ยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมRenaissance (2/3)

# ยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรมRenaissance (2/3)

# ยุคฟื้นฟูความรู้

ยุคกลาง ยุคมืดตอนต้น หลังจากโรมล่มสลาย ไม่เป็นเมืองหลวงของโลกอีก (caput mundi) ความรู้เก่าหายไป วิศวกรรม สถาปัตย์ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์  ไม่มีการก่อสร้างอะไรเหมือนยุคโรมันอีก  หอสมุดคอนสแตนติโนเปิลได้รวบรวมวิชาความรู้ไว้มากมาย ทั้งของตะวันออก-ตะวันตก เป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาที่สำคัญ

เมื่อชาวมุสลิมเข้าไปยึดครองคอนสแตนติโนเปิลในสงครามครูเสดครั้งที่สี่ในศตวรรษที่ 13 และเมื่อจักรวรรดิออตโตมานแผ่อิทธิพลไปครอบครองคอนสแตนติโนเปิลและดินแดนแถบนั้นทั้งหมดในศตวรรษที่ 15 นักปราชญ์ราชบัณฑิตหนีภัยไปอยู่ยุโรปตะวันตก พวกเขานำเอาหนังสือตำราต่าง ๆ ไปด้วย โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อย่างฟลอเรนซ์ โบโลญา ปาดัว

นอกจากวิชาความรู้ทางปรัชญา และศาสตร์ต่าง ๆ ก็มีเทคโนโลยีที่ถูกนำมาถ่ายทอดอย่างการแกะสลักหินอ่อนที่มีชีวิตชีวาที่ไม่มีในยุคกลาง ภาพเฟรสโกบนผนังปูน และภาพวาดที่ละเอียดอ่อน วิศวกรรมที่ถูกลืมก็ได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาต่อยอด

วิชาดาราศาสตร์กลับมาสอนกันอีก รวมทั้งคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ก็ฟื้นกลับมาเช่นกัน  คนยุโรปเรียนรู้จากอารยธรรมต่าง ๆ กรีก โรมัน อาหรับ ไบซันติน รวมถึงอินเดีย ไม่ได้ก๊อปปี้ของเก่า แต่พัฒนาใหม่ เผยแพร่ทางการพิมพ์ ทำให้ความรู้แพร่หลายไปทั่วสู่คนทั่วไป

ฟลอเรนซ์เป็นศูนย์กลางศิลปะวัฒนธรรม การเรียนรู้การพัฒนา คล้ายซิลิคอนวัลเลย์วันนี้ มีความเชื่อมั่น เป็นที่นัดหมายของบรรดา scholars ศิลปิน

วิหาร Santa Maria de Fiore ที่ฟลอเรนซ์ เริ่มวางแผนตั้งแต่ปี 1300  วิหารใหญ่สุดในคริสต์ศาสนจักรยุโรปเลยทีเดียว ใหญ่กว่างดงามกว่าที่ปีซ่า เวียนนา มิลาน ซึ่งเป็นคู่แข่ง  มีความยาว 153 เมตร วันนี้อันดับ 4 ของโลก วันนั้นใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 45 ม. โดย Giorgio Vasari เป็นผู้วาดภาพบนผนัง 400 ตร.ม. ขนาดเดียวกับ “การพิพากษาครั้งสุดท้าย” ของ มิเกลันเจโล ที่โบสถ์ซิกซ์ตินที่วาติกัน แต่อยู่สูงมาก คนมองไม่ค่อยเห็น

วิหารสร้างเสร็จนาน แต่ไม่มีโดม เพราะไม่มีใครสามารถสร้างได้ ในปี 1418 Filippo Brunelleschi ศิลปิน วิศวกร สถาปนิก ประติมากร ได้แรงบันดาลใจจาก Pantheon ที่โรม และ Hagia Sophia ที่คอนสแตนติโนเปิล คิดออกว่าจะทำโครงการใหญ่นี้ได้อย่างไร นับเป็นการปฏิวัติการก่อสร้าง ทำเครื่องยกหินอ่อนขนาดใหญ่ ที่พัฒนามาเป็นเครนวันนี้  เขาพัฒนาทัศนมิติ สเกตช์ภาพโบสถ์บนกระดาษให้เห็นทุกมิติ สู่การวาดภาพมิติใหม่ที่สมจริงมากกว่าเมื่อก่อน

