การศึกษา “ประวัติศาสตร์ไทย” จาก “ข้อมูลลายลักษณ์” สู่ “เวทีการแสดง” ของนักศึกษาวิชาชีพครู

ผู้เขียนเป็นอาจารย์คณะครุศาสตร์ ได้พยายามปรับปรุงวิธีสอนให้เข้ากับยุคไทยแลนด์ ๔.๐ โดยเน้นการเรียนการสอนแนวใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาวิชาชีพครู ซึ่งจะต้องเน้นองค์ความรู้ควบคู่ไปกับการพัฒนาวิธีการสอนแบบใหม่ ๆ ด้วย เป็นการนำแนวคิด วิธีการ กระบวนการหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้ ในการแก้ปัญหา หรือพัฒนาการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพตรงตามเป้าหมายของหลักสูตร ซึ่งจะช่วยให้การศึกษาและการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียนด้วยนวัตกรรมเหล่านั้น และประหยัดเวลาในการเรียนได้อีกด้วย

กิจกรรมการเรียนควรมีความหมายและน่าสนใจให้กับนักศึกษา ทั้งนี้อาจรวมถึงนักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาด้วย พวกเขาควรได้รับอนุญาตในการสร้างพัฒนาและประยุกต์ใช้ความรู้หรือทักษะเพิ่มเติม พวกเขาควรจะมีทางเลือกและได้รับโอกาสที่จะเป็นนักวางแผนและผู้มีอำนาจตัดสินใจ กิจกรรมควรช่วยให้เด็กใช้ประโยชน์จากความรู้ในสถานการณ์ใหม่ เด็กควรได้รับการสนับสนุนในการหาคำตอบสำหรับคำถามของตัวเองโดยใช้การวิเคราะห์ หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมให้นักศึกษาแสดงละครนาฏราช หรือละครประวัติศาสตร์เพื่อเป็นการฝึกความกล้าแสดงออก และส่งเสริมคุณสมบัติของความเป็นครูที่ดีในยุคไทยแลนด์ ๔.๐ ในศตวรรษที่ ๒๑ นี้ ตลอดจนสอดคล้องกับนโยบายของ สกอ. และกอ. รมน. ในเรื่องการน้อมสำนึกในบุญคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย

ตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๙ ในรายวิชา “ประวัติศาสตร์ไทย” ซึ่งจัดการเรียนการสอนโดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ  เป็นการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยสมัยโบราณจนถึงยุคปัจจุบัน โดยใช้กระบวนการละครเป็นสื่อบูรณาการการเรียนรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับนักศึกษาสาขาวิชาการประถมศึกษาและสาขาวิชาสังคมศึกษา โดยจากการเรียนการสอนในคาบเรียน และนักศึกษาศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาและวิเคราะห์ หาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วเขียนเป็นบทละครเพื่อจัดแสดงต่อไป

อีกทั้งนักศึกษาคณะครุศาสตร์ ยังมีประสบการณ์การแสดงในรายวิชาต่าง ๆ เช่น    รายวิชา “วิถีไทย” รวมถึงรายวิชาทางการศึกษาและวิชาชีพครูอื่น ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นครู รวมถึงการเข้าค่ายในช่วงปิดภาคเรียน  ที่เปิดโลกการเรียนรู้พานักศึกษาไปรู้จักละครเวทีในทุกแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นงานของผู้กำกับ ผู้อำนวยการสร้าง งานฝ่ายฉากและเวที งานกำกับศิลป์ การเขียนบท การจัดเสื้อผ้า เทคนิคการแสดง และการจัดแสง สี เสียง

การทำงานละครในครั้งนี้ อาจารย์เปิดโอกาสให้นักศึกษาเป็นเจ้าของงานอย่างแท้จริง     โดยนำองค์ความรู้ที่ได้จากการเรียนการสอน รวมถึงค่ายละครมาใช้ทำงานจริง ขณะที่อาจารย์ผู้สอนถอยออกมาเป็นที่ปรึกษาที่พร้อมให้คำแนะนำและช่วยเหลือเมื่อนักศึกษาต้องการ เด็ก ๆ จึงได้เรียนรู้กระบวนการทำงานละครในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเขียนบทละครอิงประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหากินใจโดยเป็นละครที่สร้างขึ้นใหม่หรืออิงจากบทประพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องให้เกียรติผู้ประพันธ์ด้วย  การแบ่งบทบาทการทำงานและการแสดง การออกแบบและจัดหาเสื้อผ้านักแสดง การทำฉาก และการจัดแสง สี เสียง การยืมอุปกรณ์จากสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย พร้อมกันนั้นก็ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน การเผชิญปัญหาและหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วย

ใครที่ได้มาชมละครในรายวิชาประวัติศาสตร์ทั้ง ๕ เรื่อง ในแต่ละเทอม คงรู้สึกไม่ต่างกันว่าเด็ก ๆ เติบโตขึ้นจากการทำงานละครในครั้งนี้ พวกเขามองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ทำ สามารถเชื่อมโยงเนื้อหามาสู่ตัวเอง และเชื่อมโยงตัวเองไปสู่ผู้อื่นหรือผู้ชมได้ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงที่สมจริงในฉากสนทนาที่บอกเล่าเนื้อหาสำคัญในประวัติศาสตร์  ฉากสู้รบ และฉากตลกที่เรียกเสียงหัวเราะจากคนดู เสื้อผ้าที่ดัดแปลงจากของที่มีอยู่ การทำฉากง่าย ๆ แต่ช่วยสร้างความสมจริงให้กับเรื่องราว เทคนิคการจัดแสง สี เสียง ที่ได้รุ่นพี่มาช่วย ทำให้ละครดูมีสีสันและน่าสนใจ ตลอดจนการร่วมแรงร่วมใจกันของนักศึกษาทุกหมู่เรียน ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาช่วยงานด้วยความเต็มใจ เพราะตระหนักดีว่า นี่ไม่ใช่งานของใครคนใดคนหนึ่งหรือห้องใดห้องหนึ่ง แต่งานละครนั้นคือหนึ่งเดียว ที่ทุกคนจะต้องพร้อมใจทำและทำไปด้วยกัน


โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ละครประวัติศาสตร์ของนักศึกษาวิชาการประถมศึกษาและสังคมศึกษา

กิจกรรมการแสดงละคร เพื่อเป็นสื่อการสอนวิชาประวัติศาสตร์ และการแสดงละคร บูรณาการในรายวิชา ล้วนเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับการพัฒนาในทุก ๆ ด้านตามจุดมุ่งหมาย  เช่น การแสดงละครประวัติศาสตร์  มุ่งให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกรักษ์บ้านเกิด มีความหวงแหนศิลปวัฒนธรรมไทย ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

นอกเหนือไปจากการเรียนรู้ ความเพลิดเพลินจากการได้เป็นผู้แสดงและผู้ชม ผู้เขียนอดที่จะคิดฝันไปไม่ได้ว่า…เวทีเล็ก ๆ ที่นักศึกษาได้ดำเนินการจัดทำมาโดยตลอดนี้  อาจนำพาให้นักศึกษาเป็นดังต้นกล้า “คนละคร” ที่พร้อมจะได้รับการพัฒนาให้ก้าวสู่เวทีใหญ่ระดับชาติได้ในสักวัน… ด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่า…คนทำงานละครคือคนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของคน…บนโรงละครโรงใหญ่ (โลกนี้…คือละคร)

หากทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีความรู้ และจัดประสบการณ์ ให้เยาวชนมีพื้นฐานความเข้าใจ มองเห็นคุณค่าของสื่อการแสดง และสามารถผลิตการแสดงทุกประเภทได้อย่างสร้างสรรค์  ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยเหลือดูแลสังคมให้เข้มแข็งได้ในยุคต่อไปได้

ขอบพระคุณคณาจารย์ ผู้ที่ให้ข้อมูลและคำแนะนำ

ดร.คนึงชัย วิริยะสุนทร คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

ดร.ชนมน สุขวงศ์ คณะครุศาสตร์  มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

นายธีรวัฒน์ กันยาสาย นักศึกษาสาขาวิชาการประถมศึกษา ชั้นปีที่ ๓ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

นายนัฐพล ไชยมี นักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ ๓ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

นายอรุณชัย พันทา นักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ ๒ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

ลูกศิษย์สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

ลูกศิษย์สาขาวิชาการประถมศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

นักศึกษาขณะกำลังแสดงบทบาทสมมติ


ผู้เขียนและนักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา เข้าร่วมชมนิทรรศการและละครประวัติศาสตร์ไทย และละครรายวิชาวิถีไทย

************

“กระแสของละครบุพเพสันนิวาสรวมถึงเรื่องอื่น ๆ นำไปสู่ความสนใจประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี ทำให้ทางผู้จัดละครต้องมีความรับผิดชอบต่อการถ่ายทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไปด้วยโดยปริยาย ขณะเดียวกัน ทางหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็น่าจะได้ถือโอกาสนี้ในการเสริมแรงและให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ อันเป็นผลมาจากระแสละครอีกทางหนึ่งด้วย”

นายอรุณชัย พันทา นักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษาชั้นปีที่ ๒ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

“การดูละครเชิงประวัติศาสตร์ให้สนุกขึ้น คือการดูแล้วคิดตาม ค้นคว้าเรื่องราวที่สนใจต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์นั้น มีความน่าสนใจต่าง ๆ อีกมากมาย และในฐานะผู้สนใจประวัติศาสตร์รู้สึกยินดีที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น บุพเพสันนิวาส มะเมี๊ยะ ลูกทาส พิษสวาท หนึ่งด้าวฟ้าเดียว และทวิภพ จึงเป็นตัวอย่างละครสร้างสรรค์ที่รู้จักนำประวัติศาสตร์มาประยุกต์กับความบันเทิง เยาวชน นักศึกษา สามารถดูละครแล้วนำไปศึกษาต่อยอดได้อย่างน่าขบคิด”

นายนัฐพล ไชยมี นักศึกษาสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ ๓ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

“กระแสบูมแบบที่ละครบุพเพสันนิวาสกำลังประสบ เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับภาพยนตร์หรือผลงานแนววัฒนธรรมนิยมบางเรื่องในอดีต ยิ่งสังคมมีความตึงเครียดด้านการเมืองเศรษฐกิจ เรื่องรักโรแมนติก อดีตที่สงบสวยงามมันเป็นอะไรที่ Nostalgic คือ โหยหาความยิ่งใหญ่และสุขสมในอดีต  ตอนวิกฤติต้มยำกุ้งปี ๔๐ เราก็มีนางนาค  มีสุริโยไท ที่ดังมากเหมือนกัน”

นายธีรวัฒน์ กันยาสาย นักศึกษาสาขาวิชาการประถมศึกษา ชั้นปีที่ ๓ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com