อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : พญานาคเกเรแห่งรอยพระพุทธบาท หมายเลข ๓ (๔)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : พญานาคเกเรแห่งรอยพระพุทธบาท หมายเลข ๓ (๔)

“ถ้าผู้ได๋บอกหลวงพ่อได้ว่า หนองหานที่สกลนครกับหนองหานที่อุดร ที่ไหนคือหนองหานที่แท้จริง หลวงพ่อสิให้สิบล้าน”

หลวงพ่อเจริญเจ้าอาวาสวัดป่าแห่งหนึ่งในอำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี ที่ฉันให้ความเคารพเคยบอกไว้ตั้งแต่ยังเป็นเพียงเด็กสาวอ่อนเดียงสา เพราะเห็นว่าชอบอ่านนิทานพื้นบ้านตำนานต่าง ๆ ราวกับท่านได้เล็งเห็นว่าหากมีวิชาความรู้ก็เหมือนมีทรัพย์ที่จะได้ใช้ในอนาคต ผ่านมาหลายปีหากไม่บังเอิญสนใจเรื่องนิทานพระธาตุหัวอกขึ้นมาก็คงจะลืมเรื่องนี้ไปสนิท เนื้อหาในส่วนเมืองหนองหานเล่มนี้อ่านไปอ่านมาเนื้อหากลับคล้ายคลึงกับตำนานรักของท้าวผาแดงและนางไอ่คำเป็นอย่างมาก แต่ก็มีข้อแตกต่างในบางจุดที่ทำให้เกิดความสับสนไม่มั่นใจ

โชคดีมีโอกาสได้พบกับดอกเตอร์สุรชัย ชินบุตร ท่านเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ในงานประชุมวิชาการระดับชาติ ซึ่งจัดโดยโครงการวิวัฒนไทยศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาสังคมไทย (ENITS) หัวข้อ โลกกับธรรม : ภูมิปัญญาความรู้ในงานพุทธศิลป์อีสาน

“ตำนานผาแดงนางไอ่นี่คล้ายกับเรื่องของพระยาสุรอุทกะก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ตำนานเมืองสกลนครหรอก เรื่องของพระยาสุรอุทกะจึงเป็นตำนานของเมืองสกลนคร ที่ยืนยันแบบนี้นี่ไม่เพียงเพราะเรื่องนี้เป็นคำบอกเล่าสืบต่อกันมา ยังมีในบันทึกประวัติเมืองสกลนคร และยังมีบันทึกในตำนานอุรังคธาตุด้วย” อาจารย์ผู้ศึกษาหลักจารึกเมืองสกลนครให้ความมั่นใจ ก่อนจะเปิดภาพถ่ายทางอากาศครั้งที่จังหวัดสกลนครโดนน้ำท่วมใหญ่ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๖๐ ให้ดู พื้นที่เวิ้งน้ำกินบริเวณกว้างใหญ่ เหลือเพียงบริเวณพระธาตุเชิงชุมที่ยังปลอดภัยดี มันทำให้ฉันอดนึกถึงตำนานพญานาคล่มเมืองไม่ได้ จนต้องลูบแขนที่กำลังขนลุกเกรียว

อย่าเพิ่งงงกันว่าเรื่องรอยพระพุทธบาทหมายเลข ๓ นี้เลี้ยวกลับไปเกี่ยวกับจังหวัดสกลนครได้อย่างไร เรื่องเล่านี้มีอยู่ว่า…

“ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้ากุกกุสันโธ เมืองหนองหานหลวงปกครองโดยพระยาสุรอุทกะ ยังมีนาคตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในหนองบัวบานชื่อว่า “กุทโธทะปาปะนาค” นาคตัวนี้มีลูกชื่อว่า “ภังคีสุวรรณนาค” วันหนึ่งนาคตัวลูกไปเที่ยวยังเมืองขอมขอบนคร ได้นิรมิตรตนเป็นกระรอกเผือกอยู่บนต้นงิ้ว นายพรานของเมืองเห็นเข้าจึงยิงร่วงลงมาตาย เกิดเป็นกระรอกตัวใหญ่

