“คนตง” มังกรไห่หนาน : จากตงซิคิวถึงประสาท ตงศิริ ตอนที่ ๑ ย้อนรอยบรรพชนแต๊ต๋ง
“คนตง” มังกรไห่หนาน : จากตงซิคิวถึงประสาท ตงศิริ
ตอนที่ ๑ ย้อนรอยบรรพชนแต๊ต๋ง
วันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๒ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ เวลา ๑๗.๕๐ น. ท้องฟ้าร่ำไห้ สายลมสงัด ใบไม้หยุดไหวติง หนองหารธารไร้คลื่นลมสงบสงัด ภูพานสะอื้นร่ำไห้ หัวใจไทยสกลแทบหยุดเต้น ลมหายใจของลูกหลานเป็นหมอกควันแห่งความโศกเศร้ารันทด
วันที่ครอบครัวญาติพี่น้องลูกหลานของ…ตระกูลตง…ต้องร่ำไห้เสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการสูญเสียบุคคลที่รักยิ่ง ผู้เป็นตำนานสร้างคุณงามความดี ริเริ่มพัฒนาสกลนครในหลายด้าน ต่อสู้กับความอยุติธรรมมาตลอดชีวิต วันที่ เฮียอ้อด เสี่ยอ้อด หรือ “อ้อด ละเบ๋อ” – คุณประสาท ตงศิริ จากลาเพื่อนพ้องน้องพี่ไปอย่างไม่มีวันกลับปิดตำนานประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่ง มังกรตงไห่หนาน ตงฮีนอ้อด…
คุณประสาท ตงศิริ เป็นบุคคลที่ไม่อาจหาผู้ใดเปรียบเทียบได้ ถึงจะหาก็คงไม่มีวันเหมือนการจะเอ่ยถึงเฉพาะคุณประสาทคนเดียวโดยไม่แลเหลียวมองย้อนอดีตของบรรพชนก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก คุณประสาทเคยเขียนคำนิยมถึงบรรพชนด้วยความเคารพรักกตัญญูอย่างสูงในหนังสือ…คนแซ่ตง…ที่อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ ค้นคว้าเรียบเรียงไว้ว่า…หากไม่มีบรรพชนแซ่ตงในวันนั้น ก็ไม่มีพวกเราแซ่ตงในวันนี้…ดังนั้น “ท้าวไซยคำเลาะ” ผู้น่ารักมักเลาะ ขอนำทุกท่านย้อนตำนาน…“คนตง” มังกรไห่หนาน…ให้ได้เข้าใจกันก่อนเบื้องต้น
ต้นตระกูลบรรพบุรุษของแซ่ตงนั้นอยู่ที่เกาะไห่หนาน อยู่ทางตอนใต้ หรือทิศใต้ของแผ่นดินใหญ่จีน เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด แต่เป็นมณฑลที่เล็กที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือคนไทยนิยมเรียกว่าประเทศจีน มีเนื้อที่ ๓๕,๓๕๔ ตารางกิโลเมตร ประชากรราวสิบล้านคน ชนเผ่าฮั่นมากที่สุด รองลงมาได้แก่ เผ่าหลี่ ม้ง และจ้วงตามลำดับ
เกาะไห่หนานตั้งชื่อจากคำว่า ไห่ (海 hái) แปลว่า “ทะเล” หนาน (南 nán) แปลว่า “ใต้” รวมความว่าเกาะนี้อยู่ทางใต้ของทะเล มีช่องแคบฉฺยงโจวกั้นไว้
สมัยก่อนที่เกาะนี้ใช้ภาษาของชนเผ่าพื้นเมืองท้องถิ่นเรียกชื่อว่า ภาษาไหหลำ หรือ ไห่หนำ คนแผ่นดินใหญ่จึงเรียกชื่อว่า คนไหหลำหรือคนไห่หนำ แต่ทุกวันนี้ใช้ภาษาจีนกลาง หรือแมนดาริน และภาษาแต้จิ๋วด้วย
มณฑลไห่หนานแห่งนี้ แบ่งการปกครอง
ออก ๔ จังหวัด, ๒๐ มณฑล, ๒๑๘ ตำบล เมืองใหญ่ที่สุด คือ เมืองไหโข่ว อยู่ตอนเหนือของเกาะมีเมฆขาวสวยงามแปรเปลี่ยนไปมาตลอดเวลาจึงตั้งชื่อสนามบินว่า สนามบินเหม่ย์หลาน แปลเอาความว่า สนามบินที่มีเมฆขาวสวยงามประมาณนี้
