(๒)

ศก ศักราช กับ ไตศักราช

มิติ ‘กาลเวลา’ นั้น สำคัญไฉน… การติดตามทำความเข้าใจเรื่องราวของ ผู้คน ชุมชน ชนชาติ ประเทศ และโลกทั้งโลก  ยากที่จะแยกออกจากบริบทที่สำคัญอย่างน้อยที่สุดสองบริบท คือ บริบทของมิติกาลเวลา (Time) กับ บริบทของพิกัดสถานที่ (Space) เงื่อนเวลา (knots of time) เป็นสิ่งที่บ่งชี้ความเคลื่อนไหวหรือการเคลื่อนตัว รวมไปถึงการขับเคลื่อนทางสังคมของชุมชนต่าง ๆ ที่มีนัยยะสำคัญทางความทรงจำของผู้คนในชุมชนนั้น ๆ การกำหนดเงื่อนเวลาอย่างเป็นทางการเพื่อความรับรู้ร่วมกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสำนึกทางประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ 

|ศก|  ในภาษาสันสกฤต  แปลให้เข้าใจกันง่าย ๆ มีความหมายว่าด้วยเวลาช่วงยาว ๆ ที่นานนับเป็น ‘ปี’

|ศักราช| คือ ระบบการนับกาลเวลาที่เรียงลำดับเป็นปี โดยยึดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นจุดเริ่มต้น

โดยเหตุที่มีคำ ‘ราช’ มาเข้าสมาสกับคำ ‘ศก’ คำว่า ‘ศักราช’ จึงมีที่มาที่ชัดเจนว่า เป็นการกำหนด ยุค, สมัย, วิธีนับปี, จุดเริ่มต้นของปี (ศักราช) ที่ “ราชาผู้ครองราชย์” เป็นผู้กำหนดให้ใช้ เช่นกรณีการใช้ ‘มหาศักราช’ ในบรรดา “รัฐ” ก่อนสมัยใหม่ของภาคพื้นอุษา-คเนย์นั้น ฐานข้อมูลบางแหล่งเสนอว่า “พระเจ้าศาลิวาหนะ กษัตริย์อินเดีย ได้กำหนดวิธีนับปีขึ้นเรียกว่า ‘มหาศักราช’ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๖๒๑ ปี (พ.ศ.๖๒๑)”

 [พจนานุกรมไทย ฉบับนายเปลื้อง ณ นคร]

การกำหนดเงื่อนเวลาเยี่ยงนี้ คงเป็น “จุดเปลี่ยน” ของอะไรบางอย่างที่มีความสำคัญมากในโลกทัศน์ของชาวเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังเป็นที่ประจักษ์ว่า แม้แต่เอกสารประวัติศาสตร์หลายฉบับของรัฐ ไทย|สยาม ไท|ลาว ล้านนา|อยุธยา|สุโขทัย ก็ร่วมใช้ ‘มหาศักราช’ กับเขาด้วย ในห้วงพัฒนาการของประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้างยาวกว่าห้วงอื่น ๆ ที่ตามมาในระยะหลัง

เหตุใดจึงต้องกำหนดนับเงื่อนเวลากันใหม่ด้วย “มหาศักราช” (ม.ศ.) ณ จุดพิกัดนี้ ในมิติห้วงเวลานี้ เพื่อกำหนด “ปมเงื่อนเวลาใหม่” ให้กับการเขียนบันทึกประวัติศาสตร์ของมณฑลภารตประเทศ (อินเดีย) บางแห่ง โดยมีบางรัฐภาคีของอุษาคเนย์ร่วมด้วยช่วยกันใช้อย่างเป็นกิจจะลักษณะ จัดว่าเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก แต่ยังมิใช่วัตถุประสงค์หลักของการศึกษาวิจัยในที่นี้ ณ ขั้นตอนนี้ จึงขอก้าวข้ามประเด็น ‘มหาศักราช’ (ม.ศ.) ไปก่อน

การกำหนดใช้เงื่อนเวลาสำคัญแห่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ที่เรียกกันว่า ‘ศักราช’ ต่าง ๆ ในภาษาไทย|ไท|ไต นั้น  อาจเทียบเคียงนัยความหมายกว้าง ๆ กับคำ ‘Era’ ที่ใช้กันในภาษาอังกฤษ เช่น Christian Era, Victorian Era 

คำว่า ‘Era’ ในที่นี้ มีความหมายชัดเจนว่า เป็นคำที่ใช้กำหนดห้วงเวลา ที่มี ‘ค่าความหมายจำเพาะ’ เพื่อใช้ในการบันทึกประวัติศาสตร์แบบพงศาวดาร (Chronology) หรือ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography) ประเภทตำนานเมือง (เรื่องรัฐ) มักใช้ในการลำดับราชวงศ์ เช่น “ตำนานราชวงศ์ปกรณ์” ของล้านนา และถูกนำไปใช้นับวันเดือนปีในปฏิทินแบบต่าง ๆ ด้วย เช่น ใน Gregorian Calender มีการแบ่งเป็น Era ช่วงเวลาต่าง ๆ 

