ความเร้นลับแห่งวาติกัน (๑)
ยิ่งกว่ารหัสลับดาวินชี
# สองพันปีที่คงสถานะ
วาติกัน ศูนย์กลางสถาบันสองพันปีของศาสนาคริสต์โรมันคาทอลิกกำลังเผชิญวิกฤติแสนสาหัส ซึ่งหมักหมมมานมนาน มีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์ ทั้งใกล้และไกล ที่อยากนำไปเรียนรู้ด้วยกัน
ศาสนาคริสต์มี 3 นิกายใหญ่ คือ โรมันคาทอลิก ออร์ธอด็อกซ์ และโปรเตสแตนท์ นิกายออร์ธอด็อกซ์อยู่ในอาณาจักรโรมันตะวันออก ที่มีเมืองคอนสแตนติโนเปิลเป็นเมืองหลวง (อิสตันบูลในตุรกีปัจจุบัน) เริ่มมีจารีตประเพณีและความเชื่อบางอย่างที่แตกต่างกับโรม ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 และแยกเป็นอิสระปกครองตนเองในปี 1054 และแพร่หลายในประเทศกรีก ยุโรปตะวันออกและรัสเซีย ส่วนในตุรกีและตะวันออกใกล้นั้นก็กลายเป็นมุสลิมไป
นิกายโปรเตสแตนท์ถือกำเนิดในปี 1517 ที่มาร์ติน ลูเธอร์ นำข้อประท้วงศาสนจักรคาทลิก 95 ข้อไปปิดประกาศที่ประตูโบสถ์ที่เมืองวิตเทนเบอร์ก ในเยอรมนี จากนั้นมีขบวนการปฏิรูปแตกแขนงออกไปอีกจำนวนมากในยุโรป อังกฤษ และอเมริกา
นิกายโรมันคาทอลิกมีพระสันตะปาปาเป็นประมุขเริ่มจากเซนต์ปิเตอร์ หัวหน้าอัครสาวก พระสันตะปาปาองค์แรก สืบทอดมาจนถึงพระสันตะปาปาฟรันซิส องค์ที่ 266 ในปัจจุบัน
เดิมทีพระสันตะปาปาเป็นผู้นำทางธรรมอย่างเดียว ต่อมาปลายยุคกลางเริ่มเป็นผู้นำทางโลกด้วย คือ เป็นเจ้าผู้ครองนครรัฐที่โรมและในภาคกลางของอิตาลี (Papal state) มีช่วงหนึ่ง (1309-1377) ที่ประทับที่เมืองอาวิญอง ฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลทางการเมือง ในยุคที่ “อาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” (Holy Roman Empire) ไม่มีเอกภาพ บรรดากษัตริย์ เจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ แก่งแย่งอำนาจและการเป็นใหญ่ในคริสต์ศาสนจักร (Christiandom)
พระสันตะปาปา 266 องค์ ส่วนใหญ่เป็น “คนดี” และได้รับแต่งตั้งเป็น “นักบุญ” 83 องค์ นอกนั้นมีรายละเอียดที่สามารถศึกษาได้ โดยเฉพาะในช่วงปลายยุคกลาง ที่พระสันตะปาปามีอำนาจทางโลกด้วย หลายองค์จึงมีพฤติกรรม “ทางโลก”
อย่างไรก็ดี เมื่อมีการรวมรัฐต่าง ๆ เป็นประเทศอิตาลีในปี 1861 รัฐของพระสันตะปาปาส่วนใหญ่ถูก “อาณาจักรอิตาลี” (Kingdom of Italy) ผนวกเข้าไปเป็นอิตาลี ยกวันแคว้นลาซิโอ ที่มีโรมเป็นศูนย์กลาง ที่ยังอยู่ใต้การปกครองของพระสันตะปาปา แต่ในปี 1870 ก็ถูกผนวกเข้าเป็นอิตาลีไปทั้งหมด ยกเว้นมหาวิหารเซนต์ปิเตอร์และบริเวณรอบ ๆ เท่านั้นซึ่งยังเป็นของโป๊ป
ในปี 1929 อิตาลีภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีมุสโสลินี ได้เซ็นข้อตกลงที่มหาวิหารลาเตรันกับพระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 ให้วาติกันเป็นรัฐอิสระ มีอาณาบริเวณประมาณ 250 ไร่ รวมมหาวิหารเซนต์ปิเตอร์ พิพิธภัณฑ์ วังวาติกันและสวนภายใน มีประชากรอยู่ประมาณ 1,000 คน นับเป็นรัฐเล็กที่สุดในโลก
