ทางอีศาน ฉบับที่ ๓ – สัมภาษณ์ รศ.สีดา สอนศรี

ทางอีศานฉบับที่ ๓ ปีที่ ๑, กรกฎาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์สัมภาษณ์ Interview
รศ.สีดา สอนศรี
ผู้เชี่ยวชาญอาเซียนศึกษา
วิทยาลัยการเมืองการปกครอง
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


บุคคลในคอลัมน์สัมภาษณ์ของ “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๓ เรื่องจากปก “ทางแห่งอาเซียน” เล่มนี้ได้รับเกียรติให้ความรู้แง่คิดจาก รศ.สีดา สอนศรี

ท่านจบศิลปศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จบปริญญาโทด้านเอเชียศึกษา จากมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ ทั้งยังผ่านการฝึกอบรมต่าง ๆ จากทั่วโลก

ค้นคว้าวิจัยด้านฟิลิปปินส์ศึกษามาแทบตลอดชีวิต มีผลงานเขียน อาทิ “รัฐกับสังคมมุสลิมในฟิลิปปินส์ : จากความขัดแย้งสู่ความร่วมมือ”, “แนวคิดความร่วมมือส่วนภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”, “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : การเมืองการปกครองหลังสิ้นสุดสงครามเย็น” ฯลฯ

อดีตอาจารย์ประจำสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมทั้งเป็นกรรมการพิจารณากลั่นกรองผลงานตำแหน่งทางวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ ฯลฯ.

“ทางอีศาน” : ขอให้อาจารย์เล่าภาพรวมของอาเซียน และอยากทราบว่าการตั้งองค์กรภูมิภาคอาเซียนนี้มีเบื้องหลังอย่างไรหรือไม่ ?

รศ.สีดา สอนศรี : จริง ๆ แล้วดิฉันเคยผ่านงาน Southeast Asia มาก่อนตั้งแต่ต้น จากนั้นก็มาดูเรื่องอาเซียน การรวมกลุ่มภูมิภาคอาเซียนจากการศึกษาว่าพบช่วงแรกนั้นเริ่มจากการเมืองไม่ได้มุ่งมาทางเศรษฐกิจเลย อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญเพราะถ้าเริ่มจากการเมืองแล้วจะกลวง แต่ถ้าเราเริ่มที่เศรษฐกิจก่อนจะแน่น เหมือนอย่างสหภาพยุโรปในตอนต้น เพราะเศรษฐกิจเป็นปากเป็นท้องของคน ถ้าเราเริ่มพัฒนาจากตรงนี้ก่อน ภาคประชาชนจะเข้มแข็ง แต่ถ้าเราเอาการเมืองมาก่อนในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่เข้มแข็งก็จะมีปัญหาเหมือนปัญหาในอาเซียนขณะนี้ เพราะว่าทั้ง ๑๐ ประเทศไม่เหมือนกันเลย ทั้งการปกครอง สังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้เหมือนก็ยาก หากบอกว่าอาเซียนจะเป็นประชาคมในปี ๒๐๑๕ โดยส่วนตัวแล้วก็ยังคิดว่าจะเป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งอาจจะได้แค่ภาคส่วนเดียวเท่านั้น

อาเซียนเริ่มเมื่อปี ๑๙๖๗ ตอนนั้นดิฉันได้ทุน SEATO ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ ประมาณปี ๑๙๗๑ เขาก็บอกว่าทุนนี้จะยุบในปี ๑๙๗๕ ซึ่งเราจะรู้ข่าวเฉพาะคนที่ได้รับทุน เราจึงรู้ว่า SEATO จะถูกยุบ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เกิดความกลัวว่า ถ้า SEATO ล้มแล้วจะเป็นโดมิโน จึงตั้งอาเซียนขึ้นมารองรับก่อนเพื่อจะเป็นองค์กรหนึ่งที่อาจจะมาแทน SEATO แต่ในระยะแรกเราระบุในเอกสารว่า จุดประสงค์ของอาเซียนเพื่อความร่วมมือทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งในปัจจุบันเราเปลี่ยนเป็นเอาจุดประสงค์ทางเศรษฐกิจนำ

