มรดกความเปลี่ยนแปลง


มนุษย์ทุกชาติพันธุ์ภาษามีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตลอดมา ทั่วทั้งโลกล้วนผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วทั้งสิ้น ไม่หยุดยั้ง และก็กำลังเปลี่ยนแปลงต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือวิถีการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เริ่มกำเนิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ จนเริ่มกำเนิดอารยธรรม พัฒนาเกิดความแตกต่างทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์มากมาย

ทุกวันนี้มนุษย์ส่วนใหญ่มองเห็นและเข้าใจความสำคัญของประวัติการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น จึงพยายามรวบรวมประวัติความเปลี่ยนแปลง ศึกษา บางเรื่องก็มีหลักฐานหลงเหลือให้อธิบายได้ แต่บางเรื่องก็หาหลักฐาน
มาสร้างคำอธิบายไม่ได้ บางเผ่าพันธุ์มนุษย์ก็มีหลักฐานเรื่องราวย้อนอดีตไปได้ยาวไกล แต่บางเผ่าพันธุ์ก็ย้อนอดีตไปได้ไม่ไกล

มนุษย์แตกต่างจากเดรัจฉานตรงที่ความรู้จัก “อัตตา” ซึ่งมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เมื่อพัฒนาขยายตัวขึ้นเป็นเผ่าพันธุ์ มายาคติเรื่อง “อัตตา” นี่ก็ติดตัวและพัฒนาขึ้นมาด้วย ความรู้สึกเรื่องเผ่าพันธุ์นี้จึงนับเป็นมายาคติเรื่องใหญ่มาก

เผ่าพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานจึงมักหลงภูมิใจกับเรื่องราวเหล่านั้น เผ่าพันธุ์ที่มีอิทธิพลทางวัฒนธรรมจึงมักหลงกับอิทธิพลเหล่านั้น

เผ่าพันธุ์ไทยก็เช่นกัน

ว่ากันตามตรง เรามีข้อมูล ความรับรู้ เรื่องราวหลักฐานเกี่ยวกับเผ่าพันธุ์ไทยน้อยเหลือเกิน

ชื่อเผ่าพันธุ์ “ไท” ก็มีหลักฐานเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน (เพิ่งปรากฏในจดหมายเหตุประวัติศาสตร์ราชวงศ์ซ้องใต้) ก่อนหน้านั้นมีชื่อเรียกว่าเผ่าพันธ์ุอะไรก็ไม่รู้


หลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่พอจะอ้างอิงเชื่อฟังกันได้ ก็คือเป็นสาขาย่อยหนึ่งของพวก “ไป่เยวี่ย” ทางตอนใต้ของดินแดนจีน

สำหรับเรื่องคนไทยในดินแดนสยามก็ยิ่งขาดแคลน ว่ากันว่า ชาวไทยมามีอำนาจเป็นผู้ปกครองในแดนสยามได้เพียงแปดร้อยกว่าปีเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ที่เป็นเรื่องเป็นราวของชาวไทยในแดนสยาม ค้นคว้ากันจนแทบจะหมดแหล่งข้อมูลแล้วก็ยัง “ตัน” อยู่เท่านี้

จะทำความเข้าใจได้ลึกขึ้น จำเป็นที่จะต้องศึกษาและยอมรับเรื่องราวอย่างกว้างขวางขึ้น

เช่น ต้องยอมรับว่าเรา (ไทย) เคยปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมภาษามาอย่างมากมาย

การปฏิวัติทางภาษาอาจจะยอมรับกันง่ายหน่อย คือ “ภาษาไท” ดั้งเดิมแท้เป็นอย่างไรไม่รู้และคงไม่มีทางรู้ แม้เราจะมีญาติใกล้ชิดชื่อว่า “ชาวจ้วง” อยู่ในกวางสี

