ความเร้นลับแห่งวาติกัน (๓) ยิ่งกว่ารหัสลับดาวินชี

ความเร้นลับแห่งวาติกัน (๓)

  ยิ่งกว่ารหัสลับดาวินชี

# วาติลีกส์ (Vatileaks)

เมื่อปี 2012 สังฆราช Carlo Maria Vigano เลขาธิการของคณะกรรมการบริหารรัฐวาติกัน ได้ทำหนังสือเปิดเผยเรื่องการคอร์รัปชั่นทางการเงินในวาติกัน ซึ่งแม้ว่าจะมีการสอบสวนและไม่มีผลสรุป  มีผู้ที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว และเมื่อปี 2018 สังฆราชองค์องค์นี้ถูกส่งไปเป็นทูตวาติกันประจำสหรัฐ ก็ทำหนังสือเรียกร้องให้พระสันตะปาปาฟรันซิสลาออก เรื่องราวยังกับ “รหัสลับดาวินชี” ทีเดียว

เรื่องความฉ้อฉลในวาติกันมาดังระเบิดไปทั่วโลกไม่นานหลังจากนั้น เมื่อมีการตีพิมพ์หนังสือของนักข่าวสืบสวนสอบสวนชาวอิตาเลียนชื่อ Gianluigi Nuzzi ที่ได้รับเอกสารหลายพันแผ่นจากคนใกล้ชิดกับพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ เป็นหลักฐานการคอร์รัปชั่นที่โยงไปถึงผู้บริหารระดับสูงของวาติกัน

ไม่นานคนที่นำเรื่องนี้ไปให้หนังสือพิมพ์ก็ถูกจับ ถูกตัดสินจำคุก 18 เดือน แต่ได้รับการอภัยโทษจากพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ส่วนผู้อำนวยการธนาคารถูกให้ออกที่ปล่อยให้มีการนำเอกสารออกไปโดยไม่ได้รับอนุญาต (ที่มาของคำว่า Vatileaks ล้อกับ Wikileaks ที่โด่งดัง) แต่นักบวชระดับสูงผู้บริหารวาติกันกลับไม่ได้ถูกสอบ และเรื่องนี้อยู่ในขอบเขตของรัฐวาติกันเท่านั้น

เรื่องนี้ทำให้วาติกัน พระสันตะปาปาได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า การละเมิดทางเพศไม่มีการลงโทษ การคอร์รัปชั่นการเงินก็ไม่ลงโทษ แต่ลงโทษคนที่นำเรื่องความฉ้อฉลไปบอกหนังสือพิมพ์ คนนั้นเป็นแพะรับบาปของขบวนการที่อยู่เบื้องหลังของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจในวาติกัน

ความจริง เรื่องคอร์รัปชั่นในวาติกันที่ถูกผู้สื่อข่าวสายสืบสวนนำมาเปิดเผยนั้น ไม่ได้มีแต่เรื่องการเงินที่ไปเกี่ยวกับผู้บริหารวาติกันที่เป็นคาร์ดินัลและสังฆราช แต่เกี่ยวกับเรื่องเงินจำนวนมากที่ถูกนำไปใช้เพื่อ “กามบำเรอ” เป็นข้อมูลที่นักหนังสือพิมพ์คนนั้นได้จากชายที่ขายบริการทางเพศ

รวมไปถึงการรายงานของนักหนังสือพิมพ์สายสืบสวนคนอื่นที่แอบถ่ายภาพจากมือถือเรื่องราวอันน่าขยะแขยงของเรื่องทางเพศของนักบวช ผู้นำและบุคลากรในวาติกัน  อันสะท้อนความเน่าเฟะของสังคมที่ภายนอกดูดี แต่เบื้องหลังเต็มไปด้วยพฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรมและประเพณีอันดีงาม

นับเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวโยงกันไปหมด ทั้งในวาติกันและทั่วโลก หนักหนาสาหัสแบบกลืนไม่เข้าคายไม่ออก  นักวิเคราะห์เชื่อว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกต์เลือกวิธีแก้ปัญหาด้วยการลาออก เพราะเมื่อท่านลาออก คณะผู้บริหารวาติกันชุดนั้นก็หมดวาระไปด้วย ต้องมีการตั้งคณะใหม่ขึ้นมาแทน