นอกจากนี้ในบริบทการศึกษาด้าน Geology ปัจจุบัน ยังมีการนำคำ ‘Era’ ไปใช้ในการกำหนดยุคสมัยระบบนิเวศของโลก เพื่อการ นิยามความหมายของชั้นดินและหินในห้วงเวลาต่าง ๆ ที่ค่อนข้างยาวนานมากเป็นพิเศษ

ในภาษาอังกฤษยังมีศัพท์อื่นที่มีความหมายเกี่ยวเนื่องด้วยมิติเวลาและกาลสมัยที่มีนัยยะใกล้เคียงกัน แต่ไม่เฉพาะเจาะจงเท่ากับคำ ‘Era’ เช่นคำว่า epoch, age, period, saeculum, aeon และ yuga (คำสุดท้าย คือ คำทับศัพท์ |ยุค| ในภาษาสันสกฤต)

ศัพท์ |Era|  อ่านว่า /iera/  มีรากศัพท์มาแต่โบราณจากภาษาลาติน |aera| ซึ่งแปลว่า เกี่ยวเนื่องด้วยเวลา กล่าวกันว่า อังกฤษเริ่มใช้คำ ‘era’ ตั้งแต่ปีคริสต์ศักราช ๑๖๑๕ และมีการค้นพบว่า เอกสารประวัติศาสตร์ของสเปนเริ่มใช้คำนี้ตั้งแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๕

เริ่มจากประวัติศาสตร์นิพนธ์สเปน ชื่อ History of Isidore of Seville จากนั้นก็ใช้กันต่อ ๆ มาในงานเขียนประวัติศาสตร์ชิ้นอื่น ๆ 

ในวงวิชาการประวัติศาสตร์ของสเปน มีการหมุดหมายกำหนดรู้ร่วมกัน ให้เรียกชื่อห้วงเงื่อนเวลาเริ่มต้นของประวัติศาสตร์สเปนว่า ‘Spanish Era’ ในบริบทซึ่งมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นตั้งแต่ 38 ปีก่อนคริสตกาล (38 B.C.) นักประวัติศาสตร์ของสเปนวิเคราะห์ตีความแล้วลงความเห็นร่วมกันว่า คงเป็นการนับศักราชสเปนแต่โบราณสมัย ที่มีจุดเริ่มต้นจาก ‘การเก็บภาษี’ (Collectible Tax) โดยมีการตราเป็นกฎหมายอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก

จึงอาจสรุปความเข้าใจให้ตรงกันง่าย ๆ ว่า  |Era| มีความหมายใกล้เคียงมากกับคำว่า Epoch ในภาษาอังกฤษ และคำว่า Yuga (ยุค) ในภาษาสันสกฤต แต่คำ Era มีความหมายเฉพาะเจาะจงกว่า คือ เป็นการนับเงื่อนเวลาที่บ่งชี้ถึง “จุดเริ่มต้น” ของเหตุการณ์สำคัญบางอย่างของยุคสมัยหนึ่ง ๆ ที่มีนัยยะสำคัญทางการเมือง การปกครอง หรือเศรษฐกิจ หรือศาสนา และมักจะมีการกำกับห้วงเวลา ยุติ Era หนึ่ง ๆ ด้วยเงื่อนปมทางประวัติศาสตร์ใหม่ ที่นำพาให้เกิดโลกทัศน์ใหม่ ด้วย “ชุดความคิด ความเชื่อ และองค์ความรู้” อีกชุดหนึ่ง 

โดยนัยยะสำคัญนี้ การกำหนด ‘ศักราช’ ใหม่ ย่อมทำให้เราเข้าใจภาวการณ์ที่เป็นสัจธรรม ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต  การเริ่มต้นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมเป็นจุดจบของอีกสิ่งหนึ่งที่ได้ดำเนินมาก่อนหน้านั้น เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย คำ |Era| โดยทั่วไปถูกใช้ในความหมายค่อนข้างกว้าง โดยไม่เคร่งครัดกับนิยามความหมายที่ควรใช้อย่างจำเพาะเจาะจงเท่าที่ใช้ในบริบทภาษาอังกฤษ เช่น คำ ‘คริสตกาล-คริสต์ศักราช’ ‘สมัยวิคทอเรียน-ยุควิคทอเรียน’  หมายความว่า คำว่า |กาล ศักราช สมัย ยุค| ถูกใช้คละ ๆ กันไปจนมีความหมายก้ำกึ่งกันหรือกระทั่งเหมือนกันไปหมด ทั้ง ๆ ที่หน่วยของห้วงเวลามีความแตกต่างกันอย่างมาก

