คืนสู่รากเหง้า เวลา ที่ ผี ขวัญ
เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ผมเขียนหนังสือ “คืนสู่รากเหง้า” กับ “Back to the Roots” เป็นชื่อเดียวกัน คนละเนื้อหา ภาษาไทยรวมบทความที่ผมเขียนเองทั้งหมด ส่วนภาษาอังกฤษนั้นเขียนเองและรวมบทความจากหลายคนนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ
เป็นหนังสือเล่มเล็ก ๆ และที่แปลเป็นอังกฤษก็ไม่ใช่ภาษาที่สมบูรณ์อะไรเพราะเพื่อนคนไทยแปล แต่เป็นหนังสือสองเล่มที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์นานหลายปีอย่างกว้างขวางในแวดวงไทยคดีศึกษา วงการพัฒนาทั้งในและต่างประเทศ
ที่นักมานุษยวิทยานักสังคมวิทยาวิจารณ์มักออกในแนวที่วันนี้อาจจะเรียกว่าผมเป็นพวก “โลกสวย” สมัยนั้นเรียกว่าเป็นพวก “วันวานยังหวานอยู่” หรือ “โหยหาสวรรค์หาย” (Yearning for the lost paradise) เขาวิจารณ์ว่า คืนสู่รากเหง้าเป็นไปไม่ได้ ย้อนยุค ย้อนเวลา หลงยุค หลงสมัย ชุมชนที่ผมพูดถึงเป็นเพียงจินตนาการ ไม่มีอยู่จริงและเป็นจริงไม่ได้
ผมมีโอกาสได้อธิบายสักครั้งสองหน จากนั้นก็ไม่อธิบายอีก เชื่อว่า วันเวลาอาจจะช่วยให้เข้าใจก็เป็นได้ ถ้าได้เห็นสิ่งที่ผมทำ ไม่ใช่แค่ฟังจากสิ่งที่ผมพูด หรืออ่านจากที่ผมเขียน
ผมพยายามอธิบายว่า คืนสู่รากเหง้าไม่ใช่การคืนสู่อดีต หรือกลับไปอยู่กับอดีต แบบอดีตซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่หมายถึงการกลับไปค้นหารากเหง้าของตัวเราเอง เพื่อจะได้รู้ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน เพราะ (นักมานุษยวิทยาก็บอกไม่ใช่หรือว่า) คนไม่มีอดีตเป็นคนไม่มีอนาคต คนไม่รู้ที่มาก็ไมรู่ที้่ไป คนไมมี่รากเหง้าจะถูกเขาครอบงำและกำหนดอนาคตให้หมดเลย
คืนสู่รากเหง้า คือ การกลับไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตนเอง ของครอบครัว ชุมชนเผ่าพันธุ์ เพื่อค้นหาคุณค่าดีงามต่าง ๆ เพื่อสืบทอด ถ่ายทอด เพื่อดูว่ามีอะไรดี ๆ ที่ควรอนุรักษ์อะไรที่หายไปที่ควรฟื้นฟู อะไรที่ควรนำมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีของคนปัจจุบัน
ทำให้คิดถึงเรื่องนักศึกษาปริญญาโทที่กรุงเทพฯ ไปทำวิทยานิพนธ์เรื่องการพึ่งตนเองของผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์ชาวบ้านที่ฉะเชิงทรา แล้วสรุปว่า ผู้ใหญ่ยังพึ่งตนเองไม่ได้เพราะยังใช้ไฟฟ้าและเตาแก๊สอยู่ ผมไปเล่าให้ท่านฟัง ท่านยิ้มและตอบว่า “สงสัยเขาอยากให้ผมกลับไปนุ่งใบไม้”