ในปี ๑๙๗๔ เราไปปรับความสัมพันธ์กับจีนเพราะฉะนั้น SEATO ก็ไม่จำเป็นที่จะอยู่เพราะว่าเราไม่ได้ต่อต้านจีนแล้ว จึงยุบไปโดยปริยายในปี ๑๙๗๕ และหลังจากปีนี้เองอาเซียนก็มีบทบาทขึ้นมา แต่เป็นบทบาทในแง่ความร่วมมือทางการเมืองพัฒนาสังคม วัฒนธรรม ตอนนั้นเศรษฐกิจเรายังไม่ได้คิดถึง มาช่วงหลัง ๆ นี่เองที่มาคิด ทำไมเราจะต้องคิดถึงเศรษฐกิจ เพราะว่ากลุ่มต่าง ๆ ในโลกเป็นกลุ่มที่มีพลังทางเศรษฐกิจ กลุ่มสหภาพยุโรปกลุ่มอเมริกา กลุ่มเอเชียตะวันออก ฉะนั้นถ้าเราไม่รวมกันคิดว่าเราคงอยู่ไม่ได้ เราก็ต้องเป็นพลังต่อรอง แม้ข้างในจะยังหลวม ๆ ไม่เป็นไร เพียงให้เขาเห็นภาพภายนอกว่าเราเข้มแข็งเป็นกลุ่มก้อน แต่ภายในจะเข้มแข็งหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ตามความคิดของดิฉัน ด้านวัฒนธรรมก็มีการแลกเปลี่ยนกันเยอะแยะ ส่วนด้านความมั่นคงยังนะ การเมืองยังกลัวอยู่ ส่วนด้านเศรษฐกิจเราจะเป็นการค้าเสรี บางประเทศก็ทำได้บางประเทศก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นประเทศไหนศักยภาพสูงก็ทำได้สูง สำหรับการค้าเสรีนะ สิทธิและค้าขายได้มากตามที่ตัวเองต้องการ บริโภคก็ได้มากตามที่เราจะส่งสินค้าไป เพราะฉะนั้นประเทศไหนที่มีศักยภาพอย่างนี้ อินโดนีเซีย มาเลเซียอาจจะมีใครผลิตได้มากขายได้มากก็จะได้ประโยชน์ แต่ก็ยังมองในแง่ดีว่าเป็นการค้าเสรีเฉพาะเพียงบางอย่างก็ได้

การค้าเสรีที่สำคัญตอนนี้คือเปิดธุรกิจการศึกษา การค้าเสรีคือธุรกิจการศึกษา ตอนนี้ชาวฟิลิปปินส์กับมาเลเซียเข้ามาเป็นครูในไทยเยอะแล้วเราจะเอาครูไทยไปไว้ที่ไหน ภาษา (อังกฤษ) เราก็ไม่เก่ง อันนี้คือการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีเคลื่อนย้ายการลงทุน และเคลื่อนย้ายการบริการถ้า ๔ อย่างนี้มาครบ คนที่เคลื่อนย้ายมาจากต่างประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ก็จะเข้ามาสู่ประเทศที่พูดภาษาอังกฤษด้อยกว่า เราอาจจะคิดว่าเป็นอาเซียนด้วยกันไม่เป็นไร แต่เราจะเอาคนของเราเองไปไว้ที่ไหน สิ่งสำคัญคือเราจะจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างไร ตอนนี้พยาบาล แพทย์ ครู ของฟิลิปปินส์เข้ามา ครูมาเลเซียก็เข้ามาเยอะ และสิงคโปร์ก็มาลงทุนเยอะมาก แล้วเราจะทำอย่างไรกับประเทศของเรา ? ส่วนด้าน SME, SML ของเราพร้อมหรือยัง ? เรามีสินค้าหรือยัง ? เรามี OTOP แต่เรามีตลาดหรือยัง ? ภาษาเราดีหรือยัง ? ไม่ทราบว่าใครจะช่วยตรงนี้ ถ้าเราทำเรื่องเหล่านี้ได้จะดีมาก

“ทางอีศาน” : อยากให้เล่ารายละเอียดเกี่ยวกับ SME มันจะมีปัญหาอย่างไร ?

รศ.สีดา สอนศรี : ถ้าเป็นชาวบ้านเราทำ SME ได้ เช่นเราทำข้าว ซึ่งข้าวของเราดีมาก เราสามารถทำเป็น SME ในหมู่บ้านได้ พอเราทำเสร็จแล้วรัฐบาลก็ต้องส่งเสริม คือจะเอาข้าวไปจำหน่ายที่ไหน ? หรือเราจะไปทำการค้าเสรีกับประเทศไหน ? หรือจะทำเป็นสหกรณ์ได้ไหม ? จะต้องมีรัฐบาลช่วย ดิฉันมีลูกศิษย์ทำอยู่ที่นี่ เขาทำเป็นสหกรณ์หมู่บ้าน ถามเขาว่าจะไปขายที่ไหน ? เขาก็บอกจะไปขายที่กรุงเทพฯ ซึ่งจริง ๆ แล้วจะต้องเป็นองค์กร แล้วก็จัดการให้เขาไปเลย ต้องมีตัวกลางจัดการ แต่คนจัดการตรงนั้นต้องไม่เอาเปรียบเขา ถ้าทำเป็นรูปสหกรณ์เหมือนอย่างที่ฟิลิปปินส์เขาทำ เขาจะไม่เอาเปรียบ จริง ๆ ไทยเรามีสหกรณ์เยอะแต่ไม่ค่อยมีคุณภาพ

“ทางอีศาน” : ขอให้ยกตัวอย่างสหกรณ์ที่ดี ๆ ของฟิลิปปินส์ว่าเป็นอย่างไร ?

