ข้าวปุ้น คืออาหารที่ทำจากแป้งข้าวเจ้า โดยมีกระบวนการทำเป็นเส้นยาว ๆ แล้วจับเป็นจับเล็กจับใหญ่ตามใจชอบ มีทั้งแป้งหมักและแป้งสดแล้วแต่ต้องการ
ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จะเรียกขานต่างกันออกไป ชาวอีสานและชาวลาวเรียกกันว่า ข้าวปุ้น ทางภาคเหนือเรียกว่า ขนมเส้น ภาคกลาง ใต้ ตะวันออก ตะวันตกเรียก ขนมจีน เวียดนามเรียก บุ๋น กระเหรี่ยงทางเหนือเรียก คอนอ กระเหรี่ยงทางใต้เรียก คอนุ่ง เป็นต้น
บุญข้าวปุ้น จัดให้มีขึ้นในบุญผเหวด หรือบุญพระเวศ (พระเวสสันดร) หรือบุญมหาชาติ ในภาคกลางและอีกหลายชนชาติ เรียกแตกต่างกันออกไป
บุญผเหวด คือ งานมหากุศลที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ ที่เป็นความดีอันยิ่งใหญ่ การเสียสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลประโยชน์ของผู้อื่นและคนส่วนรวม เยี่ยงเช่นพระเวสสันดรนั่นเอง
ชาวอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นaเทศกาลที่ทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจกันบำเพ็ญกุศล และได้อนุรักษ์สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จนสืบสานเป็นงานประเพณีจนถึงคนรุ่นหลัง
งานบุญนี้จัดขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่หมู่บ้านจนถึงชุมชนเมือง กระทั่งจัดเป็นงานประจำจังหวัดในระยะหลัง และสร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไม่น้อย อย่างเช่นจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นต้น
ผมเองในฐานะที่เป็นชาวเมืองมหาสารคาม เคยสัมผัสงานบุญนี้ตั้งแต่จำความได้ที่คุ้มวัดโพธิ์ศรี และก็มีความยิ่งใหญ่ สนุกสนานไม่แพ้จังหวัดอื่น ๆ เรียกได้ว่าอยู่ในระดับต้น ๆ ของจังหวัดในภาคอีสาน บุญประเพณีนี้ชาวเมืองมหาสารคาม มักจัดขึ้นในวันแรม 8 ค่ำ เดือนสาม ซึ่งเป็นวันพระเล็กของทุกปี ในปีนี้จะตรงกับวันที่ 15 เดือนกุมภาพันธ์ แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีแปดสองหน จึงจะตรงกันกับวันที่ 15 เดือนมีนาคม ซึ่งคงต้องติดตามว่า ทางจังหวัดมหาสารคามจะจัดงานขึ้นในเดือนใด จะเป็นเดือนมีนาคม อย่างที่เคยจัดขึ้นทุก ๆ ปีหรือไม่ แต่สำหรับจังหวัดร้อยเอ็ด มักจัดตรงกับวันที่ 1-2 มีนาคม ของทุกปี
บุญข้าวปุ้นของมหาสารคาม จัดกันทุกคุ้ม ไม่ว่าจะเป็นคุ้มวัดโพธิ์ศรี คุ้มวัดใต้ คุ้มวัดเหนือ คุ้มวัดกลางและคุ้มอื่น ๆ จนครบ อีกทั้งยังเป็นข้อตกลงกันอย่างอัตโนมัติว่าจะไม่จัดให้ตรงกัน โดยจะหมุนเวียนไปทีละคุ้ม เฉพาะทุกวันเสาร์-อาทิตย์เท่านั้น
สมัยผมยังเด็ก ทั้งข้าวปุ้นและน้ำยาปลาต้มจะทำกันเองทุกครัวเรือน เพื่อนำไปทำบุญตักบาตรที่วัดและทำเผื่อไว้ต้อนรับแขก ใครแวะเยี่ยมก็จะยกข้าวปุ้นและน้ำยามาต้อนรับ บ้านที่มีฐานะมักมีเหล้าสาโทที่หาซื้อมาหรือทำเองไว้ให้ได้เมา ปัจจุบันกลายเป็นเหล้าสี เหล้าฝรั่งแล้วครับท่าน แม้ข้าวปุ้น และน้ำยา ก็ซื้อหากันทั้งเพ
คงเหลืออยู่แบบนับได้ที่ยังทำเองทุกอย่าง ทุกวันชาวบ้านเสพติดการใช้เงินทำงานแทน ตามแบบฉบับสังคมทุน ที่ถือเอาความสะดวกสบายแม้ต้องจ่ายแพง ลืมการประหยัดมัธยัสถ์เยี่ยงบรรพบุรุษ
ผมเคยเมาเหล้าสาโทในบุญข้าวปุ้นที่มหาสารคาม อ้วกออกจนเห็นเส้นข้าวปุ้นเป็นไส้ตัวเองไหลปนออกมา ตกใจจนสร่างเมามาแล้ว โค ตะ ระ แสบหน้าอก จมูก ปาก คอ อย่าเลียนแบบแล้วกัน
อยากเห็นบุญข้าวปุ้น ที่ลงมือทำกันเองด้วยน้ำพักน้ำแรง ไม่ต้องหาซื้อมา เพราะนอกจากจะได้บุญกุศลแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยปรัชญาที่ลุ่มลึก ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปอาหาร การสร้างความกลมเกลียวของคนในครัวเรือน วิถีชีวิตชาวอีสานที่สืบทอดฮีตนี้มาอย่างยาวนาน และจะยังคงสืบทอดต่อไปอีกแสนนาน ตราบเท่าที่ลูกหลานคนรุ่นใหม่จะทำให้มันล่มสลายด้วยมือของตน.