ความฮู้จากผู้เฒ่า เรื่อง ภาคอีสาน

ทางอีศาน ฉบับที่ ๑ ประจำเดือนกันยายน ๒๕๕๕
คอลัมน์: ความฮู้จากผู้เฒ่า
Column: Wisdoms of the Old Folks
ผู้เขียน: คำหมาน คนไค
ภาพโดย: ธมนันท์ ประทุม


(๑) อิสาน, หรืออีศาน, หรืออีสาน
ราชบัณฑิตยสถานเป็นหน่วยราชการที่มีหน้าที่กำหนดการเขียนและการใช้ภาษาไทยกลาง ราชบัณฑิตยสถานจัดทำพจนานุกรภาษาไทยกลางโดยกำหนดความหมาย การเขียนคำและการอ่านออกเสียง

พจนานุกรมแต่ละฉบับมีชื่อว่า “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ….” เช่น พจนานุกรมฯ พ.ศ. ๒๔๙๓ พจนานุกรมฯ พ.ศ. ๒๕๒๕ และฉบับสุดท้ายที่ราชบัณฑิตย์ฯจัดทำและพิมพ์จำหน่ายคือ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย-สถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ พจนานุกรม ฯ พ.ศ.๒๕๒๕ หน้า ๙๒๖ ให้ความหมายของอีสาน ๒ อย่าง คือ?๑. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ?๒. พระศิวะหรือพระรุทร

และให้ที่มาของคำ อีสานเป็นภาษาบาลี อีศานเป็นภาษาสันสกฤต

คนอินเดียที่ศรัทธาในศาสนาฮินดู ถือว่าพระรุทรเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญในคัมภีร์พระเวท และเป็นเทพเจ้าองค์เดียวกันกับพระศิวะหรือพระอิศวร คนไทยจำนวนหนึ่งจึงมีความสับสนในการเขียนคำว่าอีสาน บางทีคนเขียนอิสานหรืออิศาน อาจจะเป็นเพราะเห็นว่าคำอีสานมีความเชื่อมโยงกับพระอิศวร.

(๒) คนกับการกำหนดทิศ
คนเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถกำหนดทิศ พืชและเดียรัจฉานไม่สามารถกำหนดทิศ แต่เดียรัจฉานสามารถกำหนดทางโดยใช้ประสาทสัมผัสและร่างกายช่วยให้ตนเคลื่อนที่ไปหาน้ำและอาหาร คนกำหนดทิศโดยใช้แสงดาว แสงเดือน แสงอาทิตย์เพื่อช่วยให้ตนเคลื่อนที่ไปสู่จุดหมายปลายทาง

สรุปว่า สัตว์รู้จักกำหนดทาง คนรู้จักกำหนดทิศ คนใช้แสงอาทิตย์ แสงจันทร์และแสงดาวเป็นเครื่องช่วยกำหนดทิศ

คนกำหนดทิศตามขั้นตอน ดังนี้

๑. ในตอนเช้าคนมักจะหันหน้าไปยังดวงอาทิตย์ที่จะขึ้นจากขอบฟ้า จึงเรียกทิศนั้นว่า “ทิศข้างหน้า” และเรียกทิศที่อยู่ข้างหลังว่า “ทิศข้างหลัง”

๒. ต่อมาคนใช้แขนขวาและแขนซ้ายกำหนดทิศ เมื่อคนหันหน้าไปหาพระอาทิตย์ที่กำลังขึ้นจากฟ้า คนเรียกทิศข้างขวาของตนว่า “ทิศขวา” เรียกทิศข้างซ้ายว่า”ทิศซ้าย”

๓. ถึงขั้นนี้คนรู้ทิศ ๔ ทิศ คือ ทิศข้างหน้าทิศข้างหลัง ทิศขวา ทิศซ้าย

๔. คนทั่วไปเรียกชื่อทิศทั้ง ๔ ทิศให้สัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ คนไทยเรียกทิศข้างหน้าว่า “ทิศตะวันออก” เรียกทิศข้างหลังว่า “ทิศตะวันตก” เรียกทิศซ้ายว่า “ทิศเหนือ” เรียกทิศขวาว่า “ทิศใต้”

