“ท่าพระ” เมืองนี้ที่อยากให้ไปเยือน

“ท่าพระ” เมืองนี้ที่อยากให้ไปเยือน

ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น แม้จะเป็นเพียงตำบลเล็ก ๆ ที่เป็นทางผ่านไปสู่มหานครขอนแก่นหัวเมืองหลักของอีสาน แต่เมืองแห่งนี้มีเรื่องเล่ามากมายพร้อมทั้งเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมาที่ไม่ธรรมดา ส่งผลให้คนในเมืองนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง เพราะเคยเป็นชุมทางแห่งเศรษฐกิจอีสานมาก่อน

ความเจริญของเมืองเล็ก ๆ อย่างท่าพระเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๔-๒๔๖๘ ที่มีทางรถไฟเข้ามาในพื้นที่ จากเดิมที่เป็นเพียงเมืองเกษตรที่ใช้การสัญจรทางน้ำ และทางรถบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เมืองแห่งนี้เจริญรุ่งเรืองอย่างที่ควรจะเป็นจนกระทั่งรถไฟมาถึง

การเข้ามาของทางรถไฟ ที่ก่อสร้างเชื่อมต่อมาจากอำเภอบ้านไผ่ ทำให้มีคนต่างถิ่นเข้ามามากมาย พวกแรกคือกรรมกรชาวจีนที่เข้ามาเป็นแรงงานสร้างทางรถไฟ พร้อมกับเป็นจับกังแบกหามสินค้าขึ้นลงรถไฟ จนกระทั่งชาวจีนเหล่านี้ได้เข้ามาตั้งรกราก และเห็นลู่ทางการค้า รับซื้อสินค้าเกษตรเพื่อส่งไปขายต่อยังเมืองกรุง จากรายเล็ก ๆ ก็เป็นรายใหญ่ จากรายเดียวก็เพิ่มเป็นหลายราย บางคนมาจากเมืองจีนแบบเสื่อผืนหมอนใบ แต่พอค้าขายทำธุรกิจมั่งคั่งก็กลายเป็น “เจ้าสัวคหบดี” ของเมืองนี้ ทำให้ถนนเจริญพาณิชย์ ย่านสถานีรถไฟกลายเป็นย่านเศรษฐกิจการค้า ในขณะที่คนในพื้นที่เดิม ซึ่งเป็นคนอีสานที่อพยพมาจากลาวมาตั้งรกรากที่นี่ ไม่นิยมค้าขายแต่นิยมจับจองที่ไร่ที่นาเพื่อทำเกษตร ก็ได้แค่เฝ้ามองการทำธุรกิจของชาวจีนแบบห่าง ๆ

ถนนเจริญพาณิชย์ คือถนนสายหลักของเมืองท่าพระในสมัยนั้น เพราะอยู่หน้าสถานีรถไฟ ใครมาขึ้นลงรถไฟก็จะต้องมาจับจ่ายซื้อสินค้าที่ร้านค้าในถนนเส้นนี้  ร้านค้าสร้างด้วยไม้แบบสองชั้น สินค้าที่ขายล้วนเป็นสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นแทบทั้งสิ้น คนจีนขายคนไทยซื้อ รวมถึงอาหารการกินต่าง ๆ ก็ถูกพัฒนาและเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับรถไฟด้วยเช่นกัน ๓ ปีที่รถไฟจากเมืองกรุงมาหยุดนิ่งที่ตำบลเล็ก ๆ แห่งนี้ ก่อนที่ทางการรถไฟจะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำชี และเอาเจ้างูเหล็กข้ามเข้าสู่เมืองขอนแก่นไปได้ ทำให้เมืองเล็ก  ๆ ที่มีชื่อแปลก ๆ ว่า “ท่าพระ” หรือภาษาอีสานมาจากคำว่า “ถ่าพระ” คือ รอพระ เจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด

เจ้าสัวท่าพระอย่าง  พิเชษฐ อนุตรอังกูร พ่อค้าเมืองท่าพระที่เกิดและเติบโตที่นี่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๔ เล่าว่า พ่อแม่เปิดร้านขายของชำและขายยาที่ถนนเจริญพาณิชย์หรือชาวบ้านเรียกตลาดรถไฟ สมัยก่อนขายสินค้าได้ดีมาก หากคิดเป็นค่าเงินเหมือนทุกวันนี้ตกวันละ ๓ – ๔ หมื่นบาท เพราะชาวบ้าน ทั้งจากตำบลท่าพระและใกล้เคียง รวมถึงพื้นที่จังหวัดที่อยู่แวดล้อมทั้งมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ก็จะต้องมาซื้อสินค้าที่นี่ เพราะสินค้าดี ๆ ของดี ๆ มาพร้อมกับรถไฟ แถมเป็นตลาดขายส่ง ตลาดรับซื้อสินค้าเกษตรที่ฮอตฮิตในสมัยก่อน ทั้ง ปอ นุ่น หนังสัตว์ ข้าวเปลือก ก็ต้องมาซื้อขายและขึ้นรถไฟไปเมืองกรุงที่นี่เช่นกัน

พอมีความเจริญเข้ามา การค้าขายดีขึ้น สิ่งบันเทิงก็ตามมามากมาย ทั้ง โรงงิ้ว โรงเจ เพราะชาวบ้านที่ท่าพระมีทั้งคนไทย และคนไทยเชื้อสายจีน โรงหนัง โรงสี โรงปอ โรงมัน ก็เกิดขึ้น

ความเจริญเมื่อเกือบร้อยปีก่อนนี่เอง กลายเป็นภาพจำที่ทำให้คนที่เคยสัมผัสและอยู่ในยุครุ่งเรืองอยากบอกเล่าให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ พร้อมทั้งการซบเซาเหมือนตายไปแล้วของตลาดรถไฟ หรือย่านถนนเจริญพาณิชย์ ทำให้เจ้าของบ้านไม้ริมถนนเส้นนี้กว่า 30 หลังคาเรือน อยากจะชุบชีวิตถนนเส้นนี้อีกครั้ง รวมถึงการเจริญแบบก้าวกระโดดของเมืองขอนแก่นเมื่อช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อโมเดิร์นเทรด ห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ เข้ามาครองเมือง โชว์ห่วยรายเล็กรายน้อยก็ต้องล้มตายไป แรงผลักนี้ทำให้หลายคนอยากจะทำให้เมืองท่าพระกลับมารุ่งเรืองเหมือนเดิม จนกระทั่งเป็นที่มาของ “ตลาดท่าพระร้อยปี” และจากการที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องการขยายพื้นที่ทางรถไฟเพื่อรองรับรถไฟทางคู่ ทำให้ต้องรื้ออาคารสถานีรถไฟเก่าที่สร้างด้วยไม้อายุเกือบ 100 ปีที่เป็นเสมือนสมบัติของคนในพื้นที่ทิ้งไป จึงเกิดแนวคิด “ขออาคารสถานีรถไฟท่าพระ” มาเก็บไว้เป็นความทรงจำของชุมชน

ประกอบกับโครงการ “ปลุกใจเมือง” หรือ Spark U ซึ่งดำเนินการโดยเครือข่ายสื่อศิลปวัฒนธรรมชุมชนอีสาน แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้เข้ามาหนุนเสริมในการจัดกระบวนการชุมชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเมืองท่าพระ เพื่อคนท่าพระ โดยคนท่าพระ ก็ได้มาพบกันพอดี


 “รวมของดีท่าพระ” ผลงาน ครูเบิ้ม – ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์






ท่าพระเจริญเพราะรถไฟ

โครงการปลุกใจเมืองที่เข้ามา ได้ร่วมมือกันกับหลายภาคส่วน มีเทศบาลตำบลท่าพระเป็นหัวเรือใหญ่และเป็นผู้ประสานงานสำคัญ โดยได้ประสานเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม เพื่อให้มาช่วยกัน และร่วมผลักดันให้เกิดสิ่งที่ได้ “หวังใจ” เอาไว้ตั้งแต่ต้น