นักวิเคราะห์หลายคนเห็นว่า มองในแง่ดี ท่านลาออกเพราะต้องการช่วยพระศาสนจักรให้รอดพ้นจากวิกฤติที่ร้ายแรงครั้งนี้ ไม่ใช่การ “ตัดช่องน้อยแต่พอตัว” หรือเอาตัวรอดคนเดียว   แม้อีกด้านหนึ่งก็มีการวิจารณ์ว่าท่านไม่ใช่นักบริหาร ไม่ใช่ผู้นำที่มีบารมี ท่านเป็นนักวิชาการ นักเทวศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่มากกว่า

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2013 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เคยมีพระสันตะปาปา 5 องค์ในอดีตที่ลาออกจากตำแหน่ง องค์สุดท้ายเมื่อ 600 ปีก่อน  ท่านบอกว่า สุขภาพท่านไม่อำนวย (อายุ 85 ปีในขณะนั้น) แต่ผู้ได้รับเลือกต่อจากท่าน พระสันตะปาปาฟรันซิสก็อายุ 77 ปีแล้วในขณะนั้น

อย่างไรก็ดี วาติกันได้ปฏิเสธว่าพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ลาออกเพราะ Vatileaks  ผู้สังเกตการณ์และนักวิชาการหลายคนเห็นว่า อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น สาเหตุน่าจะเป็นปัญหาอื่น ๆ ที่หนักหนาสาหัส และการที่ท่านเชื่อว่า คนอื่นน่าจะมารับหน้าที่ต่อไปได้ดีกว่า ดีสำหรับพระศาสนจักรโดยรวม

# การเมืองกับพระสันตะปาปาฟรันซิส

พระสันตะปาปาฟรันซิสเป็นชาวอาร์เจนไตน์ เชื้อสายอิตาเลียน พ่อแม่อพยพไปอาร์เจนตินา หนีภัยฟาสชิสต์ในยุคมุสโสลินีเมื่อประมาณปี 1930  ด้วยเหตุนี้ สิ่งแรกที่ท่านทำก่อนที่จะปฏิรูปวาติกัน คือไปเยี่ยมค่ายผู้อพยพ ไปสถานที่ใกล้เรือผู้อพยพจากแอฟริกาล่ม ไปโปรยดอกไม้ลงไปในทะเลที่มีคนเสียชีวิตมากมาย ท่านเรียกร้องให้ยุโรปและทั่วโลกให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ท่านบอกว่า “เราได้สูญเสียความรับผิดชอบฉันพี่น้อง วัฒนธรรมอยู่ดีกินดีทำให้เราเมินเฉยต่อเสียงร้องของคนอื่น” ท่านประณามสิ่งที่ท่านเรียกว่า “ความเย็นชาโลกาภิวัตน์” (globalization of indifference)

ขณะที่พระสันตะปาปาจอห์นปอลที่ 2 สนใจเรื่องการเมืองในโลกคอมมิวนิสต์ ยุโรปตะวันออก สหภาพโซเวียต  พระสันตะปาปาฟรันซิสสนใจปัญหาการเมืองและสังคมในละตินอเมริกา มิตรสหายในบ้านเกิดของท่าน

เดือนมีนาคม 2014 หนึ่งปีหลังจากได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา ท่านได้พบกับนายบารัค โอบามา และได้ขอร้องว่าถึงเวลาเลิกการโดดเดี่ยวคิวบาได้แล้ว ซึ่งนายโอบามาก็รับลูก และปลายปีนั้นอเมริกาก็ประกาศเริ่มความสัมพันธ์กับคิวบาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากตัดสัมพันธ์ทางการทูต เป็นศัตรูกันมา 54 ปี

พระสันตะปาปาฟรันซิสเลือกชื่อนักบุญฟรันซิสแห่งอัสซีซี เพราะท่านศรัทธาในวิถีชีวิตและอุดมการณ์ของนักบุญผู้เป็นองค์อุปถัมภ์ของสัตว์ สิ่งแวดล้อมและของสันติภาพ นักบุญผู้เคยเป็นนักรบ ลูกเศรษฐีที่สละทุกอย่างไปบวชและก่อตั้งคณะฟรันซิสกัน เพื่อบอกว่า ถ้าจะรักพระเจ้าก็จงรักสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง คือ คน สัตว์ ธรรมชาติ มีชีวิตที่เรียบง่ายในวิถีธรรมชาติ