วาติกันเป็นรัฐอิสระ มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับ 183 ประเทศ กับประชาคมยุโรป และเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรของสหประชาชาติ (ไม่ได้เป็นสมาชิกเพราะไม่เคยสมัคร) มีพระสันตะปาปาเป็นประมุขของรัฐ ในเวลาเดียวกันก็เป็นประมุขของศาสนจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก นับเป็นศาสนาเดียวที่มีระบบและลักษณะดังกล่าว
รัฐวาติกันมีการปกครองแบบ “สมบูรณาญาสิทธิราช” (absolute monarchy) พระสันตะปาปามีอำนาจเด็ดขาดผู้เดียว ภายในรัฐวาติกันมี Curia Romana องค์กรหลักในการบริหารจัดการทุกอย่าง นำโดย “เลขาธิการของรัฐ” (secretary of state ที่เป็นได้ทั้งรัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรีต่างประเทศ)
มีกระทรวงต่าง ๆ ที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องเหมือนกับรัฐอื่น ๆ แตกต่างที่ชื่อและบทบาทหน้าที่ที่เป็นเรื่องทางศาสนา มีสภาพระสังฆราชในแต่ละประเทศดูแลรับผิดชอบการดำเนินงานของศาสนจักรในแต่ละประเทศ
# วาติกันกับการเมือง
สนธิสัญญาลาเตรัน 1929 เป็นประโยชน์กับทั้งอิตาลีและวาติกัน เพราะทำให้เกิดความชัดเจนในสถานภาพของทั้งสอง มุสโสลินีเองกำลังรวบอำนาจเป็นเผด็จการ ไม่ได้สนใจศาสนา แต่ต้องการการสนับสนุนของคาทอลิก ลึก ๆ แล้วเขาอยากเป็นเหมือนจักรพรรดิชาร์เลอมาญ ประมุขจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เขาจึงได้ขยายอาณาจักรไปทางใต้ แอฟริกาเหนือ ลิเบีย เอธิโอเปีย เอริเตรีย ไปทางตะวันออกที่กรีก มาเชโดเนีย อัลเบเนีย
วาติกันก็ต้องการสถานภาพที่เป็นอิสระจากอิตาลี โดยเฉพาะภายใต้การปกครองของมุสโสลินี และต้องการได้รับการรับรองจากนานาชาติ เป็นช่วงที่ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
เยอรมนีภายใต้การนำของฮิตเลอร์ ศาสนจักรคาทอลิกในเยอรมันกำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤติ เพราะฮิตเลอร์พยายามทำให้นาซีเป็นอุดมการณ์ “ศาสนาใหม่” เขาประกาศว่า “เสรีภาพและอาหารไม่ได้มาจากสวรรค์ แต่มาจากการทำงาน” ในภาวะที่อดอยาก ฮิตเลอร์กลายเป็น “พระคริสต์องค์ใหม่” ที่มากอบกู้เยอรมนีจากความหิวโหย
คาทอลิกเริ่มถูกเบียดเบียนไปพร้อมกับยิว เพราะพระสันตะปาปาปีอุสที่ 11 ประกาศว่า “เราชาวคริสต์ก็เป็นยิวทางจิตวิญญาณ” (We are Semitic spiritually) ทรงเตรียมออกสมณสารประณามและต่อต้านนาซีในปี 1939 แต่ถึงแก่อสัญกรรมก่อนจะได้ลงนาม เชื่อกันว่า สมณสารฉบับนั้นจะมีผลไม่น้อยต่อประวัติศาสตร์
