ผ่านพ้นกันไปแล้วสำหรับเทศกาลวันหยุดยาว หลายคนอาจได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว มีช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกันกับคนที่รัก ก่อนจะกลับมาเผชิญหน้ารับความเป็นจริง กับงานที่ล้นมือกันต่อไป มาในฉบับนี้ยังคงมีควันหลงของวันสงกรานต์ เพื่อให้ผู้อ่านได้พอคลายร้อนกันได้บ้างกับหน้าร้อนแบบนี้

จังหวัดสมุทรสาครที่ผู้เขียนอาศัยอยู่นั้น มีชุมชนชาวมอญอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และทุกวันนี้ผู้คนในจังหวัดสมุทรสาครส่วนหนึ่ง ก็ยังสืบเชื้อสายมาจากมอญที่อพยพมาจากบ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่งโดยตรง คาดว่าอพยพเข้ามาก่อน พ.ศ.๒๓๖๒ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดยดูได้จากหลักฐานการก่อสร้างวิหารวัดวาอาราม ชุมชนมอญที่นี่ยังคงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กินอยู่อย่างเรียบง่าย แม้ว่าจะพูดภาษาไทยได้ แต่ก็มีสำเนียงอันเป็นเอกลักษณ์ และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีแบบดั้งเดิมเอาไว้อย่างดีงาม

ดังนั้นเมื่อเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ มองไปทางไหนจึงมักจะพบเห็นชาวมอญส่วนใหญ่ แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองสีสันสวยงาม มุ่งหน้าตรงไปยังวัดไทย เพื่อทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป สรงน้ำพระสงฆ์ สวดมนต์ขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุข ควบคู่ไปกับการละเล่นพื้นบ้านของชุมชนมอญที่หาดูได้ยากแล้ว อย่างการเล่นสะบ้า บริเวณวัดคลาคล่ำเต็มไปด้วยผู้คน ผู้คนต่างเชื้อชาติพร้อมใจช่วยกันขนทรายเข้าวัด เพื่อร่วมกันก่อเจดีย์ทราย ทั้งยังประดับประดาตกแต่งยอดเจดีย์ด้วยธงหลากสีสันละลานตา

พูดถึงชุมชนมอญก็นึกถึง ขนมกาละแมรามัญ ที่มาจากชุมชนมอญ เมื่อครั้งที่ไปเดินเล่นแถวดอนหอยหลอดจำรสชาติที่หวานหอมได้ไม่เคยลืม ซึ่งของไทยเราก็มีขนมชนิดนี้กับเขาด้วยเหมือนกัน แต่ทว่าขนมกาละแมของไทยไม่ได้มีต้นกำเนิดมาจากชุมชนมอญแต่อย่างไร เชื่อว่าขนมไทยโบราณชนิดนี้มีต้นกำเนิดที่มาจากขนมกาลาเม็กของฝรั่งเศส หรือคาราเมลของอังกฤษหรือเกละไมของชาวมลายู ท่านพุทธทาสภิกขุตั้งข้อเสนอว่า น่าจะมาจากขนมฮูละวะของอินเดียที่มีส่วนผสมเป็นนม แป้ง และน้ำตาล หนุ่มสาวเล่นสาดน้ำกันจนเหนื่อย ขนมกาละแมเป็นของหวานที่มาช่วยเติมพลังยามหน้าร้อนได้ดี