จังหวัดหรือนครใหญ่ทั้ง ๔ แห่งนั้น ได้แก่
๑. นครไหโข่ว (海口市) ซึ่งแบ่งต่อออกไปอีก ๔ เขต : เขตหลงหฺวา (龙华区) เขตซิ่วยิง (秀英区) เขตฉยงชาน (琼山区) เขตเหม่ย์หลาน (美兰区)
๒. นครซานย่า (三亚市) แบ่งออกได้ ๔ เขต : เขตจี๋หยาง (吉阳区) เขตเทียนหยา (天涯区) เขตไห่ถัง (海棠区) เขตหยาโจว (崖州区)
๓. นครซันชา (三沙市)
๔. นครตานโจว (儋州市)
หมู่บ้านแซ่ตงนั้นอยู่ในเมืองเหวินชาง ชื่อว่าหมู่บ้านกะตุยโผ่ซุย คำว่า กะตุย แปลว่า นกเขาโผหรือโผ่ แปลว่า เหิรบิน ซุย แปลว่า บ้าน รวมความแปลตามสำนวนท้าวไซยว่า หมู่บ้านนกเขาเหิร แต่ในหมู่บ้านนั้นมีทำเลเป็นที่สูง ที่เนิน บางท่านแปลว่า หมู่บ้านเนินนกเขาเหิร
หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมของท่านประธานเหมา ทางการได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านมาเป็น หมู่บ้านเหวินซิวโผซุย หรือหมู่บ้านนักปราชณ์ (อาจแปลว่าหมู่บ้านผู้มีปัญญามาก หรือหมู่บ้านราชครู ก็น่าจะได้)
หมู่บ้านแซ่ตง หรือแต๊ต๋งในภาษาไห่หลำหรือกะตุ่ยโผซุย หรือเหวินซิวโผซุย อยู่ห่างจากตัวเมืองเหวินชางราวสิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้น ตงกวงอิ้ว อยู่ที่อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ผู้เคยไปอยู่ที่หมู่บ้านนี้เล่าว่าหมู่บ้านแต๊ต๋งนี้มีอยู่ ๒ หมู่บ้าน หมู่บ้านใหญ่อยู่บนเนิน อีกหมู่บ้านหนึ่งอยู่ริมน้ำ และน้ำมักจะท่วมทุกปี จึงอพยพมารวมกับหมู่บ้านใหญ่บนเนิน รวมกันแล้วมีจำนวนหลังคาเรือนสมัยนั้นราว ๓๐ ครอบครัวหรือหลังคา
การสร้างบ้านและการอาศัยของคนในครอบครัวนี้เป็นเรื่องน่าศึกษา แตกต่างจากสังคมไทย สังคมไทยเมื่อพ่อแม่ได้ลูกออกมา จะยกที่ดินให้ปลูกบ้านบริเวณรอบบ้านพ่อแม่ แต่คนจีนในหมู่บ้านนี้จะแตกต่างกัน คือ ยึดทำเลใกล้น้ำเป็นหลัก เมื่อพ่อแม่สร้างบ้านแล้วลูกคนที่ ๑ ออกมา จะให้สร้างบ้านใกล้กันแต่ขยับไปทางเนินดินสูงขึ้น พอลูกคนที่สองก็สร้างขยับไปอีกคนที่สาม สี่ ห้า ก็ต่อไปเรื่อย ใครมีลูกมากบ้านครอบครัวลูกหลานจะยาวไปเรื่อย แต่อยู่ในบริเวณเดียวกัน
ลักษณะหมู่บ้านคนตง
การเรียกลำดับชั้นยศอาวุโสของคนในหมู่บ้านแต๊ต๋งนี้ มีอยู่ ๑๐ ร่นุ การจะได้มาของชื่อรุ่นต้องให้นักปราชฌ์อาจารย์ผู้มีความรู้มาตั้งให้สำหรับหมู่บ้านแต๊ต๋ง มีลำดับดังต่อไปนี้
๑. บวั้น 万 = หมื่น, มากมายมหาศาล, สมบูรณ์
๒. โห่ง 湍 = ความยิ่งใหญ่
๓. เต็ง 计 = ความคิด, แผนการ, กลยุทธ์
๔. เย็ก = ความร่มเย็นเป็นสุข
๕. ซี 洗 = ความบริสุทธิ์สะอาด
๖. เค่ง, เห่ง 庆 = ฉลองชัย มุ่งมั่นฟันฝ่าอุปสรรค
๗. กวง 光 = ชื่อเสียง, แสงสว่าง
๘. เหียน, เฮ่น, ฮีน 衍 = เจริญ
๙. เสี่ยน 前 = อนาคต
๑๐. เงี๊ยบ 业 = การงาน, ทรัพย์
