สงกรานต์ “รดน้ำ” สุวรรณภูมิ
“ปีใหม่แขก” จากอินเดียสู่อุษาคเนย์
สงกรานต์เป็นประเพณีที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ให้เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั่วประเทศว่า “ปีใหม่ไทย” ส่งผลให้เฉลิมฉลองเลยเถิดจนเกิดอุบัติเหตุถึงตายปีละหลายร้อยศพ และพิกลพิการนับเป็นพัน ๆ ราย แต่ถึงล้มตายก่ายกองอย่างนั้น ก็ยังยกย่องอย่างองอาจด้วยสำนึกชาตินิยมอย่างบกพร่องว่า เป็นปีใหม่ไทยแท้ที่ต้องพิทักษ์รักษาด้วยชีวิตไว้ตราบกัลปาวสาน
มีข้อสงสัยตามมาเมื่อรู้ว่าประเพณีสงกรานต์ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่มีในประเทศเพื่อนบ้านด้วยหลายประเทศ ผู้คนในประเทศเหล่านั้นต่างก็บอกตรงกันว่า
สงกรานต์เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของตนทั้งนั้น เช่น ลาว เขมร พม่า สิบสองพันนาในจีน และจนถึงลังกา เลยมีคำถามว่า อย่างนี้ถ้าอย่างนั้นประเพณีสงกรานต์เป็นขึ้นปีใหม่ไทยแท้จริงหรือ? และประเทศเพื่อนบ้านรับประเพณีสงกรานต์จากไทยหรือเอามาจากไหน?
สงกรานต์บางทีเรียกตรุษสงกรานต์ ในประเทศเชื่อว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย สมมุติให้ตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี เมื่อถึงกำหนดจะมีงานประเพณีฉลอง เช่น ทำบุญเลี้ยงพระ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ขอพร เล่นสาดน้ำแล้วมีการละเล่นหลากหลายทั่วประเทศ
แต่ความจริงสงกรานต์ไม่ได้เป็นแค่ปีใหม่ไทยเท่านั้น เอกสารประเพณี 12 เดือนของมหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายว่า กลุ่มชาติพันธุ์ในอุษาคเนย์ที่นับถือพุทธศาสนาล้วนมีประเพณีสงกรานต์เหมือนกัน เช่น ลาว เขมร มอญ พม่า รวมทั้งลังกา และสิบสองพันนาในประเทศจีน ทั้งหมดทุกแห่งล้วนมีงานประเพณีเฉลิมฉลอง ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของตนด้วยเหตุที่เป็นอย่างนั้น เพราะสงกรานต์เป็นคติของพราหมณ์ในศาสนาฮินดูของชมพูทวีป (คืออินเดีย) และพวกพราหมณ์นำเข้ามาเผยแพร่ในราชสำนักของดินแดนสุวรรณภูมิยุคต้นพุทธกาล หลังจากนั้นแพร่กระจายไปถึงบ้านเมืองที่อยู่ภายในผืนแผ่นดินใหม่ที่นับถือฮินดู – พุทธ แล้วเรียกสงกรานต์ แต่คนทั่วไปบางทีก็เรียกตรุษสงกรานต์
ตรุษ มีรากจากภาษาสันสกฤตว่า ตฺรุฏ หมายถึง ตัด
สงกรานต์ มีรากจากภาษาสันสกฤตว่า สงฺกฺรานฺติ หมายถึง คติหรือการจากไปของดวงอาทิตย์นพเคราะห์ดวงอื่นจากราศีหนึ่ง
รวมความแล้วตรุษสงกรานต์ หมายถึง ดวงอาทิตย์ละทิ้งหรือตัดขาดราศีเก่าย่างขึ้นสู่ราศีใหม่ปรากฏการณ์เช่นนี้มีประจำทุกเดือน มีขึ้นเรียกว่า “สงกรานต์เดือน” ฉะนั้นปีหนึ่งจึงมีตรุษสงกรานต์ 12 ครั้ง แต่ครั้งที่สำคัญที่สุดเมื่อดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีน (มีนาคม) ขึ้นสู่ราศีเมษ (เมษายน) ถือเป็นขึ้นปีใหม่คติฮินดู จึงเรียกชื่อเป็นพิเศษว่า “มหาสงกรานต์”
ลำดับการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ในสุวรรณภูมิ
1. เดือนอ้ายขึ้นปีใหม่ของไทยสยามยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ถือตามจันทรคติ ขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย (เดือน 1) เป็นวันขึ้นปีใหม่ เริ่มปีนักษีตรใหม่ โดยเฉลี่ยแล้วเป็นช่วงหลังลอยกระทงกลางเดือน 12 ถือเป็นส่งท้ายปีเก่า
คติอย่างนี้มีอย่างเดียวกันหมดทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคสุวรรณภูมิ เมื่อเทียบปฏิทินสากลตามสริยคติจะอยู่ราวปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม
2. ขึ้นปีใหม่สมัยกรุงศรีอยุธยา “สยามประเทศ” แบ่งเป็น 2 ภาคส่วน คือของราชสำนักกับของราษฎร
สงกรานต์ ปีใหม่ในราชสำนัก รับแบบแผนพิธีพราหมณ์ – ฮินดูจากอินเดียตั้งแต่หลัง พ.ศ. 1000 เป็นต้นมา เหมือนกันหมดทุกราชสำนักของรัฐในสุวรรณภูมิ คือถือวันสงกรานต์เป็นขึ้นปีใหม่ ตรงกับช่วงกลางเดือนเมษายน แต่ทางจันทรคตินับเป็นเดือน 5
เดือนอ้าย ปีใหม่ของราษฎร ไม่รู้จักแบบแผนพราหมณ์ – ฮินดู จึงถือเอาขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นขึ้นปีใหม่ตามคติเดิมสืบมา แต่ในสังคมเมืองใช้ทั้งสองคติ คือนับเดือนอ้ายด้วยแล้วทำบุญสงกรานต์ด้วย
3. 1 เมษายน ขึ้นปีใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 กรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดให้วันที่ 1 เมษายนของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา
4. 1 มกราคม ขึ้นปีใหม่ตามแบบสากลตะวันตก เริ่มเมื่อ พ.ศ.2484 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี สืบจนทุกวันนี้.
(ชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต คัดจากเอกสารแจก โดย โครงการสถาบันสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันสิ้นสุดโครงการไปแล้ว) และสรุปจากหนังสือประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน โดย ปรานี วงษ์เทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก 2548)
*ภาพประกอบ สองหลานสาวร่วมขบวนนางสงกรานต์ ที่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น