การเดินทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา

๑. การเดินทัพของกองทัพบกเจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงหเสนี) โดยมีกำลังพลของเจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน ณ ราชสีมา)เป็นทัพหน้า เเละทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ บุนนาค)

ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๙)

บทความโดย: Guy Intarasopa

ความต่อจากครั้งที่แล้ว ก่อนที่ผมจะลงรายละเอียดการรบระหว่างกองทัพสยามกับกองทัพญวนที่คลองวามนาวในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ขอเล่าถึงกองทัพหน้าของเจ้าพระยานครราชสีมาก่อนครับ ซึ่งเป็นกองทัพหนึ่งที่รวบรวมกะเกณฑ์ไพร่พลจากหัวเมืองลาวได้ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน แล้วยกลงมาเมืองเสียมเรียบของเขมร ทัพนี้เป็นทัพหน้า โดยมีทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นทัพหลวง มีการตกลงกันระหว่างแม่ทัพทั้งสองว่าให้เจ้าพระยานครราชสีมายกไปอีกทางหนึ่งข้ามแม่น้ำโขงที่กำปงจาม แล้วยกทัพไปไซ่ง่อนอย่างเงียบๆ โดยเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะยกทัพไปสมทบกับทัพเรือ แล้วค่อยยกพลไปตีทัพของเวียดนามที่เกาะแตง จากนั้นจึงยกเข้าตีไซ่ง่อน

เจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน) นี้เป็นพระโอรสของพระเจ้าตากสินมหาราชอีกองค์หนึ่ง ที่น้อยคนนักจะรู้จัก เกิดแต่ธิดาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จนกระทั่งตั้งครรภ์ พระเจ้าตากสินจึงพระราชทานให้เป็นแม่เมืองแก่เจ้าพระยานครราชสีมา(ปิ่น) โดยที่ขณะนั้นไม่มีใครล่วงรู้ว่าสนมที่พระเจ้าตากสินพระราชทานให้แก่เจ้าเมืองนครราชสีมานั้นตั้งครรภ์แล้ว แม้มีการรัฐประหารยึดอำนาจโดยเจ้าพระยาจักรีในปี พ.ศ. ๒๓๒๕ พระเจ้าตากสินถูกสำเร็จโทษ บุตรธิดาตลอดจนเชื้อสายของพระเจ้าตากสินก็ถูกประหารแทบสิ้น เหลือรอดเพียงไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยานครราชสีมา(ปิ่น)นี้เอง บุตรหลานของพระเจ้าตากสินจึงเหลือรอดมาถึงทุกวันนี้ เจ้าพระยานครราชสีมา(ทองอิน)ถือเป็นต้นสกุล “ณ ราชสีมา”

ทัพหน้าของเจ้าพระยานครราชสีมานี้ถือว่ามีปัญหาพอสมควร แม้จะยกข้ามน้ำโขงไปแล้ว กองทัพแต่ละสายยกไปไม่พร้อมกันทำให้ถูกกองทัพญวนลอบโจมตี เช่นทัพปีกขวาของพระยาสีหราชเดชาก็หายสาบสูญไปกับไพร่พลกว่า ๘๐๐ คน ส่วนทัพของพระยามณเฑียรแห่งวังหน้าก็มุ่งหน้าไปไซ่ง่อนอย่างไม่รอรีทัพอื่น ทัพของเจ้าพระยานครราชสีมาเมื่อถูกกองทัพญวนลอบโจมตี รวมทั้งเหตุการณ์ไพร่พลเขมรที่เกณฑ์มาก่อการกบฏ จึงสั่งถอยทัพในทันที และขาดการติดต่อกับทัพหลวงของเจ้าพระยาบดินทรเดชา ภายหลังถอยทัพจะข้ามน้ำโขงก็มีปัญหากับทัพของพระยานครสวรรค์ กระทั่งทัพของพระยามณเฑียรถูกโดดเดี่ยว และทัพพระยานครสวรรค์ก็ขอแยกตัวออกไปโดยเดินเลาะน้ำโขงขึ้นไปทางเมืองสตรึงตรอง ภายหลังกองทัพพระยานครสวรรค์ถูกทัพญวนลอบโจมตีฆ่าทิ้งทั้งกองทัพ แล้วล่องศพลงมาตามแม่น้ำโขงกว่า ๑,๐๐๐ ศพดังกล่าวไปแล้ว

ส่วนทัพหลวงเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็เดินทัพมาสมทพกับทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลังที่สามารถยึดเมืองพุทไธมาศและเมืองโจดกไว้ได้ ภายหลังทัพหลวงและทัพเรือได้หาเรือกันที่เมืองโจดกในการวางกลยุทธ์เปิดศึกกับกองทัพเวียดนามในคลองวามนาว

ในราววันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๓๗๖ กองทัพไทยได้เปิดฉากรบกับกองทัพเวียดนามในเวลากลางคืน ทัพเวียดนามมองไม่เห็นทหารของสยาม ก็จุดพลุตับขึ้นรอบค่าย ทำให้มองเห็นทหารไทยได้ชัดขึ้น ปืนในค่ายของเวียดนามระดมยิงใส่ทหารไทยดังห่าฝน ทหารไทยล้มตายเป็นอันมาก เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้นำกองทัพช้างบุกพังค่ายของเวียดนาม พวกญวนก็ยิงปืนใหญ่ออกจากค่าถูกช้างตายไป ๑๓ เชือก แม่ทัพนายกองของสยามตายไปหลายสิบคน เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้ถอยทัพกลับไปตั้งรับที่เมืองโจดก

ส่วนทัพเรือนั้นก็ตั้งแถวเรียงหน้ากระดานประจันกับกองทัพเรือของเวียดนาม มีเพียงทัพหน้าเท่านั้นที่มุ่งหน้ารบกับเวียดนาม ส่วนทัพหนุนกลับขยาดเกรงกลัวไม่กล้าออกรบ แม้เจ้าพระยาคลังจะลงเรือเล็กถือดาบอาญาสิทธิ์ไปสั่งด้วยตัวเองแต่ก็หาได้มีผล การรบครั้งนี้ถือเป็นความอัปยศของกองทัพเรือสยามเป็นอย่างมาก ก.ศ.ร กุหลาบเคยนำเรื่องนี้มาตีแผ่ว่ามีแม่ทัพนายกองท่านใดบ้างที่ขี้ขลาดตาขาวในการศึกครั้งนั้น

กระทั่งต้องถอยทัพลงไปสมทบกับทัพหลวง เจ้าพระยาบดินทรเดชาถึงกับร้องบอกว่าไฉนเลยจึงไม่สั่งประหารแม่ทัพนายกองที่ขัดคำสั่งไปบ้าง ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าพระยาคลังว่าไม่กล้าทำเยี่ยงนั้น เพราะแม่ทัพนายกองล้วนมีฐานะชาติตระกูลสูงส่งกันทั้งนั้น จากนั้นทัพเจ้าพระยาบดินทร์เดชาก็กลับไปตั้งมั่นที่เมืองโจดก ส่วนทัพเรือไปตั้งมั่นและซ่อมแซมเรือรบที่เมืองพุทไธมาศ

ในราวเดือนห้า ขึ้น ๑๒ ค่ำ ทัพสยามได้นัดทั้งทัพบกและทัพเรือเข้าตีทัพเวียดนามอีกครั้ง ก่อนยกทัพไปได้เกิดกบฏเขมรเมืองกำป๊อดยกพลปล้นเรือเสบียงข้าวสาร ๒๓ ลำ และฆ่าผู้คุมเสบียงไปเกือบร้อยคน ภายหลังกลุ่มเขมรกบฎนี้ถูกฆ่าทิ้งแทบสิ้นและเป็นเหตุให้สยามเผาเมืองกำป๊อดในเวลาต่อมา

จากนั้นกองทัพทั้งสองก็ระดมพลบุกเวียดนามที่คลองวามนาวอีกครั้ง คราวนี้ทัพเรือเปิดฉากถล่มกองเรือเวียดนามก่อน โดยมีทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชายกพลลัดทุ่งไปสมทบ คราวนี้ทัพเรือมีปัญหาอีกเช่นเคย กองหนุนไม่กล้าออกรบจนทำให้ทัพเรือเกือบเสียที เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงสั่งให้กองทัพช้าง ติดตั้งปืนบาเรียมขานกยางบนหลังช้าง เข้ายิงกับกองเรือเวียดนามเพื่อกู้สถานการณ์กองทัพเรือ เกิดการยิงต่อสู้ระหว่างทัพบกกับทัพเรือ คือปืนขานกยางบนหลังช้างกับปืนขานกยางบนเรือรบเวียดนาม กระทั่งกองเรือเวียดนามต้องล่าถอยไป ครั้งนั้นช้างล้มตายไปกว่า ๔๖ เชือก

