คุณทองแถม นาถจำนง

ข้าพเจ้ารู้จักกับคุณทองแถม นาถจำนง มาประมาณ 15 ปีเท่านั้น แต่รู้สึกคิดถึงและอาลัยท่านมากเมื่อท่านจากไป ขอให้ข้าพเจ้าได้เล่าว่าได้รู้จักกับท่านและได้ติดต่อกับท่านอย่างไร และเพราะอะไรข้าพเจ้าคิดถึงและอาลัยท่านมาก แม้ว่าได้ติดต่อกับท่านเป็นครั้งคราว เป็นระยะ ๆ ไม่ถึงกับสนิทกับท่านมากเต็มที่ และรู้จักกับท่านในเวลาไม่นานมาก ข้าพเจ้ารู้จักกับคุณทองแถมสองทางในเวลาใกล้กัน

กลางทศวรรษ 2550 คุณปรีดา ข้าวบ่อ กับคุณทองแถม นาถจำนง ร่วมกันก่อตั้งนิตยสาร “ทางอีศาน” (ฉบับแรกเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2555) ท่านทั้งสองให้เกียรติสูง เชิญข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งของนิตยสาร เราได้คุยกันหลายครั้งช่วงต้นทศวรรษ 2550 ก่อนและระหว่างจัดตั้งนิตยสารสำคัญฉบับนั้น ท่านทั้งสองบอกกับข้าพเจ้าว่า นิตยสารมีแนวทางเน้นด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และวรรณกรรม ข้าพเจ้าเห็นด้วยและชื่นชมยิ่ง คิดย้อนกลับไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคุณปรีดาและคุณทองแถมได้เคยทราบชื่อข้าพเจ้าและคำรับรองจากคุณสุภา ศิริมานนท์ (พ.ศ.2457-2529) ข้าพเจ้ารับคำเชิญ จากนั้นข้าพเจ้าติดต่อกับคุณปรีดาและคุณทองแถมเป็นระยะตลอดต่อมา

กลางทศวรรษ 2550 เช่นเดียวกัน ข้าพเจ้าได้รู้จักกับศาสตราจารย์ฟ่านหงกุ้ย (Fan Hong gui ค.ศ.1934-2018) มหาวิทยาลัยชนชาติมณฑลกวางสี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องชนชาติไทในประเทศจีน ท่านศาสตราจารย์ฟ่านหงกุ้ย แนะนำสถาบันขงจื่อแห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาคมหอการค้ากวางสี มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ สมาคมวรรณกรรมไทย-จีน เชิญคุณทองแถมและข้าพเจ้า ร่วมอภิปรายกับท่านอาจารย์ฟ่าน เรื่อง “ชาติพันธุ์ร่วมรากเดียวกัน” คือความเกี่ยวพันเป็นพี่เป็นน้องที่ใกล้ชิดกัน ระหว่างชาวไทยประเทศไทยกับชาวจ้วงและชาวไป่เยว่อื่นในประเทศจีนตอนใต้ การอภิปรายจัดที่ศูนย์วัฒนธรรมจีน กรุงเทพฯ วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ในช่วงกลางทศวรรษ 2550 นั้น เมื่อศาสตราจารย์ฟ่านหงกุ้ยมาพบกับข้าพเจ้า คุณทองแถมได้มาด้วย เราได้คุยแลกเปลี่ยนเรื่องประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชนชาติไทในประเทศจีน

ข้าพเจ้าพบ ได้คุยแลกเปลี่ยนความรู้กับคุณทองแถมเป็นระยะ ตั้งแต่กลางทศวรรษ 2550 จากการจัดการปรึกษาหารือและการจัดสัมมนาอย่างกันเองของนิตยสาร “ทางอีศาน” และจากการเยี่ยมเยียน ร่วมสนทนากับท่านอาจารย์ฟ่านหงกุ้ย ส่วนใหญ่จะมาสนทนากันที่บ้านข้าพเจ้า นอกจากนั้นคุณทองแถมกับข้าพเจ้าติดต่อกันด้วยการแลกเปลี่ยนหนังสือ ส่งให้แก่กันและกันทางไปรษณีย์ แนบมาด้วยจดหมายสั้น ๆ ทำอย่างนี้มาประมาณ 10 ปี แม้ในระยะ 2-3 ปีหลัง คุณทองแถมไม่สบาย ท่านก็ยังมาคุยแลกเปลี่ยนกับข้าพเจ้าที่บ้านข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าคิดถึงและอาลัยคุณทองแถมมาก เพราะข้าพเจ้ามีความรู้สึกเป็นพิเศษกับคุณทองแถม 2 เรื่อง เรื่องแรก คุณทองแถมมีความรู้วิชาการเป็นเยี่ยม ทั้งประกอบด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เรื่องที่สอง ท่านมีพระคุณต่อข้าพเจ้ามาก ท่านค้นพบและแนะนำให้มีการพิมพ์หนังสือ “ทิพยนิมิต” ของคุณพ่อข้าพเจ้า พล.อ.ต.นายแพทย์ทิพย์ นาถสุภา (พ.ศ.2446-2527)