พระคาร์ดินัลปาแชลลี ที่เคยเป็นทูตวาติกันที่เยอรมนี เป็นผู้บริหารสูงสุดของวาติกัน (รองจากพระสันตะปาปา) ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 มีแนวทางที่ “เป็นกลาง” ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคาทอลิกในยุโรปและต่อมาทั่วโลก เพราะการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวหลายล้านคน “เป็นกลาง” ได้อย่างไร พระองค์ไม่เคยประณามนาซี หรือฟาสชิสม์
แม้ว่าเมื่อนาซีบุกอิตาลีในปี 1943 หลังจากที่มุสโสลินีถูกปลดและติดคุก นาซีไปบุกปลดปล่อย และนำไปยึดภาคเหนืออิตาลี นาซีบุกไปถึงโรมและไปทางใต้เพื่อต้านพันธมิตร ที่โรม นาซีไล่ล่าชาวยิว ซึ่งมีอยู่กว่าหมื่นคน จับไปพันกว่าคนส่งไปค่ายกักกันที่เอาส์วิตช์ โปแลนด์ พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 จึงประกาศให้วัด โบสถ์ อาราม สถานที่ทางศาสนาให้ช่วยชาวยิวลี้ภัยไปหลบซ่อน รวมทั้งในวาติกัน และที่พระราชวังฤดูร้อนกัสเตลกันดอลโฟ 25 ก.ม.จากกรุงโรม
ความช่วยเหลือชาวยิวช้าเกินไปและน้อยเกินไป ทำให้ภาพลักษณ์ของพระสันตะปาปามัวหมอง คาทอลิกไม่ไว้วางใจพระสันตะปาปา สงสัยในภาวะผู้นำ หลายแห่งประกาศไม่ยอมรับอีกด้วย โดยเฉพาะในเยอรมนี
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อสงสัยในหลักคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์ (dogma) ที่ประกาศในสังคายนาวาติกันที่ 1 เมื่อปี 1870 ว่า “พระสันตะปาปาผิดพลาดไม่ได้” (Papal infallibility) ในเรื่องหลักธรรมคำสอน
แต่ในเมื่อมีสองสถานะที่แยกกันยาก เพราะองค์เดียวกันที่เป็นผู้นำรัฐยังแสดงท่าที “เป็นกลาง” อย่างไม่ควรเป็นเช่นนี้ ทั้ง ๆ ที่ควรอยู่ข้างความถูกต้อง ดีงาม เป็นธรรม และอยู่ข้างผู้ถูกกดขี่ข่มเหงเบียดเบียน แล้วจะให้เชื่อว่าผิดพลาดไม่ได้ในเรื่องทางธรรมได้อย่างไร
# สู่การปฏิรูป
พระสันตะปาปาปีอุสที่ 12 ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1958 การเลือกองค์ใหม่ใช้เวลานาน ที่สุดได้พระคาร์ดินัลรอนคัลลี ที่อายุ 77 ปี คิดว่าเพื่อการเปลี่ยนผ่าน ท่านคงอยู่ไม่นาน รอให้มีองค์ใหม่ ซึ่งก็เป็นการเปลี่ยนผ่านจริง แต่ไม่ใช่ตัวพระสันตะปาปา แต่เป็นวาติกันและพระศาสนจักรคาทอลิกเองที่เปลี่ยนผ่านจากเดิมไปสู่ยุคใหม่
ไม่มีใครคาดคิดว่า พระสันตะปาปาองค์ใหม่ที่ดูเป็นคนอ่อนหวานใจดี เป็นมิตรกับผู้คนจะเป็นผู้ประกาศให้มีสังคายนาวาติกันที่ 2 ในปี 1962 ยังความตื่นตระหนกและช็อคบรรดาผู้บริหารวาติกันที่เป็นสายอนุรักษ์เกือบทั้งหมด ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง และหาวิธีขัดขวางอย่างเต็มที่ ไม่ร่วมมือในการจัดการเปิดอย่างเป็นพิธีการตามประเพณี
และเมื่อประสันตะปาปาจอห์นที่ 23 ถึงแก่อสัญกรรมในปี 1963 การสังคายนาก็หยุดชะงักไป พระคาร์ดินัล Ottaviani ผู้บริหารคนสำคัญของวาติกัน หัวหน้าสายอนุรักษ์ก็ทำทุกวิถีทางที่จะหยุดสังคายนา รณรงค์ให้พระคาร์ดินัลเลือกคนในสายอนุรักษ์เป็นพระสันตะปาปา แต่ปรากฎว่าได้พระคาร์ดินัลมอนตินี อัครสังฆราชแห่งมิลาน ได้เป็นพระสันตะปาปาปอลที่ 6 ท่านเป็นสายปฏิรูป และสืบต่อภารกิจของพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 เปิดประชุมสมัยที่ 2 ในสามเดือนต่อมา
