ยกอ้อ ยอคาย ไหว้ครู บูชาคุณ

ขันคายเชิญไท้เชิญแถน

เมื่อกาลเวลาผ่านเข้ามาสู่เดือนมกราคม ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีตามปฏิทินสุริยคติสากล ในเดือนมกราคมนี้มีวันสําคัญหลายวัน รวมถึง “วันครู” ที่กําหนดให้ตรงกับวันที่ ๑๖ มกราคม ของทุกปีทางอีศานฉบับนี้จะได้ชวนท่านผู้อ่าน “เปิดผ้าม่านกั้ง” เรื่องราวการบูชาพระคุณครูตามอริยะประเพณีอีสานโบราณ

“ครู” มีรากศัพท์มาจากคําภาษาบาลีว่า “ครุ” หรือ “คุรุ” ในภาษาสันสกฤตใช้ว่า “คุรุ” ราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคําว่าครูไว้ว่า “ผู้สั่งสอนศิษย์ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์”

ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า “ครูที่แท้จริงทํางานเพื่อช่วยโลก เพื่อยกโลก เพื่อสร้างโลกไม่ได้ ทำเพื่อเงินเดือน” ดังนั้นครูจึงมิได้ เป็นเพียงทางผ่านวิชา ที่มีหน้าที่สอนหนังสือตามค่าจ้างเท่านั้น หากแต่มีความผูกพันกับศิษย์ ในฐานะแม่พิมพ์หรือแบบเบ้า ที่สร้างทรัพยากรบุคคลเพื่อยกโลก สร้างโลก ให้ก้าวหน้าต่อไป

วัฒนธรรมอุษาคเนย์ไม่ได้ยกย่องเพียงครู “ผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน” เท่านั้น แต่ยกย่องไปถึง “บูรพคณาจารย์ ผู้กอปรประโยชน์ศึกษา” อีกด้วยความเคารพต่อครูจึงลึกซึ้งไปถึงครูเทวดา ครูผีที่ศิษย์ทั้งหลายมิอาจสัมผัสด้วยตาเนื้อ แต่ต้องน้อมระลึกด้วยตาใจ จนเกิดแบบแผนพิธีการไหว้ครูในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อเป็นการสื่อสารระหว่างศิษย์กับครูก่อนที่จะนําความรู้เหล่านั้นไปใช้ต่อไป

พิธีการไหว้ครูเทวดา ครูผีที่เห็นเป็นแบบแผนในปัจจุบัน ได้แก่ พิธีการไหว้ครูครอบครูโขนละคร และพิธีการไหว้ครูครอบครูดนตรีไทยของผู้เรียนด้านดนตรีนาฏศิลป์ไทย นอกจากนี้ยังมีพิธีไหว้ครูที่คุ้นเคยกันมาก คือพิธีไหว้ครูตามแบบแผนของกระทรวงศึกษาธิการที่เชื่อว่าผู้อ่านคงได้เคยเข้าร่วม ซึ่งพิธีไหว้ครูตามแบบแผนของกระทรวงศึกษาธิการ จัดขึ้นทุกปีในภาคการศึกษาแรกของการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังมีพิธีการไหว้ครูตามสํานักหมอยา หมอไสย หมอเสก หมอสักตําหนักทรงที่มีแบบแผนตามแบบฉบับของตน

นอกจากพิธีการไหว้ครูที่ยกมาข้างต้น ในวัฒนธรรมการไหว้ครูของคนในลุ่มแม่นํ้าโขงอีสาน – ล้านช้าง ได้มีแบบแผนพิธีกรรมที่เป็นแบบฉบับของตนที่น่าสนใจเรียกว่า “ยกอ้อ ยอคาย”