คนสมัยก่อนพึ่งตนเอง พึ่งพากันเอง พึ่งพาธรรมชาติ เป็นคุณค่าที่เราน่านำมาคิดวันนี้ว่า จะทำได้อย่างไร เพราะที่เห็นและเป็นอยู่ ผู้คนต่างก็เป็นทุกข์เพราะพึ่งตนเองไม่ได้ มีปัญหาสารพัดมีหนี้สิน ไม่มีข้าวกิน ยากจน เจ็บป่วย ไม่มีคนดูแล ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีความมั่นคงในชีวิต วิธีการแก้ปัญหาผมไม่ได้เสนอให้กลับไปอยู่ในรูปแบบเดียวกันกับบรรพบุรุษในอดีต แต่ให้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีกิน พึ่งตนเองได้ ไม่ต้องทุกข์ร้อนมากมาย ส่วนวิธีไหนอย่างไรก็ต้องมาคิดและพัฒนาเอง
ประเด็นใหญ่อยู่ที่การไม่แยกแยะระหว่างรูปแบบและเนื้อหา ไม่เข้าใจเรื่องปรัชญาและคุณค่าของวิถีวัฒนธรรมของคนในอดีต มองแบบแยกส่วน เป็นเรื่อง ๆ อย่าง ๆ ไม่ได้มององค์รวมไม่ได้มองในมิติของ “ความสัมพันธ์” ไม่ได้มองว่าทุกอย่างล้วนสัมพันธ์ จึงไม่เข้าใจว่า “เด็ดดอกไม้ดอกเดียวกระเทือนถึงดวงดาว” แปลว่าอะไร หรือ “ผีเสื้อกระพือปีก พสุธาสะท้านไหว” หมายถึงอะไร
บรรพบุรุษของคนไทยมองโลกมองชีวิตอีกแบบหนึ่ง จึงมีวิธีคิดวิธีปฏิบัติแตกต่างจากคนไทยวันนี้ ซึ่งเราจะต้องตีความ หรือถอดรหัส ค้นให้ได้ว่าท่านได้ “เข้ารหัส” อะไรไว้ ไม่ใช่มองทื่อ ๆ เถรตรงด้วยวิธีคิดแบบปัจจุบัน ที่เห็นอะไรเป็นเส้นตรงหรือสี่เหลี่ยม
ความจริง ทุกวันนี้เราก็สืบทอดหลายอย่างจากท่าน แต่มักจะรับมาในแบบที่เราอยากได้ ไม่ได้เข้าใจคุณค่าและความหมายทั้งหมด ได้แต่กระพี้ไม่ได้แก่น ได้แต่เปลือกไม่ได้เนื้อใน
ยกตัวอย่างคำสี่คำที่สะท้อนปรัชญาและวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของเรา คือ เวลา ที่ ผีขวัญ ซึ่งผมเชื่อว่า ไม่ว่าคนไทยหรือคนต่างชาติถ้าเข้าใจคำสี่คำนี้ จะเข้าใจรากเหง้าและวิถีวัฒนธรรมไทยมากขึ้น
“ที่” ของคนไทยก็คล้ายกับคนจีน คนตะวันออกที่เป็นภูมิปัญญาว่าด้วยชัยภูมิ ฮวงจุ้ย ซึ่งเกี่ยวกับความสมดุล ความลงตัวในความสัมพันธ์กับดินฟ้าอากาศ รวมทั้งจักรวาล อย่างการสร้างบ้านที่มีการลงเสาเอก การวางศิลาฤกษ์ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงบ้านนั้นตึกนั้นกับศูนย์กลางของจักรวาล จะได้สมดุล อยู่เย็นเป็นสุข เพราะ “ศูนย์กลาง” คือสัญลักษณ์ของความสมดุลความมั่นคง ความลงตัว
“ผี” เป็นแนวคิดเชิงบุคลาธิษฐานของสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรา ส่วนหนึ่งเป็นบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วที่ยังอยู่ในลักษณะอื่น ภาวะอื่น หรือที่เป็นความเชื่อว่าเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษ ผีปู่ย่าตายาย ผีบ้าน ผีเรือน ผีชุมชน (ตาปู่ ปู่ตา) หรือวิญญาณของสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ ผีไร่ ผีนา ผีป่า ผีเขา