คุณทองแถมมีความรู้วิชาการเป็นเยี่ยม ทั้งประกอบด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน เมื่อประมาณ 15 ปีมาแล้ว ข้าพเจ้าหาบทแปลคัมภีร์ลัทธิเต๋าในภาษาไทย ข้าพเจ้าชอบสำนวนแปลของคุณทองแถม (“โชติช่วง นาดอน” เต๋าเต็กเก็ง 2537) อ่านแล้วให้ความเข้าใจดีมาก ข้าพเจ้าคิดในใจว่าผู้แปลจะต้องรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาจีนอย่างดี เมื่อข้าพเจ้ารู้จัก ได้อ่าน ได้ฟังผลงานของคุณทองแถม ข้าพเจ้ายิ่งชื่นชมประทับใจในความรู้ที่ลึกซึ้งและเป็นระบบของท่าน โดยเฉพาะความรู้เรื่องวัฒนธรรมไทยและจีน ได้รับทราบมาเป็นลำดับ เมื่อทราบว่าท่านจากไป ข้าพเจ้าตกใจ คิดถึงท่าน อยากพบและเรียนรู้เพิ่มจากท่าน ข้าพเจ้านำหนังสือ วัฒนธรรมข้าวไท (2559) ของท่านมาอ่าน เปิดอินเตอร์เน็ต หาพบ เปิดดู และฟังเว็บไซต์ที่ท่านบรรยายและให้สัมภาษณ์เรื่องปรัชญาจีน (การเสวนาเรื่อง “ปรัชญาจีน : เข้าใจคนจีน เข้าใจระบบคิดของจีน” จัดโดยสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธินักเรียนทุนญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย นำขึ้นเว็บไซต์ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2566 เข้าใจว่าจัดจริงหลายปีก่อนหน้านั้น) และเรื่องวัฒนธรรมข้าว (รายการตะวันรุ่ง : อู่ข้าวอู่น้ำ RSU Plus มหาวิทยาลัยรังสิต สัมภาษณ์ทองแถม นาถจำนง วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2560) ข้าพเจ้าได้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมไทยอย่างเป็นระบบในเวลาอันสั้น แต่ละรายการประมาณหนึ่งชั่วโมง ข้าพเจ้ารวบรวมความคิดจะขอสรุปการเรียนรู้วิชาการจากการพูดคุย ฟังและอ่านงานของคุณทองแถม

คุณทองแถมเห็นว่าจีนประกอบด้วย 3 เขตภูมิภาค การทำมาหากิน และวัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม กำหนดซึ่งกันและกัน เขตส่วนกลางลุ่มแม่น้ำฮวงโหหรือแม่น้ำเหลือง ปลูกข้าวสาลี เขตใต้ลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง ปลูกข้าว เขตเหนือสุดรวมตะวันตกด้วย เลี้ยงสัตว์ ลักษณะภูมิศาสตร์ต่างกัน การทำมาหากินเศรษฐกิจต่างกัน แนวคิดความเชื่อต่างกันด้วย เดิมมา ส่วนกลางมีแนวคิดแบบขงจื่อ จารีตนิยม ส่วนใต้ถือแนวคิดแบบเหลาจื่อ ธรรมชาตินิยม เขตใต้ฝนตกชุก ชุ่มชื้น อุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าว มีความเชื่อและพิธีกรรมบูชาฟ้า แถน ผีและขวัญของสรรพสิ่ง นางข้าวและเงือก เขตใต้นี้มีการทำมาหากินปลูกข้าวรุ่งเรืองมาแต่โบราณหลายพันปี ทั้งต่อมาพัฒนาวัฒนธรรมแบบสำริดบนพื้นที่กว้างขวาง ผู้คนตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนและสังคม ไม่ใช่ป่าเถื่อนอนารยชน ทว่าสังคมในเขตส่วนกลางจงหยวน พัฒนาภาษาเขียนตัวอักษรได้อย่างก้าวหน้ากว่า เขตจงหยวนจึงสามารถขยายเข้ามา มีอิทธิพลทางการปกครองและวัฒนธรรมอยู่ข้างบน แต่วัฒนธรรม ภาษาพูด และความเชื่อเดิมก็ดำรงอยู่ในชุมชนและผู้คนท้องถิ่นภาคใต้ ผู้คนในเขตใต้มีหลายกลุ่ม รวมเรียกว่าชาวไป่เยว่ ต่างจากชาวฮั่นในเขตจงหยวน ชนชาติไท-ไทยเป็นกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มสำคัญของชาวไป่เยว่ ชนชาติไท-ไทยกระจายตัวอยู่ในเขตประเทศจีนตอนใต้และเขตเอเชียอาคเนย์ วัฒนธรรมของชาวไป่เยว่และการปลูกข้าวครอบคลุมประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งหมด ญี่ปุ่น และอาจจะเกาหลีด้วย