คายอ้อ หมอลํา-หมอแคน

ยกอ้อ ยอคาย

“ยกอ้อ ยอคาย” เป็นคําเรียกรวม ๆ ในวัฒนธรรมอีสาน บ้างเรียกว่า “ยกอ้อ” หรือ “ตั้งคาย” หมายถึง การตั้งแต่งสิ่งของเครื่องคารวะเพื่อไหว้ครูโดยสิ่งของเครื่องคารวะนั้นเรียกว่า “คาย” หรือ “คายอ้อ” ดร.ปรีชา พิณทอง ปราชญ์คนสำคัญแห่งแผ่นดินอีสานได้อธิบายไว้ในหนังสือประเพณีโบราณไทยอีสานของท่านว่า

“ของยกครู ไม่ว่าแต่ครูธรรมดาสามัญ แม้พระบรมครูคือ พระพุทธเจ้า เมื่อเราเข้าไปไม่ว่าในกรณีใด ๆ จะต้องมีเครื่องสักการะ คือดอกไม้ธูปเทียนติดมือไปด้วย หากไม่มีก็มือสิบนิ้ว กราบแล้วยกมือขึ้นไหว้ท่าน เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นการเคารพเทิดทูนครูไว้ในฐานะสูง สําหรับการเรียนมนต์ก็ต้องมีของบูชาครูด้วยของบูชาครูนั้นแล้วแต่ครูจะสั่ง

ของบูชาครูทั่วไปได้แก่ขัน ๕ ขัน ๘ ขัน ๕ เต็มยศมีข้าวตอก ๕ คู่ดอกไม้ ๕ คู่ประทีป ๕ คู่ ประทีป ๕ คู่ เทียน ๕ คู่ ส่วนขัน ๘ ก็เพิ่มเป็น ๘ คู่แล้วเพิ่มซิ่นผืน แพรวา เหล้าก้อง ไข่หน่วยซวย ๔ ขันหมากเบ็งซ้ายขวา ส่วนเงินแล้วแต่ครูจะสั่ง ของทั้งหมดนี้เรียกว่า คาย

คําว่า “คาย” มาจากคําว่า “คารวะ” ในปัจจุบันผู้เฒ่าหลายท่านยังมีคําพูดติดปากว่า “คาย-ระ-วะ” จึงพูดย่อ ๆ  ว่าคาย หมายถึงสิ่งของที่จัดเตรียมไว้สําหรับแสดงความคารวะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือครูอาจารย์ ซึ่งหากจะพิจารณาจาก หลักคารวะ ๖ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ปยุตฺโต) ได้รวบรวมไว้ในพจนานุกรมพุทธศาสตร์ฉบับประมวลธรรม อธิบายไว้ว่า

“คารวะ หรือ คารวตา ๖ (ความเคารพ, การถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพึงใส่ใจและปฏิบัติด้วยความเอื้อเฟื้อ หรือโดยความหนักแน่นจริงจัง, การมองเห็นคุณค่าและความสําคัญแล้วปฏิบัติต่อบุคคลหรือสิ่งนั้นโดยถูกต้องด้วยความจริงใจ – reverence; esteem; attention; appreciative action)

๑. สัตถุคารวตา (ความเคารพในพระศาสดา – reverence for the Master) ข้อนี้บางแห่งเขียนเป็น พุทธคารวตา (ความเคารพในพระพุทธเจ้า – reverence for the Buddha)

๒. ธัมมคารวตา (ความเคารพในธรรม – reverence for the Dhamma)

๓. สังฆคารวตา (ความเคารพในสงฆ์ – reverence for the Order)

๔. สิกขาคารวตา (ความเคารพในการศึกษา – reverence for the Training)

๕. อัปปมาทคารวตา (ความเคารพในความไม่ประมาท – reverence for earnestness)

๖. ปฏิสันถารคารวตา (ความเคารพในปฏิสันถาร – reverence for hospitality)

ธรรม ๖ อย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความไม่เสื่อมแห่งภิกษุ