กระบวนการชุมชนเริ่มต้นขึ้น จากหลายภาคส่วนมานั่งคุยกัน เพื่อให้มีกระบวนการดำเนินงานไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เริ่มจากขั้นตอนแรกคือการ ปักใจรุก เริ่มต้นจากการเชิญชาวท่าพระมาหารือ เพื่อทำประชาคม สอบถามความคิดเห็นว่า “หากอยากจะพัฒนาเมืองท่าพระ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ อยู่อย่างมีความสุข และทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน ชาวชุมชนต้องการทำอะไร

คำตอบจากการเชิญทุกภาคส่วนมาหารือที่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันคือ “การปลุกชีวิตให้ถนนเศรษฐกิจของเมืองนั่นคือถนนเจริญพาณิชย์” และยิ่งเห็นภาพการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างริมทางรถไฟ รวมถึงการเวนคืนพื้นที่ที่ชาวชุมชนเคยใช้ร่วมกัน ทั้งสนามบาสเกตบอล อาคารอเนกประสงค์ ลานเต้นแอโรบิค และกำลังจะรื้ออาคารสถานีรถไฟ ทำให้ชาวชุมชนทนไม่ไหวและอยากจะขออาคารสถานีรถไฟเก่าเป็นของชาวชุมชน

เมื่อทุกคนมีเป้าหมายร่วมกันแล้ว เทศบาลได้เริ่มกระบวนการในการทำงาน โดยอาศัยพลังจากเครือข่าย ทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ครูในโรงเรียนในพื้นที่ 4 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนชุมชนท่าพระ โรงเรียนเทศบาลท่าพระ และวิทยาลัยเทคนิคนครขอนแก่น เริ่มจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อปลุกพลังให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของความทรงจำในอดีต

ปลุกใจรัก กระบวนการนี้ เริ่มต้นด้วยการใช้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ที่อยู่ในพื้นที่ แต่ไม่เคยเห็นภาพความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีต ได้เข้าไปเรียนรู้ รับรู้ ด้วยการสอบถาม สัมภาษณ์คนเก่าแก่ ครูภูมิปัญญา ที่เคยอยู่ร่วมสมัยรุ่งเรืองแต่เก่าก่อน โดยเน้นประเด็นการพูดคุยไปที่ ๓ เรื่องใหญ่คือ ๑) พื้นที่ดี เรื่องราวประวัติความเป็นมา ความเจริญรุ่งเรืองของท่าพระในอดีต ๒) ภูมิดี เรื่องราวภูมิปัญญา ภูมิคุ้มกันของชาวท่าพระที่ส่งต่อสืบทอดจากคนรุ่นหลังมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน และ ๓) สื่อดี ให้เด็กและเยาวชนที่ไปสืบค้น นำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านสื่อดีที่พวกเขาจะต้องผลิตเอง เพื่อสร้างความเข้าใจ ประกอบด้วยสื่อวิดีทัศน์ หนังสั้น คลิปวีดีโอ การบอกเล่าด้วยการเป็นมัคคุเทศก์น้อย การขับร้องสรภัญญะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวท่าพระ การประกวดถ่ายภาพ การประกวดวาดภาพ จนเกิดการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ผ่านสื่อดีเหล่านี้


 เจ้าสัวท่าพระ พิเชษฐ อนุตรอังกูร

สร้างพื้นที่ส่วนกลางเพื่อเกิดพื้นที่สร้างสรรค์

พื้นที่ส่วนกลาง หรือพื้นที่สร้างสรรค์ คือ ผลผลิตสุดท้ายที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ พื้นที่สร้างสรรค์ของชาวชุมชน เกิดผลออกมา ๒ ด้านตามที่ได้ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกคือ ตลาดท่าพระร้อยปี และศูนย์เรียนรู้ของชุมชน

