเสียมราฐ กำปงธม กำปงจาม ข้ามน้ำโขงที่กำปงจาม นัดพบที่เกาะแตง

ส่วนกองทัพเรือยกทัพเรือเรียบชายฝั่งเข้าตีเมืองพุทไธมาศได้โดยง่าย ญวนที่รักษาเมืองมีอยู่ไม่มากเหตุเพราะถูกเกณฑ์ไปปราบกบถที่เมืองไซ่ง่อน กองทัพเรือยกทัพไล่ติดตามกองทัพญวนเมืองพุทไธมาศเข้าไปจนถึงเมืองโจดก ยิงปืนปะทะกับทหารเมืองโจดกอยู่เกือบสองคืน จากนั้นกองทหารอาทมาตของกองทัพเรือก็บุกยึดเมืองโจดกไว้ได้ กองทัพบกของเจ้าพระยาบดินทร์เดชาก็ยกมาสมทบกันที่เมืองโจดกในเวลาต่อมา

ส่วนทัพหน้าของเจ้าพระยานครราชสีมานั้น พอยกทัพมาถึงกำปงจามก็มีการสร้างแพไม้ไผ่ต่อกันเป็นสะพานข้ามน้ำโขง ส่วนหน้าของทัพหน้าคือทัพของพระยานครสวรรค์ไม่ข้ามฝั่งไป แต่เดินเรียบแม่น้ำไปที่เมืองสตรึงตรอง ภายหลังกลายเป็นศพลอยมาติดแพข้ามน้ำโขงกว่า 1,000 คน กองสอดแนมที่ติดถามไปหาข่าวระบุว่ามีค่ายเวียดนามตั้งรับอยู่ถึง 14 ค่าย กองสอดแนมตามไปพบศพนายทหารสำคัญคือพระยานครสวรรค์ พระยาพิจิตร พระปลัดเมืองอุทัยธานี พระปลัดเมืองตาก พระสิงคบุรี พระสรรคบุรี พระบัวชุมไชยบาดาล พระปลัดพระยกกระบัตรเมืองนครสวรรค์ หลวงผู้ช่วยเมืองนครสวรรค์ หลวงมหาดไทยเมืองนครสวรรค์ หลวงศุภมาตรเมืองนครสวรรค์ พระพิมาย พระนางรอง พระยาเพชรปราณี พระเทพผลู หลวงวิเศษธานี หลวงงำเมือง หลวงพัศดีกลาง รวมเป็น 19 ศพ

อีกทัพหนึ่งคือทัพของพระยาสีหราชเดโชได้หายสาบสูญไปพร้อมกับทหารจำนวน 800 คน ทัพพระยามณเฑียรบาลของกองทัพหน้าดูจะเป็นกองทัพเดียวที่บุกลึกไปจนเกือบถึงเมืองไซ่ง่อน

ส่วนสมรภูมิรบที่คลองวามนาวนั้นดูจะสำคัญมากๆ แต่ผมจะสรุปผลของสงครามให้ฟังคร่าวๆก่อนจะมาลงรายละเอียดในครั้งต่อไปครับ

๑.กองทัพบกและทัพเรือของสยามได้บุกโจมตีค่ายเวียดนามครั้งที่๑ ที่คลองวามนาวแต่ถูกกองเรือของเวียดนามโจมตีอย่างหนักด้วยอาวุธปืนที่ใช้ในสงครามครั้งนั้นทั้งสองกองทัพคือ ปืนบาเรียมขานกยาง กองทัพสยามถอยร่นมาที่เมืองโจดก ส่วนทัพเรือถอยมาที่เมืองพุทไธมาศ ซ่อมบำรุงเรือ และเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการรบครั้งต่อไป

๒.ทัพสยามเข้าตีค่ายเวียดนามครั้งที่๒ ศึกครั้งนี้รบกันหนักมาก ระหว่างปืนบาเรียมขานกยางบนเรือรบเวียดนาม กับปืนบาเรียมขานกยางของกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ตั้งบนหลังช้างกว่า ๑๗๐ เชือก กองทัพสยามถูกตีโต้อย่างหนัก เกิดการสูญเสียอย่างมาก แม่ทัพใหญ่สยามสั่งให้ถอยทัพทั้งทัพบกและทัพเรือ

๓.สยามเผาเมืองโจดก เมืองพุทไธมาศ เมืองกำป๊อด เพื่อไม่ให้เวียดนามใช้เป็นฐานที่มั่นได้อีกต่อไป

๔.เกิดกบฏเขมร เพราะทราบข่าวว่าสยามพ่ายแพ้สงครามและถอยร่นกลับ

๕.สยามกวาดต้อนชาวญวนจำนวนหนึ่งนำกลับไปเมืองจันทบุรี และกรุงเทพฯบางส่วน ภายหลังได้กลายเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองเช่น ตระกูลเวชชาชีวะ

๖.ทัพเวียดนามนำกำลังตามตีทัพสยาม สูญเสียทั้งสยามและเวียดนาม ทัพสยามตัดหัวทหารเวียดนามราว ๖๐๐ คนที่ต้องกลศึก แล้วส่งไปถวายพระเจ้าหมินหมาง แลกกับที่เวียดนามสังหารกองทัพของพระยานครสวรรค์แล้วลอยมาตามน้ำโขงกว่า ๑,๐๐๐ คน

๗.สยามทำลายเมืองพนมเปญและกวาดต้อนคนเขมร แขกจาม คนจีนบางส่วนมายังกรุงเทพฯ คนเขมรให้ไปตั้งรกรากที่บางกุ้ง ราชุรี คนจีนให้ไปตั้งรกรากที่เมืองนครชัยศรี แขกจามให้ไปตั้งบ้านเรือนแถบบางกะปิ

ครั้งหน้าจะมาลงรายละเอียดการรบครั้งสำคัญและข้อเด่นข้อด้อยของทั้งสองกองทัพครับ ว่าเหตุใดสยามจึงพ่ายแพ้สงครามในครั้งนี้ รวมทั้งการรบของสองกองทัพที่เหลือที่นำกองทัพเข้าตีเวียดนามทางเหนือคือ เมืองเหง่อานและหัวเมืองพวน

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๖)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com