กล่าวอย่างเคร่งครัด คำว่า |ยุค| มีห้วงเวลายาวนานที่สุด และไม่มีความชัดเจนเรื่องจุดจบว่าจะยุติสิ้นสุดเด็ดขาดเมื่อไร เช่น ‘กลียุค’

ในภาษาไทย (สยาม) ใช้ คำ ‘พุทธศักราช’ เพื่อหมายกำหนดเวลาร่วมกันระหว่างชาวพุทธด้วยกันเอง แต่เท่าที่ปรากฏในเอกสารบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ช่วงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ศิลาจารึก ใบลาน สมุดข่อย ปูมโหร มีการใช้ทั้ง ‘มหาศักราช’ และ ‘จุลศักราช’ ตามปมเงื่อนของเวลาที่อาจมีช่วงที่เหลื่อมซ้อนกันบ้าง และมีการนับหมายรู้เงื่อนเวลาด้วย “แม่ปี ๖๐ รอบ” ที่ใช้คู่ขนานกันไปกับ “ปี ๑๒ นักษัตร” ซึ่งจะได้ลงรายละเอียดในตอนต่อไป 

การนับศักราช

การศึกษาประวัติศาสตร์ในยุคสมัยต่าง ๆ จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของ ‘ศักราช’ ต่าง ๆ ด้วย เพราะจะช่วยให้ทราบว่าในปีนั้น ๆ มีเหตุการณ์สำคัญใดเกิดขึ้น  การนับปีศักราชนับว่าเป็น ภูมิปัญญาของมนุษย์สมัยโบราณ ในบริบทโลก อาจกล่าวได้ว่า ‘ศาสนา’ มีบทบาทสำคัญยวดยิ่งในการกำหนดศักราช เพื่อหมายกำหนดรู้เงื่อนเวลาร่วมกัน  ดังปรากฏว่านอกจาก ‘พุทธศักราช’ แล้ว ก็ยังมี ‘คริสต์ศักราช’ และ ‘ฮิจเราะห์ศักราช’

คริสต์ศักราช (ค.ศ.) ใช้เหตุการณ์สำคัญทางคริสต์ศาสนาเป็นจุดเริ่มต้น เริ่มนับตั้งแต่ปีที่พระเยซูประสูติเป็นปี ค.ศ. ๑  ช่วงเวลาก่อนพระเยซูประสูติให้เรียกเป็น ปีก่อนคริสต์ศักราช หรือ ก่อน ค.ศ. (คือ B.C. ย่อมาจาก Before Christ)    

ฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) ใช้เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลามเป็นจุดเริ่มต้นเช่นกัน

|ฮิจเราะห์| มีรากศัพท์มาจากภาษาอาหรับ แปลว่า การอพยพ เป็นการนับศักราชในประเทศที่มีการนับถือศาสนาอิสลามโดยเริ่มนับ ฮ.ศ. ๑ เมื่อท่านนบีมูฮัมหมัดนำเหล่าสาวกอพยพจากเมืองเมกกะไปยังเมืองเมดินา เงื่อนเวลานี้ตรงกับพุทธศักราช ๑๑๖๕

การนับศักราชแบบไทยสยามและไท-ลาว

เอกสารประวัติศาสตร์ไทยประเภทพงศาวดาร และ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ ประเภทตำนานเมืองต่าง ๆ มีการใช้ศักราชต่าง ๆ กันหลายแบบ แตกต่างกันตามการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยโดยอิทธิพลสำคัญของผู้นำผู้ปกครองบ้านเมือง ได้แก่

มหาศักราช (ม.ศ.) พบว่านิยมใช้มากในเอกสารประวัติศาสตร์ประเภทจารึกและพงศาวดารต่าง ๆ ทั้งสมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยาตอนต้น ต้นเค้าที่มาของ “มหาศักราช” มีผู้สืบค้นและให้คำอธิบายแตกต่างกัน เช่น กล่าวขานกันมาว่า กำหนดให้ใช้โดย “พระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ กษัตริย์ผู้ครองอินเดีย” นับเริ่มต้นภายหลังพุทธศักราช ๖๒๒ ปี (มหาศักราชตรงกับ พ.ศ.๖๒๒) บ้างก็ว่า “พระเจ้าศาลิวาหนะ กษัตริย์อินเดีย ได้กำหนดวิธีนับปีขึ้นเรียกว่า ‘ศักราช’ เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว ๖๒๑ ปี (พ.ศ.๖๒๑)” [พจนานุกรมไทย ฉบับนายเปลื้อง ณ นคร]