หากพิจารณาเรื่องคายอ้อโดยผิวเผินแล้วอาจจะเข้าใจว่าคายอ้อเป็นความเชื่อของวัฒนธรรมผีหรือพราหมณ์ ไม่เกี่ยวกับคติทางพุทธศาสนาแต่อย่างใด แต่หากพิจารณาถึงบริบทโดยรวมแล้วจะพบว่า คนอีสาน-ล้านช้าง ได้นำเอาหลักคารวตา ๖ นี้เข้ามารวมอยู่ด้วย จะสังเกตได้จากจํานวนเลข ๖ ที่หมายถึงสิ่งที่ต้องคารวะ ๖ อย่างในทางพุทธศาสนา ที่ถูกกําหนดเป็นเงินค่าคาย หรือจำนวนสิ่งของในคายอ้อ เช่น คายในพิธีการเสี่ยงหาคู่ครองที่เรียกว่า “เสี่ยงสายมิ่งสายแนน” ได้กําหนดให้มีคายหรือเครื่องคารวะประกอบด้วย “ขัน ๕ ขัน ๘ เงิน ๖ สลึง ซิ่นผืน แพรวา เหล้าก้อง ไข่หน่วย สร้อย แหวน หวี แป้ง นํ้าอบ นํ้าหอม” หรือเงินค่าคายในการทํานํ้ามนต์หัวใจโพชฌงค์ เพื่อรดให้กับผู้เป็นไข้ให้หาย ได้กําหนดให้มีคายหรือเครื่องคารวะประกอบด้วย ขัน ๕ เงิน ๖ บาท เทียนเวียนรอบศีรษะ”เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จํานวนเงินที่กําหนดไว้ในคายต่าง ๆ อาจมีมากหรือน้อยและไม่ต้องเป็นจํานวน ๖ ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกําหนดที่ครูบาอาจารย์บัญญัติไว้ ซึ่งถ้าหากมีการเรียกคายเกินกว่าที่กําหนดผู้ทําพิธีนั้นจะเป็น  “ปอบ” เพราะ “กินคายเกิน”

นอกจากเงินค่าคายแล้ว เครื่องประกอบอื่น ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นคายอ้อนั้นต่างมีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ ต่อพิธีกรรมอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับพิธีการไหว้ครูของกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะมีการกําหนดให้มีหญ้าแพรก ดอกมะเขือ และดอกเข็ม เป็นสื่อสัญลักษณ์แทนความเจริญงอกงาม ความอ่อนน้อมถ่อมตน และความรู้ที่ครูและศิษย์หวังจะให้เกิดขึ้นหลังจากพิธีไหว้ครู

การยกอ้อ ยอคาย ในการระลึกถึงครูบาอาจารย์ในศาสตร์ต่าง ๆ ก่อนกระทําการนั้น ๆ นอกจากบทสวดที่มักเรียกว่า “อ้อ” แล้วยังต้องมี “คาย” ที่ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้สําหรับพิธีกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

ขอยกตัวอย่างคายอ้อของพิธีกรรมตามคติผีให้ได้พิจารณา คือคายอ้อในพิธีการ “ส่อง” ซึ่งเป็นการเสี่ยงทายสาเหตุของการเจ็บป่วย รวมถึงการรักษาอย่างไรให้หาย คายส่องมีดังต่อไปนี้

