ยาพิษแสลงใจ

ต้นแสลงใจที่เสียมเรียบ

มนุษย์รู้จักยาพิษ และใช้มันเพื่อปลิดชีพตนเองหรือผู้อื่นมานานนับพันปี ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการฆาตกรรม ยาพิษมีข้อได้เปรียบคือ ไม่เปิดเผย ไม่ร้องเตือน และอาจไม่ทิ้งร่องรอย การประกอบยาพิษและการวางยาพิษ เป็นศิลปะที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ และรอคอยเวลาที่เหมาะสม แต่กว่าเหยื่อจะรู้ตัว  ฆาตกรก็เผ่นหนีไปไหนต่อไหนแล้ว หรือไม่ก็แสร้งร้องไห้คร่ำครวญอยู่ข้างศพผู้ตายนั่นเอง

ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไม่อาจสมบูรณ์ได้ ถ้าขาดเรื่องราวของยาพิษ กล่าวกันว่า ราชินีคลีโอพัตราที่ ๗ แห่งอียิปต์โบราณ ใช้งูพิษในการปลิดชีพพระองค์เองเมื่อ พ.ศ.๕๗๓ เกือบสองพันปีที่แล้ว

ในวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์จีน เรื่องสามก๊ก มีการใช้ยาพิษอยู่หลายตอน แม่ทัพโฮจิ๋นส่งเหล้าผสมยาพิษให้ตังไทเฮาดื่มเพื่อปลิดชีพตนเอง  ต่อมา ตั๋งโต้ะ ก็ใช้วิธีเดียวกันนี้ปลิดชีพหองจูเปียนซึ่งตอนนั้นถูกลดฐานะลงเป็นอ๋อง จิวยี่และกวนอู ถูกเกาทัณฑ์อาบยาพิษ และเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายในที่สุด ซุนฮก ที่ปรึกษาคนสำคัญของโจโฉ ก็ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย หลังจากคัดค้านการตั้งตนเป็นวุยอ๋องของโจโฉ ในตอนท้ายของเรื่อง งิวขิ้้มแม่ทัพผู้ห้าวหาญแห่งวุยก๊ก ก็ถูกตระกูลสุมาสั่งให้ดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย เพราะระแวงว่า จะเป็นภัยต่อการขยายอำนาจ

ใกล้ไทยเข้ามาอีกหน่อย ในพงศาวดารมอญ เรื่อง ราชาธิราช ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นหัวหน้าคณะ แปลและเรียบเรียง เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ มีความอยู่หลายตอนที่แสดงถึงการใช้ยาพิษปลิดชีพศัตรู เช่น พระเจ้าฟ้ารั่วใช้อุบายวางยาพิษในอาหารและเหล้า สังหารพระเจ้ากำมะลานีและพรรคพวก พงศาวดารบันทึกไว้ว่า “ตั้งแต่นั้นมา เมืองเมาะตะมะก็บริบูรณ์ บรมสุขยิ่งนัก”

พระเจ้าฟ้ารั่ว คงเป็นผู้สันทัดใช้อุบายวางยาพิษ จึงมักระแวงว่าผู้อื่นจะใช้วิธีเดียวกันนี้สังหารตน ดังนั้น ในคราวที่ยกทัพไปล้อมเมืองของพระเจ้าตราพระยา เมื่อพระเจ้าตราพระยาให้แต่งโภชนาหารประกอบด้วยยาพิษ แล้วให้เสนาบดีออกไปเชิญเสด็จพระเจ้าฟ้ารั่วเข้าไปกินเลี้ยง พระเจ้าฟ้ารั่วจึงตรัสว่า “ถ้าพระเจ้าตราพระยา ปรารถนาจะเลี้ยงดูเรากับไพร่พลทหารทั้งปวง ให้เป็นที่สบายแล้ว ก็ให้เชิญพระเจ้าตราพระยา เสด็จออกมาหาเราก่อนเถิด เราจึงจะเข้าไป” ในครานั้นอุบายของพระเจ้าตราพระยาจึงไม่เป็นผล

อีกตอนหนึ่งในเรื่องเดียวกัน อะขะมะมอญเอาเนื้อฟานสดเจือยาพิษ ใส่ชะลอมให้คนเอาไปถวายเจตะสุกรี ซึ่ง “ยินดีที่จะบริโภคเป็นกำลัง จึงสั่งให้พ่อครัวเอาเนื้อฟานไปแต่งเครื่องเสวย” หลังจากกินเนื้อฟานผสมยาพิษแล้ว  เจตะสุกรีก็ถึงแก่กาลกิริยาตาย