ส่วนใน “พงศาวดารไทยใหญ่” (เล่ม ๑) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงมีอรรถาธิบายเป็นความหมายกว้าง ๆ ว่า “คำว่าศักราชนี้ก็เป็นสักแต่พระสมัญญาของพระราชาในประเทศอินเดียพระองค์หนึ่ง นามมหาสักกะ เป็นผู้ตั้งมหาศักราช  จึงอนุมานว่าไทยสยามน่าจะเริ่มใช้มหาศักราช” (น.๔๓)

จุลศักราช (จ.ศ.)  ถือกันว่าเป็นศักราชพม่า ทว่าตั้งขึ้นในแผ่นดินพระเจ้าพุกาม มีที่มาจากเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ ผู้นำของฝ่ายพุกามคือ “เสนคราชา อันผนวชเป็นบรรพชิต ปริวรรตออกมาก่อการกบถชิงราชสมบัติพม่าได้”  “พงศาวดารไทยใหญ่” เล่ม ๑ (น.๔๔) โดยความเป็นมานี้ จึงควรเข้าใจว่า ‘จุลศักราช’ เกิดขึ้นจากการก่อการกบถ ที่นำโดยผู้นำทางศาสนาพุทธ ปลดปล่อยพุกามให้เป็นอิสระจากพม่า เมื่อก้าวขึ้นสู่บัลลังก์เป็นกษัตริย์ของพุกามแล้ว ก็กำหนดให้ใช้ ‘จุลศักราช’ แทน ‘มหาศักราช’  โดยเริ่มนับ ‘จุลศักราช’ เป็นครั้งแรกในพุกาม เและแพร่เข้าสู่อาณาจักรไท|ไต ฝั่งตะวันตก รวมถึงอาณาจักรทางตอนเหนือของประเทศไทยปัจจุบันด้วย โดยเริ่มภายหลังพุทธศักราช ๑๑๘๑ ปี 

ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์นิพนธ์ล้านนาบางฉบับโดยเฉพาะส่วนที่กล่าวถึง ‘ลวจังกราช’ บรรพกษัตริย์ ต้นราชวงศ์มังราย ระบุว่า ครั้งนั้น ‘ลวจังกราช’ ได้ไต่ ‘บันไดเงิน’ ลงมา ถล่มอาณาจักรไทเงินยางเชียงแสนจนย่อยยับ เหตุเพราะมี ‘ธรรมิกราชใจบาป’ แล้วจึงตั้งราชวงศ์ใหม่ คือ ‘ราชวงศ์เชียงลาว’ และสถาปนาอาณาจักรใหม่ชื่อ ‘ไชยวรนครเชียงลาว’ พร้อมกันนั้นก็ได้ ‘ลบศักราช’ เดิม คือ ‘มหาศักราช’ เปิดศักราชใหม่โดยประกาศใช้ ‘จุลศักราช’ (จ.ศ.) ตามแบบอย่างแนวทางของพุกาม  เอกสารประวัติศาสตร์ล้านนาได้ใช้ ‘จุลศักราช’ บันทึกตำนานเมืองและราชวงศ์ปกรณ์นับแต่พุทธศักราช ๑๑๘๒ เป็นต้นมา โดยเลิกใช้ ม.ศ.เปลี่ยนเป็นใช้ จ.ศ. แทน

เสนคราชา กับ ลวจังกราช  จัดเป็น วีรชนผู้สร้างตำนาน (Cult Hero)  ทั้งสองสมัญญานามเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่ หรือเกี่ยวดองกันอย่างไร จึงส่งอิทธิพลต่อกันด้วยการ ‘ลบศักราช’ เดิมที่ใช้ร่วมกันมายาวนานและเปิดใช้ศักราชใหม่ ที่ส่งผลสะเทือนต่อชาวไท|ไต|ไทยสยาม อย่างลึกซึ้งและยาวนานถึงเพียงนี้  นับจาก พ.ศ.๑๑๘๒-๒๓๒๕ รวมห้วงระยะเวลานานถึง ๑๑๑๓ ปี  ถือได้ว่าเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทายมาก ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ในบริบทสังคมไทย (อยุธยา-สยาม) นิยมใช้ ‘จุลศักราช’ ในการคำนวณทางโหราศาสตร์ และใช้บอกปีในศิลาจารึก ตำนาน จดหมายเหตุ พงศาวดาร มาโดยตลอดจนถึงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

รัตนโกสินทร์ศก (ร.ศ.)  มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงต้นยังคงนิยมใช้ ‘จุลศักราช’ ในเอกสารทางการ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงยกเลิกการใช้จุลศักราช (จ.ศ.) และประกาศให้ใช้ ‘รัตนโกสินทร์ศก’ (ร.ศ.) แทน โดยทรงกำหนดให้เริ่มใช้ในการบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นับแต่ปี พ.ศ.๒๓๒๕ เป็นต้นไป โดยใช้ปีสถาปนากรุงเทพมหานครเป็นราชธานี ตั้งเสาหลักเมืองกรุงเทพฯ อันเป็นปีก่อตั้งราชวงศ์จักรี เป็นปฐมฤกษ์ (พ.ศ.๒๓๒๕ ให้เริ่มนับเป็น ร.ศ.๑)