๑. ก้องแขน (กําไล) ๑ คู่

๒. แหวน ๑ วง

๓. กระจอนหู (ต่างหู) ๑ คู่

๔. ขันหมากเบ็ง ๑ คู่

๕. เหล้าขาว ๑ ขวด

๖. ไข่ ๑ ฟอง

๗. ซวย (กรวยใบตอง) ๕ อัน

๘. ขันนิมนต์ (ทําเป็นกรวยใบตองมีเทียน ๑ คู่ ดอกไม้ ๑ คู่) ๔ ห่อ

๙. ดอกไม้ขาว ๕ คู่

๑๐. ซิ่น ๑ ผืน

๑๑. ผ้ายาว ๑ วา

๑๒. เงิน ๔ บาท ๑ สลึง

๑๓. คําหมาก กอกยา ๔ คํา

๑๔. ฮวดดอกไม้ (พวงดอกไม้) ๔ ฮวด

๑๕. ข้าวสาร ๑ ถ้วย

เมื่อเตรียมคายอ้อเหล่านี้ครบแล้ว จึงกล่าวคําเชิญไท้เชิญแถน ถ้าผู้ป่วยเป็นชายว่า “ขอนุ่งผ้าสองวาเตะเตี่ยว” ถ้าผู้ป่วยเป็นหญิงว่า “ขอนุ่งซิ่นเครือไหมคําอิแม่ตํ่า บ่นุ่งผ้าขี้หมิ่นเทิงซํ้าเพิ่นต่อตีน” แล้วเชิญต่อว่า “เชิญเจ้าลงมาเล่นแถวงาม ๆ เว้าคล่อง ๆ ให้เจ้ามาเอ้ย้องทางใต้ม่ายสาว เชิญทั้งข้าเสนาพร้อมพรํ่า เชิญทั้งพวกข้าใช้ให้นําหน้าแห่แหน มักอันใดสิแต่งให้บ่ขีนใจจักอย่าง มักแพรสิ่วกะสิซื้อมาแหง มักแพรแดงกะสิซื้อมาให้แพรสไบคล้องไหล่ ก้องกะซิแต่งใส่แขน แหวนกะสิแต่งใส่ก้อย กระจอนยอยสิให้ใส่นกเกษแก้วแถมงาม ๆ กะสิแต่ง ช้างกะ ๙ มากะ ๙ สิถวายเจ้าหน่อพุทโธ ให้เจ้าสิกขึ้นขี่ม้าจําปาโตเจ้าขี่ ให้เจ้าสิกขึ้นขี่ม้าจําปาสร้อยโตขี่มา มาฮอดแล้วแถวงาม  ๆ ให้มันคล่อง มาเอ้ย้องทางใต้ ม่ายสาว”

แม้คายส่องจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรมผู้ที่มีการนําความเชื่อเรื่องไท้หรือแถนมาเป็นแกนหลักของพิธีกรรม แต่ในบทเชิญไท้ เชิญแถนกลับปรากฏ “สิถวายเจ้าหน่อพุทโธ” เป็นการสอดแทรกคติพุทธเข้าไปด้วย คายอ้อจึงเป็นการผสมผสานความเชื่อของวัฒนธรรมพราหมณ์ พุทธ ผี เข้าด้วยกัน

ตัวอย่างคายอ้อช่างทำแคนเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ในคายอ้อกําหนดให้มีสิ่งของดังต่อไปนี้

๑. เงินค่าคาย ๔ บาท

๒. ผ้าซิ่น ๑ ผืน

๓. ผ้ายาว ๑ วา

๔. เหล้าขาว ๑ ขวด

๕. ไข่ไก่ ๑ ฟอง

๖. ซวย (กรวยใบตอง) ๔ อัน

๗. ขัน ๕ (เทียนห้าคู่ ดอกไม้ห้าคู่)

๘. หวี ๑ อัน

๙. กระจก ๑ บาน

๑๐ ช้องผม ๑ มัด

เมื่อเตรียมคายอ้อเหล่านี้ ครบแล้วจึงกล่าวคําบูชาครูว่า

“โอมสิทธิ์โอมสับ โอมจับ โอมทรง ข้านี้บ่ได้ทรงอาจ บ่ได้ประมาทครู ผู้ข้าตีปั๊กปั๊กให้เสียงออก ผู้ข้าตีป๊อกป๊อกให้เสียงมา ผู้ข้าสับลิ้นปี่อย่าให้ลิ้นปี่แหง ผู้ข้าสับลิ้นแคนอย่าให้ลิ้นแคนแท้ง