การตั้งชื่อของคนจีนก็บ่งบอกความหมายในตัว คือจะบอก แซ่ ชั้นยศ ชื่อ เรียงตามลำดับตัวอย่าง ๑ ก๋ง หรือปู่คุณประสาทที่เป็นคนจีนไห่หนานคนแรกที่เข้ามาอยู่ในสกลนคร มีชื่อว่า ตงซีคิว (หูคนไทยได้ยินเสียงว่า ตงซิกิว) ตง หมายถึง แซ่ตง ซี หรือ ซิ หมายถึง ลำดับชั้นยศ คิวหมายถึงชื่อนายคิว รวมกันว่า ตงซิคิว
ตัวอย่าง ๒ น้องชายของ ตงซิคิว ที่เข้ามาตามหลัง ชื่อ ว่า ตงซีคี ก็มีความหมายทำนองเดียวกัน คือ แซ่ตง ชั้นยศ ซีหรือ ซิ ชื่อนายคี ตัวอย่าง ๓ ชื่อจีนอาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ คือ ตงกวงตุ้ย หมายถึง แซ่ตง รุ่น กวง ชื่อนายตุ้ย (แปลว่า ความถูกต้อง ความยุติธรรม)
ตัวอย่าง ๔ ชื่อจีนของคุณประสาท ตงศิริ คือ ตงเหียน(เฮ่น)อ้อด หมายถึง แซ่ตง ชั้นยศเหียน(เฮ่น) ชื่อนายอ้อด (เนื่องจากเกิดที่เมืองไทย พ่อ แม่ไม่ได้ตั้งชื่อจีนไว้ให้ และเกิดที่สกลนคร จึงใช้ชื่อเล่นว่า อ้อด ละเบ๋อ) เดหรือเตี่ย ตงเค่งเซ็ง (หรือตงเห่งเซ็ง) เล่าว่า ในประเพณีของจีน คนหมู่บ้านเดียวกันจะมีเฉพาะคนแซ่เดียวกันเท่านั้น เช่นหมู่บ้านแต๊ต๋ง หมู่บ้านแต๊ด่าน หมู่บ้านแต๊… จะไม่มีคนแซ่อื่นมาปน
มีกฎอย่างเคร่งครัดอยู่ ๒ เรื่องที่คนในสังคมหมู่บ้านถือปฏิบัติ คือ
๑. คนแซ่เดียวกัน หมู่บ้านเดียวกัน เมื่อเป็นหนุ่มสาวจะไม่มีการหยอกล้อเล่นหัวจีบกันเด็ดขาด หากผู้ใหญ่พบเห็นจะถูกอบรมสั่งสอนเป็นเรื่องที่น่าอับอาย
๒. การถือศักดิ์หรือชั้นยศ จะนับถือให้เกียรติกันอย่างมาก แม้จะมีอายุน้อยกว่าก็ตามเดเซ็งเล่าว่า มีคนแก่อายุมากผมหงอกแล้ว แต่มีศักดิ์หรือชั้นยศน้อยกว่าเด็ก แล้วไปเรียกเด็กไม่ให้เกียรติ คนในหมู่บ้านต้องเรียกคนแก่มาสั่งสอนว่า ไม่รู้จักธรรมเนียมที่ดีงาม ไม่เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลังต้องอับอายมาก
๓. เกิดเป็นคนตงต้องรักและให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เรื่องนี้ไม่เฉพาะเชื้อสายญาติพี่น้องเท่านั้น แต่ยังหมายถึงคนจีนทั้งหมดด้วยเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร คติพจน์คำคมที่ถือเป็นแนวทางชีวิตนั้นจะถูกปลูกฝังในใจตั้งแต่เด็กจนแก่เฒ่า ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงาม หากคนจีนเอ่ยว่าเราเป็นแซ่เดียวกันจะดูแลกันอย่างดีและจะถือเรื่องความกตัญญูตอบแทนพระคุณเป็นเรื่องใหญ่
ย้อนหลังอดีตไปหลายปีตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๘ หลังจาก อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ ย้ายกลับมาทำงานที่วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร คราใดเมื่อกลับอำเภอนาแกบ้านเกิดก็จะเห็นญาติพี่น้องชาวบ้านนิยมไปตกปลากัน ได้ทดลองไปใช้ชีวิตผจญภัยเล็กกับพี่ชาย ครูเล็ก – สุรสิทธิ์ ตงศิริ นอนป่า นอนอ่างเก็บน้ำเพื่อเฝ้าคนดูการตกปลาที่อ่างเก็บน้ำภูพานน้อย ประตูระบายน้ำก่ำบ้านนาคู่ อ่างเก็บน้ำห้วยศรีคุณ อ่างเก็บน้ำห้วยผักดอก ห้วยโท อื่น ๆ หลายปีสังเกตดูว่าคนตกปลาเป็นคนที่มีความอดทนและมีน้ำใจมาก