สำหรับ พุทธศักราช (พ.ศ.) นั้น เป็นศักราชที่นิยมใช้ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป พบว่ามีการใช้กันมาในเอกสารประวัติศาสตร์บางฉบับตั้งแต่สมัยอยุธยา และถือว่าให้ใช้กันอย่างเป็นทางการของสยามประเทศเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.๒๔๕๕ แทน “รัตนโกสินทร์ศก”  ตามที่ได้มีประกาศยกเลิกใช้รัตนโกสินทร์ศกในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้เป็นไปตามแบบอย่างของทางสากล และเนื่องจากสยามประเทศเป็นดินแดนแห่งพุทธศาสนา จึงทรงเห็นควรให้ใช้ ‘พุทธศักราช’ (พ.ศ.) นับแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบัน(พุทธศักราช เริ่มนับ พ.ศ.๑ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วครบ ๑ ปี)

ไตศักราช

การขึ้นศกใหม่ของชาวไท|ไต หรือการเริ่มนับ ‘ศักราชไต’ (ต.ศ.) ถือว่าได้เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อใด ณ พิกัดตำแหน่งแห่งที่ใด และมีความเป็นมาอย่างไรนั้น ยังไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันที่ชัดเจน  เช่นเดียวกับ “ประวัติศาสตร์ชนชาติไท (ที่ถูกกระทำ) ให้เลอะเลือน” จนพากันหลงลืมและเลือนหายไป

ดูเหมือนว่า ไทย (สยาม) โดยความเป็น ‘สถาบัน’ ของฝ่ายบริหารการศึกษาระดับชาติพึงพอใจแล้วกับการ “สร้าง” ภาพมายาคติของประวัติศาสตร์ไทย (สยาม) เพียงช่วงสั้น ๆ  กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เมื่อราวพุทธศักราช ๑๗๘๐ แล้วจับเอาภาพกรุงสุโขทัยมาสวมรอยเข้ากับกรุงศรีอยุธยาให้ต่อเนื่องกันได้ในปี พ.ศ.๑๙๘๑ (เมื่อฝ่ายอยุธยาเข้ายึดอำนาจกรุงสุโขทัย)  ส่วนกรุงศรีอยุธยานั้น ถูก “สร้าง” ไว้ในตำราเรียนทุกระดับทั่วประเทศว่า เป็นอาณาจักรของชนชาติไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา

ในช่วง พุทธศักราช ๑๘๙๒ จนเสียกรุงเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ จากนั้นไทยเราก็เริ่มรัตนโกสินทร์ศก ใน พ.ศ.๒๓๒๕ แห่งราชวงศ์จักรี สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สิริรวมอายุประวัติศาสตร์ “ชาติไทย” นับแต่สถาปนากรุงสุโขทัย จนถึงวันขึ้นปีใหม่ไทยใน พ.ศ.๒๕๖๒ เป็นระยะเวลา ๗๘๒ ปีเท่านั้น ! 

และทั้งหมดนี้คือภาพรวมของประวัติศาสตร์ชาติไทย ‘ฉบับมายาคติ’ ที่สร้างขึ้นมาด้วยองค์ประกอบทางศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างอลังการ ตระการตา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลายชนชาติต่างวัฒนธรรมทั่วโลก ผ่านสื่อทุกรูปแบบในปัจจุบันสมัย

ทว่า…นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการชาวไต (ไทใหญ่) บางท่าน และในบางพื้นที่ (เมือง) ได้ลงความเห็นตามหลักฐานที่สืบค้นได้ว่า ปีไท (ไต) หรือ ‘ไตศักราช’ นั้น ควรถือว่าได้เริ่มต้นเมื่อปีพุทธศักราช ๔๕๐ อันเป็นเงื่อนเวลาก่อนคริสต์ศักราช ๙๕ ปี  (95 B.C.)  ทั้งนี้มีการเริ่มนับ ‘ไตศักราช’ เป็นครั้งแรก คือ ต.ศ.๑

