ส่องเมือง

เสรี พงศ์พิศ

การเขียนหนังสือ

เขียนบทความนี้ด้วยความระลึกถึง สนั่น ชูสกุล กัลยาณมิตรผู้จากไป คนใต้แต่หัวใจอีสาน รักสายลมแสงแดด ไม่ดูถูกคนจน ทํางานช่วยเหลือคนทุกข์ คนยากตั้งแต่เรียนจบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถ้าดูปีที่เขาเรียนที่คณะรัฐศาสตร์ผมน่าจะเคยสอนเขา อย่างน้อยในวิชาอารยธรรมตะวันตกในส่วนที่เกี่ยวกับปรัชญา เป็นวิชาพื้นฐานบังคับ ซึ่งนักศึกษา ๒,๐๐๐ คนจากทุกคณะจะต้องเรียนรวมกัน หลายปีที่รู้จักกัน เราไม่เคยคุยกันเรื่องนี้เขาอาจจําไม่ได้เพราะอาจารย์หลายคนจากหลายคณะมาช่วยกันสอนวิชานี้ หรือเขาอาจจะไม่ได้เข้าห้องเรียนก็เป็นได้ เพราะนักศึกษาที่มีแนวคิดขบถ มีความเป็นตัวเองสูง มักโดดเรียน เอาเวลาไปทํากิจกรรมเสียมากกว่า

สนั่นเป็นคนเขียนหนังสือดีรวมเรื่องสั้น “บริษัทไทยไม่จํากัด” เคยเข้าถึงรอบสุดท้ายเกือบได้รางวัลซีไรต์ เมื่อปี ๒๕๕๑ ได้อ่านเรื่องสั้นของเขาเป็นประจําในมติชนสุดสัปดาห์และที่รวมเล่มต่าง ๆ

คนเขียนเรื่องสั้นได้ดีเป็นคนที่มองเห็นรายละเอียดของชีวิตและนํามาเสนอด้วยภาษาที่ประณีต ไม่ยืดเยื้อเยิ่นเย้อ ไม่ออกนอกเรื่องที่เขาตีวงให้แคบลงเพราะเป็นเรื่องสั้น เหมือนคนมีเวลาแสดงปาฐกถาเพียง ๑๐ นาทีต้องพูดให้คมชัดลึกและกินใจในเวลาอันจํากัด เขาเขียนเรื่องสั้น ไม่ใช่นวนิยาย

สนั่นได้ช่วยเป็นอาจารย์พิเศษให้โครงการมหาวิทยาลัยชีวิตในช่วงที่เราร่วมงานกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ นอกนั้น ยังได้ขอให้เขาเป็นผู้เขียนและเป็นบรรณาธิการหนังสือ “แก้หนี้แก้จน เริ่มต้นชีวิตใหม่ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง” ที่รวบรวมประสบการณ์ของชาวบ้านจํานวนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการชื่อเดียวกันนี้ และประสบความสําเร็จในการแก้ปัญหาหนี้สิน

หนังสือ “๓ ทศวรรษ แนวคิดวัฒนธรรมชุมชน/บำรุง บุญปัญญา” ที่เขาเป็นบรรณาธิการ เขียนขึ้นด้วยศรัทธาต่อคุณบำรุง บุญปัญญา และแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งเขาได้เรียนรู้จากการทำงานและจากคุณบำรุงที่เขายอมรับนับถือเป็น “อาจารยใหญ่” ในด้านการพัฒนา เขาจึงทำงานชิ้นนี้ออกมาด้วยความลุ่มลึก ไม่ใช้เหมือนผู้ชมละครจากข้างล่าง แต่ในฐานะที่ได้กระโดดขึ้นไปร่วมแสดงบนเวทีในละครชีวิตนี้ด้วย

การเป็นบรรณาธิการของ “ดอกติ้วป่า” เป็นงานที่ยากลําบากไม่น้อย เพราะวารสารประเภทนี้ถ้าไม่ทําด้วยใจรักจริงก็อยู่ยาก แต่สนั่นก็ปลุกปั้นมาจนถึงวาระสุดท้าย คล้ายกับการทํา “ทางอีศาน” ที่ถ้าหากไม่มีคนหัวใจเกินร้อยคงอยู่ไม่รอดอย่างแน่นอน