คุณทองแถมสนใจศึกษาทำความเข้าใจวัฒนธรรมไทย เนื่องจากท่านรู้ภาษาจีนและเข้าใจประวัติศาสตร์จีน ท่านสามารถอธิบายลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมไทยได้ลึกซึ้งเป็นพิเศษ อธิบายว่าฐานของวัฒนธรรมไทยคือความเชื่อในธรรมชาติ มีจิตวิญญาณในทุกสรรพสิ่ง บรรพบุรุษ สิ่งมีชีวิต ธรรมชาติแวดล้อม ท่านสามารถโยงรากฐานวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมโบราณไป่เยว่แบบเต๋าของเขตจีนภาคใต้ ท่านบอกว่า ต่อมาไทยจึงรับวัฒนธรรมจากอินเดีย พราหมณ์และพุทธ เข้ามาผสม มีอิทธิพล โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำ ความรู้ว่าลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมไทยมีรากต้นกำเนิดมาจากความเชื่อแบบธรรมชาตินิยม แนวคิดเต๋าในภาคใต้ของจีน มีนักวิชาการท่านอื่นอธิบายและเสนอไว้อยู่บ้าง แต่ก็ยังน้อยตัวคน จึงเป็นที่น่าเสียดายมากที่คุณทองแถมมาจากไป ข้าพเจ้านึกถึงการศึกษาเรื่องสังคมและรัฐโบราณของชนชาติไป่เยว่ หลายรัฐในจีนตอนใต้ที่เราควรศึกษาเพิ่มขึ้น คือรัฐเยว่ เตียนเยว่ หนานเยว่ โกวติง เย่หลาง ผู้ที่จะศึกษาควรรู้ภาษาจีน ภาษาเยว่ท้องถิ่น ภาษาไทย ซึ่งจะหาบุคคลเช่นนี้ได้ยาก คุณทองแถมเห็นความสำคัญอย่างยิ่งของการศึกษาทำความเข้าใจวัฒนธรรม และในการทำความเข้าใจวัฒนธรรม ควรศึกษาอย่างเป็นประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมโบราณของชนชาติสำคัญมาก เป็นรากฐานของจิตวิญญาณ เป็นแกนกลางของวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ คุณทองแถมได้ลงมือศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมชนชาติไท-ไทยด้วยตัวท่านเอง แปลคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งจากภาษาจีนโบราณ ศึกษานิรุกติศาสตร์ภาษาและคำไท-ไทยท้องถิ่น ประวัติศาสตร์และโบราณคดีจีนและชนชาติไท-ไทย

คุณทองแถมกล่าวขอบคุณในการได้รับรางวัลศรีบูรพา พ.ศ.2566 วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ว่า “ภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมส่งมอบอาวุธที่เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวให้กับสังคมไทย อาวุธนั้นคือวัฒนธรรม… เป็นมันสมอง… กำกับระบบเศรษฐกิจ… และการเมืองให้แข็งแรง ให้เดินถูกทางเท่านั้น โลกอนาคตจึงจะงดงาม”

คุณทองแถมมีความรู้เป็นเยี่ยม และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน คุณสมบัติรวมกันสองข้อนี้ในบุคคลท่านเดียวกัน ทำให้คุณทองแถมปรารถนาและสามารถแสวงหาความรู้ใหม่ได้เป็นเนืองนิตย์ ทั้ง ๆ ที่ท่านมีองค์ความรู้ที่มากอยู่แล้วในตัวท่าน และขณะเดียวกันท่านปรากฏเป็นแหล่งความรู้ที่ผู้คนทุกรุ่นอายุอยากจะและสามารถจะเข้ามาหาความรู้จากท่านได้ จึงยิ่งเป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักที่ท่านจากไป ข้าพเจ้าสัมผัสได้ถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนของท่าน ทั้งจากในการสนทนา การบรรยาย การให้สัมภาษณ์ การตอบข้อซักถาม และจากหนังสือ ข้อเขียนและบทความของท่าน คุณสมบัติความอ่อนน้อมถ่อมตน ทั้ง ๆ ที่มีและมั่นใจในความรู้นี้ ข้าพเจ้าคิดอธิบายว่า น่าจะสัมพันธ์กับและมาจากการที่คุณทองแถมทำงานแสวงหาและเผยแพร่ความรู้ด้วยความรักและความสุข

