บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 6

บันทึกการเดินทางในลาว ครั้งยังเป็นภาคอีสาน : เอเจียน แอมอนิเย ตอนที่ 6

บันทึกการเดินทางในลาว(ดินแดนภาคอีสาน) เอเจียน แอมอนิเย (ผู้บันทึกการสำรวจ) ปี พ.ศ. 2438-2440 ตอนที่ 6 จากอุบลไปยโสธร
เรียบเรียงโดย : Kay Intarasopa
23 มิถุนายน 2558

พระธาตุบ้านตาดทองหรือพระธาตุก่องข้าวน้อยแผนที่แสดงที่ตั้งของเมืองอุบล เมืองท่านาไซ เมืองเมลูไพร เมืองยโสธร วาดโดยเอเจียน เอมอนิเย

ลูกน้องของแอมอนิเย 4 คน คือ ตอบ คิม โรส และนู เป็นลูกน้องอีกกลุ่มหนึ่ง เดินทางออกจากเมืองอุบลโดยพายเรือไปตามแม่น้ำมูล กระทั่งมาถึงลำน้ำเซบาย ซึ่งกว้างประมาณ 15-20 เมตร จากนั้นก็ล่องเรือมาถึงน้ำชี ซึ่งกะว่ามีความกว้างประมาณ 100 เมตร ผ่านหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน กระทั่งมาถึงบ้านท่าไห ซึ่งมีกระท่อม 100 กว่าหลัง ชาวบ้านผลิตไห หม้อ และครก สำหรับปรุงอาหาร การเผาใช้เวลาเพียงคืนเดียว เครื่องปั้นดินเผานี้นำไปขายที่อุบล เงินหนึ่งบาทซื้อไหใหญ่ได้ 6 ใบ หรือไหน้อย 12 ใบ หรือหม้อ 30 ใบ หรือครก 50 ลูก

อีก 5 วันต่อมาพวกเขาเดินทางมาถึงเมืองท่านาไซ ซึ่งขึ้นกับเมืองอุบล อยู่ห่างจากน้ำชี 250 เมตร บนเนินดินซึ่งน้ำไม่ท่วม มีวัด 2 วัด และมีกระท่อมกระจัดกระจายกันอยู่ 200 กว่าหลัง เจ้าเมืองเป็นบุตรชายของเจ้าเมืองอุบลคนก่อน ซึ่งบอกว่าเป็นคนสร้างเมืองนี้เมื่อ 16 ปีก่อน ประชาชนอยู่ในสภาพที่อดอยาก พวกเขาจะยืมเงินได้ก็ต่อเมื่อมอบตัวเป็นทาส ฝูงสัตว์เลี้ยงมักถูกขโมยไป ทำให้สัตว์ที่นั่นราคาแพง

ขณะนั้นมีคดีความเรื่องการหย่าหรือยกเลิกการแต่งงานกันเกิดขึ้น เจ้าบ่าวถือว่าเงิน 16 บาท ที่พ่อแม่เจ้าสาวเรียกร้องนั้นสูงเกินไป เงินสินสอดที่มอบให้แม่เจ้าสาวนั้น แม่เจ้าสาวจะมอบให้ลูกสาวเพียงครึ่งหนึ่ง หากมีการผิดเถียงกัน พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะทวงเอาเงินสินสอดนั้นจากลูกเขย หากหย่าร้างกันเด็กอายุยังน้อยจะอยู่กับแม่ โตขึ้นจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ตามชอบใจ ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ จะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน ระหว่าง ลูก พ่อ และแม่ ถ้าว่ามีหนี้สิน สามีต้องจ่าย 2 ส่วน ภรรยา 1 ส่วน นี่คือธรรมเนียมเมืองท่านาไซ และคงจะเป็นธรรมเนียมในลาวโดยทั่วไป

“พวกเขาได้เห็นการเผาศพ ซึ่งจัดขึ้นโดยการสวดมนต์ของพระสงฆ์ เมื่อการเผาศพนั้นเพียงพอแล้ว ก็เอาน้ำดับไฟ ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ญาติพี่น้องก็พากันกลับไปเก็บกระดูกใส่ในหม้อ แล้วขุดหลุมฝังที่กองฟอนในป่าช้า ในวันเดียวกันนั้นยังมีการสวดมนต์และถวายเครื่องบูชาแก่พระสงฆ์อีก”

ช่วงหนึ่งของน้ำชีลำน้ำตื้นเขินต่ำเกินไป พวกเขาจึงต้องเดินทางบกไปตามทางเกวียน จากเมืองท่านาไซไปเมืองเมลูไพรซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งวันกับอีก 3 ชั่วโมง

คำว่า เมลูไพร เพี้ยนมาจากภาษาเขมรว่า เมลูเปร ซึ่งแปลว่า พลูของป่า หรือในภาษาลาวนั่นก็คือ “พูดง” ก่อนสถาปนาเป็นเมือง หมู่บ้านนี้ชื่อบ้านแสน มีกระท่อม 250 หลัง มีวัด 3 วัด ทุ่งราบพื้นที่เป็นดินปนทราย และมักเจอปัญหาน้ำท่วมเวลาระดับน้ำชีสูงขึ้น ที่วัดหลวงมีโบราณสถานสมัยเขมรอยู่ด้วย จากเมืองเมลูไพรไปเมืองศรีภูมิ ใช้เวลาหนึ่งวันในการเดินทาง ชาวเมืองเมลูไพร ทำตามแบบอย่างสยาม เจ้าเมืองชื่อพระดำรงค์ฤทธิไกร ในเมืองมีคนที่ขึ้นทะเบียนไว้ 500 คน