ก่อนจะมาเป็นตลาดท่าพระร้อยปี  ดังที่ชาวชุมชนได้วาดภาพฝันเอาไว้นั้น เริ่มต้นจากการเชิญนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาดูพื้นที่ เพื่อวิเคราะห์คุณค่าด้านสถาปัตยกรรม ประโยชน์ใช้สอยของบ้าน รูปทรง การพัฒนา บูรณะซ่อมแซมเพื่อสืบต่ออายุ รวมถึงการทำเอ็มโอยูกับเจ้าของบ้านที่ทางเทศบาลได้ดำเนินการเพื่อไม่ให้มีการรื้อถอนหรือเปลี่ยนรูปทรงบ้านเก่า

จากนั้นเมื่อทุกคนตกลงใจจะทำตลาดถนนคนเดินขึ้นมาอีกแห่งที่ถนนเจริญพาณิชย์ในชื่อ “ตลาดท่าพระร้อยปี” ทางเทศบาลได้จัดประชุมประชาคมเพื่อสอบถามเจ้าของบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ว่าต้องการจำหน่ายสินค้าอะไรไหม หากไม่ต้องการจำหน่ายก็จะเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้าที่สนใจมาขายสินค้า เพื่อให้เกิดความคึกคัก โดยไม่ได้เก็บเงินค่าเช่าพื้นที่แต่อย่างใด

เมื่อมีตลาดที่กำหนดเปิดทุกเย็นวันพุธ หากจะจำหน่ายสินค้าเพียงอย่างเดียวก็ยังไม่พอที่จะไม่ได้ทำให้ตลาดแห่งนี้มีเสน่ห์ หรือมีความแตกต่างจากตลาดอื่นแต่อย่างใด จึงได้มีประสานอาจารย์และนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาวาดภาพบนกำแพงบ้านที่อยู่ในตลาดแห่งนี้ โดยภาพที่วาดเน้นภาพวิถีชีวิตในอดีตของชาวชุมชน มีรถไฟ มีไก่ย่าง มีร้านตัดผม มีสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนทั้ง หมีใหญ่ พระใหญ่ สถานีรถไฟ เพื่อให้เป็น “อัตลักษณ์” ของตลาดที่แตกต่างจากที่อื่น พร้อมทำจุดเช็คอิน จุดเซลฟี่ ให้เข้ากับสังคมยุค ๔.๐

นอกจากนั้นยังมีเวทีเพื่อให้เด็กเยาวชน ชาวชุมชนได้มาแสดงความสามารถ ทั้งการฟ้อนรำ การร้องสรภัญญะ การแสดงหมอลำ การรำวงย้อนยุค รวมถึงการร้องเพลงเปิดหมวก และกิจกรรมการแสดงอื่น ๆ ที่พร้อมจะเป็นเวทีกลางให้ทุกคนได้แสดงความสามารถ

การเปิดตลาดไปเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๐ จนถึงปัจจุบัน ตลาดท่าพระได้กลายเป็นตลาดแห่งใหม่ของเมืองขอนแก่นที่หลายคนอยากมาเยือน รวมถึงศักยภาพและความเข้มแข็งนี้เองที่ทำให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ได้เสนอให้ตลาดท่าพระร้อยปีเป็นหนึ่งในตลาดประชารัฐและได้รับรางวัลระดับประเทศ