หรือ “อายกำกองได้ราชสมบัติแล้ว มิได้กตัญญูรักใคร่นางจันทมังคละ นางจันทมังคละลอบเอายาพิษใส่ให้อายกำกองกิน อายกำกองถึงแก่ความตาย” และ “พระตะบะจึงให้เอายาพิษลอบไปใส่ในของกินซึ่งแม่มะสำโรเอาไปให้พระตะเบิดนั้น ครั้นพระตะเบิดกินเข้าไปก็ถึงแก่ความตาย”

คราวนี้มาดูเรื่องที่เป็นของไทยแท้ ๆ บ้าง การสวรรคตของพระไชยราชา พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๓ แห่งอยุธยา นั้น พระราชพงศาวดารเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ บันทึกไว้ว่า “ศักราช ๙๐๘ มะเมียศก (พ.ศ.๒๐๘๙) เดือน ๖ นั้น สมเด็จพระไชยราชาเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้า พระราชกุมารท่านเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ในปีนั้นแผ่นดินไหว” และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้เพียงสั้น ๆ ว่า “ศักราช ๘๘๙ ปีกุนนพศก (พ.ศ.๒๐๗๐) เสด็จสวรรคต ณ มัชฌิมวิถีประเทศ มุขมนตรีเชิญพระบรมศพเข้าพระนครศรีอยุธยา”

พระยอดฟ้าเสวยราชย์อยู่ได้ไม่ถึง ๒ ปี ก็ถูกขุนชินราช คบคิดกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เอาไปประหารชีวิต ขุนชินราชตั้งตัวเป็นกษัตริย์ได้เพียง ๔๒ วัน ก็ถูกขุนพิเรนทรเทพผู้เป็นเชื้อพระวงศ์ กับพวก จับกุมตัวไปฆ่า พร้อมกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และบุตรซึ่งเกิดด้วยกัน แล้วยกเอาพระเทียรราชา ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระชัยราชาธิราชเจ้า ขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

สยามในสมัยกรุงศรีอยุธยา การปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ ไม่เป็นเรื่องแปลก พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ผู้เป็นข้าหลวงมหาดไทย ประจำมณฑลกรุงเก่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยชี้ให้เห็นว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้น มีพระมหากษัตริย์ ๓๔ พระองค์ อายุกรุงศรีอยุธยามี ๔๑๗ ปี หมายความว่า คิดโดยเฉลี่ยแล้ว ทุก ๆ ๑๐ ปี มีการรบราฆ่าฟันกันภายใน เพื่อแย่งราชบัลลังก์กันครั้งหนึ่ง หากแต่เหตุการณ์ตอนพระชัยราชาสิ้นพระชนม์นี้ เฟอร์เนา เมนเดส ปินโต ชาวโปรตุเกส ซึ่งเดินทางมาสู่สยามในเวลานั้น บันทึกต่างไปจากพงศาวดารว่า

“หลังจากเสด็จกลับมาได้เพียง ๒๐ วัน พระมเหสีซึ่งทรงมีสวาทสัมพันธ์ อยู่กับพนักงานรักษาพระราชฐาน ในระหว่างที่พระองค์มิได้ประทับในพระนคร ได้ถวายยาพิษในน้ำนมให้ทรงดื่มถึงโถหนึ่งเต็ม ๆ” และ  “เพื่อรักษาตนให้รอดพ้นจากอันตรายที่พระนางจะทรงได้รับ จึงทรงแก้ปัญหา โดยจะวางยาพิษพระเจ้าแผ่นดิน ผู้เป็นพระสวามีของพระนางเสีย ดังนั้นพระนางจึงได้กระทำการตามเจตนาร้ายนั้น โดยไม่รอช้า พระนางถวายน้ำนมให้พระเจ้าแผ่นดินเสวย ซึ่งแสดงฤทธิ์ยาได้ผล เพราะพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จสวรรคตภายในเวลา ๕ วัน หลังจากเสวยน้ำนมไปแล้ว”

ไม่มีใครยืนยันได้ว่า ยาพิษในเรื่องสามก๊ก ในพงศาวดารมอญ หรือที่ใช้ในการปลงพระชนม์พระไชยราชา เป็นสารอะไร อ้างกันอย่างเลื่อนลอยว่า เป็นพิษจากหงอนกระเรียนแดงบ้าง จากสัตว์พิษบ้าง ซึ่งตามเหตุผลทางวิทยาศาสตร์แล้ว เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น และเรื่องการวางยาพิษในน้ำนม ก็ชวนให้สงสัยว่า คนสยามในยุคนั้น รู้จักกินนมและมีนมให้กินแล้วหรือ แม้ว่าเป็นเจ้าก็ตาม