รศ.สีดา สอนศรี : เช่น หมู่บ้านหนึ่งเขาผลิตสินค้าคล้าย ๆ OTOP ของบ้านเรา เป็นหมู่บ้านที่เขาปักเสื้อสวย เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสเปนปกครอง เขาก็ส่งเสริมให้ชาวบ้านปักผ้าเป็นลายดอกมะลิ ทำมาตลอดจนถึงตอนนี้ เดี๋ยวนี้เขาทำเป็นสหกรณ์ พอจัดสหกรณ์เสร็จก็จะมีเอ็นจีโอเข้ามาช่วย แล้วเอ็นจีโอที่เข้ามาต้องเป็นดีไซน์เนอร์เพราะต้องมาดีไซน์แบบ จะต้องพัฒนาตลาด อย่างช่วงปี ๑๙๗๒ ก็ยังธรรมดา ๆ นะ พวกผ้าใยต่าง ๆยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก แต่ผ่านมาสี่สิบปีนี้พัฒนามาก สีสวย รูปแบบสวย พวกกระเป๋าก็เช่นกัน เราอาจสู้เขาไม่ได้นะ เพราะเขาทำละเอียดมาก เอ็นจีโอที่มาช่วยออกแบบ มาช่วยทำการตลาดโดยไม่คิดกำไร เพราะเขาถือว่าเป็นสหกรณ์

“ทางอีศาน” : เขาจัดการตลาดอย่างไรไม่ให้มีการเอาเปรียบกัน

รศ.สีดา สอนศรี : ที่นั่นเขาจะมีระเบียบของสหกรณ์ และระเบียบของผู้ที่มาติดต่อว่าจะทำอย่างไร ? จะมีตัวกลางเอาไปส่งออกอย่างไร ? เขาคำนึงถึงความเป็นคนว่าเขาจะอยู่ได้อย่างไร ? ไม่อย่างนั้นเขาคงอยู่ไม่ได้สี่ห้าร้อยปีจนถึงปัจจุบัน ถ้าเข้าไปก็จะเป็นหมู่บ้านในรูปสหกรณ์ แล้วก็ส่งต่อเขาก็อยู่ได้ แล้วก็สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สำคัญคือเขาทำแล้วสวย ดิฉันก็เลยคิดว่าทำไมเราไม่เอาดีไซน์เนอร์ของเราเข้ามาช่วยบ้าง ? แล้วทำไมของเราถึงทำได้ไม่ถาวร ?

“ทางอีศาน” : คิดว่าทางรัฐบาลยังช่วยเหลือในส่วนนี้น้อย

รศ.สีดา สอนศรี : ค่ะ รัฐต้องเข้ามา เพราะว่ารัฐเขาช่วยเลยนะ SME และ SML

แล้วของเราเลิกโชวห่วย แต่ฟิลิปปินส์ไม่เลิกนะตั้งแต่สมัยดิฉันไปเรียนเขาก็มีห้างใหญ่ ๆ แล้วขณะที่ห้างใหญ่ ๆ ประเทศเราตอนนั้นยังไม่มีเลยพอเราไปเห็นก็ตกใจว่ามีอย่างนี้ด้วย อีกอย่างซื้อของก็ต้องไปรอต่อคิวทั้ง ๆ ที่ประเทศเรายังไม่มียังไม่รู้เรื่องเลย ประเทศเขาทำทุกอย่างตามคิวหมด เพราะเป็นระบบอเมริกัน ในขณะเดียวกันโชวห่วยก็ยังมีค่ะ มีตามหมู่บ้าน มีร้านเล็ก ๆ ในนั้น มีทุกหมู่บ้าน เขาไม่ได้เลิกโชวห่วย เพราะถือว่ามันเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน

ทำไมของเราเลิกทำโชวห่วย เราไปสนับสนุนบริษัทใหญ่ ๆ แล้วคนก็เสียผลประโยชน์มากมายคนจะหากินอย่างไร ? อันนี้คือสิ่งที่ฟิลิปปินส์เขาคิดมาก แล้วถ้าเป็นธุรกิจใหญ่ ๆ คล้าย ๆ เซ็นทรัลของเรานั้นเขามีทุกจังหวัด เรียก SM อันนี้มาจากคนฟิลิปปินส์เชื้อสายจีน เดิมมาจาก Shoemart เดิมเป็นร้านเล็ก ๆ แต่เขาพัฒนาขึ้นมาจนกระทั่งเป็นร้านใหญ่ ซึ่งใหญ่กว่าเซ็นทรัลหลายเท่า และเขามีทั่วประเทศเลยค่ะ อันนี้คือส่งเสริมคนของเขาเอง ไม่ใช่ให้คนอังกฤษคนฝรั่งเข้ามาซื้อกิจการเหมือนในบ้านเรา ซึ่งเป็นการส่งเสริมคนฟิลิปปินส์ให้ทำการค้าตามระบบนานาชาติได้ ฟิลิปปินส์จะได้เปรียบคนไทยเพราะเขาอยู่ภายใต้อเมริกามาก่อน เพราะฉะนั้นเวลาเจรจาธุรกิจเขาก็จะทำง่ายหมายถึงว่าเขารู้วิธีการทำธุรกิจสากล

