หินก่อล้อม_กร๋อม_กล๋อม

กำแพงกร๋อม
บทความและภาพโดย: Pensupa Sukkata

เคยพบ “หินก่อล้อม” ยุคโบราณมากมายหลายแห่งในแถบลำพูน-เชียงใหม่ อาทิ โบราณสถานดอยไซ (ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน) เวียงเจ็ดลิน (ตีนดอยสุเทพ) ม่อนฤๅษี (ที่อ.แม่ออน เชียงใหม่) ล้วนแล้วแต่เก่าคร่ำนับพันปี เพราะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ยุคต้นหริภุญไชยหรือไม่ก็เรื่อง “ฤษี-มุนี” หรือไม่ก็ “ชาวลัวะ” แทบทั้งสิ้น แต่ในตำนานกลับเรียกว่า “กร๋อม” หรือ “กล๋อม” โดยระบุว่ากล๋อมพวกนี้นิยมสร้างศาสนสถานแบบ “หินก่อล้อม” ทำให้เคยมีผู้สันนิษฐานว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่คำว่า “ก่อล้อม” ถูกกร่อนกลายเป็นคำว่า “กล๋อม” และกลายเป็น “กร๋อม-ขอม” ไป ตัวอย่างของหินก่อล้อมยุคโบราณ หรือหินก่อล้อม “ตัวพ่อ” ก็คือภาพซ้ายบนของดอยไซ เชื่อว่าได้ส่งอิทธิพลให้แก่พระวิปัสสนาสายวัดป่าอรัญญวาสีในแถบวัดตามม่อนดอยแถวแม่ทาหลายแห่ง วัดแห่งแรกที่มีการฟื้น “หินก่อล้อม” คือวัดดอยแต เป็นวัดที่ครูบาอุปละได้สอนกัมมัฏฐานแก่ครูบาเจ้าศรีวิชัย (ทว่าหินก่อล้อมของวัดดอยแตนี้ ปี 2482 ได้ถูกกำนันนำหินไปก่อเหมืองฝายกั้นแม่น้ำทา) กระทั่งครูบาเจ้าศรีวิชัยได้รับแรงบันดาลใจนำไปสร้างที่วัดบ้านปาง อ.ลี้ ลำพูน (ภาพขวาบน) กับที่วัดทาดอยคำ อ.แม่ทา จ.ลำพูน (ภาพซ้ายล่าง) โดยมีชื่อเรียกว่า “กำแพงหิน” ไม่ได้เรียก “หินก่อล้อม” แบบอดีต ครูบามีกุศโลบายว่า การก่อกำแพงหินเหล่านี้ ให้วางเศษใบไม้คั่นไว้ระหว่างชั้นหินแต่ละก้อน ไม่ต้องสอปูน ด้วยเหตุผลที่ว่า 1. เมื่อมีเศษใบไม้ ปลวกก็จะไปกัดกินชอนไช ทำให้เกิดรังปลวก คล้ายกับปลวกช่วยสอปูนไปในตัว 2. การไม่ทำกำแพงให้ถาวร เป็นปริศนาธรรมที่ครูบาฯ ต้องการบอกถึงธรรมะข้อ “อนิจลักษณ์” คือทุกสิ่งในโลกไม่เที่ยง และ 3. ต้องการให้อนุชนรุ่นหลังเกิดความตระหนักสำเหนียกว่า เมื่อถึงห้วงเวลาหนึ่งจะต้องหยิบหินแต่ละก้อนขึ้นมาก่อตั้งให้ตรงใหม่อีกครั้งด้วยตัวเองบ้าง คือหากครูบาฯ สร้างทุกสิ่งทุกอย่างไว้ถาวร คนรุ่นหลังก็จะทะนงตน ตั้งอยู่ในความประมาท เพราะคิดว่าบรรพชนสร้างทุกสิ่งทุกอย่างชนิดถาวรไว้ให้หมดแล้ว ส่วนภาพขวาล่าง คือวัดหัวขัว ที่ อ.ทุ่งหัวช้าง ลำพูน สร้างโดยครูบาอภิชัยขาวปี แต่คนรุ่นหลังเกิดความไขว้เขวไม่เข้าใจกุศโลบาย ไปเอาปูนกรุโบกให้แน่นหนาแบบจีรังยั่งยืน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com