การแข่งขันระหว่างเมืองใหญ่ฟลอเรนซ์ เวนิส มิลาน ปีซ่า ทำให้เกิดนวัตกรรมต่าง ๆ ในเมืองเหล่านี้ สร้างศิลปะเพื่อสายตาคน ไม่ใช่พระเจ้า ไม่ใช่ศิลปะศาสนา หรือรับใช้ศาสนา แต่รับใช้มนุษย์ เปลี่ยนเนื้อหาสาระทางศาสนามาเป็นชีวิตประจำวันของผู้คน บรรยายได้แม่นยำ มีรายละเอียดมาก โดยศิลปินกำหนด ไม่ใช่โป๊ป หรือเจ้าองค์ใด ศิลปินมีอิทธิพลมากในการกำหนดรูปแบบของภาพต่าง ๆ

ปี 1508 พระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2 ให้มิเกลันเจโล วัย 33 ปีวาดภาพบนผนังโบสถ์ซิกซ์ติน เขาไม่ค่อยอยากทำนัก บอกว่าไม่ถนัดการวาดภาพ ถนัดการแกะสลักมากกว่า ขัดโป๊ปไม่ได้ เขาจึงขอเสรีภาพในการวาด ซึ่งโป๊ปก็ยอม บอกว่าทำได้ตามใจชอบ

มิเกลันเจโลเนรมิตผลงานอันยิ่งใหญ่ จิตรกรรมฝาผนังขนาด 520 ตร.ม. ในโบสถ์ซิกซ์ติน ภาพพระคริสต์ และคน 400 คนนั้น จำนวนมากเป็นภาพเปลือย และภาพปีศาจ บางภาพเป็นภาพของคนที่เขาไม่ชอบขี้หน้าในยุคนั้น ต่อมาภายหลัง ได้มีการ “ปิด” อวัยวะเพศ เพราะดู “อุจาด” ไปสำหรับภาพที่อยู่หลังพระแท่นที่โป๊บทำพิธีบูชามิสซาและพิธีกรรมต่าง ๆ 

ภาพบนเพดานโบสถ์ซิกส์ตินที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ ภาพพระเจ้าสร้างมนุษย์ อาดัม ถูกนำไปผลิตซ้ำมากที่สุดในบรรดาภาพศิลปะทั้งหลาย แต่อาดัมนอนเปลือยเปล่า ไม่มีการเอา “ผ้า” ไปปิดจนถึงทุกวันนี้

# สถาปัตยกรรมใหม่

ที่อยู่อาศัยของผู้มีอำนาจในยุคกลางเป็นป้อมปราการ กำแพงหนา หน้าต่างเล็ก ถูกปรับให้สวยงาม รื้อตึกเก่าสร้างตึกใหม่ที่ดูดีกว่า หน้าต่างมาก แสงสว่างเข้า ภายในตบแต่งสวยงาม ภายนอกมีรูปปั้นแกะสลักประดับดูดีมีราคา กำแพงก็รื้อออกปรับเป็นคูน้ำ ทำพื้นที่ให้เป็นสวนที่สวยงาม

โบสถ์วิหารในยุคกลางเป็นแบบโกธิค มีลวดลายมาก ตบแต่งด้วยรูปปั้นรูปแกะสลักบนกำแพงและตั้งไว้เรียงราย อย่างมหาวิหารนอตเตรอดามแห่งปารีส และอื่น ๆ ในยุคเกิดใหม่ มีการสร้างโบสถ์วิหารที่สะอาดตากว่า อบอุ่นกว่า สว่างกว่า อย่างวิหารที่เมืองฟลอเรนซ์ ซึ่งก็ยิ่งใหญ่คนละแบบ