“พญาขอมขอบนครได้ตัดแบ่งเนื้อแจกจ่ายให้กินกันทั่วเมือง กุทโธทะปาปะนาคเคียดแค้นมากจึงพาไพร่พลนาคทั้งหลายไปพังเพล้างเมืองทั้งหมด ใครไม่ได้กินนาคก็ปล่อยให้พ้นจากความตาย คนที่รอดชีวิตก็มาสร้างบ้านแปงเมืองใหม่เป็นเมืองหนองหานน้อย” ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุดรนี่เอง

เรื่องราวนี้ผ่านมาเนิ่นนานจนไม่คิดว่าหลวงพ่อท่านจะยังจำได้ จนกระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมากระแสพญานาคเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลจากแรงขับดันของละครฮิต ทุกคนที่แสวงหาโชคลาภล้วนมุ่งหน้าไปยังคำชะโนด สถานที่ที่ได้เชื่อว่าเป็นรอยต่อของโลกมนุษย์และเมืองบาดาล

ในขณะที่ดินแดนพรหมประกายโลกฝูงชนล้นหลามจนอัศจรรย์ แต่ฉันกลับมุ่งหน้าไปยังทิศทางตรงกันข้ามชนิดที่เรียกว่าคนละมุมเมืองอุดรธานีเลยทีเดียว ตามลายแทง…เอ่อ…ก็อ้างอิงทางประวัติศาสตร์โบราณคดีนั่นละ ระบุว่าบริเวณที่พระพุทธเจ้าทรงทรมานพวกนาคอันธพาลอยู่ที่วัดพระพุทธบาทบัวบก หมู่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

“คืออีหยัง อยู่ไส” คำถามย้อนกลับแบบงุนงงเวลาที่ถามทางจากวัยรุ่น

“ไฟว์ฮันเรด มิเตอร์ เทิร์นเลฟ…เทิร์นไรท์…เทิร์นเลฟ” ยิ่งใช้ระบบดาวเทียมร่วมด้วย ยิ่งงงกันไปใหญ่ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะสภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนวันนี้หรือเปล่า สุดท้ายจึงวนกลับมาที่เดิม

เวลานี้ดวงตะวันเลยหัวไปแล้ว เอาเป็นว่าพักจิตพักใจที่ร้านอาหารข้างทางก่อนดีกว่า ผัดกะเพราหมูสับไข่ดาว อาหารที่ใคร ๆ ก็กล่าวหาว่าเป็นเมนูสิ้นคิด ทำเอาฉันไม่กล้าสั่ง คิดมาคิดไปจึงเปลี่ยนเป็นกะเพราเพิ่มหมูกรอบโปะไข่เจียวแทนจะได้ดูสร้างสรรค์ขึ้นมาสักหน่อย เมื่ออิ่มท้องสมองก็พร้อมจะเรียนรู้

“ตรงไปเรื่อยๆ ถึงทางแยกให้เลี้ยวขวา ถึงโฮงหมอให้เลี้ยวซ้ายแล้วตรงไปเรื่อยๆ เลย” เจ้าของร้านอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับแม่เคยไปนมัสการจึงบอกทางได้ไม่ติดขัด

ออกจากเมืองได้ก็ขับรถยิงยาวโดยไม่มีทางต้องเลี้ยว มีป้ายบอกทางเป็นระยะอย่างไม่ต้องกลัวหลงทาง ผ่านลำห้วยหลายแห่งซึ่งเป็นสาขาที่จะไหลไปลงแม่น้ำโขงอย่างห้วยน้ำฟ้า อาจเป็นเพราะช่วงนี้ฝนตกติดต่อกันหลายวัน น้ำจึงกัดเซาะคอสะพานเสียง่อกแง่ก จากตรงนี้ก็เริ่มเข้าสู่เขตอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทแล้ว