ความต้องการเอาสถานีรถไฟมาเป็นของชุมชน เริ่มจุดประกายจากชาวชุมชนท่าพระ ที่ส่งแรงกระเพื่อมไปยังพื้นที่อื่น ๆ จนเกิดการทำหนังสือถึง การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อขออาคารสถานีรถไฟมาเป็นของชาวชุมชน แต่หากจะเคลื่อนย้ายอาคารออกไปต้องอาศัยเงินจำนวนหนึ่งเป็นค่าขนย้าย เทศบาลจะนำเอาเงินของรัฐมาใช้ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงเกิดการ “ระดมทุน” ด้วยรูปแบบผ้าป่าที่ชาวชุมชนร่วมมือร่วมใจกัน จนได้เงินเกือบ 100,000 บาท เพื่อใช้ในการเคลื่อนย้ายสถานีรถไฟท่าพระไปเป็นของชาวชุมชน และนำไปตั้งไว้ในพื้นที่ของเทศบาล เพื่อจัดเป็นศูนย์เรียนรู้และมีชีวิตอีกครั้ง โดยเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา และกลายเป็นศูนย์กลางการจัดการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนและคนในชุมชน ในการถ่ายทอดภูมิปัญญาด้านอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นการทอเสื่อ การทำพานบายศรี การสอนทำน้ำสมุนไพร และอื่น ๆ โดยมีเด็ก ๆ มาเรียนรู้ผ่านโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ในทุกวันพุธ ซึ่งเป็นวันเปิดตลาด ทำให้พื้นที่กลับมาคึกคักและถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง

พร้อมกันนั้นในอาคารสถานีรถไฟเก่าแห่งนี้ยังได้จัดแสดงประวัติ ความเป็นมาของชาวท่าพระ พร้อมทั้งสถานที่สำคัญ และของดีของชาวท่าพระ เพื่อให้คนที่อยากเรียนรู้เรื่องราวของเมืองท่าพระได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

และจากการสืบค้นเรื่องราวของเมืองท่าพระใน 3 ด้านคือ พื้นที่ดี ภูมิดี และสื่อดีนี่เอง ทำให้คนท่าพระได้รู้จักของดีของชุมชนตัวเอง ทั้งรู้จัก…   

โรงหนัง ท่าพระเมืองเล็ก ๆ แต่กลับมีโรงหนังเป็นของตนเอง โดยมีชื่อว่า “เพชรรามา” โรงหนังเพชรรามา เปิดให้คนเมืองท่าพระเข้าชมอยู่เกือบ ๕๐ ปี ก่อนจะปิดตัวไปเมื่อราวปี ๒๕๔๐ ที่ผ่านมา หลังจากโรงหนังย้ายไปอยู่ในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ และคนรุ่นใหม่ชอบความหรูหราสะดวกสบายทำให้โรงหนังปิดตัวไปในที่สุด

พันนา ฤทธิไกร นักแสดงและผู้กำกับคิวบู๊ชื่อดังของเมืองไทย ที่เกิดและโตที่ชุมชนท่าพระแห่งนี้ พร้อมทั้งถ่ายทำภาพยนตร์ที่ตำบลท่าพระกว่า ๓๐ เรื่อง โดยใช้ฉากในภาพยนตร์เป็นเมืองท่าพระแทบทั้งหมด

ชมรมสตั้นท์แมน ที่เกิดจากการต่อยอดในการปลุกปั้นของ พันนา ฤทธิไกร เพื่อฝึกนักแสดงคิวบู๊ป้อนวงการภาพยนตร์ และเมื่อพันนา เสียชีวิตไปแล้ว ชมรมสตั้นท์แมนยังอยู่และฝึกสอนเด็กเยาวชนที่สนใจเข้าสู่ตลาดภาพยนตร์จนถึงทุกวันนี้

ปราชญ์ชุมชนที่เป็นนักสะสมใบปิดหนัง คือ อาจารย์เจริญ สาดา ที่มีใบปิดหนังตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน โดยอาจารย์เจริญ สาดา เป็นหนึ่งในทีมงานทำภาพยนตร์ร่วมกับ พันนา ฤทธิไกร จึงทำให้รักในภาพยนตร์ และปัจจุบันได้เปิดบ้านตัวเองเป็น พิพิธภัณฑ์ชุมชน เพื่อให้คนไปเรียนรู้