สนั่นพยายามส่งเสริมนักเขียนรุ่นใหม่ เขาเล่าว่าเป็นเรื่องที่ยากมากคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยชอบเขียนหนังสือ เขียนแล้วไม่รู้จะส่งไปลงที่ไหน ส่งไปแล้วเขาไม่พิมพ์ให้ก็ท้อ ไม่เขียนอีก ประเภทใจไม่สู้อยากได้ความสําเร็จเร็ว ๆ แม้จะจัดเวทีนัดพบนักเขียนใหญ่ ๆ อยู่บ่อยครั้ง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ แต่ก็ไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังเท่าใดนัก อาจจะทําได้เพียงให้คนรุ่นใหม่ไปคิดต่อว่า จะเขียนอะไรสั้น ๆ ได้เนื้อใหญ่ใจความลงในบล็อคหรือในสื่อออนไลน์ที่พวกเขาถนัดก็เป็นได้

ทําให้ผมคิดถึงเพื่อนอีกคนหนึ่งที่จากไปแล้วชื่อ พีระพันธุ์ พาลุสุข ที่เรียนร่วมชั้นกันมาตั้งแต่ ม.๑ (สมัยก่อนโน้น ม.๑ เท่ากับ ป.๕ สมัยนี้เพราะชั้นประถมตอนนั้นมีถึง ป.๔) ตอนที่เรียนชั้นมัธยมไหนจําไม่ได้เขาส่งบทความไปประกวดที่นิตยสาร ชัยพฤกษ์ของไทยวัฒนาพาณิชย์คงประมาณปี ๒๕๐๕-๒๕๐๖ กระมังปรากฏว่าได้รางวัลชนะเลิศ ได้รับรางวัลเงินสด ๕๐๐ บาท สําหรับ ๕๐ กว่าปีก่อนถือว่าไม่น้อยทีเดียว

เราโชคดีที่ได้ครูภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ดีมาก ท่านสอนเราให้เขียนเรียงความทุกสัปดาห์ เรียงความดีที่สุดสามอันดับแรกจะได้รับการตีพิมพ์ ใน “วารสาร” ของโรงเรียน ใช้พิมพ์ดีดและโรเนียวง่าย ๆ แต่แค่นั้น ใครที่ได้ลงใน “วารสาร” ก็ดีใจและภูมิใจแล้ว

ครูคนไทยชื่อ สำราญ วงศ์เสงี่ยม สอนเราให้อ่านหนังสือให้มาก จดคำศัพท์ และวลีดี ๆ และเอามาใช้เวลาเขียนเรียงความ ทุกวันนี้ผมยังมีสมุดเล่มโตหลายเล่มจดสํานวน ภาษิต คําคมอะไรดี ๆ ที่อ่านพบในหนังสือหรือบทความต่าง ๆ ส่วนครูภาษาอังกฤษชื่อ “Berthold” และ “Pasek” คนแรกเป็นมิชชันนารีชาวสวิส คนหลังเป็นมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเชื้อสายโปแลนด์ ทั้งสองสอนให้เราอ่านหนังสือนวนิยายต่าง ๆ ที่ถูกทำให้ง่ายลง (simplified) แล้วให้ตอบคำถามท้ายบท แล้วนําไปให้ท่านตรวจ

ท่านจะให้คะแนน เราก็เอาคะแนนรวบรวมไว้ไปแลกของ แลกขนม นับเป็นกุศโลบายที่แยบยลยิ่งนัก เราอ่านหนังสือนวนิยายภาษาอังกฤษเอาเป็นเอาตาย เพราะเด็กนักเรียนประจําบ้านนอกสมัยนั้นไม่ได้มีเงินค่าขนมติดกระเป๋าเลย อ่านหนังสือ เขียนหนังสือแล้วได้ตังค์ ไปซื้อขนมนี้เป็นแรงจูงใจที่คนสมัยนี้ยังเอามาใช้ในการขายของตามห้างต่าง ๆ เลย

