๑. วัดพระแก้วเวียงจันทน์ สถานที่อันเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๐๓-๒๓๒๒ ภายหลังถูกกองทัพสยามบุกเผาทำลายเมือง ในปี พ.ศ.๒๓๗๑ ภาพนี้ถ่ายราวปี พ.ศ.๒๔๕๑ โดยช่างภาพชาวฝรั่งเศส
๒. พระแก้วเขียวหรือพระแก้วมรกต
๓. พระแก้วมรกต ฉลองพระองค์ด้วยชุดทรงฤดูร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว ณ วัดพระแก้วหรือวัดพระศรีรัตนศาสดารามของไทย
๔. วัดเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ สถานที่อันเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๐๒๒-๒๐๙๐
๕. วัดวิชุลราช นครหลวงพระบาง สถานที่อันเคยประดิษฐานพระแก้วมรกตตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๐๓ แต่เดิมสิมแห่งนี้เป็นไม้ทั้งหลัง
ความเป็นมาพระแก้วมรกต (พระแก้วเขียว)
บทความโดย: Guy Intarasopa
พระแก้วมรกตนี้ความจริงองค์พระแกะสลักจากหยกเนไฟรต์ ไม่ได้ทำจากแก้วมรกตแต่อย่างใด ในอดีตเรียกกันว่าพระแก้วเขียว ภายหลังจึงเรียกว่าพระแก้วมรกต เหตุเพราะว่ามีสีเขียวดังมรกต
หากยึดตามตำนานพระแก้วมรกตนั้น ว่ากันว่าสร้างตั้งแต่ราว พ.ศ.๕๐๐ โดยพระนาคเสน ที่เมืองปาฏลีบุตร แล้วมีการโยกย้ายองค์พระไปยังอีกหลายที่ ซึ่งผมมีความเห็นว่าเป็นตำนานที่แต่งเติมกันขึ้นมาภายหลัง เนื่องด้วยพระแก้วมรกตนี้เป็นพระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสน น่าจะมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ และเป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในแถบหัวเมืองเหนืออย่างแน่นอน
พระพุทธรูปองค์นี้ปรากฏองค์อย่างเป็นเรื่องราวในปี พ.ศ.๑๙๗๗ ที่วัดป่าเยี๊ยะหรือป่าญะ ปัจจุบันคือวัดพระแก้ว เมืองเชียงราย โดยเหตุเกิดจากฟ้าผ่าเจดีย์จนพังทลายลง จึงพบพระแก้วเขียวนี้อยู่ภายใน พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งอาณาจักรล้านนาได้อัญเชิญพระแก้วเขียวนี้มาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๑๙๗๙ แต่ขบวนช้างอัญเชิญพระแก้วเดินทางไปเมืองลำปาง เป็นเหตุให้ต้องอัญเชิญพระแก้วมรกตนี้ประดิษฐานที่วัดพระแก้วดอนเต้า เมืองลำปาง
ในปี พ.ศ.๒๐๒๒ พระเจ้าติโลก(พิลก)ราช ได้จัดขบวนมาอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานยังวัดเจดีย์หลวง พร้อมทั้งโปรดฯ ให้สร้างหอพระแก้ว แล้วอาราธนาพระแก้วเขียว (มรกต) และพระแก้วขาวมาไว้ในหอพระแก้วแห่งนี้
ตั้งแต่สมัยพระเจ้าติโลกราชเป็นต้นมาล้านนาทำศึกกับอยุธยาต่อเนื่องหลายสิบปี ทำให้อาณาจักรอ่อนแอ ขุนนางแตกแยกออกเป็นหลายฝ่าย โดยเฉพาะในสมัยพระเมืองเกษเกล้า ขุนนางอาณาจักรล้านนาแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย ขณะนั้นเองอาณาจักรล้านช้างบ้านเมืองกำลังเป็นปึกแผ่น พระเจ้าโพธิสาละราชทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองด้วยดี และส่งสมณะทูตมานำพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์จากล้านนาไปประดิษฐานยังล้านช้าง พระเมืองเกษเกล้าจึงได้พระราชทานพระธิดาคือพระนางยอดคำทิพย์ เพื่อเป็นพระมเหสีของพระแจ้าโพธิสาละราชด้วย
การที่พระเมืองเกษเกล้ามุ่งหมายจะเป็นดองกับล้านช้าง ก็เหตุด้วยต้องการกำลังสนับสนุนจากล้านช้าง เพราะอำนาจของพระองค์ก็ง่อนแง่นเต็มที จวบจนในปีพ.ศ.๒๐๘๑ พระเมืองเกษเกล้าถูกกลุ่มขุนนางถอดออกจากราชสมบัติ ภายหลังอัญเชิญท้าวซายคำ พระโอรสของพระองค์ขึ้นครองราชย์ ภายหลังท้าวซายคำถูกลอบปลงพระชนม์ กลุ่มขุนนางเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นฐานอำนาจเดิมของพระเมืองเกษเกล้าได้อัญเชิญพระเมืองเกษเกล้าขึ้นครองราชย์อีกครั้ง
ในปี พ.ศ.๒๐๘๘ พระเมืองเกษเกล้า ถูกลอบปลงพระชนม์ โดยกลุ่มขุนนางเชื้อสายไทใหญ่ ภายหลังกลุ่มขุนนางเมืองเชียงแสนสามารถกำจัดอิทธิพลของขุนนางฝั่งตรงข้ามได้ จึงไปอัญเชิญเจ้าเชษฐวังโส โอรสอันเกิดแต่พระนางยอดคำทิพย์และพระเจ้าโพธิสาละราชแห่งล้านช้าง มาครองเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๐๘๙ สถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งล้านนาองค์ที่ ๑๕ พระนามว่าพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช
แม้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะมาครองเมืองเชียงใหม่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้การเมืองของเชียงใหม่สงบลงได้มากนัก กระทั่งในปี พ.ศ.๒๐๙๐ พระเจ้าโพธิสาละราชแห่งล้านช้าง ทรงสวรรคตกะทันหันจากเหตุช้างป่าล้มทับ พระเจ้าไชยเชษฐาจึงต้องกลับไปครองล้านช้าง และระงับเหตุอันเกิดแต่การแย่งชิงราชสมบัติของเจ้าวรวังโสและเจ้าท่าเรือ
เมื่อจะเสด็จกลับล้านช้างเพื่อไปงานพระศพพระราชบิดานั้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชคงเห็นถึงความวุ่นวายของเชียงใหม่หลังพระองค์เสด็จไปล้านช้าง จึงอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญไปด้วยคือพระแก้วเขียว (มรกต) และพระแก้วขาว (น่าจะเป็นพระแก้วบุษยรัตน์ฯ ปัจจุบันอยู่ในพระบรมมหาราชวังของไทย) กลับล้านช้างด้วย พร้อมกันนั้นมอบหมายให้มหาเทวีจิระประภา ผู้เป็นสมเด็จยาย ว่าราชการแทน
พระแก้วมรกตและพระแก้วขาวนี้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชนำมาประดิษฐานไว้ที่วัดวิชุลราช นครหลวงพระบาง (พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๐๓) และพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ในแผ่นดินล้านช้างต่อจากพระเจ้าโพธิสาละราช จากนั้นกลุ่มขุนนางเมืองเชียงใหม่ได้ไปเชิญเจ้าเมกุฏิ เจ้าฟ้าเมืองนาย เชื้อสายวงศ์เม็งรายมาครองเมืองเชียงใหม่ ทำให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชไม่พอใจอย่างมาก จึงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ ทางเชียงใหม่ขอให้พม่าเข้ามาช่วย จนกระทั่งล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่ พ.ศ.๒๑๐๑
ด้วยเหตุที่อาณาจักรล้านนาตกเป็นของพม่า ซึ่งทำให้พม่ามีอิทธิพลมากขึ้น แถมยังอยู่ใกล้เมืองหลวงพระบาง เมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้าง เป็นเหตุอันหนึ่งที่ทำให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของล้านช้างไปยังนครเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ.๒๑๐๓
โปรดให้สร้างวัดพระแก้วขึ้นที่นครเวียงจันทน์ แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังพระนครหลวงแห่งใหม่ (พร้อมนำพระบางและพระแก้วขาวลงมาด้วย)
กลุ่มคนยวนล้านนาที่จงรักภักดีต่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชและมหาเทวีจิระประภา ก็อพยพผู้คนตามเสด็จพระเจ้าไชยเชษฐาลงมายังนครเวียงจันทน์ด้วย พระเจ้าไชยเชษฐาโปรดให้สร้างเมืองยังอีกฝั่งของแม่น้ำโขง ตรงข้ามกับเมืองเวียงจันทน์ เรียกชื่อว่าเวียงศรีเชียงใหม่ (ปัจจุบันคืออำเภอศรีเชียงใหม่) และอีกเมืองคือเวียงพานพร้าว (ปัจจุบันคือตำบลพานพร้าว) ซึ่งล้วนแต่เป็นคนยวนล้านนาอาศัยอยู่ ต่อมาเมืองเหล่านี้กลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของวียงจันทน์ เมืองทั้งสองนี้ตั้งชื่อตามเมืองของคนยวนเดิมเพื่อรำลึกถึงบ้านเกิดเมืองนอนคือ เวียงเชียงใหม่และเวียงพร้าว (ปัจจุบันคืออำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่)
พระแก้วมรกตประดิษฐานเป็นศรีแก่เมืองเวียงจันทน์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๑๐๓-๒๓๒๒ รวมระยะเวลา ๒๑๙ ปี
กระทั่งในปี พ.ศ.๒๓๒๑-๒๓๒๒ พระเจ้าตากสินมีบัญชาให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๑) และเจ้าพระยาสุรสีห์ (ต่อมาคือกรมพระราชบวรมหาสุรสิงหนาท) ยกทัพตีเมืองเวียงจันทน์ ได้รับชัยชนะ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้นำพระแก้วมรกตและพระบางมายังกรุงธนบุรี ตลอดจนกวาดต้อนคนลาวจำนวนมากมาเติมเต็มพื้นที่ภาคกลางของสยามที่รกร้างผู้คน จากศึกสงครามกับพม่า
เมื่อมาถึงกรุงธนบุรีก็นำพระแก้วมรกตประดิษฐานที่วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวรารามในปัจจุบัน หลังจากเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากพระเจ้าตากสิน ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ และสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานยังวัดพระแก้วที่สร้างขึ้นใหม่ ในพระบรมมหาราชวังฝั่งตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวังสมัยธนบุรี
พระแก้วมรกตจึงประดิษฐานอยู่กรุงธนบุรี (พ.ศ.๒๓๒๒-๒๓๒๗) ประมาณ ๖ ปี และประดิษฐานยังวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวังของไทยตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๗ – ปัจจุบัน