เมื่อครั้งอาณาจักรไท (ไต) ได้อัญเชิญพระไตรปิฎกเข้ามาจากประเทศอินเดียเป็นปฐมวาระ  นั่นหมายความว่า “ความเป็นไท|ไต” ในทัศนะของนักวิชาการไทใหญ่ สายนี้ วัดกันที่การยอมรับนับถือพุทธศาสนาในระดับโครงสร้างสังคมไท คือ ความเป็น ‘รัฐ’ ที่นิยาม ‘ความเป็นไทอารยะ’ ด้วยอิทธิพลของศาสนาพุทธ ที่มีสถาบันทางการเมืองการปกครองรับรอง ในฐานะเป็นแกนกลางของความเชื่อ จริยธรรม ค่านิยม และวัตรปฏิบัติ ด้วยวิถีธรรมแห่งบวรพุทธศาสนา

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า นักวิชาการชาวไท|ไต (ใหญ่) อีกกลุ่มหนึ่ง เริ่มนับปีไท หรือ ‘ไตศักราช’ เริ่มตั้งแต่ครั้งเมื่อ ‘เจ้าฟ้าเมืองไต’ แห่ง ‘ราชอาณาจักรไตมาวหลวง’ ได้รวบรวมบ้านเมืองชาวไท|ไต ขึ้นเป็นปึกแผ่น  จนกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ที่นานาประเทศแวดล้อม โดยเฉพาะ ‘อ๋อง’ หรือ ‘ฮ่องเต้’ ของจีน ยอมรับ  ซึ่งก็เป็นห้วงเวลาใกล้เคียงกัน คือระยะต้นพุทธกาล  เพียงแต่แนวคิดของกลุ่มหลังให้ความสำคัญกับ “อำนาจ” ทางการเมืองการปกครอง  ส่วนกลุ่มแรกให้น้ำหนักกับ “อำนาจ” ที่มาพร้อมกับศรัทธาปสาทะทางพุทธศาสนา

ชาวไท|ไตทั้งสองกลุ่ม (ไทใหญ่) ต่างก็นับเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เหลินเจ๋ง (เดือนอ้าย) เป็นวันขึ้นปีใหม่ไต เมื่อเทียบศักราช หักลบด้วย พ.ศ.๔๕๐ โดยใช้ปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ เป็นตัวตั้ง ปีใหม่ไท (ณ ช่วงเวลาที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้) ตรงกับ ไตศักราช ๒๑๑๓

อนึ่งใน พ.ศ.๒๐๙๘ (ค.ศ.๑๕๕๕) ประวัติศาสตร์นิพนธ์ไท|ไต บางฉบับ บ่งชี้ว่าอาณาจักรไตมาวหลวงได้ถูกอิทธิพลของพม่าเข้าคุกคาม และต่อมาใน พ.ศ.๒๑๓๖ ยังได้ถูกอิทธิพลของจีนเข้าครอบครองอีกด้วย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนชาวไท|ไต ในบริบทที่กล่าวอ้างไว้ (คือ ปริมณฑลของอาณาจักรไตมาวของไทใหญ่ หรือ ‘เมืองไท ฟากตะวันตก’) เปลี่ยนไปยึดถือวันขึ้นปีใหม่และนับศักราชตามแนวทางของ “เจ้าอาณาจักร” (พม่าและจีน) ที่เข้ามายึดอำนาจการเมือง การปกครอง หรือส่งอิทธิพลครอบงำผ่านศาสนา

 

ช่วงระยะประวัติศาสตร์ร่วมสมัย (Contemporary historical period)

ใน พ.ศ.๒๕๐๙ (คศ.1966) คณะกรรมการภาษาวรรณคดีและวัฒนธรรม (ก๋อลีกลายฝิ้งแหง้) เมืองน้ำคำและเมืองหมู่แจ้ ในถิ่นลุ่มน้ำแม่มาว แห่งเมืองมาวหลวง ได้ฟื้นฟู “วันปีใหม่ไต” ขึ้นที่ทุ่งมาว หรือลุ่มน้ำแม่มาว

อีกหนึ่งปีต่อมา ได้ขยายการรณรงค์ให้นับใช้ ‘ไตศักราช’ ไปยังเมืองล้าเสี้ยว และอีกสามปีต่อมา ‘จิตสำนึกทางสังคมของชาวไท|ไต’ (Tai | Dai Social Consciousness) ก็แผ่ขยายไปยังชาวไท|ไต ทางฝั่งตะวันออก และทางตอนใต้ ผ่านการใช้และนับ ‘ไตศักราช’ โดยการรณรงค์ มิใช่บังคับใช้  ชุมชนไท|ไต หลายหมู่เหล่าที่สังกัด ‘สัญชาติ’ ต่างกัน ได้ร่วมกันฟื้นคืน ‘ความเป็นไท’ ก่อ ‘รูปการณ์จิตสำนึก’ ของความเป็นไท|ไต ขึ้นมาใหม่ โดยใช้อัตลักษณ์ทางภาษา ศาสนา และประเพณี คตินิยม เป็นที่ตั้ง แล้วเริ่มต้นยึดถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เหลินเจ๋ง (เดือนอ้าย) เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไต|ไท อย่างพร้อมเพรียงกันใน พ.ศ.๒๕๑๘ ตรงกับ ต.ศ.๒๐๖๘  และร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองปีใหม่ไท ของชุมชนชาติเชื้อไท ทั้งในแดนพม่าและจีน ที่มีอายุความของ “ความเป็นไท” ยาวนานกว่า “ความเป็นไทย” แบบทางการของชาวไทย (สยาม) ถึง ๑,๓๒๙ ปี (นับถึงสิ้น พ.ศ.๒๕๖๑)