“คุณพ่อปาแซค” สอนเราให้เขียนเรียงความโดยบอกว่า เมื่อพวกเธออยากเขียนอะไรสักเรื่องหนึ่ง ความคิดต่าง ๆ จะหลั่งไหลมา ให้จดลงบนกระดาษโดยไม่สนใจว่าจะเป็นคํา เป็นวลีเป็นประโยค ไม่ต้องให้ต่อเนื่องเกี่ยวกันเลยก็ได้ยังไม่ต้องขัดเกลาให้สวยงาม จด ๆ ๆ ลงไปจนความคิดหรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นเริ่มหมดเอามาดูแล้วเริ่มลงมือ “เรียง-ความ” หรือเขียนบทความ

ผมยังใช้วิธีนี้เป็นบางครั้ง และได้ผลดีเพราะได้ความคิดที่เป็น “วัตถุดิบ” ชั้นดีที่จะนํามา “ปรุง” อีกทีเหมือนการทำครัวที่หาทุกอย่างให้พร้อมก่อน ถ้าหากระดาษปากกามานั่งลงเขียนเอาจริงเอาจังเลย พยายามเริ่มต้นอย่างสละสลวย อาจจะฉีกทิ้งนับสิบแผ่นก็ยังเริ่มต้นสวยงามไม่ได้สักทีทําอย่างคุณครูปาแซคสอนคือ “เขียนเล่น ๆ ก่อน แล้วค่อยเอาจริงๆ “ ได้ผลดีกว่า

ครูภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สอนและฝึกเราให้เขียนเรียงความว่า เวลาเขียนจริง ๆ อาจจะใช้เวลาไม่นาน แต่ให้ใช้เวลาขัดเกลาให้ยาวนานกว่าการเขียน ถึงเรียกว่า “ร้อยกรอง” ทิ้งทันทีหลังจากเขียนเสร็จ และปล่อยไว้ระยะหนึ่ง อาจจะคืนหนึ่งวันหนึ่งหรือเท่าไรก็ได้จะได้ข้อเขียนที่ “สุก” กว่าการรีบเขียน รีบจบ รีบส่ง ซึ่งอาจยังไม่สุกดีและอาจจะยัง “ห้าม ๆ” ก็เป็นได้

แต่ก็มีคนเก่งอย่าง นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เล่าให้ผมฟังว่าท่านเขียนบทความทุกสัปดาห์เขียนแล้วก็รีบส่ง ไม่อยากให้อยู่นาน เพราะอาจจะปรับแก้ไขอะไรวุ่นวายไม่รู้จบจนจบไม่ลง

เมื่อสัก ๒๕ ปีที่แล้ว ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับภาษาให้มติชนสุดสัปดาห์ โดยพูดถึง “นักเขียน” ที่ผมชื่นชอบอยู่ ๔ คน ทุกคนมีความเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ เขียนแบบเป็น “นายภาษา”

คนแรก คือ ท่านพุทธทาสภิกขุ ที่พูดถึง “ภาษาคน ภาษาธรรม” ได้อย่างล้ำลึก ท่านบอกว่า ภาษาธรรมต้องยืมภาษาคนมาใช้เพื่อช่วยให้คนเดินตามทางไปสู่ธรรมะ ท่านเป็นนักปรัชญาที่ค้นคิดประดิษฐ์ภาษาเพื่อนําพาคนไปพ้นจากโลกียะไปสู่โลกุตระ ไปพบกับความหมายแห่งธรรมด้วยตนเอง

อย่างคําว่า “รู้แจ้งแทงตลอด” “ตัวกูของกู” “ตายก่อนตายเพื่อจะได้ไม่มีวันตาย” หรือ การใช้คําที่เหมือนกับขัดแย้งในตัวเองแต่ใช้อธิบายความหมายที่ลึกลงไปได้ เช่น “สังคมนิยมประชาธิปไตยแบบเผด็จการ” อาจารย์รัฐศาสตร์กระแสหลักอาจบอกว่า “มั่ว” แต่ท่านจงใจใช้คำเหล่านี้เพื่ออธิบาย “การเมือง” ในทัศนะของ “ธรรมะ” ในมิติโลกุตระ ไม่ใช่โลกียะ

อังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นกวีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในยุคแรก ๆ ที่มีการเผยแพร่ฉันทลักษณ์ที่แหวกประเพณีโดยเฉพาะจากบรรดาครูบาอาจารย์ภาษาไทย “ท่านอังคาร” ตอบว่า “ภาษาไทยไม่ใช่ของบรรพบุรุษเท่านั้น แต่เป็นของผมด้วย”

ภาษากวีของท่านอังคารงดงามมากนำเราก้าวข้ามโลกแห่งความเป็นจริงไปสู่โลกแห่งความฝัน ไปสู่สรวงสวรรค์วิมาน ไปถึงพระอินทร์พระพรหมได้จริง ๆ ถ้าหากติดตามไปจนตลอด

ท่านอังคารเขียนกวีแบบนายภาษา จึงไม่ได้ยึดตามระเบียบฉันทลักษณ์อย่างเคร่งครัดสำหรับเขา กฎมีไว้สำหรับคนไม่ใช่คนสำหรับกฎ คนจึงเปลี่ยนกฎได้ถ้าหากต้องการใช้เพื่อสื่อความคิดและจินตนาการ ความฝันและแรงบันดาลใจ

“’รงค์ วงษ์สวรรค์” คือ คนที่เขียนร้อยกรองด้วยภาษาของตนเอง คิดค้นภาษาที่ข้ามพรมแดน เขียนปะปนกันระหว่างภาษาไทยกับภาษาอังกฤษโดยไม่เกรงใจใคร เพราะเขาไม่ได้เขียนอะไรแบบมั่ว ๆ โดยไม่ตั้งใจ หรือใช้คําโดยบังเอิญ แต่ใช้คําทุกคําอย่างตั้งใจและแบบเจาะจงเหมือนคนยิงธนูแล้วถูกเป้าทุกดอก อ่านงานของเขาบางครั้งเหมือนดูเขาทรายชกมวย มีแต่หมัดเน้น ๆ ไม่ใช่แย็ปแล้ววนหนีไปรอบเวที

งานเขียนของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ส่วนใหญ่อ่านแล้วได้อารมณ์และความรู้สึกคล้อยตามเหมือนการเดินตามหลังมัคคุเทศก์ที่พาเดินไปที่ไหน ๆ ไม่ว่า “ป่าคอนกรีต” ที่กรุงเทพฯ หรือป่าเขาที่ “โป่งแยง”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่ใช่นักเขียนในความหมายนักประพันธ์เรื่องสั้น นวนิยาย แต่เป็นคนเขียนหนังสือที่สะท้อนความคิดและตรรกะที่แหลมคม เขาไม่ใช่นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการแบบทั่วไป แต่เป็นนักคิด นักวิเคราะห์ นักวิพากษ์วิจารณ์ เขามักมองเห็นอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น ปราชญ์ก็เป็นเช่นนี้ คือ คนที่มองเรื่องธรรมดาที่คนธรรมดามองไม่เห็น หรือมองเรื่องธรรมดาแบบไม่ธรรมดา

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยุคแรก ยุคกลาง ที่รู้จักเป็นคนเขียนหนังสือที่อ่านแล้วได้ความรู้ได้ปัญญา มาตอน “นิธิยุคลาย” ในยุคที่คนไทยแตกแยก เป็นนิธิบนความขัดแย้ง ตรรกะหลายครั้งเหมือนปักธงไว้ แล้วเพราะเสนอแนวคิดที่ถูกมองว่าเลือกข้างอย่างชัดเจน จึงมีคนรักและคนชังอย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน

อยากให้คนรุ่นใหม่เขียนหนังสือให้มากเขียนด้วยภาษาใหม่ วิธีใหม่ สไตล์ใหม่ ให้ตอบสนองวิถีของคนรุ่นใหม่ มองชีวิตและสังคมอย่างที่พวกเขาเห็นและอยากให้เป็นโลกก็เป็นของเขาด้วย ภาษาไทยก็เป็นของเขาด้วยเช่นกัน

****

คอลัมน์ ส่องเมือง  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๓ | กันยายน ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

วิจิตรตา… วัดศรีเทพประดิษฐาราม
ว่าด้วยเงือก (๔) ขวัญไทดํา จากองค์ความรู้ของ ดร.คําจอง
ฮูปแต้มวัดโพธิ์ชัย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com