หลังจากนั้นกองทัพบกสยามได้เปิดฉากรบกับทหารญวนบนเกาะแตงของเวียดนาม ถูกปืนใหญ่บนค่ายยิงตอบโต้อย่างหนัก ทัพสยามเกิดการสูญเสียจนกระทั่งเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นท่าไม่ดี จึงสั่งถอยทัพและเป็นการถอยทัพกลับสยาม ไม่ใช่ถอยทัพเพื่อไปตั้งหลัก เพราะประเมินแล้วว่าทัพสยามคงตั้งรับไม่ไหวแล้วแน่

ก่อนการยกทัพกลับเจ้าพระยาบดินทรเดชาสั่งให้เผาทำลายเมืองโจดก เมืองพุทไธมาศ เพื่อไม่ให้ญวนใช้เป็นฐานที่มั่นได้อีก ภายหลังกองทัพเรือได้บุกทำลายเมืองกำป๊อดด้วยแล้วกวาดต้อนเชลยญวนที่จับได้ และเกลี้ยกล่อมได้นำไปไว้ที่จันทบุรี บางส่วนนำไปกรุงเทพฯ(แถวสามเสน)

ทัพญวนตามตีทัพสยามที่ถอยร่น เกิดการบพุ่งกันหลายที่ ทัพสยามทำกลศึกไว้ทำให้ทัพญวนที่ยกติดตามติดกับดักหลายกองทัพ ภายหลังญวนจึงเลิกยกทัพติดตาม ทัพสยามที่ถอยไปเมืองพนมเปญได้รื้อกำเเพงเมืองพนมเปญทิ้งเเละกวาดต้อนคนเขมรมายังสยาม ส่วนทัพพระยามณเฑียรบาลแห่งกองทัพหน้านั้นก็ถอยทัพขึ้นไปทางเมืองเชียงแตง จำปาสัก ภายหลังต้องปีนเขาหนีออกไป ทัพพระยามณเฑียรบาลนี้เป็นทัพสุดท้ายที่กลับถึงสยามหลังสุด

สาเหตุแห่งการพ่ายแพ้สงครามของสยามคือ

๑. กองกำลังที่ยกไปเป็นกำลังที่เกณฑ์ คนลาว เขมร มอญ เป็นส่วนมาก นอกนั้นก็มีกองทหารแขกจามปาอาสา กองทหารฝรั่งเศสรับจ้าง ซึ่งทำให้การบังคับบัญชาลำบาก เพราะไม่ได้ไปโดยการสมัครใจ จึงไม่มีใจรบเพื่อสยามมากนัก ภายหลังกองทหารเขมรได้ก่อกบฏขึ้นด้วยซ้ำ

๒. ขาดการประสานงาน ขาดการติดต่อสื่อสารการระหว่างกองทัพที่ดี อย่างเช่นทัพหน้าของเจ้าพระยานครราชสีมาที่ขาดการติดต่อกับทัพหน้าโดยสิ้นเชิงทั้งที่มีกองทัพกว่า ๒๐,๐๐๐ คน

๓. ทัพสยามไม่รู้และไม่ชำนาญเส้นทางในการเดินทัพ เหตุเพราะไม่ค่อยได้รบกับเวียดนามก่อนหน้านี้

๔. กองทัพสยามไม่ชำนาญการรบทางเรือ รวมทั้งบรรดาแม่ทัพนายกองยังเป็นชนชั้นสูงไม่เกรงกลัวอาญาทัพ ส่วนแม่ทัพเรืออย่างเจ้าพระยาคลัง(ดิศ บุนนาค) ก็มีอาวุโสน้อยกว่าแม่ทัพนายกองที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยซ้ำ

๕. กองเรือรบของเวียดนามมีประสิทธิภาพ เพราะได้รับการฝึกฝนจากทหารฝรั่งเศส

ครั้งหน้าจะมาเล่าผลการรบทางด้านเหนือของอีกสองกองทัพครับ คือทัพของพระมหาเทพ(ต้นสกุลอมาตยกุล) ที่ยกทัพไปตีเมืองเหง่อาน และทัพหัวเมืองเหนือของเจ้าพระยาธรรมา(สมบุญ)ที่ยกทัพไปตีเมืองพวน หัวพัน ทั้งสองกองทัพนี้ยกไปตีทางเหนือเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเวียดนาม ภายหลังได้กวาดต้อนคนลาวจากหัวเมืองพวน หัวพัน เข้ามาจำนวนมาก แล้วนำไปไว้ยังหัวเมืองเหนือ เช่นสุโขทัย แพร่ น่าน พิษณุโลก เป็นต้น

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๔)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๕)

อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๗)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๘)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๐)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๑)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๒)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๓)
อ่าน: ชุมชนลาวในภาคกลางของสยาม (๑๔)

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com