ข้าพเจ้าประทับใจมากที่คุณทองแถมกล่าวในวันที่ท่านได้รับมอบรางวัลศรีบูรพา วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ว่า “ผมทำงานเขียน งานแปล และทำกิจกรรมมาตลอดชีวิต ผมทำเพราะความรัก ผมทำเพราะเป็นความสุขของชีวิต” ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเป็นพิเศษกับคุณทองแถม เรื่องที่สอง เรื่องนี้เป็นเรื่องพระคุณของท่านต่อข้าพเจ้ามาก เมื่อ พ.ศ.2555 คุณทองแถม นาถจำนง ได้ค้นพบบทละครร้อยกลอนทิพยนิมิต (2528) ซึ่งคุณพ่อข้าพเจ้าปรับและแต่งขึ้นจากวรรณกรรมคลาสสิกสันสกฤต l เดิม A Draught of the Blue (1905) ของ F. W. Bain (ค.ศ.1863-1940) คุณทองแถมปรึกษาและตกลงกับคุณปรีดา ข้าวบ่อ ท่านมาขออนุญาตข้าพเจ้า ขอให้สำนักพิมพ์แม่คำผางของคุณปรีดาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่

ข้าพเจ้าดีใจและปลื้มใจมากที่คุณทองแถมและคุณปรีดาเห็นค่าของงานของคุณพ่อ ได้ตอบตกลง แต่ขณะนั้นข้าพเจ้ากำลังคิดหาหนังสือพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงคุณแม่ข้าพเจ้า จึงขอนำมาจัดพิมพ์เอง และได้รวมพิมพ์บทแปลวรรณกรรมเรื่องนี้ในรูปร้อยแก้ว ซึ่งคุณพ่อข้าพเจ้าแปลพิมพ์ในหนังสือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ท่านเป็นนิสิต พ.ศ.2468 รวมด้วย (ทิพยนิมิต ฉบับร้อยแก้วและฉบับบทละคร 2557) เวลาผ่านมาอีกเกือบ 10 ปี พ.ศ.2565 คุณทองแถมและคุณปรีดาไม่ลืมที่สนใจจัดพิมพ์หนังสือของคุณพ่อ ได้เสนอจัดพิมพ์อีกครั้งหนึ่ง สำนักพิมพ์แม่คำผางได้จัดพิมพ์ “ทิพยนิมิต” ใน พ.ศ.2565 (ทิพยนิมิต ฉบับร้อยแก้วและฉบับบทละคร 2565)

ข้าพเจ้าปลื้มใจและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างที่สุด ข้าพเจ้าคิดถึงคุณพ่อ งานของท่านกลับมาปรากฏอย่างแพร่หลาย เวลาผ่านมาเกือบ 100 ปี ถ้าคุณทองแถมไม่ได้พบงานนี้และมาบอกชื่นชม อยากจะขอพิมพ์ ข้าพเจ้าจะไม่ได้คิดพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงคุณแม่ ไม่ได้คิดจะนำเอาฉบับแปลร้อยแก้ว พ.ศ.2468 มาพิมพ์รวมด้วย พิมพ์ใน พ.ศ.2557 การพิมพ์ “ทิพยนิมิต” ครั้งล่าสุดใน พ.ศ.2465 ที่ดำเนินการโดยสำนักพิมพ์แม่คำผาง เป็นการพิมพ์ฉบับร้อยกรองครั้งที่ 3 ฉบับร้อยแก้วครั้งที่ 4 นำมาพิมพ์รวมกันอยู่ในเล่มเดียวกันเป็นครั้งที่ 2 ข้าพเจ้ามีความรู้สึกต่อคุณทองแถมเป็นพิเศษ ท่านช่วยฟื้นวรรณกรรม ทิพยนิมิต ข้าพเจ้าขอกราบแสดงความขอบพระคุณ ความคิดถึง และความอาลัยคุณทองแถม นาถจำนง.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา

25 สิงหาคม 2567

ความรู้สึกทั้งหมด109Cholthira Satyawadhna, ประสิทธิ์ ไชยชมพู และ คนอื่นๆ อีก 107 คน

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com