เหตุการณ์โรคระบาดที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่าครึ่งในยุโรปก็มีส่วนทำให้เกิดการก่อสร้าง สถาปัตยกรรมใหม่ โบสถ์วิหารใหม่  ในปี 1347 กาฬโรคระบาดใหญ่ก่อให้เกิดความตายสีดำ (black death) คนอังกฤษตายครึ่งประเทศใน 7 เดือน คนยุโรปตายไปหนึ่งในสาม รวมหลายล้านคน  คนฟลอเรนซ์รอดตายจากความตายสีดำเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี คนที่รอดก็มีชีวิตที่เปลี่ยนไป มองชีวิตแตกต่างไปจากเดิม พยายามใช้ชีวิตให้มีความสุขมากที่สุด อยากทำอะไรดีสำหรับตัวเอง Cosimo de Medici สร้างโบสถ์ใหม่ทั้งหลัง โรคระบาดมีผลกระทบต่อท่าทีของคนต่อชีวิต การมองโลกมองชีวิตเปลี่ยนไป

พระสันตะปาปา Paulus Julius ที่ 2 สั่งให้ Donato Bramante สร้างวิหารเซนต์ปิเตอร์ โดยให้รื้อวิหารเก่าของคอนสแตนติน ที่สร้างมากว่า 1,000 ปี ให้สร้างมหาวิหารใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มงานปี 1506 หลังจากนั้น 40 ปี มิเกลันเจโลมาสานงานต่อ โดยเฉพาะการสร้างโดม ที่เขาได้แรงบันดาลใจจาก Pantheon โบสถ์ทวยเทพของโรมัน

ในปี 1547 ที่มิเกลันเจโลมาสร้างเซนต์ปิเตอร์นั้น เขาอายุ 72 แล้ว แต่เขาก็ยินดีทำ ถึงแก่กรรมอายุ 89 ในปี 1564 ผ่านโป๊ป 9 องค์  นับเป็นศิลปินยิ่งใหญ่สุดคนสุดท้ายของยุคเกิดใหม่

# ปฏิวัติวิทยาศาสตร์ดาราศาสตร์

ยุคกลางเชื่อว่าโลกไม่ได้เคลื่อนไหว ความเชื่อว่าโลกกลมมีมาแต่ยุคกรีกแล้ว ปราชญ์หลายคนอย่างอริสโตเติลได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ชัดเจน การที่ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ มีลักษณะกลม การที่เกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา บอกได้ว่าโลกกลม ไม่ใช่แบน แต่ก็เชื่อว่าโลกไม่ได้หมุน และโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และดวงดาวหมุนรอบโลก

ยุคกลางมองขึ้นฟ้าเห็นดวงดาว และเชื่อว่าไกลโพ้นคือสวรรค์  ยุคกลางศึกษาจักรวาลผ่านศาสนา ด้วยสายตาของความเชื่อ เหมือนยุคเทพปรณัมของกรีก ที่มองทุกอย่างผ่านตำนาน

โคเปอร์นิคัส บิดาของดาราศาสตร์ยุคใหม่บอกว่า โลกหมุนและไม่ได้เป็นศูนย์กลาง แต่เป็นดวงอาทิตย์ที่เป็นศูนย์กลาง แต่พิสูจน์ไม่ได้ กาลิเลโอเมื่อปี 1610 มีกล้องส่องไกลบอกได้  โคเปอร์นิคัสไม่กล้าตีพิมพ์งานที่เขาค้นคว้า 30 ปี กลัวคนหัวเราะเยาะ และกลัวจะถูกพระศาสนจักรลงโทษ เพราะไปขัดแย้งกับคำสอนของศาสนา  กาลิเลโอถูกบังคับให้ปฏิเสธคำสอนของตนเอง และถูกลงโทษกักบริเวณ (ในบ้านตนเอง)

ยุคเกิดใหม่ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะศิลปะ แต่รวมการบัญชี การเงิน การทำงานศิลปะมีผลตอบแทน ทำให้บรรดาศิลปินมีรายได้ มีแรงจูงใจในการผลิตงานศิลปะ  อย่างเลโอนาร์โด ดาวินชี ซึ่งเขียนภาพไว้เพียง 15 ภาพและเหลือไว้ไม่กี่ภาพที่โด่งดังที่สุด เขาเขียนภาพเพราะต้องการเงินเพื่อไปทำการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นงานที่เขาชื่นชอบมากกว่า