๕. เมื่อคนไทยรับเอาวัฒนธรรมด้านศาสนาและภาษาจากอินเดีย ปราชญ์ไทยเรียกชื่อทิศทั้ง ๔ โดยใช้ภาษาบาลี/สันสกฤตว่า ทิศบูรพา ทิศปัจจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ แต่คนทั่วไปเรียกชื่อทิศโดยใช้ภาษาไทยว่า ทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้

๖. ต่อมานักภูมิศาสตร์เพิ่มทิศที่อยู่ตรงกึ่งกลางระหว่างทิศใหญ่ ๒ ทิศ และเรียกทิศกึ่งกลางว่า “ทิศเฉียง” คนไทยจึงมีทิศเฉียง ๔ ทิศรวมกับทิศหลัก ๔ ทิศเป็น ๘ ทิศ และคนไทยที่เป็นปราชญ์เรียกชื่อทิศทั้ง ๘ ด้วยภาษาบาลี/สันสกฤต ดังนี้ (๑)บูรพา (๒)อาคเนย์ (๓)ทักษิณ (๔)หรดี (๕)ปัจจิม (๖)พายัพ (๗)อุดร (๘)อีสาน.

(๓) การกำหนดทิศบนพื้นแผ่นดิน
สัตว์โลกมักจะอยู่อาศัยรวมกันเป็นหมู่คณะหมู่คณะของสัตว์เรียกว่าฝูง หมู่คณะของคนมีหลายแบบและมีหลายขนาด เช่น หมู่ ฝูง ครอบครัว บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง จังหวัด นคร ประเทศ ทวีป ฯลฯ คนที่รวมกันอยู่เป็นหมู่คณะมักจะกำหนดเขตแดนคณะของตนการกำหนดเขตแดนคณะของคนมี ๒ วิธีคือ

๑. กำหนดชื่อเฉพาะของดินแดน เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดดินแดนเป็นรัฐ(state) จึงเรียกชื่อดินแดนเป็นรัฐ เช่น Alabama, Alaska, Arizona, Colorado, Texas, Wyoming etc.

๒. กำหนดดินแดนตามทิศหลัก ๔ ทิศ โดยถือเอารูปร่างของประเทศเป็นหลัก เช่น ส่วนเหนือ ภาคเหนือ ส่วนตะวันออก ภาคตะวันออก ส่วนใต้ ภาคใต้ ส่วนตะวันตก ภาคตะวันตก ฯลฯ.

(๔) การกำหนดภูมิภาคของประเทศไทย
ประเทศไทยเคยมีชื่อว่า “สยาม” และเปลี่ยนชื่อเป็นราชอาณาจักรไทย (Kingdom of Thailand) เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒

การกำหนดดินแดนของอาณาจักรสยาม (ประเทศไทย) มีหลายแบบและปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเป็นครั้งคราว เช่น

๑. พ.ศ. ๒๔๓๓ ตั้งชื่อหัวเมืองตามทิศและเชื้อชาติของพลเมือง เช่น หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก (ศูนย์กลางอยู่ที่นครจำปาศักดิ์) หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ (ศูนย์กลางอยู่ที่อุดรธานี) หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (ศูนย์กลางอยู่ที่อุบลราชธานี) หัวเมืองลาวกลาง (ศูนย์กลางอยู่ที่นครราชสีมา)

๒. พ.ศ. ๒๔๓๗ ตั้งชื่อดินแดนเป็นมณฑลตามเชื้อชาติของพลเมือง เช่น มณฑลลาวเฉียง (ศูนย์กลางอยู่ที่เชียงใหม่) มณฑลลาวพวน (ศูนย์กลางอยู่ที่หนองคาย) มณฑลลาวกาว (ศูนย์กลางอยู่ที่อุบลฯ)

๓. พ.ศ. ๒๔๔๒ เปลี่ยนชื่อมณฑลตามชื่อทิศ เช่น มณฑลลาวเฉียงเป็นมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ (พ.ศ. ๒๔๔๓ เปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ) มณฑลลาวพวนเป็นมณฑลฝ่ายเหนือ (พ.ศ. ๒๔๔๓ เปลี่ยนเป็นมณฑลอุดร) เปลี่ยนมณฑลลาวกาวเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ (พ.ศ. ๒๔๔๓ เปลี่ยนเป็นมณฑลอิสาน)