สำหรับชาวไต|ไทใหญ่ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันนั้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙  มีข้อมูลระบุว่า คนไต|ไท สัญชาติไทย นำโดย “ลุงทุน ลุงแสง และลุงจายจื้น” ได้รณรงค์จัดงาน ‘ปีใหม่ไต’ ขึ้นทุกปี ตั้งแต่บัดนั้น คือ ต.ศ.๒๐๗๙ เป็นต้นมา โดยยึดถือรูปการณ์ประเพณีของชาวไตบ้านใหม่หมอกจ๋าม อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหลักมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ศักราช การผลิต ‘สร้าง’ จิตสำนึกประวัติศาสตร์ และ ‘การเมือง’ ของชุดความรู้ประวัติศาสตร์

งานเขียนชุด “มหากาพย์ชนชาติไท” นี้ ต้องการชี้ให้เห็นว่า  แม้เราจะตระหนักว่า “กาลเวลา เป็น สิ่งสมมติ” แต่มันก็มีนัยยะสำคัญมาก เพราะ ‘มายาคติ’ ว่าด้วย ‘ศักราช’ ซึ่งหมายรวมถึง การเปิดศักราช การเปลี่ยนศักราช การรับศักราช และการลบศักราช นั้น ล้วนเป็นไปเพื่อหมายกำหนด รับรู้เงื่อนเวลาของประวัติศาสตร์ ในส่วนที่ ‘ผู้นำ-ชนชั้นนำ-ชนชั้นผู้ปกครอง’ ประสงค์ให้จดจำรำลึกถึงนัยยะสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ตนมีส่วนสร้างขึ้น หรือ เพื่อหมายรู้ให้มีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ (Historical Consciousness) แบบใหม่ร่วมกัน 

โดยนัยกลับกัน การสร้าง “จิตสำนึกทางสังคม” (Social Consciousness) ขึ้นใหม่ จึงย่อมเป็นการปรับรื้อ-ทำลายสิ่งที่มีมาแต่เดิม นั่นคือ ‘การทุบทิ้ง’ จิตสำนึกทางสังคมดั้งเดิม หรือกระทั่งเป็น ‘การทำลาย’ อุดมการณ์ที่มีมาก่อนหน้านั้นด้วย  มายากล ของการใช้ ‘ศักราช’ จึงแยกไม่ออกจากกระบวนการทางสังคมที่มี ‘การเมือง’ เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังผังจำลองกระบวนการต่อไปนี้

จิตสำนึกประวัติศาสตร์~ความจำ~การทำให้จำ  —-> การลืม~การทำให้ลืม~ความหลงลืม~ความเลอะเลือนทางประวัติศาสตร์

ดูเหมือนว่า การกำหนด |ศักราช| ยังคงมีความหมายสำคัญต่อมนุษย์ยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก ดังที่มีการใช้ ทั้ง พ.ศ. และ ค.ศ. เมื่อมีการศึกษาข้ามวัฒนธรรม (cross-culture) หรือ ‘ในระหว่างพื้นที่’ (in-between space) แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า นักประวัติศาสตร์นิพนธ์ได้แบ่งเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ออกเป็นยุคสมัยด้วยมิติเวลาที่แตกต่างกัน ตามเงื่อนเวลาที่ ‘ถูกกำหนด’ มาแล้วอย่างเนียน ๆ มากกว่าจะเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง 

นอกจากนี้ |การนับศักราช| แตกต่างกัน ยังมีนัยยะสำคัญทางการเมืองด้วย มันอาจหมายถึงการนับว่าเป็นพวกพ้องเดียวกัน หรือเป็นการแบ่งแยก แยกตัว ไม่เอาพวก ไม่เข้ากลุ่มพวกเดิมก็มี 

ดังนั้น สำนวนไทยว่าด้วยการ |ลบศักราช| หรือ |ตัดศักราช| ที่พบในบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ และที่มีการประกาศใช้ ‘ศักราชแบบใหม่’ ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ไทยนั้น หากใช้ทฤษฎีโพสต์โมเดิร์น-หลังสมัยใหม่ เข้าจับปรากฏการณ์นี้ คำตอบที่ได้ก็คือ มันเป็น “การรื้อ-สร้าง จิตสำนึกประวัติศาสตร์” (Deconstruction of Historical Consciousness) แบบคลาสสิก ที่มีมาก่อนยุคหลังสมัยใหม่นั่นเอง