“ทางอีศาน” : เขามีกฎหรือข้อห้ามอะไรไหม

รศ.สีดา สอนศรี : มีค่ะ รู้สึกว่าค่อนข้างจะเป็นชาตินิยมด้วย ในปัจจุบันคนของเขาทำธุรกิจเทียบเท่ากับต่างประเทศด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องอาศัยต่างประเทศนะ หรืออย่าง Wal-Mart ที่เข้าไปก็มีแค่แห่งเดียว นอกนั้นก็ไม่ให้เข้าเลยหรือว่า 7-ELEVEN ก็แทบจะเข้าไม่ได้ แต่เขาจะอนุญาตคนของเขา คือธุรกิจ SME และ SML ของเขาเท่านั้น เขาค่อนข้างจะเป็นชาตินิยม เพราะฉะนั้นใครจะเข้าฟิลิปปินส์ค่อนข้างยาก เช่นประเทศไทยจะไปตั้งร้านอาหารก็ตั้งยากมาก เขาบอกว่าคนที่เป็นผู้จัดการต้องเป็นฟิลิปปินส์ด้วยเขามีสัดส่วนของเขาค่ะ ถ้าเราคิดว่าเขาเป็นชาตินิยม เขารักษาคนของเขามันก็ถูกต้องแล้ว แต่ขณะเดียวกันคนที่มีคุณภาพก็ออกข้างนอก เพราะประชากรเขาเยอะ พวกที่ออกไปข้างนอกโดยเฉพาะไปอเมริกาก็เช่น วิศวกร หมอ พยาบาล ครู หรือพวกแม่บ้านก็มีคุณภาพนะ เพราะเขาจบปริญญาตรี หรือพวกนักร้องเขาก็จบดนตรีมาโดยตรง คือถ้าทำมาหากินในประเทศบางทีอาจจะรายได้น้อยเพราะประชากรเยอะ ไม่สะดวก เขาออกนอกประเทศเขาก็ได้เงินเยอะกว่า

แล้วตอนนี้ที่ประเทศไทยเขาทำไงรู้ไหมคะ นักดนตรีฟิลิปปินส์เขาไปเสนอโปรแกรมที่โรงแรมดัง ๆ เป็น Package คือจริง ๆ ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจของไทยกับฟิลิปปินส์ก็ไม่ค่อยแตกต่างกันนะ ถ้าเทียบกับช่วงปี ๑๙๘๖ ตอนนั้นฟิลิปปินส์ต่ำมากซึ่งเป็นยุคประธานาธิบดีมาร์กอส แต่ปัจจุบันไม่ตกต่ำอย่างที่เราคิดแล้ว แต่ปัญหาของเขาคือมีประชากรเยอะ จึงทำให้หลายคนต้องไปทำมาหากินนอกประเทศ

“ทางอีศาน” : ได้ยินมาว่าคนฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานต่างประเทศส่งเงินกลับบ้านกันมาก

รศ.สีดา สอนศรี : ใช่ค่ะ คนทำงานถ้าไปอเมริกา พวกแพทย์ นักกฎหมายจะได้เงินเยอะมาก แล้วเงินสำรองเขาก็เยอะ เหมือนเขามีจิตผูกพันกับประเทศ เขาก็จะส่งเงินสำรองกลับประเทศเขา ช่วง พ.ย.- ธ.ค. เงินประเทศเขาจะเยอะ นอกจากนี้แต่ละอาชีพของเขาจะมีทักษะและความรู้ อย่างเช่น วิศวกร ๒ ชาติไทยกับฟิลิปปินส์ไปทำงานที่เดียวกัน คนฟิลิปปินส์จะเป็นผู้จัดการ คนไทยภาษาไม่ดีก็จะอยู่ระดับที่ต่ำกว่าจะเป็นลักษณะอย่างนี้ ส่วนค่าจ้างถ้าไปต่างประเทศก็จะสูงกว่าอยู่ในฟิลิปปินส์ เพราะฉะนั้นเขาก็จะออกต่างประเทศกันมาก แต่สิ่งสำคัญคือเขายังผูกพันต่อประเทศของเขา ช่วยประเทศเขาเอง เขาส่งเงินดอลลาร์เข้าประเทศมาก

“ทางอีศาน” : ถ้าเราพูดในภาพรวมว่าอาเซียนเป็นตลาดเสรีมันก็ไม่ใช่ความจริง ?

รศ.สีดา สอนศรี : ใช่ค่ะ มันไม่เท่าเทียมกันเสรีไม่เท่าเทียมกัน อย่างยุโรปเขาก็จะมีจำกัดนะว่ามีเสรีอย่างไร แต่ละประเทศจะมีเสรีอย่างไร นี่เป็นกฎของยุโรป แต่เขาบังคับได้เพราะเขามีองค์กรเหนือชาติอยู่ บังคับว่าแต่ละประเทศต้องเก็บภาษีเท่าไหร่ จะต้องทำอย่างเสรีเท่าไหร่ ยังไงบ้าง เขาก็จะมีกฎของเขา แต่เรายังไม่มีอำนาจถึงขนาดนั้น เราไม่มีองค์กรขนาดนั้น แม้กระนั้นก็ตามยุโรปก็ยังผจญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน

“ทางอีศาน” : แล้วอย่างกฎบัตรอาเซียนอาจารย์มีความคิดเห็นว่าอย่างไร ?