๔. วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดเกล้าฯให้แบ่งพื้นที่มณฑลอิสานเป็น ๒ มณฑลคือมณฑลอุบลราชธานี กับมณฑลร้อยเอ็ด

๕. วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๘ รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงพื้นที่ของมณฑลพายัพและเปลี่ยนมณฑลเป็นภาคกำหนดชื่อว่า “ภาคพายัพ”

๖ . วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๕ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้รวม ๓ มณฑลคือมณฑลอุบลฯ มณฑลอุดร และ มณฑลร้อยเอ็ดเป็นภาค เรียกว่า “ภาคอีสาน”

พ.ศ. ๒๔๗๖ รัฐบาลสยามจัดระบบบริหารราชการเป็น ๓ ส่วน คือส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น การบริหารส่วนภูมิภาค กำหนดพื้นที่ของประเทศเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน จำนวนของจังหวัด อำเภอตำบลและหมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงเป็นครั้งคราว เช่น พ.ศ. ๒๕๑๕ ตั้งจังหวัดยโสธร, พ.ศ. ๒๕๓๖ ตั้งจังหวัดอำนาจเจริญ, พ.ศ. ๒๕๕๔ ตั้งจังหวัดบึงกาฬ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม คนไทยทั่วไปยังยึดมั่นอยู่กับทิศหลัก ๔ ทิศ เช่น กำหนดแผ่นดินของประเทศเป็น “ภาค” โดยถือเมืองหลวงเป็นจุดพิกัด ภาคของคนทั่วไปมี ๕ ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ แต่กรมอุตุนิยมวิทยารายงานอากาศ ๖ ภาคตามลำดับดังนี้ คือ ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก.

(๕) ภาคอีสาน
ชื่อของภาคอีสานมีในคำสยามเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๖๕ ต่อมาและในปัจจุบันคนไทยบางคนเรียกภาคอีสานว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาจจะเป็นเพราะภาคอีสานตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงเทพฯ

แผ่นดินของภาคอีสานเป็นที่ราบสูง มีชื่อทางภูมิศาสตร์ว่า “ที่ราบสูงโคราช” (Korat plateau) ที่ราบสูงโคราชมีระดับสูงกว่าภาคกลาง แต่ต่ำกว่าภาคเหนือ ที่ราบสูงโคราชสูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ยประมาณ ๓๐๐ เมตร ที่ราบสูงโคราชมีแผ่นดินเป็นแอ่ง (basin) ขนาดใหญ่ ๒ แอ่ง คือ

๑. แอ่งสกลนคร แอ่งนี้มีลุ่มน้ำสงครามน้ำอูน น้ำก่ำ ห้วยหลวง ห้วยทวย ฯลฯ

๒. แอ่งโคราช แอ่งนี้มีลุ่มน้ำมูล น้ำชี ลำเชียงไกร ลำปลายมาศ ลำตะคอง ลำชี ลำปาว ลำเสียว ลำพลับพลา ห้วยทับทัน ห้วยขยุง ห้วยสำราญ ฯลฯ

พื้นดินของแอ่งโคราชมีทุ่งราบขนาดใหญ่ ๒ ทุ่ง คือ ทุ่งสัมฤทธิ์ และทุ่งกุลาร้องไห้ ทุ่งทั้งสองแห่งนี้เป็นแหล่งทำการเกษตรกรรมที่สำคัญของภาคอีสาน

แผ่นดินของทุกจังหวัดในภาคอีสานเป็นที่ราบแต่ไม่ใช่ราบเรียบ และทุกจังหวัดมีภูเขาเว้นแต่จังหวัดมหาสารคาม ภูเขาในภาคอีสานไม่มียอดสูง ชาวอีสานเรียกภูเขาว่า “ภู” ดินของภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นดินปนทราย ดินอีสานที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเป็นดินเลนเมื่อดินเปียก และเมื่อดินแห้งก็เป็นดินปนทราย ใต้แผ่นดินในหลายจังหวัดมีสารโซเดียมคลอไรด์ และสารโปแตซปนอยู่มาก สารดังกล่าวทำให้ดินเค็มเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูก ที่ดินในบางบริเวณมีเกลือสินเธาว์ผุดขึ้นบนพื้นดิน