แต่ทั้งภาษาจ้วง (วัฒนธรรมด้วย) ก็ถูกอิทธิพลภาษาฮั่นเปลี่ยนแปลงไปมาก ภาษาไทยก็ถูกปฏิวัติเปลี่ยนแปลงไปโดยภาษาตระกูลมอญ-เขมร แล้วก็ถูกปฏิวัติด้วยภาษาจากนอกทวีป (อินเดีย) ซ้ำเข้าไปอีก ปัจจุบันก็กำลังถูก
ปฏิวัติด้วยภาษาอังกฤษ จนภาษาไทยโบราณดั้งเดิมแทบจะไม่เหลือแล้ว


ด้านวัฒนธรรมก็เช่นกัน วัฒนธรรมไทยปัจจุบันนั้นเป็นวัฒนธรรมที่ Indianization ไปแล้วครั้งใหญ่ จนเปลี่ยนแปลงไปแทบจะไม่เหลือแล้ว กระทั่งเรื่องเสื้อผ้าการแต่งกาย แม้แต่การนุ่งซิ่น เป็นวัฒนธรรมแท้ดั้งเดิมของชาวไทหรือไม่ ผมก็ไม่กล้ายืนยัน

ด้านวัฒนธรรมนั้น เราจึงควรสนใจค้นคว้าข้อมูล เรื่องที่มีอยู่ก่อนการเข้ามาถึงของการ Indianization

แต่เรื่องเหล่านี้หลงเหลืออยู่น้อยมาก ตามประเพณีและความเชื่อของท้องถิ่นบางแห่งเท่านั้น

วัฒนธรรมไทยดั้งเดิมก่อนการ Indianization ที่ข้าพเจ้าให้ความสำคัญนั้นคือวัฒนธรรมข้าว, วัฒนธรรมผี, วัฒนธรรมแถน, วัฒนธรรมขวัญ, วัฒนธรรมเงือก

วัฒนธรรมข้าวเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญกว้างขวางครอบคลุมทุกเรื่อง แต่ก็มีบางเรื่องถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยพุทธศาสนา เช่นเดิมความสำคัญของ “นางข้าว” “ปู่ขวัญข้าว” “แม่ขวัญข้าว” นั้นยิ่งใหญ่มาก ยิ่งใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าเสียอีก ยังมีร่องรอยเรื่องการแข่งขันด้านบารมีความศรัทธาเชื่อถือกันอยู่ ในนิทานพื้นบ้านไทมาว และนิทานหมอเหยาของชาวผู้ไท เป็นต้น

วัฒนธรรมผี แม้ความเชื่อผี สาง เทวดา จะยังแพร่หลายอยู่ แต่ประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมก็เปลี่ยนไปมาก เช่น เรื่องการบูชาต้นไม้ประจำหมู่บ้าน

วัฒนธรรมแถน ก็ถูกวัฒนธรรมเทวดาอินเดียเข้าแทนที่ ความเชื่อแถนดั้งเดิมเหลืออยู่น้อยเต็มที

วัฒนธรรมขวัญ เรื่องราวความเชื่อเกี่ยวกับขวัญดั้งเดิมก็เกือบสูญสิ้นไปแล้ว คงเหลือแต่รูปแบบพิธีเรียกขวัญเท่านั้น ไม่มีองค์ความรู้เรื่อง “ขวัญ” ที่แท้จริงเหลือแล้ว

วัฒนธรรมเงือก ผู้ควบคุมน้ำ และช่วยเหลือในการส่ง “ผีขวัญ” ขึ้นเมืองแถน (เมืองบน) นั้นสูญเลย ถูกวัฒนธรรมนาคจากอินเดียแทนที่ ส่วนเรื่องช่วยเหลือในการส่งผีขวัญขึ้นเมืองแถนนั้นคงมีหลงเหลือในกลุ่มไทดำในเวียดนามบ้างเท่านั้น

วัฒนธรรมห้าด้านใหญ่ ๆ นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของวัฒนธรรมไทดึกดำบรรพ์ก่อนรับวัฒนธรรมจากอินเดีย เป็นเรื่องที่ควรค้นคว้ารวบรวมศึกษาไว้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสูญหายไปหมด


นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๘๕
ปีที่ ๘ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๒
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

Related Posts

ปริศนาสุริยะเทพ
บทกวี : ความรักพาเรากลับบ้านเสมอ
เที่ยวไปตามความ (ใฝ่) ฝัน – ๑
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com