เชิญลงเยอ เชิญเจ้าลงเยอ เชิญเจ้าลงมาจิต เข้าใส่คลองใน เชิญเจ้าลงมาใจเข้าใส่คลองนอก เชิญเจ้ามานั่งบอกอย่าให้ปวดแอว ขอให้เสียงแคนไหลดังไปจีจ้าด เสียงดังจาดเหมือนดังตาลไซ เสียงดังใสไหลไปฮ้อยแห่ง เชิญนางแต่งฮูปี่ฮูแคน ลูกสะแนนให้เสียงดังถูกต้อง อย่างให้ข้องลิ้นปี่ลิ้นแคน

เชิญลงเยอ เชิญเจ้าลงเยอ เชิญกับทั้งนางอ้อน้อยนุ่งซิ่นสีเงิน เชิญให้เจ้าลงมาซุนางมวลพร้อม ให้เจ้ามานั่งล้อมข้างซ้ายข้างขวา อย่ามืดมัวหูตาให้แจ้ง อย่าให้แท้ซีกู่ลนไฟ เสียงแคนใสดงไปฮ้อยแห่ง เชิญนางแต่งทั้งทุ้งทั้งเซ อย่าให้เพแม่เวียงโป้ซ้าย อย่าให้หยับให้ย้ายหนีออกแวนไกล ให้เสียงไหลหลั่งมาปานนํ้า อย่าสะท้านเสพปี่สับซอ เสียงบ่พอเชิญนางเอาใส่ เสียงบ่ใหญ่ เชิญเจ้าเอาแถม ให้ดังแหมก้อยขวาก้อยซ้าย อย่าหยับย้ายเสพขลุ่ยสับซอ โอมสะหมติด”

บทยกอ้อ ยอคาย สําหรับช่างทําแคนนี้ปลอดจากคติพุทธ และสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเรื่องพิธีกรรมในวัฒนธรรมผีอย่างชัดเจน ในคายประกอบด้วยเครื่องใช้สตรี เช่น ซิ่น หวีกระจก ช้องผม อีกทั้งในอ้อได้กล่าวถึงเรื่องราวของผู้หญิงเป็นหลักนั้น สอดคล้องกับตํานานการกำเนิดแคนที่ว่าผู้หญิงเป็นผู้ประดิษฐ์แคนขึ้นเป็นคนแรก บทยกอ้อยอคายของช่างแคนจึงกล่าวถึง “นางอ้อน้อยนุ่งซิ่นสีเงิน” ให้มาประสิทธิความสําเร็จในการทําแคนให้กับช่างแคน นางอ้อน้อยนุ่งสิ้นสีเงินนี้ไม่ได้หมายถึงหญิงผู้เป็นครูใหญ่ของช่างแคนเท่านั้น แต่ยังเป็นคําเปรียบเปรยถึง กู่แคนลิ้นเงิน ซึ่งเป็นแคนที่มีคุณภาพดี ดังนั้นเครื่องประกอบพิธีกรรมและคํากล่าว ล้วนมีความสําคัญต่อการยกอ้อ ยอคาย เพื่อไหว้ครูบูชาคุณ