“วัดพระพุทธบาทบัวบกตรงไป ๆ ๆ ๆ” จีพีเอสเพื่อนยากเริ่มฟื้นคืนสติสตังกลับมาส่งเสียงเร่งเร้าบอกทาง

“เออ รู้แล้ว ๆ” ฉันอดโต้ตอบเจ้าเครื่องมือแล้งน้ำใจกลับคืนไปบ้างไม่ได้

เลยทางเข้าอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้นไปอีกไม่ไกลก็ถึงที่หมาย ที่วัดนี้มีมาเฟียคุมด้วยพอฉันลงรถปุ๊บมันก็เดินกร่างเข้ามารีดไถ่ทันที เข้ามาประชิดตัวได้ก็ส่งเสียง “อู๊ด อู๊ด อู๊ด” ดังลั่นจนแสบแก้วหูไปหมด แต่ถ้าให้ก็จะยิ่งเป็นการส่งเสริมนิสัยให้เสียยิ่งขึ้น ตอแยผิดคนเสียแล้วล่ะเจ้าหมูป่า 

“เออ ๆ ดีละ ๆ อย่าไปให้ มันสิเสียนิสัย กินบ่เป็นโมงเป็นยาม” แม่ออกชราเดินกระย่องกระแย่งออกมาพร้อมกับไม้เรียว

“ตะกละจังซี่โตจังตุ้ยเนาะแม่”

“ฮ่า ฮ่า ฮ่า เออ ๆ แฮงตะกละแฮงมึนล่ะบักอันนี่ มากราบฮอยพระพุทธบาทบ่ลูก ดีละ ๆ ย่างบ่ไกลดอก กราบฮอยพระพุทธบาทแล้วก็อย่าลืมไปเบิ่งถ้ำพญานาคเด้อ ย่างไปอีกบ่ไกลดอก”

“จ้าแม่ ขอบคุณหลาย”


กินอิ่มแล้วก็นอนเจริญพุง

เมื่อเดินถึงจุดสูงสุดของเนินดิน พระธาตุสีชมพูพาสเทลอ่อนหวานก็ปรากฏขึ้นแก่สายตา พระธาตุองค์นี้ตามประวัติเล่าว่า เดิมเป็นเพียงอูบมุง (อุโมงค์) ขนาดเล็กสร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาพุทธศักราช ๒๔๖๓ พระอาจารย์สีทัตถ์ สุวรรณมาโจ ได้ธุดงค์มาพบจึงชักชวนชาวบ้านสร้างพระธาตุครอบใหม่ จนกระทั่งพุทธศักราช ๒๔๗๖ จึงแล้วเสร็จ

องค์พระธาตุที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทนี้มีลักษณะแบบศิลปกรรมล้านช้าง ส่วนยอดเป็นทรงบัวเหลี่ยมประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดพบจากในรอยพระพุทธบาทเดิม ส่วนฐานล่างก่อเป็นห้องสามารถเข้าไปนมัสการรอยพระพุทธบาทได้ ที่ตั้งชื่อว่า “รอยพระพุทธบาทบัวบก” อาจเป็นเมื่อตอนที่พบนั้นมีต้นบัวบกอยู่เยอะ หรืออาจจะเพี้ยนมาจากภาษาอีสานคำว่า “บ่บก” ที่หมายถึง “ไม่แห้งแล้ง” ก็เป็นได้

ตามตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงที่มาของรอยพระพุทธบาทนี้ว่า

“เมื่อพระพุทธเจ้าสถิตย์อยู่ภูกูเวียนพอสมควรก็เปล่งรัศมีไปยังเมืองนาค สุวรรณนาคคิดว่าถูกท้าทายจึงออกมาเป่ามนต์พิษให้เป็นควันปกคลุมภูกูเวียน พระตถาคตจึงเข้าเตโชธาตุให้เป็นลำไฟเกี้ยวตัวสุวรรณนาคจนตกน้ำ ด้วยฤทธีของพระพุทธองค์เป็นเหตุให้ไฟอันเกิดจากเตโชธาตุนั้นลุกเป็นเปลว แผ่ไปถึงหนองบัวบานซึ่งเป็นที่อยู่ของกุทโธทะปาปะนาคผู้เป็นหลานของนาคเกล็ดคำนั้น