 ไก่ย่างท่าพระ จากการสืบค้นประวัติ พบว่าไก่ย่างท่าพระคือไก่ย่างที่มีชื่อเสียงโด่งดังในอดีต ก่อนหน้านี้ย่างขายที่หน้าสถานีรถไฟ และเป็นสินค้าของฝากที่ใครมาท่าพระต้องซื้อ แต่พอมีถนนมิตรภาพ ทำให้ความรุ่งเรืองไปอยู่บริเวณถนนมิตรภาพแทน ร้านไก่ย่างที่หน้าสถานีรถไฟได้ขยายออกมาสู่ถนนและเปิดเป็นร้านชื่อ “ไก่ย่างท่าพระ” เอาไว้คอยบริการประชาชน แต่แม้จะเป็นของดี แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะไม่ได้ทำการตลาดและคนรู้จักน้อย

แก่งฟ้า แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในอดีต ที่คนรุ่นหลังไม่รู้จัก  แก่งฟ้าคือ พลาญหินที่แม่น้ำชีไหลผ่าน และมีโขดหินน้อยใหญ่เรียงซ้อนกันอยู่ในกลางลำน้ำชี หน้าแล้งในสมัยก่อนน้ำชีลดปริมาณลงจะเห็นโขดหินกลางน้ำ ผู้คนในพื้นที่นิยมไปเล่นน้ำและพักผ่อน จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ แต่ปัจจุบันมีการทำฝายกั้นน้ำตอนบนทำให้แก่งฟ้าหายไปเหลือแต่ความทรงจำ

ถึงวันนี้ ความสำเร็จของตลาดท่าพระร้อยปี และการทวงสถานีรถไฟของชาวท่าพระ คือนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจ และเกิดจากพลังของเครือข่ายที่ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันดำเนินการจนสำเร็จได้ตามแผนที่วางเอาไว้

อนาคตแผนงานที่ทางเทศบาลได้ตั้งเป้าเพื่อสืบต่อลมหายใจของตลาดท่าพระให้รุ่งเรืองต่อไปอีกนั่นคือ การเปิดพื้นที่แห่งความรู้ด้วยการเช่าอาคารบ้านไม้ในตลาดท่าพระ เพื่อจัดแสดงข้อมูลประวัติความเป็นมาของท่าพระ ของดี และเรื่องราวดี ๆ ของท่าพระให้คนที่มาเยือนตลาดได้รู้จัก ไม่ใช่แค่มาซื้อของ ดูการแสดง แล้วกลับบ้านไป

รวมถึงจะนำเอาผลิตภัณฑ์ชุมชน สินค้าของชุมชน มาจัดจำหน่ายได้ตลอดทั้งวันเพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับชาวชุมชนด้วย

และนี่คือคำตอบของพลังเครือข่ายที่เกิดขึ้นได้เพราะการ “ปลุกใจเมือง” ปลุกใจคนในชุมชนให้หันมาเห็นคุณค่าของตนเอง บ้านตนเอง เมืองตนเอง และร่วมกันพัฒนาต่อไป เพื่อให้ชื่อท่าพระยังคงอยู่อีกหลายร้อยปี




ตลาดท่าพระร้อยปี




อาคารสถานีรถไฟที่เอามาใช้เป็นศูนย์เรียนรู้


“เพชรรามา” โรงหนังในเมืองท่าพระ


พันนา ฤทธิไกร นักแสดงและผู้กำกับคิวบู๊




ชมรมสตั้นท์แมน


อาจารย์เจริญ สาดา


อาจารย์เจริญ สาดา


แก่งฟ้า

Related Posts

เที่ยวจิม ทอมป์สัน ฟาร์ม
งาน “สายธารวัฒนธรรมเพื่อชีวิต ลิขิตผ่านกาลเวลา ฯ” ทัวร์วัฒนธรรมอีศาน – เที่ยงวันที่ 30 ถึงงานคอนเสิร์ต
ฟอสซิลปลาโบราณ “ภูน้ำจั้น” บ้านดงเหนือ ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com