พ.ศ.๒๕๔๔ ชักชวนสมาชิกตั้งชมรมนักกีฬาตกปลาอำเภอนาแก ให้หลานชายคุณอนุสรณ์ บุญทองล้วน เปิดร้านอมรรัตน์สื่อสารและอุปกรณ์ตกปลา เพื่อเอาอุปกรณ์ตกปลาราคาถูกมาขายให้สมาชิกในราคาต้นทุน ทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคม โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ เช่น การทำโลงศพบริจาคมากกว่า ๑๐๐ หีบ การทำอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กนักเรียน การทำกฐินผ้าป่าของชมรมไปทอดที่วัดนั้นวัดนี้ประจำทุกปี ที่อโรคยศาล วัดคำประมงก็เคยไปทอดผ้าป่า การสร้างวัดสำนักสงฆ์ถ้ำเกี่ยว และอื่น ๆ
ชมรมมีคณะกรรมการจัดการดีมาก แม้ทุกวันนี้ก็มีสมาชิกยังอยู่หลายคน เช่น ครูโสภัณ ศิริสานต์ ประธานชมรม คุณปฐมพร บุญทองล้วน ครูสุรสิทธิ์ ตงศิริ ส่วนครูนาย ผู้ริเริ่มก่อตั้ง และฝ่ายพิธีการทางสงฆ์ ลุงทิดนัด – ถนัด เชื้อวงศ์พรหม เสียชีวิตแล้ว
พ.ศ.๒๕๔๖ คุณประสาท ตงศิริ ในฐานะเป็นญาติสนิทกันคงจะเห็นอาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ ทำกิจกรรมสังคมมามาก จึงขอเชิญเข้ามาอบรมโครงการภาวะผู้นำท้องถิ่นรุ่นแรกของประเทศไทยที่สกลนคร ชื่อภาษาอังกฤษว่า Community Leadership of Development คำย่อคือ CLD มีผู้ผ่านการอบรมมากกว่า ๑๒๐ คน เมื่อทำกิจกรรมด้วยกันนานเข้าสนิทกันมากขึ้น เลยมีเรื่องต้องปรึกษาหารือและขอความช่วยเหลือกันเป็นประจำในงานกิจกรรมสังคมหรือใช้คำว่า จิตอาสาเหมือนทุกวันนี้ก็ได้
วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ได้เริ่มเขียนบันทึกลงบล็อก คนแซ่ตง จากข้อมูลที่ได้เขียนลงสมุดบันทึกจากสอบถามคุณพ่อ ตงเค่งเซ็ง วันนั้นนั่งทานข้าวเช้าด้วยกัน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๕ สมัยนั้นยังเรียน ปวส.ที่วิทยาลัยเทคนิคนครพนมคำถามเดียวที่ว่า นามสกุล ตงศิริ หรือ แซ่ตง นี้มาจากไหน ทำให้คุณพ่อต้องหยุดทานข้าวแล้วมานั่งลำดับข้อมูลให้ฟังแล้วจดตาม รายละเอียดตอนนี้ขอยกไปเล่าในนิตยสารทางอีศานเล่มหน้า
ครั้นมาเมื่อ ๙ ปีที่ผ่านมา วันเดือนใดจำไม่ได้ รู้แต่เป็น พ.ศ.๒๕๕๓ วันหนึ่งคุณประสาท ได้โทรศัพท์มาตามให้ไปทานข้าวทานกาแฟกัน วันนั้นได้พูดคุยกันเรื่องการเขียนบล็อก คนแซ่ตง ว่าไม่อาจหาข้อมูลให้ละเอียดได้ เพราะสื่อเทคโนโลยีล้าสมัย ค้นคว้าอะไรก็ยาก การจะเขียนถึงรากเหง้าบรรพชน ตระกูลตง หรือ แต๊ต๋งไม่อาจเขียนให้ครอบคลุมครบถ้วนได้ คุณประสาท ได้ดำริว่า ในขณะเมื่อ แซ่ตง รุ่นพวกเรายังมีชีวิต มีแรง มีสมอง มีพลังกายใจอยู่ในนี้ทำอย่างไรจะให้ญาติพี่น้องลูกหลานแซ่ตงทั้งประเทศได้มารวมตัวกัน