“กุทโธทะปาปะนาคและพลพรรคก็พากันมาล้อมภูกูเวียนเอาไว้ และต่างรุมกันพ่นเปลวไฟใส่มหาบุรุษ แต่ไฟนั้นก็กลายเป็นดอกไม้บูชาพระองค์ นาคผู้ล้างเมืองหนองหานหลวงจึงใช้วิธีทลายภูกูเวียน มหาบุรุษก็เข้าปฐวีธาตุกสิณ หินผาทั้งหลายก็กระด้างแก่นไม่อาจถูกทำลายได้ พวกนาคพ่นพิษใส่พระองค์ก็เป่ากลับคืนไป ทำอย่างไรก็ไม่อาจชนะพระพุทธเจ้าได้

“เมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นทางอากาศ พวกนาคทั้งหลายก็พากันโก่งหลังขึ้นล้อมพระพุทธเจ้าเอาไว้ ท่านก็เนรมิตเป็นหัวนาคขาดตกลงสู่พื้นดิน ทำให้เหล่านาคนั้นหวาดกลัว มหาบุรุษจึงแผ่เมตตาพรหมวิหารแก่นาคทั้งหลายแล้วตรัสว่า

ท่านทั้งหลายจงบรรเทาเสียยังพยาธิตุ่มฝีอันมีอยู่ในหัวใจของท่านอันได้แก่ความโกธมาน อันเกิดในหัวใจของท่านนั้นเทอญ เฮาตถาคตจักใส่ยาให้หายพยาธิตุ่มฝี

“เมื่อนาคทั้งหลายได้ยินดังนั้นก็มีใจชื่นชมยินดี จึงพร้อมกันเข้ามากราบแทบพระบาท พระพุทธองค์จึงสั่งสอนให้เหล่านาคตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ นาคทั้งหลายก็ขอรอยพระบาทไว้เป็นที่เคารพ พระพุทธเจ้าก็เหยียบไว้ในแผ่นหินใกล้กับสุวรรณนาคคือที่ภูกูเวียน”

พระธาตุครอบรอบพระพุทธบาทบัวบกสร้างตามแบบพระธาตุพนมก่อนที่จะได้รับการบูรณะรอยพระพุทธบาทบัวบกอยู่ภายใต้รอยพระพุทธบาทจำลอง

ภายในห้องนมัสการรอยพระพุทธบาทฉันขมวดคิ้วมุ่นด้วยความเสียดายที่ได้มีการสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองทับของจริงไว้ แต่ก็คิดเสียว่าได้กราบทั้งบริโภคเจดีย์และอุเทสิกะเจดีย์ไปในเวลาเดียวกัน ยิงปืนนัดเดียวได้นกถึง ๒ ตัว เมื่อคิดได้ดังนั้นหัวคิ้วจึงค่อย ๆ คลายออก  เปลี่ยนเป็นชื่นชมรอยพระพุทธบาทแทน เมื่อจนอิ่มใจแล้วจึงยกหินเสี่ยงทายสิ่งที่มุ่งหวังในอนาคตแล้วจึงออกตามหาถ้ำพญานาค

“บ่ไกลปานได๋ดอกลูก ใกล้กับหน้าผาที่เป็นจุดชมวิวนั่นล่ะ” หญิงวัยกลางคนในชุดนุ่งห่มขาวท่าทางไม่วางใจว่าฉันจะไปถูกจึงตามมาด้วย