ในยุโรป ยาพิษที่ใช้กันแพร่หลาย นับตั้งแต่ยุคโรมัน จนกระทั่งปัจจุบัน คือ สารหนู หรือเรียกให้ถูกตามแบบเคมีว่า อ๊อกไซด์ของสารหนู เมื่อสามร้อยกว่าปีก่อนนั้น ลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสที่มาสู่อยุธยาในรัชสมัยของพระนารายณ์ บอกว่า “ชาวสยามไม่ประสาในวิชาเคมี” ถ้าเช่นนั้น ชาวสยามคิดค้นสารหนูดังกล่าว ได้เองหรือไม่ และชาวสยามใช้สารหนูทำอะไร

การแพทย์พื้นบ้านของไทย ใช้สารหนูเป็นเครื่องยาชนิดหนึ่ง รักษาโรคผิวหนังกลาก เกลื้อน ตำราโรคนิทาน ฉันท์สิบเอ็ด ที่พระยาวิชยาธิบดี (กล่อม) ผู้ว่าราชการเมืองจันทบุรี เรียบเรียงไว้ ระบุชัดเจนว่า “ภาคหนึ่งแก้โรคกลาก ดูลำบากด้วยเกากาย ให้เอาจุนสีหมาย กับสารหนูแลกำมะถัน กระบือเผือกเอาเขาเผา ปลาร้าเอาปลาดุกพลัน เผาไฟให้ไหม้ครัน กับทั้งลูกสะบ้าเผา บดละลายน้ำมันยาง ทั่วสารพางค์ให้ขูดเกา เอายาเร่งทาเข้า สามวันห้ามอย่าถูกน้ำ” และ “ภาคหนึ่งเป็นยาเกลื้อน ทำไม่เหมือนที่ทำมา ขมิ้นอ้อยหัวใหญ่นา ให้ควักไส้ใส่สารหนู สุมไฟแกลบสุกเอา บดแท่งเท่าเม็ดถั่วพู ฝนกับเหล้าใส่ดู ไม่ช้าเกลื้อนก็เคลื่อนหาย”

เมื่อมีสารหนู ก็อาจใช้สารหนูเป็นยาพิษได้ แต่ในอาณาเขตของพระเจ้าฟ้ารั่ว ซึ่งเป็นป่าเป็นเขา เมื่อ แปดร้อยปีก่อนนั้น หาสารหนูได้หรือ

ผืนดินแห่งอุษาคเนย์ปัจจุบัน มีพืชหลายชนิดมีพิษร้ายแรง ขนาดฆ่าคนให้ตายได้ด้วยปริมาณเพียงเล็กน้อย พืชเหล่านี้ได้แก่ ละหุ่ง สบู่ดำ ยี่โถ รำเพย มะกล่ำตาหนู สลอด แสลงใจ และมะเค็ด แต่มีเพียงสองชนิดหลังเท่านั้นที่เป็นพืชพื้นถิ่น มีอยู่ในดินแดนนี้มาแต่ดั้งเดิม

มะเค็ด เป็นพืชเถา ดอกเป็นช่อสีเหลืองเล็ก ๆ พบได้ในเขตป่าดิบชื้นบนภูเขาสูง กินใบมะเค็ดสดเพียงไม่กี่ใบก็ได้ตายสมใจ คนม้งถึงกับเรียกพืชชนิดนี้ว่า “ชั่วน่อตั่ว” แปลว่า “สามใบตาย” แต่การหาใบไม้ชนิดนี้มาใช้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่ได้ขึ้นอยู่ทั่วไป

ที่หาได้ง่ายกว่าคือ แสลงใจ ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง พบได้ในป่าโปร่ง ใบรูปรีขนาดฝ่ามือเด็ก สีเขียวเข้มเป็นมัน  ปลายใบแหลม แตกต่างจากใบไม้ชนิดอื่นตรงที่มีเส้นใบหลัก ๓ เส้น ขนานกับขอบใบ ผลกลมขนาดส้มเขียวหวานลูกเล็ก ๆ เมื่อสุกมีสีส้มแกมเขียว เปลือกแข็ง มีเนื้อสีเหลืองนุ่ม เมล็ดกลมแบนขนาดราวปลายนิ้วหัวแม่มือ หนาเพียงเปลือกหอยแครง รูปคล้ายจานหรือกระดุม ผลหนึ่งมี ๓ – ๕ เมล็ด

น่าสังเกตว่า ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา มีต้นแสลงใจต้นใหญ่ ๆ อยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพระราชวังปราสาทพิมานอากาศ ที่นครธม

เมล็ดแสลงใจนี้ เป็นเครื่องยาไทยเรียกว่า โกษฐ์กะกลิ้ง ใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย สำหรับรักษาโรคหัวใจ บำรุงเส้นประสาท ในเมล็ดมีสารพิษที่ชื่อว่า สตริ๊กนิน มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการชัก กล้ามเนื้อหดเกร็ง และหยุดหายใจจนตายในที่สุด จัดเป็นยาพิษร้ายแรงชนิดหนึ่ง สมัยก่อน ใช้เบื่อหมาหรือหนูอย่างเปิดเผยมาแล้ว