รศ.สีดา สอนศรี : ดูแล้วค่ะ คิดว่าเราข้ามขั้นตอนที่ ๒ ไป ของ EU เขามีทั้งหมดอยู่ ๕ ขั้นตอน ขั้นตอนที่ ๑ คือ การค้าเสรี ขั้นตอนที่ ๒ สหภาพศุลกากร คือจะต้องตกลงว่าด้วยภาษีภายนอกร่วมกัน เราทำไม่ได้ในข้อนี้ เพราะว่าเราไม่ได้รวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่น เราไม่มีองค์กรเหนือชาติ เราเลยทำในข้อ ๒ ไม่ได้ ขั้นตอนที่ ๓ คือตลาดร่วม อันนี้เรากำลังทำตลาดร่วมอยู่ ว่ากำหนดเขตเสรีให้การค้า คน (แรงงาน) บริการ เงินทุน การลงทุนเคลื่อนไหวไปมาอย่างเสรี เรากำลังทำข้อนี้อยู่ เราข้ามขั้นตอนที่ ๒ มา เพราะฉะนั้นเราจึงมีปัญหาตรงนี้

อันนี้คือเงินทุน และก็การลงทุนด้วย แต่ EU ไม่มีการลงทุนนะ มันมีแค่คน, สินค้า, บริการ เงินทุน ของเราก็มี “การลงทุน” เข้าไปด้วยอีก พอมีอย่างนี้ นอกจากจะมีเงินทุนแล้วการลงทุนก็ใหญ่ขึ้นอีก แต่ถ้าถามว่าจะเท่าเทียมไหม ประเทศที่มีศักยภาพสูงจะมาก่อน ไม่ว่าทางด้านไหน อย่างการเคลื่อนย้ายคนตอนนี้ คนเขามาเราก็แพ้เขาแล้วบริการเราอาจจะแพ้เขา สินค้าเราก็เทียบจีนไม่ได้เพราะจีนกำลังบุกเรามาก เราจะไปทำสินค้าในอาเซียน เราก็อาจจะแพ้อีกกลุ่ม คือมันมีอีกกลุ่มนะที่เรียกว่า “กลุ่มอนุภูมิภาค”

ในอาเซียนมี ๒ อนุภูมิภาค ที่เราต้องกลัวก็คือกลุ่ม SIJORI ซึ่งประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซียอินโดนีเซีย นี่เป็นกลุ่มหนึ่งนะ กลุ่มนี้เข้มแข็งมากแล้วนายทุนก็คือสิงคโปร์ ส่วนมาเลเซีย อินโดนีเซียก็มีแรงงานราคาถูก อาจจะมีพื้นที่ที่เขาไปสร้างโรงงานได้ แต่ทั้ง ๓ ประเทศก็มีประโยชน์ร่วมกันเพราะว่าพวกโครงสร้างพื้นฐานนี้สิงคโปร์จะไปสร้างให้กับ ๒ ประเทศนี้ แล้วก็พัฒนาคน ๒ ประเทศนี้ด้วย มันก็จะได้ซึ่งกันและกัน

แล้วอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่ม BIMP มีบรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ดู ๔ ประเทศนี้สิคะ แต่ละประเทศก็มีจุดแข็งจุดอ่อนของเขาเอง บรูไนนี่คนน้อยประเทศเล็ก แล้วก็มีแต่น้ำมันอย่างเดียว แต่ร่ำรวยไงคะ เขามีน้ำมัน เขาสามารถจะแลกเปลี่ยน สามารถจะเอาเครื่องบินไปแต่ละประเทศได้เลย นำพานักธุรกิจไปภายในครึ่งชั่วโมงไปในแต่ละประเทศ ๔ ประเทศนี้ได้เลย เพราะฉะนั้นบรูไนก็ต้องสนับสนุนเรื่องเงิน อินโดนีเซียก็คนเยอะ ทรัพยากรเยอะ ใครหรือประเทศใดจะไปร่วมลงทุนก็ได้ มาเลเซียการคลังเขาเข้มแข็งนะคะ ฟิลิปปินส์แข็งก็ในเรื่องของภาษาอังกฤษ ในเรื่องการทำธุรกิจสากล เพราะฉะนั้นถ้า ๔ ประเทศนี้มาร่วมกันทำสินค้าเขาก็ไปได้ไกล อย่างอาหารฮาลาล นี่เรียบร้อยไปแล้ว ก่อนที่เราจะเริ่มคิดพวกนี้เขาเริ่มทำมานานแล้วค่ะ (หัวเราะ)

ทีนี้อาเซียนก็เพิ่งจะเกิด แต่ ๒ กลุ่มนี้เขาเป็นพี่น้องกันนะคะ ทั้ง ๓-๔ ประเทศนี้เขาอยู่ใกล้ ๆ กัน พูดภาษาเดียวกัน ทางใตของฟิลิปปินส์เขาเป็นมุสลิม เขาก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะฉะนั้นถ้ามองอย่างนี้แล้วดิฉันว่ากลุ่มในอนุภูมิภาคจะสำเร็จมากกว่าส่วนใหญ่ คืออาเซียนโดยองค์รวม

“ทางอีศาน” : ที่เราบอกว่าไทยเป็นผู้นำ ?