เรื่องผีมีความหมายที่ลึกซึ้งและซับซ้อน ที่คนปัจจุบันมักมองแต่เรื่อง “ผี ๆ” ที่หลอกกันในขณะที่ผีในอดีตเป็นเรื่องความสัมพันธ์ เป็นสัญลักษณ์ของกฎระเบียบ จารีตประเพณี “ผิดผี” จึงเป็นการผิดประเพณี ต้องมีการลงโทษมีการชดเชยชดใช้ อย่างไปฉุดลูกสาวเขา เป็นการผิดผี ต้องไป “เสียผี”
“ขวัญ” เป็นอะไรที่คล้ายกับ “ผี” สังคมไทยนับถือ “ผี พราหมณ์ พุทธ” เพราะผีมีอยู่แต่ไหนแต่ไร ต่อมาศาสนาพราหมณ์เข้ามา แล้วตามด้วยพุทธศาสนา ขวัญกับผีมีความหมายใกล้กันเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ขวัญของจักรวาลคือ “พรหม” (Atman) สรรพสิ่งสัมพันธ์กันเป็นหนึ่งในพรหม
พรหมคือทุกสิ่ง ทุกสิ่งคือพรหม ขวัญคือวิญญาณของพรหมในทุกสิ่ง เราจึงเชื่อในแม่โพสพ แม่ธรณี แม่คงคา หลายแห่งยังมีพิธีต่าง ๆ ก่อนทำนา ขอโทษแม่ธรณี ก่อนมีการไถ ขอบคุณแม่โพสพ มีการสู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควาย สู่ขวัญเกวียน สู่ขวัญเรือ ขอบคุณแม่ย่านาง
คนเฒ่าคนแก่กินข้าวแล้วจะไหว้ ท่านไหว้ข้าวและอาหาร ไหว้ขอบคุณธรรมชาติ อำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ชีวิต ให้อาหาร ให้นํ้าให้ปัจจัยเพื่อการดำรงชีพ ความกตัญญูรู้คุณเป็นคุณธรรมสำคัญของคนในอดีต
คนไทยในอดีต คนอินเดียนแดงและคนพื้นเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างก็มีปรัชญาว่าด้วยความสัมพันธ์กับธรรมชาติและจักรวาลคล้ายกันมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่อหังการ ไม่ถือตนว่ายิ่งใหญ่เป็นนายเหนือจักรวาล และไม่ถือสิทธิ์ว่า
จะต้องควบคุมและใช้ทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของตนตามใจชอบ
คนในอดีตถือว่าคนมีชีวิต มีจิตวิญญาณเพราะฉะนั้น เมื่อสัมพันธ์กับอะไร สิ่งนั้นก็มีชีวิตมีจิตวิญญาณด้วย จึงมีความเคารพยำเกรงอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัย เกื้อกูลกัน ไม่ว่าคน สัตว์ ต้นไม้ แม่นํ้าลำธาร ข้าวของเครื่องใช้สรรพสิ่งในโลก
คนในอดีตมีจิตใจที่ใสซื่อเหมือนเด็ก ที่ยังไม่สับสนไปด้วยวิชาความรู้จนท่วมหัว จิตจึงใสเหมือนกระจก ไม่ฝ้ามัวจนมองไม่ทะลุเหมือนคนในปัจจุบัน คนสมัยก่อนจึงสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ ด้วยความซื่อ เหมือนเด็กที่พูดคุยกับสัตว์กับสิ่งของ กับตุ๊กตา มองเห็นชีวิตในสิ่งต่าง ๆ