ยกอ้อ ยอคาย ไหว้ครูบูชาคุณ ก่อนทําการแสดง

ไหว้ครูบูชาคุณ

จากวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมที่ปลูกฝังกันมาเกี่ยวกับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่าง ๆ ในดินแดนอีสาน – ล้านช้าง ที่มีความเชื่อว่าวิชาความรู้ต่าง ๆ ล้วนเกิดมาจากครูเทวดา ครูผี แล้วจึงถ่ายทอดมายังมนุษย์ทั้งหลาย ทําให้เกิดพิธีกรรมยกอ้อ ยอคาย เพื่อไหว้ครู บูชาคุณ ทําให้เกิดผลดีต่อสังคมทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลดีทางตรงของการไหว้ครูบูชาคุณ คือ สังคมอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ อ่อนน้อม ด้วยจิตใจที่ดีงาม ส่วนในทางอ้อมนั้น การไหว้ครูบูชาคุณได้เป็นกระบวนการกล่อมเกลาเพื่อลดอัตตาของผู้รู้ทั้งหลาย เป็นการสร้างบรรทัดฐานให้สังคมไม่ลํ้าเส้น หรือออกนอกกรอบที่สังคมได้กําหนดไว้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตามในโลกยุคใหม่ที่สังคมมีความซับซ้อนประกอบกับการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมที่ไหลบ่าเข้ามาจากต่างซีกโลก ต่างสิ่งแวดล้อม ต่างประวัติศาสตร์ต่างวัฒนธรรมทำให้เกิดการปรับแปรฐานคิดของสังคมแบบก้าวกระโดด จากเดิมที่สังคมวางกรอบคิดว่าสรรพวิชาต่าง ๆ เกิดมาจากครูผีครูเทวดาซึ่งผู้ใช้วิชาเหล่านั้นต้องมีความเคารพ ระลึกถึงอยู่เสมอเปลี่ยนถ่ายมาเป็นความเชื่อมั่นในศักยภาพความเป็นมนุษย์ เชื่อว่าเพราะหนึ่งสมองสองมือนี้ได้สร้างทุกสรรพสิ่งโดยไม่ได้มีอำนาจวิเศษใดมาชี้นำจนบางครั้งกลายเป็นการแหกคอกเดิมภายใต้คำอธิบายใหม่ความ “ความคิดสร้างสรรค์”

โลกใบใหม่ที่กำลังหมุนไปนี้คงไม่มีอะไรถูกผิดชนิดแยกกันได้ว่าสิ่งนั้นขาวสิ่งนี่ดํา เพราะในขณะที่หมอส่องยังต้องยกอ้อยอคายไหว้ครูบูชาคุณก่อนทําการรักษา ด้วยค่าครูไม่เกิน ๔ บาท ๑ สลึงแต่หมอสมัยใหม่ไม่ต้องมีเครื่องคายกลับสามารถรักษาได้อย่างสบายใจ แถมค่าครูสูงลิ่วกว่าเงิน ๔ บาท ๑ สลึง เรายังไม่พบว่าหมอสมัยใหม่เหล่านั้นเป็นปอบแต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้นไม่ว่าหมอส่องหรือหมอสมัยใหม่ต่างมีทั้งที่รักษาผู้ป่วยหาย และที่รักษาแต่ผู้ป่วยตายไปก็ไม่น้อย

ในยุคโลกาภิวัตน์ ที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามกระแส อันถาโถมจากนานาทัศนะที่เข้ามากระทบต่อมุมมองของคนไทย พิธีการยกอ้อยอคายไหวครูบูชาคุณจึงถูกท้าทาย มีคำถามมากมายว่า ยังจําเป็นที่จะต้องใช้พิธีกรรมยกอ้อยอคายอย่างโลกใบเก่าเพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์อีกต่อไปหรือไม่ เพราะหลายเรื่องทำไปโดยไม่มีครูก็สามารถเกิดประสิทธิผลเชิงประจักษ์โด่งดังขึ้นมาได้ประเด็นท้าทายเหล่านี้หากไม่พิจารณาหาคําตอบ อาจจะทําให้โลกอดีตกับโลกปัจจุบันแยกออกจากกันอย่างไม่มีวันเชื่อมติดก็เป็นได้

คุณตาไสว ประติโยพันธุ์ ช่างแคนแห่งเมืองนครพนม

***

คอลัมน์  เปิดผ้าม่ากั้ง   นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๗ | มกราคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ตำนานพื้นบ้านในฐานะหลักฐานประวัติศาสตร์สองฝั่งโขง
[๑๒] คนพิมาย : คนท้องถิ่นหรือผู้บุกรุก
ชื่อท่าฟ้อนแม่บทอีสาน (๑)
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com