รศ.สีดา สอนศรี : ดิฉันไม่คิดนะคะ เพราะว่าดูแล้ว ๑ คือปัญหาภาษา ๒ คือการทำธุรกิจแบบตะวันตก เราก็ยังด้อยกว่าประเทศอื่น ถ้าเป็นประเทศอื่นเขาเป็นมืออาชีพแล้ว

ถ้าจะร่วมกับอินโดจีน เราก็ประมาทเวียดนามไม่ได้ เพราะเวียดนามกำลังพุ่ง ขณะนี้ส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน แล้วยังจะพม่าอีกอยู่ ๆ เขาก็เปิดประเทศออกมาแบบนี้ ใครจะรู้ว่าพม่าเป็นอย่างนี้ อีกหน่อยก็จะไปเร็วกว่าเรา เขาเป็นเผด็จการ ก็คือสั่งให้ทำได้ เรามัวแต่ยุ่งเรื่องการเมือง ยุ่งนั่นนี่ ประเทศอื่น ๆ เวียดนามเขาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว พม่าก็เปิดขึ้นมาทีผู้คนตกใจ อเมริกา ยุโรป สิงคโปร์ เข้าไปทำงาน

พม่าดิฉันก็ไปหลายรอบแล้ว สิงคโปร์ไปตั้งโรงงานแล้ว ตอนที่เข้าไปแรก ๆ ก็แปลกใจว่าทำไมเขาทำถนนกว้างตั้ง ๑๐ เลน แล้วคนก็ยังใส่ผ้าถุงและยังถีบจักรยานด้วย เขาไม่มีรถนะ รถก็น้อย พอไปอีกที มีโรงแรมใหญ่ที่สิงคโปร์ไปลงทุนพอมาคราวนี้เข้าใจเลยว่าทำไมถนนมี ๑๐ เลน เราจึงประมาทประเทศนี้ไม่ได้ ทหารเอาอองซาน ซูจีเข้าไปก็เหมือนว่าเขาก็ยอมรับอีกฝ่ายหนึ่ง เขาก็มีกลยุทธ์ แต่ดูเหมือนว่าทหารผูกขาดอำนาจไหมมันก็ผูกขาดนะ แต่เขาก็มีกลยุทธ์ในการที่จะพาประเทศไป มีคอร์รัปชั่นไหม มันก็มี ทุกประเทศมีคอร์รัปชั่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นระบบที่มีพรรคพวกบริวารเยอะค่ะ สิงคโปร์เราไปค้นข้อมูลเขาไม่ได้ แต่ว่ามันก็มีเหมือนกัน แต่เราแค่ไม่รู้ว่าเขามีมากน้อยแค่ไหน มันไม่เหมือนฟิลิปปินส์ที่หาข้อมูลง่ายมาก

“ทางอีศาน” : แล้วคนไทยล่ะ

รศ.สีดา สอนศรี : คนไทยส่วนใหญ่เขียนข่าวแต่ภาษาไทย ต่างชาติก็ไม่รู้เรื่องอยู่ดี (หัวเราะ) แต่ฟิลิปปินส์คนเขาพูดภาษาอังกฤษ ภาษาเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารของคนไทย เราต้องพัฒนาจะบอกให้คนในอาเซียนรู้เรื่องประเทศไทยได้อย่างไร ด้วยวิธีใดบ้างให้มาก ๆ

“ทางอีศาน” : เห็นคนฟิลิปปินส์บอกว่าเขาไม่ใช่อาเซียนแต่เป็น Oceania

รศ.สีดา สอนศรี : Oceania นี่เขาจะไปร่วมกับพวกกลุ่มเอเชีย – แปซิฟิก แล้วเขาสนิทกับฮาวายมาก ถ้าพวกนี้ไปเข้ากับกลุ่มนั้นมันจะง่ายมากเลย ทรัพยากรอะไรต่าง ๆ ก็เยอะ แล้ววัฒนธรรมเหมือนกันอีกต่างหาก คือเป็นสายพวก Mexico เหล่านี้ก็วัฒนธรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเขาก็ทำได้ค่ะ แล้วภาษาสเปนเขาก็สื่อสารกันได้

“ทางอีศาน” : ถ้าอย่างนั้นสำหรับฟิลิปปินส์เองก็ไม่เสียหายนะ แล้วชาติเขาก็ได้ประโยชน์ทั้งสองทาง ทั้งอาเซียนทั้ง Oceania