คงไม่ต้องพูดถึงการเดินทางของพระสันตะปาปาฟรันซิสที่ไปประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเมื่อปี 2019  ไปอีรัก ไปเมืองอูร์ ที่ตำนานว่าเป็นบ้านเกิดของอาบราฮัม และเมื่อปี 2016 ไปโปแลนด์ในงานเยาวชนคาทอลิกโลก ที่มีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 3 ล้านคน

พระสันตะปาปาฟรันซิสต้องการพบปะประชาชนแบบไม่มีพิธีการ ไม่อยากนั่งรถหุ้มเกราะ หุ้มกระจก ท่านบอกว่า อายุ 80 กว่า มีชีวิตมาพอสมควรแล้ว (แบบว่าตายเมื่อไรก็ได้)  ท่านไม่อยากให้รู้สึกว่าเป็นประมุขของรัฐ แต่เป็นพระสันตะปาปาของประชาชน

# เผชิญวิกฤติวาติกัน

พระสันตะปาปาฟรันซิสตั้งพระคาร์ดินัล 9 องค์ขึ้นมาบริหาร Curia Romana กลไกหลักของวาติกันโดยไม่มีคนเก่าอยู่เลย คาร์ดินัลแบร์โตเนผู้ทรงอิทธิพลก็พ้นจากหน้าที่ไปโดยปริยาย กลุ่มคาร์ดินัลสายอนุรักษ์พยายามรณรงค์ให้คาร์ดินัลผู้นี้ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา แต่ไม่สำเร็จ เพราะบรรดาคาร์ดินัลส่วนใหญ่ต่างก็ได้รับรู้ปัญหาสาหัสภายใน และรู้ว่าใครเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ดี คาร์ดินัลแบร์โตเนก็ยังอยู่ในคูเรีย โรมานา และอยู่ฝ่ายที่ไม่เอาด้วยกับโป๊ปองค์นี้ ซึ่งนักวิเคราะห์บอกว่ามีอยู่ร้อยละ 10 อีกร้อยละ 20 สนับสนุนพระองค์ และร้อยละ 70 รอองค์ใหม่มา (ใส่เกียร์ว่างอย่างภาษาที่ใช้กับราชการบ้านเรา)

พระสันตะปาปาฟรันซิสทราบดีว่า ปัญหาสาหัสของวาติกันและพระศาสนจักรโดยรวมมีอะไรบ้าง ท่านพร้อมที่จะเผชิญกับทุกปัญหา เริ่มจากภายในวาติกันเอง ที่ท่านพูดตรงไปตรงมาถึงปัญหา ไม่ได้ทำเหมือนกาที่บินสูง ทำให้วัวสันหลังหวะรู้สึกเสียว  ท่านพูดในโบสถ์ซิกส์ติน ใต้รูปการพิพากษาครั้งสุดท้าย (The Last Judgement) ของมิเกลันเจโล เรียกร้องให้มีการปฏิรูปคูเรีย โรมานา ในทุกด้านว่า

 “คูเรีย โรมานาวันนี้ ถ้าเปรียบกับร่างกายคนก็เป็นคนป่วยด้วยโรคต่าง ๆ โรคการบริหารจัดการ โรคคุยโม้โอ้อวด โรคแข่งขันชิงดีชิงเด่น โรคจิตหลอน โรคเฉยเมย โรคอัลไซเมอร์ทางจิตวิญญาณ ยกยอผู้ใหญ่เหมือนพระเจ้า ประจบประแจงผู้ใหญ่ให้ได้ความดีความชอบ โรคนักฉวยโอกาส บูชาคนแทนที่จะบูชาพระเจ้า”

มีการบันทึกและถ่ายทอดการปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรันซิสครั้งนี้ รวมทั้งการที่ทรงไปทักทายบรรดาคาร์ดินัลและสังฆราช กล้องจับไปที่คาร์ดินัลแบร์โตเน ซึ่ง “กลืนเลือด” แต่ก็เก็บซ่อนความรู้สึกไว้ได้ดี