ภูมิอากาศของอากาศในภาคอีสานมีร้อนฝนตก หนาวเย็น ภูมิอากาศในภาคอีสานแบ่งเป็น ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ภาคอีสานมีที่ลุ่มซึ่งน้ำท่วมในฤดูฝน แต่น้ำไม่ท่วมบ้านเรือนเพราะชาวอีสานสร้างบ้านเรือนบนที่โคกดอน ภาคอีสานไม่มีบริเวณใดที่อากาศร้อนจัดและหนาวจัดเย็นจัด

ชาวอีสานทำไร่ทำนาโดยอาศัยน้ำฝน ฤดูฝนอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนการพึ่งพาอาศัยน้ำฝนทำการเกษตรทำให้ชาวอีสานคิดคำนึงถึงน้ำฝนอยู่เสมอ ดังนั้นเมื่อชาวอีสานได้ยินเสียงฟ้าร้องและเห็นฝนตกทุกคนจะคิดถึงบ้านและไร่นาของตน ศิลปินที่เป็นหมอลำมักจะเริ่มต้นขับลำด้วยเสียงเอื้อนเอ่ยถึงฟ้าและฝน ภาคอีสานเป็นภาคเดียวของประเทศไทยที่คนในชุมชนร่วมกันจัดประเพณีขอฝนประจำปี ประเพณีดังกล่าวคือ “บุญบั้งไฟ”

แผ่นดินของภาคอีสานเอียงจากทิศตะวันตกลงไปทางทิศตะวันออก ภาคอีสานตั้งอยู่ห่างไกลจากทะเล ลำน้ำทุกสายในภาคอีสานไหลลงสู่แม่น้ำโขง แม่น้ำโขงจึงเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่อยู่ในความคิดและในจิตใจของชาวอีสาน เมื่อหมอลำจะจบการขับลำ เขาเรียกการขับลำตอนสุดท้ายว่า “ลำล่องโขง” เป็นการเปรียบเทียบการขับลำให้เหมือนกับสายน้ำทุกสายที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ภาคอีสานมีเส้นกั้นเขตแดนเป็นแหล่งธรรมชาติ คือ ด้านเหนือและตะวันออกเป็นแม่น้ำโขง ด้านใต้เป็นภูเขาพนมดงเร็ก ด้านตะวันตกเป็นภูเขาเพชรบูรณ์ ด้านเหนือ ด้านตะวันออกและด้านใต้ติดกับพรมแดนของประเทศเพื่อนบ้าน แนวกั้นเขตแดนที่เป็นภูเขาและแม่น้ำไม่เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมและการขนส่งของชาวอีสาน.

(๖) คนอีสาน : เชื้อชาติ ศาสนา และภาษา
ชาวอีสานเป็นพลเมืองไทย (Thai citizen) ก่อนที่สยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยใน พ.ศ.๒๔๘๒ สยามถือว่าพลเมืองสยามในดินแดนของสยามเป็น “คนไทย” ปัจจุบันคนทั่วไปเรียกชาวไทยในภาคอีสานว่า “ไทยอีสาน”

ไทยอีสานประกอบด้วยคนหลายเชื้อชาติเชื้อชาติที่มีปริมาณมากที่สุดคือ “เชื้อชาติลาว” ไทยอีสานเชื้อชาติลาวมีหลายกลุ่ม เช่น ลาวกาว ลาวเวียง ลาวจำปาศักดิ์ ลาวพวน ย้อ ผู้ไทย ลาวโส้ง(ไทดำ) ไทยอีสานเชื้อชาติข่ามีอยู่จำนวนเล็กน้อย เช่น ข่ากูย (ส่วย) ข่าบรู ข่าระแด ข่าขมุ ข่ากะโซ่ ข่ากะเลิง ข่าเยอ ข่าแสก นอกจากนี้ไทยอีสานมีคนเชื้อชาติอื่นๆ เช่น กัมพุช(เขมร) จีน เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน คอเคเชียน(ฝรั่ง) เชื้อชาติเหล่านี้มีอยู่จำนวนไม่มาก