พระคาร์ดินัลออตตาเวียนีไม่ยอมแพ้ นำเอาเอกสารทางการที่มีการประชุมตกลงกันทั้งหมดไปเผาทิ้ง อ้างว่า พระสันตะปาปาองค์ก่อนยังไม่ได้เซ็น ทำให้การสังคายนาล่าช้าออกไป ซึ่งก็ได้รับการประณามอย่างเป็นทางการในที่ประชุมจากพระคาร์ดินัล ฟริงซ์ แห่งโคโลญ ประธานสภาพระสังฆราชเยอรมัน และหนึ่งในคณะประธานสังคายนาครั้งนี้
ผู้ที่เตรียมบทให้พระคาร์ดินัลฟริงส์อ่าน คือ คุณพ่อโยเซฟ รัตซิงเกอร์ นักเทวศาสตร์หนุ่มจากมหาวิทยาลัยทือบิงเก้น ที่ปรึกษาเทวศาสตร์ของพระคาร์ดินัล ผู้ที่ต่อมา คือ พระสันตะปาปาเบเนดิกซ์ที่ 16 และข้อเขียนที่เตรียมให้คาร์ดินัลฟริงซ์พูด คือ เรื่องความเป็นคณะของสงฆ์ (collegiality) เป็นการ “หักหน้า” คาร์ดินัลออตตาเวียนี ด้วยเหตุผลทางเทวศาสตร์ ว่าขัดต่อคำสอนและพระวรสาร (Gospel)
ก่อนสังคายนา คาร์ดินัลออตตาเวียนี ในฐานะผู้รับผิดชอบกระทรวงความเชื่อ ได้เสนอให้ “แบน” หรือ“ขึ้นบัญชีดำ” หนังสือหลายเล่ม และนักเทวศาสตร์หลายคน หนึ่งในนั้น คือ คุณพ่อคาร์ล ราห์เนอร์ นักคิดนักเทวศาสตร์คนสำคัญ เพราะแนวคิดที่ก้าวหน้าเกินไป แต่พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 กลับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของสังคายนาวาติกันที่ 2
สังคายนาวาติกันที่ 2 เป็นเหตุการณ์สำคัญยิ่งทางประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรคาทอลิก ที่ต้องการปฏิรูปเพื่อตอบสนองต่อสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนไป การที่ผู้นำศาสนา 2,500 องค์ ทั้งพระคาร์ดินัล พระสังฆราช นักปราชญ์ นักเทวศาสตร์ นักปรัชญา นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ มาร่วมประชุมกัน 3 ปี 4 สมัยประชุม ได้แนวคิดแนวทางใหม่ สวนกระแสการต่อต้านของสำนักวาติกัน
สังคายนาวาติกันที่ 2 เป็นการ “กระจายอำนาจ” ไปสู่ประเทศต่าง ๆ ให้ปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ทำตัวแปลกแยก ให้เคารพประเพณี วิถีของคนท้องถิ่น ระบบคุณค่าดีงาม และในเอกสารสำคัญสังคายนายอมรับว่า ใครก็ตามที่เป็นคนดี ไม่ว่านับถือศาสนาใดหรือไม่มีศาสนา ก็สามารถ “รอด” ได้ คือไปสวรรค์ได้ ไม่ใช่มีแต่ชาวคริสต์อย่างที่เคยประกาศตลอดมาว่า เป็นศาสนาเที่ยงแท้ศาสนาเดียว
แนวคิดแนวทางของสังคายนานี้ทำให้หลายฝ่ายสงสัยในท่าทีใหม่ คิดไปไกลว่าเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ในการเผยแผ่ศาสนา ต้องการ “กลืน” ศาสนาอื่น วัฒนธรรมท้องถิ่น จากภาษาละตินมาใช้ภาษาท้องถิ่นของแต่ละประเทศ สภาพระสังฆราชในแต่ละประเทศมีอำนาจในการประยุกต์คำสอนและพิธีกรรมให้เหมาะสมได้
“เสรี พพ” 24 กันยายน 2021