นักข่าวได้สัมภาษณ์คาร์ดินัล Jaoa Braz de Aviz ชาวบราซิเลียน ซึ่งพระสันตปาปาเบเนดิกต์ได้แต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบกระทรวงนักบวชและผู้เสียสละเพื่อพระศาสนา  ท่านบอกว่า “พระสันตะปาปาบอกว่า ท่านไม่ได้มาโรมเพื่ออยู่ในคูเรีย เราต้องการวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และตามพระวรสาร” (คำว่า curia ในภาษาละตินแปลว่า ศาล ดูโลโก้ศาลประชาคมยุโรป มีรูปตราชั่งและคำว่า curia)

(Jaoa Aviz เป็นเพื่อนสนิทของผมที่กรุงโรม เกิดปีเดียวกัน ตอนนั้นผอมสูง แต่วันนี้เขาน่าจะน้ำหนักเกินร้อยกิโล หน้าตาเปลี่ยนไป จำได้แต่เสียงพูด เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเขาในกูเกิ้ล ไม่ได้พบกัน แต่ได้คุยทางโทรศัพท์เมื่อเขามาเมืองไทยไม่กี่ปีก่อน เป็นคนเรียบง่ายใจดี เราเดินทางไปที่ศูนย์โฟโคลาเรที่เมือง Grotta Ferrata นอกกรุงโรมด้วยกันทุกเดือน  เขาคือ candidate คนหนึ่งที่จะเป็นโป๊ปในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว)

การปราศรัยของพระสันตะปาปาฟรันซิสช็อกบรรดาสังฆราช คาร์ดินัล โดยเฉพาะคนในคูเรียโรมานาเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีใครคาดคิดว่าท่านจะ “ประณาม” อย่างตรงไปตรงมาขนาดนั้น

พระสันตะปาปาฟรันซิสทรงเรียกร้องให้บุคลากรในศาสนามีชีวิตที่เรียบง่าย โดยทำตนเป็นแบบอย่าง ใช้รถยนต์เล็ก ๆ เก่า ๆ มาเมืองไทยยังประทับรถโตโยต้าโคโรนาเก่า  ท่านไม่รีรอที่จะ “ปลด” พระสังฆราชแห่งลิมบูร์ก เยอรมนี ที่มีพฤติกรรมทำตัวร่ำรวย ใช้เงินเป็นพันล้านเพื่อปรับปรุงคฤหาสถ์ที่พำนักสังฆราช

ไม่กี่เดือนก่อนก็ส่งพระคาร์ดินัล 3 องค์จากหลายประเทศ ไปสอบสวนเรื่องที่มีการร้องเรียนการละเมิดทางเพศที่ถูกปกป้องปิดบังจากพระสังฆราชแห่งเมืองโคโลญ ในเยอรมนี  ปลดพระสังฆราชของชิลีที่มีเรื่องเดียวกันนี้

กรณีต่าง ๆ ที่ประดังเข้ามา ไม่ว่าพระคาร์ดินัล Pell แห่งออสเตรเลีย ที่เป็นคนใกล้ชิด เมื่อถูกกล่าวหา ฟ้องร้องว่าละเมิดทางเพศเด็ก  ท่านก็ปล่อยให้เป็นเรื่องทางกฎหมายบ้านเมือง ปลดออกจากตำแหน่งหน้าที่ในวาติกัน  รวมทั้งกรณีในประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ทุกทวีปทั่วโลก ท่านก็ให้มีการสอบสวนและประกาศไม่ให้ปกป้องผู้กระทำความผิด ให้เป็นหน้าที่ของกฎหมายบ้านเมืองจัดการ

นอกจากปัญหาภายในวาติกัน ปัญหาการละเมิดทางเพศต่อเด็กของผู้นำศาสนา นักบวช ยังมีปัญหาสำคัญอื่น ๆ เช่น การเรียกร้องสิทธิสตรีให้ทำหน้าที่ทางศาสนาได้เหมือนชาย ดังที่นิกายอื่น ๆ ก็ทำมานานแล้ว บุคคลข้ามเพศหรือคนหลากหลายทางเพศ (LBGT) การให้บาทหลวงแต่งงานได้

พระสันตะปาปาฟรันซิสไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบ “หักโค่น” (disruptive) แต่ท่านได้แสดงท่าทีที่อ่อนโยนและมีเมตตาต่อทุกคนและต่อทุกปัญหา  ท่านพยายามให้มีการประนีประนอม ให้คนแต่งงานกับเพศเดียวกันสามารถไปร่วมพิธีทางศาสนาและไป “รับศีล” ได้ ซึ่งก็ยากที่ผู้นำศาสนาและคาทอลิกส่วนใหญ่ที่เป็นสายอนุรักษ์จะรับได้

พระสันตะปาปาบอกเองว่า “เราไม่ใช่ผู้พิพากษา” พระองค์จึงไม่ต้องการ “ตัดสิน” แบบที่ชาวคาทอลิกทั่วไปและ “พระศาสนจักร” เองชี้หน้าให้ตราบาป  ท่านพูดและทำสิ่งที่พระสันตะปาปาปอลที่ 6 ทรงบอกไว้ 50 ปีก่อนเรื่องการคุมกำเนิดที่ “พระศาสนจักร” ตอนนั้นเข้มงวดว่า “ที่สุด ขอให้เป็นการตัดสินของมโนธรรมของเขาเถิด” “เขารับผิดชอบต่อหน้าพระเจ้าเอง”

การแต่งงานของบาทหลวงก็เป็นประเด็นที่เรียกร้องกันมานาน และมีการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างการละเมิดทางเพศเด็กกับการถือโสด (celibacy) ของบาทหลวง  เปรียบเทียบสถิติการละเมิดโดยผู้นำนิกายอื่นที่แต่งงานได้ซึ่งมีน้อยกว่ามาก แต่ก็ยังคงไม่มีการตัดสินใจในเรื่องนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายทางศาสนาจริง ๆ เมื่อปี 1917 นี่เอง แต่ก็ถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 ก่อนนั้นก็ไม่ได้บังคับ นิกายอื่นในศาสนาคริสต์ก็ไม่ได้บังคับให้ถือโสด  พระวรสารเล่าว่า พระเยซูยังไปช่วยรักษาแม่ยายของ “ปิเตอร์” เลย

# ดวงดาวในคืนที่มืดมิด

พระสันตะปาปาฟรันซิสถูกต่อต้านจากศาสนิกและผู้นำศาสนาที่อนุรักษ์ เก่าแก่โบราณ ปิดตัวเอง เข้มงวด ไปจนถึง “หัวเก่าสุดกู่” (fundamentalist) และ “คลั่งศาสนา” (religious fanatics) เป็นศัตรูต่อโลก ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง  แต่ท่านได้รับการยอมรับนับถือจากทั่วโลก เป็นที่เคารพรักของชาวคาทอลิกที่รักความเป็นธรรม และต้องการเห็นการปฏิรูป การเปลี่ยนแปลง ผู้คนทั่วไปยอมรับคุณธรรม ความดีงาม และการต่อสู้เพื่อความถูกต้องของพระองค์

พระสันตะปาปาฟรันซิสมีบุคลิกผสมผสาน มีเมตตาคล้ายพระสันตะปาปาจอห์นที่ 23 เป็นนักการเมืองและนักการสื่อสารคล้ายจอห์นปอลที่ 2 มีความแหลมคมทางวิชาการคล้ายเบเนดิกต์ที่ 16 มีบารมีที่หลากหลายสมกับที่เป็น “เยซุอิต” ที่มีชื่อว่าเป็นทั้งนักวิชาการ นักบริหาร และนักอภิบาล (กลับไปอ่านบันทึกของบาทหลวงตาชาร์ด ที่ปรึกษาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หนึ่งในมิชชันนารีเยซุอิตในราชสำนักอยุธยา ที่เป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์และแพทยศาสตร์)

พระศาสนจักรคาทอลิกวันนี้อยู่ในคืนที่ยังมืดมิด แต่ก็มีดวงจันทร์ มีดาวระยิบระยับประดับฟ้า ไม่ทราบว่าเป็นสามทุ่มที่ค่ำคืนยังยาวนาน หรือว่าเป็นรุ่งสาง ที่มีดาวศุกร์ส่องแสง   แสดงว่าอาทิตย์อุทัยใกล้เข้ามา ภาวนาขอให้เป็นอย่างหลังนี้

“เสรี พพ”  26 กันยายน 2021

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com