รศ.สีดา สอนศรี : เพราะพวกเขาทำการค้ากันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ เม็กซิโกมีท่าเรือใหญ่ที่อาคาปูลโค ส่วนท่าเรือมะนิลาสมัยก่อนเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วสเปนก็เข้ามาอยู่ตรงนี้ สเปนเขาปกครองเม็กซิโกด้วยและปกครองฟิลิปปินส์ด้วย ฉะนั้นท่าเรือสองแห่งก็นำสินค้าเข้ามาขาย คนที่นำสินค้ามาขายคือชาวจีน ชาวจีนคือคนนำสินค้าจากตะวันออกเฉียงใต้มาขายทั้งหมด ถ้าไปฟิลิปปินส์จะเห็นพิพิธภัณฑ์ที่เขาเรียกพิพิธภัณฑ์ชีนอย คือชาวจีนฟิลิปปินส์เขาก็ทำพิพิธภัณฑ์ไว้เลยว่าชาวจีนเขามีบทบาทในการค้าขายอย่างไรบ้าง และคนที่ทำคือชาวจีนในฟิลิปปินส์ จึงอยากให้ประเทศไทยทำบ้าง ว่าคนจีนนี้มีบทบาทสำคัญต่อประเทศอย่างไร (หัวเราะ) เขาทำไว้ดีมากนะคะ

“ทางอีศาน” : อย่างในทางอาเซียนเอง พอเราไปเป็นพันธมิตรกับอเมริกา ทางฝ่ายจีน รัสเซีย ต่อไปจะขยายบทบาทอีก มันก็เหมือนกับอเมริกา เขาก็เป็นอาเซียนด้วยใช่ไหม

รศ.สีดา สอนศรี : ไม่ค่ะ

“ทางอีศาน” : มันเหมือนกับว่าพัวพันสัญญา เขาได้เท่ากับที่อาเซียนได้หรือเปล่า ?

รศ.สีดา สอนศรี : จะได้มากกว่า คือมันเป็นกลยุทธ์ พอเราตั้งอาเซียนขึ้นมา ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เขาเรียกอาเซียน +๓ ก็จะเข้ามา คือพวกนี้เขาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ สิ่งสำคัญคือก็จะพุ่งมาลงทุนที่เรา ที่ประเทศทั้งหมด เพราะว่าในส่วนรวมเขาเรียกว่าทวิภาคีในแต่ละประเทศ หมายถึงทวิภาคีความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ อย่างไทย-ญี่ปุ่น หรือว่าอินโดนีเซีย-ญี่ปุ่น โดยอาเซียนในส่วนรวม ดิฉันคิดว่ามันจะยากเพราะว่าภาษี แต่ถ้าเขาเข้ามาในอาเซียนแล้ว ทำเป็นคู่เจรจาไปเลยใช่ไหมคะ หรืออีกอันหนึ่งอาเซียน+๖ อินเดีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ถ้าเป็น ๖ ดิฉันคิดว่าประเทศที่จะได้ประโยชน์กับอินเดียคือสิงคโปร์และมาเลเซีย เพราะสิงคโปร์กับมาเลเซียมีคนเชื้อชาติอินเดียอยู่ แต่เขาทำมาก่อนที่อาเซียนจะทำด้วยซ้ำไป เพราะว่าเขาทำอยู่แล้วเขาไปทำการค้ากับอินเดียเสร็จเรียบร้อย โดยมหาธีร์ มูฮะมัดนะคะ ก็จะร่วมเป็นอีสต์เอเชีย เขาไปเจรจากันเรียบร้อยแล้วว่าจะเอาคนของเขาที่เป็นคนอินเดียไปทำธุรกิจกับตรงนี้ เอาคนจีนที่อยู่ในประเทศไปทำธุรกิจกับจีน เขาถึงขนาดที่ทำอย่างนี้แล้ว ก่อนที่อาเซียนจะคิดเสียอีก

มหาธีร์มีวิสัยทัศน์ เขาคิดว่าจะทำอย่างไรกับประเทศเมื่อมีความขัดแย้ง เขาก็ให้คนของเขาไปติดต่อกับเมืองแม่ไปเลย จะได้ไม่มีความขัดแย้ง จะได้แลกเปลี่ยนสินค้าของกันและกัน เดี๋ยวนี้สินค้าอินเดีย สินค้าจีนเข้ามาในฟิลิปปินส์ หรือเข้ามาอยู่ในมาเลเซียเยอะแยะไปหมดเลยค่ะ เขาทำมาก่อนที่อาเซียนจะทำตรงนี้ด้วยซ้ำ แล้วมหาธีร์เขาเคยคิดว่าถ้าเราไปรวมกับอเมริกา เขากลัวอเมริกากลัวยุโรป กลัวพวกนี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะรวมควรรวมกับเอเชียตะวันออกด้วยกัน อย่างน้อยก็มีแนวคิดเอเชียด้วยกัน ถูกใช่ไหมคะ มันก็ดีกว่าจะไปรวมกับตะวันตก ตอนต้นนั้นพวกเราไม่เห็นด้วยแต่มหาธีร์เขากล้าไม่ไปประชุม APEC นะคะ