ชาวอีสานส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายหินยาน ในอดีตชาวอีสานเคยนับถือศาสนาผี และลัทธิไสย(ลัทธิเคารพนับถือเวทย์มนตร์คาถาและปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ) ในปัจจุบันแม้ว่าชาวอีสานนับถือพุทธศาสนา แต่บางคนมีจิตใจเชื่อถือผีสางเทวดาและลัทธิไสย ในภาคอีสานจึงมีผีสางและเทวดาอยู่ทุกหนแห่งที่เรือนทุกหลังมี “ผีเรือน” (ผีด้ำ-ชาวย้อเรียกว่าผีแจ) ที่บ้านทุกหมู่บ้านมี “ผีปู่ตา” ที่เมืองทุกเมืองมี “ผีมเหศักดิ์” ที่นาทุกแปลงมี “ผีตาแฮก” ที่แผ่นดินและแผ่นน้ำทุกแห่งหนมี “ผีเจ้าที่เจ้าทาง” ชาวอีสานมักจะเชื่อถือในเวทย์มนตร์คาถาและปรากฏการณ์ที่เหนือธรรมชาติเช่น พืชและสัตว์ที่มีรูปร่างแปลกประหลาดมักจะถูกคนตีความเป็นตัวเลขเพื่อนำมาแสวงหาโชคลาภ

ในด้านภาษา ไทยอีสานพูดสื่อสารในชีวิตประจำวันด้วยภาษาถิ่นของตน ภาษาถิ่นที่ไทยอีสานพูดมีหลายภาษา แต่ที่คนพูดกันมากมี ๒-๓ ภาษาถิ่น เช่น “ภาษาไทยกลาง” “ภาษาลาวอีสาน” และ “ภาษาเขมรถิ่นไทย”

นักวิชาการด้านภาษาถิ่นได้จัดสัมมนาเรื่อง “ภาษาถิ่นกับความมั่นคง” ที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ และรายงานว่าพลเมืองไทยพูดภาษาถิ่นประมาณ ๗๐ ภาษา คำนวณเป็นร้อยละของเมืองทั้งประเทศดังนี้ ร้อยละ ๓๘ พูดภาษาไทยกลาง ร้อยละ ๒๗ พูดภาษาลาวอีสาน ร้อยละ ๑๐ พูดภาษาคำเมืองหรือภาษาไทยเหนือ ร้อยละ ๙ พูดภาษาไทยใต้ ร้อยละ ๓ พูดภาษาเขมรถิ่นไทย ร้อยละ ๒ พูดภาษามลายูถิ่นไทย นอกจากนั้นคนไทยพูดภาษาถิ่นอื่น ๆ เช่น ภาษาลาวหล่ม ภาษาไทเลย ฯลฯ รายงานแจ้งว่าหลายภาษาถิ่นได้สูญสิ้นไปจากเมืองไทยเพราะคนพูดภาษานั้นได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว จากรายงานนี้เห็นได้ว่าไทยอีสาน ๒ กลุ่มพูดภาษาถิ่นตามเชื้อชาติของตน ๒ ภาษา คือร้อยละ ๒๗ ของพลเมืองของประเทศ ได้แก่ชาวจังหวัดในอีสานเหนือและอีสานกลาง รวมทั้งชาวอีสานที่อยู่ในกรุงเทพฯ เมืองพัทยา เมืองภูเก็ต เกาะสมุย ฯลฯ พูดภาษาลาวอีสาน และคนอีสานในบางท้องถิ่นของจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์พูดภาษาเขมรถิ่นไทย คนเหล่านี้คือคนร้อยละ ๓ ตามรายงานของนักวิชาการ

คนอีสานเชื้อชาติข่ากูย(ส่วย)ในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์สามารถพูดภาษาไทยกลางและภาษาลาวอีสาน อนึ่ง คนไทยอีสานที่เรียนจบชั้นป.๔ สามารถพูดภาษาไทยกลางได้ในบางโอกาสที่เหมาะสม เช่น พูดติดต่องานราชการกับข้าราชการ พูดกับสื่อมวลชนหรือพูดเข้าเครื่องขยายเสียง ฯลฯ

ไทยอีสานเชื้อชาติลาวมักจะพูดภาษาลาวอีสานกับคนอีสานด้วยกัน แต่คนอีสานจะพูดภาษาไทยกลางกับคนภาคกลางและภาคอื่น ๆ คนอีสานที่พูดภาษาเขมรถิ่นไทยในจังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์มักจะพูดภาษาไทยกลางโดยเฉพาะการออกเสียงอักษรควบอักษรกล้ำได้ชัดเจนกว่าคนอีสานที่พูดภาษาลาวอีสาน.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
มะเขือในครัวไทย
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com