ในช่วงก่อนเทศกาลวันสงกรานต์ของทุกปีผู้คนจะมารวมตัวกัน พี่ป้าน้าอาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันอย่างครื้นเครง พวกเขาจะร่วมแรงร่วมใจอย่างแข็งขัน เพื่อที่ช่วยกันกวนขนมกาละแม ซึ่งการกวนขนมชนิดนี้ต้องใช้แรงถึงสิบคนเข้าด้วยกัน และนอกเหนือจากนั้นทุกคนยังคงต้องออกแรง และต้องใช้ความอดทนกันค่อนข้างมาก เพราะว่าในหนึ่งกระทะนั้นกว่าจะได้ขนมกาละแมจนเข้าที่ กินเวลาไปถึงหกเจ็ดชั่วโมงกันเลยทีเดียว โดยคนที่กวนนั้นจะไม่ได้หยุดพักเหนื่อยเลย เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ขนมกาละแมที่ทำมาจากน้ำตาลปี๊บสามารถไหม้ได้ต้องกวนต่อไปเรื่อย ๆ จนกาละแมงวดและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำ ก็ถือว่าเป็นอันใช้ได้ยกลงจากเตารอจนเย็น

สำหรับขนมกาละแมที่เราเคยเห็น หลัก ๆ ก็จะมีส่วนประกอบเพียงสามอย่างเท่านั้น นั่นก็คือ ข้าวเหนียว กะทิ และน้ำตาลปี๊บ ซึ่งเป็นน้ำตาลมะพร้าวเท่านั้น ปัจจุบันกาละแมมีอยู่สองแบบ เพราะแบ่งตามวิธีการกวน

แบบที่หนึ่ง เป็นการกวนกาละแมสูตรโบราณ ก็เป็นสูตรแบบดั้งเดิม ที่นิยมกวนจากเม็ดข้าวเหนียว หลังจากการกวนกาละแมชนิดนี้เราก็จะได้กาละแมที่มีสีน้ำตาลเข้มอมดำ ดังนั้นในเวลาที่เรารับประทานก็จะได้ความรู้สึกแบบกรุบ ๆ เวลาที่เคี้ยว นอกเหนือไปจากความเหนียว ๆ หนึบ ๆ ก็จะได้รสหวาน หอมมันกลมกล่อม

แบบที่สอง เป็นการกวนกาละแมแป้ง ซึ่งสูตรนี้เรามักจะพบเห็นได้ง่ายตามท้องตลาดเนื่องจากมีกรรมวิธีที่ง่าย ใช้เพียงแป้งข้าวเหนียวแทนเม็ดข้าวเหนียวแบบสูตรโบราณ แต่การกวนแบบนี้ก็จะมีข้อเสียตรงที่จะเก็บไว้รับประทานได้ไม่นาน ไม่เหมือนกับการกวนแบบโบราณ

และนอกจากนั้น ขนมกาละแมยังเป็นขนมไทยพื้นบ้านโบราณหนึ่งในสามชนิด ที่นิยมทำขึ้นในวันปีใหม่ของคนไทยในสมัยก่อน ดังนั้นขนมกาละแมจึงถือได้ว่าเป็นขนมมงคลในวันขึ้นปีใหม่ไทย สำหรับวันปีใหม่ไทยในสมัยก่อนนั้นได้กำหนดให้เป็นวันสงกรานต์ ตามความเชื่อของอินเดียในศาสนาพุทธ คำว่า “สงกรานต์” เป็น
ภาษาสันสกฤต แปลว่า เคลื่อนย้ายเข้าไป ต่อมาภายหลังจึงได้เปลี่ยนแปลงวันปีใหม่ไปตามหลักสากล ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ขนมกาละแม จำต้องทำให้เสร็จก่อนในวันสงกรานต์ เพื่อที่จะนำไปทำบุญถวายพระ และสำหรับเอาไว้ให้เป็นของขวัญแก่ญาติผู้ใหญ่ ขนมกาละแมมีความหมายดี ๆ ซ่อนอยู่ในนั้น การให้ขนมกาละแมต่อกัน แสดงออกถึงความรักความห่วงใย ความเหนียวแน่น อันเป็นน้ำหนึ่งน้ำใจเดียวกัน

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก www.wongnai.com

Related Posts

บทกวี : ความรักพาเรากลับบ้านเสมอ
เที่ยวไปตามความ (ใฝ่) ฝัน – ๑
ผักเม็ก ควรกินคู่กับเนื้อสัตว์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com