กระบือ
กรุณาอย่าเพิ่งสบถ กระบือ ๆ แปลว่าควาย ใคร ๆ ก็รู้
ในที่นี้มุ่งหมายจะบอกอนุชนรุ่นหลัง หรือแม้ฅนรุ่นเก่ายังไม่รู้ จะได้รู้มากกว่าคำแปลว่าควาย! นะครับ
สัตว์เท้ากีบชนิดนี้เสมือนธรรมชาติกำนัลให้แก่ฅน และเป็นภูมินามนิยมจัดตั้ง เช่น ตำบลสามกระบือเผือก (อ.เมืองนครปฐม) แขวงบางกระบือ (กรุงเทพฯ) ตำบลบางกระบือ (อ.สามโคก จ.ปทุมธานี) ตำบลบางกระบือ (อ.เมือง จ.สิงห์บุรี) ฯลฯ
ศัพท์สัตวศาสตร์เรียก Bosbubalis สัตว์ป่ากลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงของฅนเมื่อประมาณ ๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาล พบทั้งในอินเดีย พม่า ไทย ตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกากลาง
จำแนกอย่างกว้าง ๒ ประเภท คือ ควายปลัก (Swamp buffalo) กับ ควายแม่น้ำ (river buffalo)
กระบือ จัดเป็นตัวอย่างศัพท์ร่วมในโซนเอเชียอาคเนย์ กล่าวคือพบในภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก และตระกูลออสโตรเนเชียน
ภาษาตากาล็อกในฟิลิปปินส์ กับ มลายู ภาคใต้ของไทย มีต้นเสียงเกือบพ้องกับภาษาเขมร ดังนี้
การาบาว (ฟิลิปปินส์) > เกอรฺเบา (มลายูภาคใต้ของไทย) > การะบือ > กรอเบ็ย > กระบือ
ในอดีตพบควายป่ามากในเขตตำบลคลองควาย (ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา) ตรงข้ามตำบลบางกระบือ เชื่อมโยงกับประวัติการส่งเสริมทำนาข้าว โดยพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบุกเบิกทุ่งรังสิตวางระบบชลประทาน ช่วงนั้นสัตว์ป่ารวมทั้งฝูงควายป่าเตลิดหนีไปถึงที่ราบสูงโคราช
ยุคถัดมา นายฮ้อยจากภาคอีสานรวบรวมต้อนฝูงควายมาขายให้ชาวนาภาคกลาง โดยเฉพาะตลาดควายของกรุงเทพมหานคร สมัยนั้นต้อนฝูงควายมาทางทิศตะวันตกของถนนพหลโยธิน (ถนนปฏิพัทธ์ปัจจุบัน) ตัดเชื่อมคลองบางซื่อ (ขวางแยกถนนปฏิพัทธ์ กับพหลโยธินในปัจจุบัน) จึงสร้างสะพานให้ควายข้ามคูส่งน้ำ
จาก “สะพานควาย” ตรงมายังตลาดควาย “บางกระบือ” ริมแม่น้ำเจ้าพระยานั่นเอง.