เซเซ่ เด็กน้อยใน “ต้นส้มแสนรัก” มีชีวิตที่รันทด เกิดในครอบครัวยากจนในบราซิล เขามีความฝันมากมาย แต่เช่นเดียวกับเด็กจำนวนมากที่ถูกผู้ใหญ่ทำลายความฝันนั้นไป เซเซ่มีเพื่อนรักอยู่คนเดียวที่เขามักไปพูดคุยด้วยเมื่อมีปัญหา ไม่สบายใจคือ ต้นส้มหลังบ้าน
บทสุดท้ายของหนังสือเล่มเล็กนี้ คือ“ผู้ใหญ่” ได้ทำลายแม้แต่เพื่อนคนเดียวที่เด็กน้อยผู้นี้จะสามารถพูดคุยและสัมพันธ์ด้วยได้ทางการต้องการขยายถนน ต้นส้มแสนรักจึงถูกตัดทิ้งไปในนามของการพัฒนา (น้อยคนนักที่อ่านหนังสือเล่มน้อยนี้แล้วไม่เสียนํ้าตาเมื่อมาถึงบทสุดท้าย)
การพัฒนาได้ให้สิ่งดี ๆ มากมาย แต่ได้ทำลายสิ่งดี ๆ ไปด้วยเช่นเดียวกัน อย่างความสัมพันธ์ดังกล่าวที่เหลือแต่เพียงรูปแบบ มีประเพณีวัฒนธรรมที่หลงเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ไมได้เหลือคุณค่า เนื้อหา แก่นของประเพณีนั้นที่ว่าด้วย “ความสัมพันธ์”
เรามักไปค้นหา ฟื้นฟู ประยุกต์ภูมิปัญญามาทำเป็น “โอทอป” ขายกันโดยไม่ได้คิดถึง “คุณค่า” อันเป็นปรัชญาชีวิตของปู่ย่าตายายผู้ให้กำเนิดภูมิปัญญาเหล่านั้น เราคิดถึงแต่เรื่องเศรษฐกิจ การค้า
เอาเรื่องผีตาโขนมาเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการท่องที่ยว เอาไปแสดงเล่น ๆ กลางถนนบนเวทีเพื่อความบันเทิง เพื่อรับนักท่องเที่ยว รับข้าราชการ นักการเมือง เอาไปอวดไปแสดงถึงเมืองนอกเมืองนาด้วยความภูมิใจ กลายเป็น “ของเล่น ๆ” ทั้งที่เป็น “ของจริง” ในวิถีชุมชนลองไปถามคนเฒ่าคนแก่ที่ด่านซ้ายดูบ้างเถิดว่าการเอาปลาออกจากนํ้าทำได้หรือ มันจะมีชีวิต
เอาเรื่องผีตาโขนมาเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการท่องที่ยว เอาไปแสดงเล่น ๆ กลางถนนบนเวทีเพื่อความบันเทิง เพื่อรับนักท่องเที่ยว รับข้าราชการ นักการเมือง เอาไปอวดไปแสดงถึงเมืองนอกเมืองนาด้วยความภูมิใจ กลายเป็น “ของเล่น ๆ” ทั้งที่เป็น “ของจริง” ในวิถีชุมชนลองไปถามคนเฒ่าคนแก่ที่ด่านซ้ายดูบ้างเถิดว่าการเอาปลาออกจากนํ้าทำได้หรือ มันจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร เอาผีตาโขนออกจากบริบททางประเพณีวัฒนธรรมของพวกเขาไปทำเป็น “ของเล่น ๆ” ได้อย่างไร
ที่นครศรีธรรมราช ขนาดเพียงจำลองรูปพระธาตุไว้บนกระบะหลังรถที่แล่นไปตามถนนในเมืองในหมู่บ้านประชาสัมพันธ์เรื่องงานเดือนสิบ ผ่านไปถึงไหน คนเฒ่าคนแก่ยังไหว้เลยเพราะสิ่งที่เป็นตัวแทนกับสิ่งที่เป็นจริงเป็นอันเดียวกัน เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ทางจิตใจทางจิตวิญญาณ ที่คนวันนี้ไม่มี ไม่รู้สึก ไม่เข้าใจจึงทำ “เรื่องจริง” ให้เป็น “เรื่องเล่น ๆ” “ของจริง” จึงกลายเป็น “ของปลอม”