ยี่โถ
สลอด
ใบแสลงใจ

สตริ๊กนินจัดเป็นสารในกลุ่มอัลคาลอยด์ กล่าวสำหรับนักเคมีแล้ว สามารถสกัดแยกได้โดยง่าย แต่การใช้สตริ๊กนินจากเมล็ดแสลงใจเป็นยาพิษ กลับง่ายยิ่งกว่า เพียงแค่บดเมล็ดแห้ง ๔ – ๕ เมล็ด ผสมลงไปในอาหาร ก็ทำให้ผู้กินเสียชีวิตได้ในเวลาไม่เกินชั่วโมง

อัลคาลอยด์เป็นสารที่มีรสขม ดังนั้นการวางยาพิษในอาหารที่ผสมผงเมล็ดแสลงใจ จึงควรเป็นอาหารรสจัด เพื่อมิให้ผู้กินรู้สึกตัว เช่น ลาบฟาน (ลาบเนื้อเก้ง) ซึ่งเป็นอาหารจานเด็ดสำหรับเลี้ยงแขกในเรื่องราชาธิราช

ถ้าเกิดเป็นขี้ข้าแล้วถูกนายใช้ไปเก็บเมล็ดแสลงใจ พึงตรวจตราให้แน่ใจว่า เป็นเมล็ดแสลงใจแท้จริงหรือไม่ เพราะมีพืชอีกชนิดหนึ่ง รูปลักษณ์โดยรวมคล้ายกับแสลงใจมาก ทั้งยังจัดอยู่ในสกุลเดียวกัน มีชื่อว่า มะติ่ง หรือ บ่าตึ๋ง ส่วนที่ต่างกันคือ มะติ่งมีเส้นใบหลัก ๓ – ๗ เส้น ผลโตกว่าผลแสลงใจเล็กน้อย มีเมล็ดรูปรี แบน ๔ – ๑๕ เมล็ด ที่สำคัญ ในเมล็ดไม่มีสารที่เป็นพิษแต่อย่างใด ดังนั้น ถ้าเจือปนอาหารด้วยเมล็ดมะติ่งแล้วละก็ผู้กินคงไม่ตาย อย่างมากเพียงนึกตำหนิในรสชาติอาหาร ที่รู้สึกว่าผิดเพี้ยนไปบ้างเท่านั้น

สารพิษสตริ๊กนินนั้น มีอยู่แต่เฉพาะในเมล็ดแสลงใจ สำหรับเนื้อผลสุกที่อ่อนนุ่มสีเหลือง ไม่มีสารสตริ๊กนิน จึงกินได้โดยไม่เป็นพิษแต่อย่างใด เพียงแต่ว่ามีรสหวานปนขื่น ไม่ชวนให้ติดใจ การที่เนื้อผลแสลงใจมีรสขื่น เป็นเพราะสัมผัสกับอากาศ ภูมิปัญญาชาวบ้านบอกว่า ต้องกินในน้ำ โดยทุบเปลือกผลให้พอแตก แล้วจุ่มทั้งผลแสลงใจและศีรษะของผู้กินลงไปในโอ่งที่มีน้ำ ใช้มือแหวกเปลือกผลออก แล้วกินเนื้อแสลงใจ โดยวิธีนี้ เนื้อผลแสลงใจก็จะไม่สัมผัสกับอากาศโดยตรง จึงให้รสหวานชื่นใจ

อย่างไรก็ตาม การกินเนื้อแสลงใจให้อร่อยโดยวิธีนี้ มีข้อปฏิบัติที่ต้องเคร่งครัดอยู่ ๒ ประการ กล่าวคือ ประการแรก ห้ามกัดหรือเคี้ยวเมล็ดแสลงใจหรือกลืนเข้าไปโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ได้รับสารสตริ๊กนินที่เป็นพิษ ทำให้ชักและตายเพราะขาดอากาศหายใจ

ข้อที่สอง นับว่าสำคัญไม่แพ้ข้อแรก คือ เมื่อกินเนื้อแสลงใจแล้ว อย่าลืมยกศีรษะขึ้นจากน้ำ มิฉะนั้น จะเสียชีวิตจากการจมน้ำตายได้

***

คอลัมน์  ผักหญ้าหมากไม้  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๓| กรกฎาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

สรุปย่อรากเหง้าร่วมของวัฒนธรรมอาเซียน
วัดหลวงปากเซ การประสมประเสที่น่าทึ่ง
คำผญา (๑๘)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com