เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ผมกับพี่นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ไปร่วมงานอบรมการอ่านเขียนให้แก่นักศึกษาปีที่ 1 วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์
หลังจากพูดหลักพื้นฐานให้นักศึกษาฟัง เรามอบงานให้ทุกคนเขียนความในใจให้ได้ภายในช่วงเช้านั้น ตอนบ่ายจึงตรวจวิจารณ์
งานเขียนความยาวขนาด 1 หน้ากระดาษ A4 ของนักศึกษาส่วนมากสะท้อนอารมณ์คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ ความสะดวกสบาย อาหารการกิน มีคนหนึ่งเขียนถึงปมปัญหาใหญ่ของครอบครัวที่มีผลกระทบต่อชีวิตเธออย่างมาก ผมเลือกให้เธอออกไปยืนอ่านหน้าห้อง ผู้อ่านน้ำตาอาบแก้ม ผู้ฟังถ้าไม่ร้องไห้ก็มีก้อนสะอื้นติดคอ การเปิดใจทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจและต้อนรับเธอด้วยความอบอุ่น
สำหรับงานเขียนอีกชิ้นหนึ่งที่ผมเลือกให้เจ้าตัวอ่านเป็นคนท้ายที่สุด เพราะเป็นเพียงนักศึกษาคนเดียวที่รู้ตัวของตัวเองแล้วว่ารักศิลปะดนตรีพื้นบ้าน และมีความสุขที่เห็นผู้ชมผู้ฟังมีความสุขจากการแสดงของเธอ การเลือกมาเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ ก็หวังที่จะได้พบเส้นทางที่เลือกแล้วนี้มีอนาคตยั่งยืนมั่นคง
เมื่อ “อุ้ม” – วิมลรัตน์ สุวมาตร์ ลุกยืนขึ้นอ่านงานเขียนของเธอจบลง ผมสรุปบอกเพื่อน ๆ ของเธอว่า การที่ใครคนใดค้นพบงานที่ตนรักชอบ รู้ว่าตัวเองมีทักษะด้านใดได้เร็ว มีเป้าหมายชีวิตและมีความใฝ่ฝัน ก็จะมีความเป็นตัวของตัว มีความสุขในชีวิตแม้ขณะเรียนรู้ก้าวเดิน
ภายหลังผมทราบว่าเธอฝึกหัดเป่าแคนด้วยตัวเองกับพ่อครูที่บ้านโคกสะอาด อ.นาหว้า จ.นครพนม ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม. 2 และในขณะเป็นนักเเรียนเธอฝันที่จะเป็นคนหนึ่งในรถบัสของวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ ที่วิ่งผ่ากลางหมู่บ้านเธอเพื่อพานักศึกษาไปแสดงยังที่ต่าง ๆ
ผมเห็นเธอในอีกปีต่อมาทางโลกโซเชียลมีเดีย เธอแข่งขันได้แชมป์เป่าแคนแห่งประเทศไทย แล้วเธอโอนย้ายตามไปเรียนเชียงใหม่กับรุ่นพี่ โดยทิ้งทุนเล่าเรียนนับแสนบาทเพื่อไปหาประสบการณ์ด้านดนตรีภาคเหนือ ช่วงนั้นกลุ่มของเธอทำคลิปสั้น ๆ ออกเผยแพร่ ใช้กำแพงเมืองเก่าบ้าง ทางขึ้นดอยบ้างเป็นฉาก จากนั้นเธอก็ย้ายกลับมาเรียนชั้นปีที่ 3 ที่กาฬสินธุ์
วันที่จัดคอนเสิร์ตเปิดตัว “มูลนิธิทางอีศาน” 29 พฤษภาคม 2560 ผมเชิญรุ่นพี่ของเธอ ตัวเธอ และเพื่อนอีกสองคน มาแสดงต้อนรับแขกที่หน้าโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขารามอินทรา แล้วไปแสดงที่หอเล็กศูนย์วัฒนธรรมฯงานสมาคมชาวอีสาน และแสดงที่ช่อง 11 รายการถนนดนตรี ก่อนการบันทึกเทปของวง“ซูซู”
นี่ถือเป็นจุดก่อเกิดวงดนตรีขึ้นบนผืนแผ่นดินไทยอีกหนึ่งวง รุ่นพี่ที่เป็นแบบอย่างทางชีวิตเธอ และเธอย้ายตามไปเรียนที่เชียงใหม่ด้วย ก็คือ “ซัน นันธะชัย” หัวหน้าวงดนตรีอีศานคลาสสิกคณะ “หมาเก้าหาง” สังกัด “มูลนิธิทางอีศาน” ในวันนี้