การพัฒนาไม่ได้เข้าใจมิติของความสัมพันธ์มองอย่างเดียวคือการพัฒนาเศรษฐกิจ การเติบโตภายนอกมากกว่าอย่างอื่น ความขัดแย้งจึงเกิดขึ้นมาเพราะโลกทัศน์ชีวทัศน์ที่แตกต่างกันรัฐบาลไม่เข้าใจคนที่ทำมาหากินอยู่กับแม่นํ้ามูล
มาหลายชั่วอายุคน พวกเขาสัมพันธ์กับนํ้า กับปลา กับสิ่งมีชีวิตทั้งหมดของสายนํ้าแห่งนี้ที่เขาถือว่าเป็น “แม่” ที่ให้ชีวิต รัฐบาลนายทุนมองเห็นแต่เขื่อน และนํ้าทำการเกษตรทำการอุตสาหกรรม
รัฐ นายทุน กฟผ. มองเห็นแต่ไฟฟ้า การพัฒนาเศรษฐกิจ ผลประโยชน์เฉพาะส่วนเฉพาะเรื่อง ไม่ได้มองเห็นภาพรวมของผู้คนในชุมชน ที่กระบี่ ที่สงขลา ไม่เห็นคุณค่าของวิถีชีวิต ความสัมพันธ์ ความสมดุล ของธรรมชาติ หาทุกวิถีทางที่จะลบล้างและเอาชนะ
สิ่งที่ชาวบ้านต่อสู้ไม่ใช่เพื่อกลับไปสู่สังคมโบราณ แต่พวกเขาอยากกลับไปหารากเหง้าสืบทอดคุณค่า กลับไปหาความสมดุลของธรรมชาติ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีสุขภาพดี ไม่พัฒนาแบบทำลายล้าง ก่อให้เกิดมลพิษ ทำลายทั้งธรรมชาติและชีวิตคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
ชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธไฟฟ้า ไม่ได้ปฏิเสธโรงไฟฟ้า เพียงแต่ไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินเพราะมีทางเลือกอีกมากมายที่ทำได้ และทำให้เกิดการพัฒนาที่ยังคงความสัมพันธ์ที่ดีต่อธรรมชาติมากกว่า
นายเจสัน ลูอิส (Jason Lewis) เป็นชาวอังกฤษ ใช้เวลา ๑๓ ปี เดินทางรอบโลกด้วยกำลังกายของตนเอง เดิน ถีบจักรยาน พายเรือ ที่ใช้เวลานานเพราะไม่ได้อาศัยเครื่องยนต์เครื่องจักรอะไรเลย หยุดพักเป็นระยะ ๆ เพื่อรักษาตัวจากการเจ็บป่วย และเพื่อหาเงินใช้ในการเดินทาง
เมื่อกลับไปถึงอังกฤษเขาให้สัมภาษณ์ว่าในอนาคตเขาอยากกลับไปเยี่ยมและพักอาศัยนาน ๆ กับชุมชนเก่าแก่หลายแห่งที่เขาได้ไปพบเห็นมา หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนชาวเล ที่จังหวัดพังงา เขาบอกว่า
“เราสามารถเรียนรู้เรื่องดี ๆ จากสิ่งที่พวกเขาทำมานานแล้ว ถ้าเรานำบทเรียนดังกล่าวมาเล่าให้เด็กนักเรียนบ้านเรา หรือนำเด็กบางคนไปเรียนรู้ถึงถิ่น น่าจะช่วยให้เราเข้าใจดีขึ้นว่า เราควรต้องทำอะไรที่แตกต่างไปจากที่ทำกันวันนี้ เพื่อจะได้มีอนาคตที่ยั่งยืน”
“บางทีเผ่าพันธุ์ของเราในโลกใบนี้ น่าจะอยู่รอดได้ในอนาคตด้วยความรู้ที่เรามีอยู่แล้วแต่ได้ลืมไป”
การคืนสู่รากเหง้า คือกระบวนการเรียนรู้ กลับไปสู่อีกมิติหนึ่งของเวลา ของวัฒนธรรม ก้าวข้ามทุกอย่างเพื่อเข้าถึงคุณค่าและเนื้อหาที่ดีงามของชีวิต เป็นการ “เชื่อมอดีตกับปัจจุบันเพื่อสานอนาคต”