พอตอนหลัง (อาเซียน) ก็มาเอาตามมหาธีร์อยู่ดี อย่างเรื่องอาเซียน +๓ เพียงแต่ว่าเรียกชื่อไม่เหมือนกัน คืออาเซียนมีอะไรติดใจเยอะ มีปมปัญหาประวัติศาสตร์ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันเยอะมาก อย่างเกลียดประเทศโน้น เกลียดประเทศนั้นแล้วจะรวมตัวกันได้อย่างไร ? หรือจะรวมกันในประเทศที่สามารถรวมได้ อย่างค้าขาย เช่นในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์เขาใกล้ชิดกัน เขาช่วยเจรจาปัญหาแบ่งแยกดินแดนได้ ภาษาท้องถิ่นเขาพูดกันได้ มาเลเซีย สิงคโปร์ต้องอาศัยซึ่งกันและกันอยู่แล้วเรื่องน้ำเรื่องท่า ถึงอย่างไรก็ไม่ทิ้งกัน อย่าไปคิดหรือจะคิดว่าเขาแบ่งแยก ซึ่งไม่จริงทางภาคใต้ชายแดนของไทยด้อยพัฒนา เขาไม่เอาไปหรอก เพียงแต่ว่าเรามองเขาอย่างไร เขาจะเข้ามาช่วยเราก็ไม่ให้ช่วย แต่ฟิลิปปินส์ที่อยู่ห่างไกลสุดบอกมาช่วยฉันทีเถอะ ฉันเป็นคาทอลิก มาช่วยฉันแก้ปัญหามุสลิมทีเถอะ

“ทางอีศาน” : คนไทยกับความเข้าใจเรื่องอาเซียน

รศ.สีดา สอนศรี : เท่าที่ดิฉันฟังมา ความเข้าใจเรื่องอาเซียนอยู่ระดับบนมากกว่าระดับล่างแล้วทีนี้จะทำอย่างไรให้ระดับล่างเข้าใจ ขึ้นอยู่กับเราแล้ว

ประการแรกเราต้องสร้างหลักสูตร ฟิลิปปินส์นั้นเขามีหลักสูตรแล้ว มีหลักสูตรเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศมานานแล้ว แล้วหลักสูตรอาเซียนเขาก็ไม่ยาก ให้ความรู้ ให้ประวัติศาสตร์ แต่ประเทศไทยเราทำเรื่องประวัติศาสตร์มันลำบาก ประเทศไทยเราชำระประวัติศาสตร์ไม่ได้ เพราะว่าประเทศเรายิ่งใหญ่เราจะไปเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ก็ไม่ได้ แต่เราควรเขียนประวัติศาสตร์ไม่ให้ดูถูกซึ่งกันและกันได้ไหม ? อันนี้ดิฉันคิดว่าจะล้างตรงนี้ได้

แต่ว่าในระดับล่างยังไม่รู้จักอาเซียน จะทำอย่างไรให้คนระดับล่างรู้จักอาเซียน ก็ต้องคนแถว ๆ กระทรวงต่างประเทศ หรือใคร… ถ้าฟิลิปปินส์ก็คือ ใช้ประชาสัมพันธ์ร่วมกับกระทรวง และ NGO NGO ฟิลิปปินส์ไม่เหมือนบ้านเรา เขาเข้มแข็ง ทั้งยังได้เงินจากต่างประเทศ พวกนี้ไปช่วยสอนไปแนะนำ เขาเป็นนักวิชาการ

“ทางอีศาน” : ทีนี้มาดูทางอีสาน อาจารย์เห็นว่ายังขาดอะไรในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคม

รศ.สีดา สอนศรี : ขาดการรวมกลุ่มกันให้เป็นหนึ่งเดียว หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้ สมมุติถ้าจะเน้น SME และ SML ในที่นี่ก็จะมีเยอะ คนในท้องถิ่นรวมกลุ่มได้ไหมคะ แล้วหาที่ปรึกษา ขอเงินทุนจากรัฐบาล ดิฉันคิดว่ามันจำเป็น ที่นี่ (อีสาน) มีทรัพยากรมากมาย แต่ว่าไม่ทำกัน ศักยภาพตรงนี้ ๑. พัฒนาคน ๒. พัฒนาการศึกษา ๓. พัฒนา SME และ SML

SME เล็ก ๆ ซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาช่วยด้วยไม่ใช่ช่วยฉาบฉวย แต่ช่วยให้อยู่ได้ตลอดต้องทำอย่างไร จะหมุนเวียนกันอย่างไร หรือจะทำเป็นสหกรณ์อย่างที่ดิฉันบอก แต่ทำสหกรณ์ก็จะต้องมีคนนำ แต่คนที่จะนำก็จะต้องเป็น NGO ที่เข้าไปทำ แล้วเขาก็ไปสานต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าตรงนี้หมดแล้วไปตรงนั้น ดิฉันคิดว่าภาครัฐต้องลงมา

“ทางอีศาน” : แต่ว่ารัฐมาก็ล้มเหลวอีก

รศ.สีดา สอนศรี : ประชาชนเราจะต้องเข้มแข็ง คือเราต้องมีความสามารถที่จะเสนอรัฐ กล้าเสนอรัฐโดยยืนอยู่บนผลประโยชน์ของท้องถิ่นได้ไหมคะ ถ้าเรากล้าพูด กล้าทำ กล้าเสี่ยง ถ้าทำตรงนี้ได้น่าจะได้.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com