ยุคนี้มีการคิดประดิษฐสิ่งใหม่ ๆ มากมายอย่างไม่เคยมีมาก่อน เครื่องจักร กลไก กายวิภาคที่ไปถึงจุดสูงสุด มีการผลิตนาฬิกาพก ซึ่งไม่เคยมีการทำนาฬิกา เพราะเวลาเป็นของพระเจ้า คนไม่มีสิทธิ์ไป “สร้าง” เครื่องมือวัดเวลา แต่ยุคนี้เริ่มมีการผลิต การจ้างงาน ระบบเศรษฐกิจเริ่มเดิน จึงมีการคิดค่าแรงตามเวลาทำงาน

# ปฏิวติการพิมพ์

ปี 1450 Johannes Gutenberg ประดิษฐ์เครื่องพิมพ์ รุ่งอรุณของสื่อสารมวลชน กระจายข้อมูลข่าวสารความรู้ไปทั่วอย่างรวดเร็ว คนอ่านออกเขียนได้มากขึ้น เข้าถึงพระคัมภีร์และงานเขียนต่าง ๆ ทำให้คนเข้าใกล้พระเจ้ามากขึ้น นี่คือสิ่งที่ทำให้เกิดการปฏิรูปศาสนา

ไม่ใช่แต่หนังสือเท่านั้น ที่สำคัญคือการพิมพ์แผ่นพับ แผ่นปลิว หนังสือเล็ก ๆ ที่พิมพ์ได้เร็ว ได้มาก และกระจายได้ไกล (เหมือนโซเชียลมีเดียวันนี้) มี 3 เรื่องที่กระจายกันมากที่สุด คือ เรื่องพิศวงสิ่งอัศจรรย์ เรื่องคำสอนทางศาสนา เรื่องการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองการทหาร และเริ่มมีการ์ตูน ภาพวาดต่าง ๆ ลงไปด้วย สำหรับคนที่อ่านไม่ออกก็ดูภาพได้ สื่อสารทางภาพ

แผ่นปลิวที่กระจายไปทั่วยากต่อการควบคุมของรัฐและศาสนจักร เพราะเพียงไม่กี่วันก็กระจายจากเมืองหนึ่งสู่เมืองหนึ่งได้ ไปทั่วยุโรปภายในเวลาไม่กี่วัน ควบคุมความคิดแบบเดิมไม่ได้อีก นี่คือความคิดอิสระของยุคเกิดใหม่  มีการบันทึกประวัติของศิลปิน คนมีชื่อเสียง อย่างเลโอนาร์โด ดาวินชี ราฟาแอล มิเกลันเจโล ที่จอร์จิโอ วาซารี ที่เป็นศิลปินรอบด้านเป็นผู้บันทึก และพิมพ์เผยแพร่ นั่นคือการสร้าง “เซแล็บ” ตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว ผ่านทางสื่อมวลชน

การพิมพ์ทำให้เกิดการเรียนรู้เร็ว ยุคฟื้นฟูจึงเกิดมาจากการพิมพ์เป็นสำคัญ ก่อนนั้นมีแต่คัดลายมือทีละหน้าโดยบรรดานักพรตในอาราม โดยใช้ภาษาละติน

การพิมพ์ทำให้เกิดการเรียนรู้ การเสวนา ถกเถียงในหมู่คนอย่างกว้างขวาง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ได้ความคิดใหม่ ปัญญาใหม่ สิ่งประดิษฐ์ใหม่

คนยุคนั้นไม่รู้หนังสือ มีแต่ผู้ดีมีตระกูลและนักบวชชายหญิงที่รู้ หนังสือมีค่ามาก แต่ละเรื่องอย่างมากก็มีเพียง 10-15 เล่มเท่านั้น ต้องฆ่าแกะไม่รู้กี่ตัวเพื่อเอาหนังจึงได้หนังสือ 1 เล่ม คนที่ลอกด้วยลายมือเป็นนักพรตนักบวชในอาราม เป็นภาษาละติน หนังสือจึงมีค่ามาก เก็บไว้อย่างดีในบ้านของผู้ดี หรืออารามนักพรต ตามโบสถ์วิหาร

“เสรี พพ”  12 สิงหาคม 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com