เราเดินช้า ๆ ไปตามทางเดินเล็ก ๆ แม้จะเป็นช่วงบ่ายแต่อากาศกลับเย็นสบายเพราะเมฆครึ้มในช่วงปลายฝนต้นหนาวช่วยบังแสงจากดวงอาทิตย์ไว้ให้ เจ้ามาเฟียอ้วนและลูกเมียอีกเป็นโขยงของมันขุดดินนอนผึ่งพุงสบายใจ คงกินอาหารอิ่มแล้วมันจึงไม่สนใจฉันอีก ไม่นานก็ถึงลานหินอันเป็นที่ตั้งของถ้ำพญานาค ปัจจุบันปากทางเข้าถ้ำลูกกรงครอบไว้ ป้องกันไม่ให้เด็กซน ๆ มุดลงไปซึ่งอาจจะเกิดอันตรายได้ แต่เมื่อคิดอีกนัยหนึ่งว่ายังป้องกันไม่ให้พวกนาคออกมาด้วยก็อดหัวเราะเบา ๆ กับตัวเองไม่ได้

“คนเฒ่าคนแก่เขาว่า ถ้ำนี้ยาวไปถึงแม่น้ำโขงพู่นเด้อ สามารถขอพรกับพญานาคก็ได้ ให้บอกชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ สิ่งที่ต้องการขอพร ขอเสร็จให้ใช้กำปั้นทุบพื้น ๓ ที เป็นอันเสร็จพิธี…กล้วยและขันหมากเบ็งที่ใช้ไหว้ราคา ๙๙ บาท เอาบ่”

ปั๊ดโธ่! นึกว่าแม่ออกนุ่งขาวจะเป็นห่วงเดินตามมาเป็นเพื่อนที่แท้ก็มาขายของนี่เอง แต่กระนั้นฉันก็ช่วยอุดหนุนมา ๑ ชุด เพื่อสมทบเป็นปัจจัยในการทำนุบำรุงศาสนสถานแห่งนี้ต่อไป หลังพิธีอธิษฐานเสร็จเรียบร้อยฉันได้ลองปีนเข้าไปชะโงกดูบริเวณปากถ้ำกลัวก็กลัว แต่ก็อยากจะเห็นงูใหญ่ที่มีอิทธิฤทธิ์เรียกลมฝนที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนามายาวนาน

จำได้ว่าเคยอ่านนวนิยายเรื่อง แม่โขง ซึ่งประพันธ์โดยคุณปองพล อดิเรกสาร ตอนหนึ่งในหนังสือได้กล่าวถึงบริเวณที่พญานาคอาศัยอยู่ว่าจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นดอกแก้ว ฉันจึงพยายามสูดหายใจเข้าลึก ๆ เผื่อจะได้กลิ่นหอมของดอกไม้ขาวนั้นบ้าง แต่หาได้มีกลิ่นหอมเย็นของดอกแก้วไม่ สิ่งที่ได้มาเต็มปอดก็มีเพียงความสดชื่นจากธรรมชาติรอบตัว ทำให้นึกถึงเรื่องเก่าเมื่อครั้งที่ไปดูแลสุขภาพให้กับพวกหมา ๆ ในวัดป่าจึงได้เจอกับหลวงพ่อเจริญครั้งแรก ตอนนั้นท่านได้ให้เพชรพญานาคสีเหลืองอ่อนมาเม็ดหนึ่ง

“หลวงพ่อว่าพญานาคมีจริงไหมคะ” ฉันถามไปตามประสาคนช่างซัก

“ถ้าจะว่าไปแล้วก็เหมือนมิติคู่ขนานล่ะนะ ที่เราไม่อาจใช้ตาเนื้อเห็นเขาเดินไปเดินมาได้ในชีวิตประจำวัน” หลวงพ่อตอบแล้วยิ้มอย่างเมตตา

บริเวณถ้ำพญานาคมิลินทร์ที่ชาวบ้านเรียก แต่ในบางตำราเรียกสุวรรณนาค ซึ่งเป็นไปตามมุขปาฐะที่คลาดเคลื่อนได้ทางเข้าโพรงถ้ำมีลูกกรงครอบไว้กันเด็กเล็กพลัดตกลงไป จากแสงสว่างที่ลอดลงไปได้ทำให้มองเห็นความลึกราว ๆ ๕ เมตร