จากนั้นพวกเขาก็ล่องเรือไปตามน้ำชีเพื่อไปยังเมืองยโสธร พวกเขาพากันเที่ยวดูซากโบราณวัตถุใกล้บ้านท่าทอง (น่าจะเป็นบ้านตาดทอง) ซึ่งมีกระท่อม 80 หลัง ซากโบราณวัตถุที่เรียกว่าปราสาทลูกฆ่าแม่ หมายถึง “ธาตุก่องข้าวน้อยฆ่าแม่”

เขาบรรยายว่า “อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 10 นาที อยู่กลางทุ่งนาห้อมล้อมด้วยพุ่มไม้รกรุงรัง เมื่ออยากให้ฝนตก ชาวบ้านก็นิมนต์พระภิกษุมาสวดและฉันข้าวอยู่ ณ ที่นั้น ซากโบราณวัตถุนั้นตามนิยายปรัมปราเล่าว่า ลูกชายคนหนึ่งเกิดโมโหร้ายขึ้นมาบีบคอแม่ตนเอง เพราะแม่เอาข้าวมาจากบ้านมาให้ไม่เพียงพอ เมื่อรู้สึกสำนึกว่าตนทำผิด จึงเผาศพแล้วก่อปราสาทขึ้นเพื่อบรรจุกระดูกของแม่”

เมืองยโสธรนี้ แต่เดิมชื่อเมืองยศสุนทร ภายหลังมาเปลี่ยนชื่อเป็นยโสธร ซึ่งมาจากภาษาสันสกฤตว่า ยโสธรา ซึ่งแปลว่า เชิดชูเกียรติ เมืองนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งโล่งเตียน มีวัด 5 วัด แต่ละวัดมีพระภิกษุ 15-20 รูป มีกระท่อมประมาณ 500 หลัง ซึ่งแออัดพอสมควร ประชาชนเป็นคนลาว มีคนสยาม คนจีน และพม่า (กุลา)เล็กน้อย พวกเขารับเอาแบบอย่างจากสยามเหมือนกันในกรณีทรงผม เจ้าเมืองนี้มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรวงศา เงินลาดที่ยโสธรมีค่าเท่ากับ 6 ลาดต่อสลึง

ฝนที่นี่ไม่ดีเหมือนทุกปีทำให้คลาดแคลนน้ำเพื่อทำนา ผลิตผลเสียหาย วัว ควาย ม้า มีอยู่มากที่ยโสธร ดินประสิวถูกนำมาจากเมืองธาตุพนมโดยทางเกวียน ใช้เวลา 8 วัน ซื้อที่ธาตุพนม 9 ตำลึง หรือ 36 บาทต่อหนึ่งหาบ 60 กิโลกรัม ขายที่ยโสธร 12 ตำลึงหรือ 48 บาท เปลือกสีเสียดนั้นเอามาจากบางมุกโดยทางบกจนถึงแม่น้ำโขง เปลือกสีเสียด 100 ชิ้นต่อ 1 บาท เอามาขายที่นี่ได้ 2 เท่า

เมืองยโสธรมีเขตแดนทางทิศเหนือติดกับห้วยท่าแหลว ห้วยดังกล่าวเป็นเส้นแบ่งจากเมืองกมลาไสย ทางทิศนี้มีเมืองเสลภูมิซึ่งแต่ก่อนขึ้นกับยโสธร แต่ว่าตั้งแต่ปี 1880 เป็นต้นมา เมืองเสลภูมิกลับไปขึ้นกับกมลาไสย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือยโสธรมีพรมแดนติดกับเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 3 วัน ทางทิศตะวันออกเป็นเมืองบางมุก พรมแดนทางทิศใต้จรดเมืองอุบล ทางทิศตะวันตกจรดเมืองศรีภูมิ ที่ขึ้นทะเบียนราษฎร์ไว้มีจำนวนหลายพันคน แต่ละคนต้องเสียภาษีรายได้ 10 สลึงต่อปี พวกคนโสดจะจ่ายเพียง 1 บาทหรือ 4 สลึง ภาษีอากรที่ส่งไปให้บางกอกแต่ละปีเป็นเงินหนึ่งหาบ ทุกคนยังต้องบริจาคข้าว 7 ถัง เพื่อเป็นอาหารของผู้ที่มาราชการที่นั่น

ตอนต่อไปถึงจะเล่าความเป็นมาของเมืองยโสธรว่ามีที่มาอย่างไรนะครับ

เปลือกสีเสียด ที่ใช้กินกับหมากพลู สินค้าสำคัญในอดีต ขอบคุณรูปภาพจากชมรมฯขอนโทน

อ่านในเว็บ e-shann.com
ตอนที่ 1 จากจำปาสักไปพิมูล
ตอนที่ 2 จากพิมูลไปอุบล
ตอนที่ 4 จากมุกดาหารไปสกลนคร หนองหาน
ตอนที่ 5 จากหนองหานไปหนองคาย เวียงจันทน์
ตอนที่ 6 จากอุบลไปยโสธร
ตอนที่ 7 ประวัติความเป็นมาเมืองยโสธร
ตอนที่ 8 จากยโสธรไปกุดสิน ธาตุพนม

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com