เพื่อความสนิทสนมแน่นแฟ้นให้รู้จักญาติพี่น้องให้มากที่สุด หากพอจะได้พึ่งพาอาศัยให้ดำรงคงอยู่สร้างอาชีพชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล ก็จะทำให้บรรพชนที่จากไปสู่สรวงสวรรค์มีความสุข ตายไปก็นอนตาหลับและส่งผลให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรืองในทุกด้านตามไปด้วย ควรที่เราจะได้จัดงานรวมญาติคนแซ่ตง ครั้งที่ ๑ ขึ้น จะมีผู้มาร่วมงานน้อยมากขนาดใดก็ตามขอให้จัดขึ้นมาให้ได้ อย่างน้อยก็ให้เป็นตัวอย่างของลูกหลานในอนาคตต่อไป
จากนั้นคุณประสาทได้ชวนอาจารย์วรวิทย์ไปที่ขอนแก่น เพื่อปรึกษาหารือญาติพี่น้องที่ขอนแก่น สกลนคร นาแก โคกศรีสุพรรณ พระซอง และสรุปผลว่า เราจะจัดงานครั้งที่ ๑ ในวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ หนึ่งในกิจกรรมที่ทำคือการเขียนลำดับประวัติตระกูล เพื่อมอบให้ญาติพี่น้องทุกครอบครัว มอบหมายให้ซ้อน้อย – คุณศิริพร ตงศิริ เป็นผู้เรียบเรียงเรื่องราวจากที่อาจารย์วรวิทย์ ตงศิริ เขียนจากบล็อกในที่ต่าง ๆ และเพื่อการค้นคว้าหาข้อมูลให้ละเอียดมากที่สุดคุณประสาทจึงชวนคุณศิริพร ตงศิริ ภรรยา และอาจารย์วรวิทย์เดินทางไปที่หมู่บ้านกะตุยโผ่ซุยหรือหมู่บ้านแต๊ต๋ง หรือหมู่บ้านแซ่ตง อันเป็นหมู่บ้านของบรรพบุรุษ นอกจากการค้นคว้าข้อมูลจากหลักฐานเชิงประจักษ์แล้ว ยังเป็นการไปตามคำสั่งของบรรพชนว่า อยากให้ลูกหลานทุกคนมีโอกาสไปที่หมู่บ้านต้นตระกูลที่ท่านจากมา เพื่อให้รู้จักญาติพี่น้องที่อยู่ในหมู่บ้าน ทั้งนี้ได้รับความเมตตาของก๋งอารีย์ ภู่สมบุญ ผู้ริเริ่มตั้งสมาคมไหหลำแห่งประเทศไทย พี่น้องแซ่ผู่ทั้งเมืองไทยและไห่หนานให้ความอนุเคราะห์
ดังนั้นวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ คณะของเราจึงต้องเดินทางไปหมู่บ้านกะตุยโผ่ซุย หรือเหวินซิวโผซุย หรือบุ้นสิวโผซุย เกาะไห่หนาน
เหตุการณ์ไปค้นคว้าย้อนตำนานคนตงจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามในนิตยสารทางอีศานฉบับที่ ๘๘ เดือนสิงหาคมต่อไป
ขวามือ อารีย์ ภู่สมบุญ ผู้ก่อตั้งและอดีตนายกสมาคม ไหหลำแห่งประเทศไทย ซ้ายมือ วรวิทย์ ตงศิริที่หมู่บ้านแซ่ภู่ของประธานอารีย์ ภู่สมบุญป้ายทางเข้าหมู่บ้านบรรพชนคนตงรับราชการสร้างคุณงามความดี…จนได้จารึกชื่อเป็น ๑ ใน ๑๐๐ บุคคลสำคัญของหอเกียรติภูมิบรรพชนภาษาแต้จิ๋ว จีนกลาง อ่านว่า จง ในภาษาไหหลำ อ่านว่า ตง
เกาะไห่หนาน หรือไห่หนำ ไหหลำ เมืองไหโข่ว เมืองเหวินชางตง
ร่วมรำลึกและอาลัยต่อการจากไปของคุณประสาท ตงศิริ ผ่านข้อเขียนของ วรวิทย์ ตงศิริ นอกจากรู้จักคนดีศรีสกลนครแล้วยังได้สาวลึกถึงประวัติคนอีสานเชื้อสายจีน ซึ่งการเคลื่อนอพยพของพี่น้องชาวจีนในทุกจังหวัด ล้วนสัมพันธ์กับวิวัฒนาการช่วงหน่ออ่อนทุนนิยมไทยกำลังผลิเกิด โปรดค้นคว้าศึกษาร่วมกันต่อไป. – บ.ก. –