ขากลับมีจุดแวะชมอีกแห่งที่ฉันหมายใจไว้ว่าจะพลาดไม่ได้ คือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท สถานที่นี้ก็ถูกบันทึกในตำนานพระเจ้าเลียบโลกฉบับอีสาน คือ บั้นพระปรเมศวรตั้งพระพานเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นปฐมบทของโศกนาฏกรรมความรักของนางอุสาและท้าวบารส อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้ถูกเสนอชื่อให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโกในพุทธศักราช ๒๕๕๘ น่าเสียดายที่ในปีถัดมาคณะรัฐมนตรีได้ถอนเรื่องเสียก่อนเพราะเห็นว่าข้อมูลยังไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์การพิจารณามรดกโลก

แต่กระนั้นนอกจากเรื่องความเป็นส่วนหนึ่งของตำนานอุรังคนิทานแล้ว ความน่าสนใจของสถานที่นี้คือเป็นที่อยู่ของคนใน ๓ ยุคสมัย ทั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์มีภาพเขียนสีแดงจากแร่เฮมาไทต์เป็นรูปมือและรูปสัตว์ ยุคนับถือศาสนาฮินดูพบศิวลึงค์อยู่ในที่นี้ด้วย และยุคที่พุทธศาสนาเข้ามามีบทบาท พบใบเสมาล้อมรอบศาสนสถาน ที่ดัดแปลงจากเพิงหิน มีการใช้จินตนาการตั้งชื่อให้พ้องกับสิ่งปลูกสร้างในตำนานรักของนางอุสาและท้าวบารสอีกด้วย เช่น คอกม้าพระบารส   วัดพ่อตา   วัดลูกเขย  เป็นต้น โดยมีไฮไลต์อยู่ที่หอนางอุสา ซึ่งที่อยู่อาศัยเหล่านี้ธรรมชาติล้วนสร้างสรรค์ขึ้นทั้งสิ้น

ระยะทางในการเดินแบ่งเป็นรอบเล็กและรอบใหญ่ รอบเล็กก็ราว ๆ ๑ กิโลเมตร รอบใหญ่พอได้เหงื่อประมาณ ๓.๕ กิโลเมตร แต่รับรองความสดชื่นเพราะตลอดทางร่มรื่นด้วยพืชพรรณธรรมชาติ ฉันพบว่าตามเพิงหินต่าง ๆ มีกล้วยไม้ป่าขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ถ้ามาในช่วงมกราคมถึงกุมภาพันธ์คงจะแข่งกันออกดอกสะพรั่งทีเดียว

เจ้าหน้าที่นำทางอธิบายว่าชุดหินรูปร่างแปลกตาบนภูพระบาท เดิมทีเป็นชั้นหินธรรมชาติด้านบนเป็นชั้นหินทรายปนกรวดมีเนื้อแข็ง ส่วนกลางเป็นชั้นหินทรายเนื้ออ่อน และด้านล่างเป็นชั้นลานหินมีเนื้อแข็ง แต่เมื่อถูกน้ำและลมกัดเซาะเป็นเวลานานหลายล้านปี ชั้นหินทรายที่เนื้อไม่แข็ง จึงผุพังกลายเป็นโพรงหรือคอดเว้ามากกว่าชั้นหินอื่น ๆ จนมีสภาพเป็นเพิงหินรูปร่างคล้ายดอกเห็ดตามที่พบเห็น ถ้าใครสนใจทั้งเรื่องทางโบราณคดี ธรณีวิทยาและประวัติศาสตร์ ขอแนะนำว่าไม่ควรพลาดอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทด้วยประการทั้งปวง


หอนางอุสามีใบเสมาล้อมรอบทั้งแปดทิศแสดงว่าเคยเป็นที่ประกอบศาสนพิธีที่สำคัญ

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๗๘
ปีที่ ๗ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๖๑
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

ติดตามตอนต่อไป

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : แผนการจาริก (๑)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : จุดเริ่มต้น (๒)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com