กล่าวให้ถึงที่สุด องค์ความรู้ทุกชุด โดยเฉพาะ “ชุดความรู้ทางประวัติศาสตร์” ล้วนมี “การเมือง” แอบแฝง โดยมีปฏิบัติการทางวาทกรรมกำกับ รองรับ และขับเคลื่อน ในทุกขั้นตอนของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์

ภาคผนวก

การเทียบศักราช

จากพุทธศักราชเปลี่ยนเป็นคริสต์ศักราช ให้นำ ปี พ.ศ. ลบ ๕๔๓

ตัวอย่างเช่น พ.ศ.๒๕๖๒  เปลี่ยนเป็น ค.ศ. ให้นำ ๕๔๓ มาลบออก ๒๕๖๒ – ๕๔๓ ปี ค.ศ. ที่ได้คือ ค.ศ. ๒๐๑๙

จากคริสต์ศักราชเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช ให้นำ ปี ค.ศ. บวก ๕๔๓

ตัวอย่างเช่น ค.ศ.๑๙๗๖ เปลี่ยนเป็น พ.ศ. ให้นำ ๕๔๓ มาบวก ๑๙๗๖ + ๕๔๓ ปี พ.ศ. ที่ได้คือ พ.ศ. ๒๕๑๙

จากจุลศักราชเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช  ให้นำ จ.ศ. บวก ๑๑๘๑

ตัวอย่างเช่น จ.ศ. ๑๐๐  เปลี่ยนเป็น พ.ศ.  ให้นำ ๑๑๘๑ มาบวก ๑๐๐ + ๑๑๘๑  ปี พ.ศ. ที่ได้คือ พ.ศ. ๑๒๘๑

จากรัตนโกสินทร์ศกเปลี่ยนเป็นพุทธศักราช  ให้นำ ร.ศ. บวก ๒๓๒๔  ตัวอย่างเช่น ร.ศ. ๑๑๒  เปลี่ยนเป็น พ.ศ.  ให้นำ ๒๓๒๔ มาบวก ๑๑๒ + ๒๓๒๔  ปี พ.ศ. ที่ได้คือ พ.ศ. ๒๔๓๖

*** การเทียบปีฮิจเราะห์ศักราชเป็นปีพุทธศักราช จะต้องบวกด้วย ๑๑๒๒

เพราะการเทียบรอบปีของฮิจเราะห์ศักราชและพุทธศักราช จะมีความคลาดเคลื่อน 

ทุก ๆ ๓๒ ปีครึ่ง ของฮิจเราะห์ศักราชจะเพิ่มขึ้นอีก ๑ ปี เมื่อเทียบกับพุทธศักราช.

บรรณานุกรม

พจนานุกรมไทย ฉบับนายเปลื้อง ณ นคร

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์.  พงศาวดารไทยใหญ่” (เล่ม ๑).

อันดับ ๘๒๓  ชุดที่ ๘ จดหมายเหตุและพงศาวดาร, กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ (บรรณาธิการ).

กรุงเทพ: องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๒๖. [พิมพ์ครั้งที่สอง]

แหล่งที่มาของข้อมูลปีใหม่ไท|ไต|ไตศักราช

อาจารย์เก (นายประเสริฐ  ประดิษฐ์) – ครูภูมิปัญญาไทยที่ปรึกษาศูนย์ไทใหญ่ศึกษาวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

อ้างถึง “ปี๋เหลินวันไตแลปี๋ใหม่ไต”, เคอแสนแสงอ่อน, ๑๙๙๙.

ปี๋ใหม่ไตเฮดหือมีมา, ๒๐๐๑.

“ปี๋ใหม่ไต”, เจ้าลุงคืนใส, ๒๕๔๕. (เอกสารโรเนียว) สภาวัฒนธรรมไตนอกเมือง, เชียงใหม่.

สัมภาษณ์

เจ้าลุงคืนใส, อ้างถึง ชายชื้นคำแดงยอดไตย, ๑๙๙๙.

*****

The Tai Era เบิกฟ้าปีใหม่ไท ไตศักราช (๑)

The Dawn of the Tai วิธีวิทยาเจาะเวลาหา ‘ยุคเพรางาย’ ~ อรุณรุ่งของชนชาติไท (๓)

“ความล่องคง” ประวัติศาสตร์ขับขานของชนชาติไท (๔)

มะอื่อสูง… สวัสดีปีใหม่ (๕)

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
หนังสือ ๓ เล่มชุด “มหากาพย์ชนชาติไท : เต้าตามไต เต้าทางไท”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com