จักรินทร์ สร้อยสูงเนิน
ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: คนบนที่ราบสูง
Column: People of the Plateau
ผู้เขียน: แดง ชบาบาน
“งานหลักของผมคืออ่านหนังสือ งานรองคือสอนหนังสือ งานที่สามคือเขียนหนังสือ”
ในบรรดานักกลอนรุ่นใหม่ฝีมือฉกาจของบ้านเราชื่อของ จักรินทร์ สร้อยสูงเนิน มักจะปรากฏให้ได้เห็นอยู่บ่อย ๆ ทั้งในหน้านิตยสาร เวทีประกวดกลอนสด หรือแม้แต่เวทีการแนะนำแนะแนวการอ่านการเขียน เพราะในห้วง ๓-๔ ปีนี้ ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในฐานะนักกลอนล่ารางวัล ส่งผลงานกลอนประกวดเกือบทุกเวที ส่งผลงานไปลงในนิตยสารเกือบทุกฉบับ และเขาเองบอกว่าเกือบร้อยละ ๙๐ ของผลงานที่ส่งไปมักได้รับการตอบรับ และได้รางวัล จนกระทั่งสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยยกย่องให้เขาเป็นนักกลอนดีเด่นอีกคนหนึ่ง และนอกจากจะเขียนกลอนเก่งแล้ว เขายังเขียนกลอนลำเก่งและร้องหมอลำได้อีกด้วย
จักรินทร์เล่าให้ฟังว่า ชื่นชอบภาษาไทยเพราะปู่ย่าเป็นศิลปินพื้นบ้าน มีบทผญา มีกลอนลำอยู่ในหัวใจตลอด พอเรียนระดับประถมศึกษา ชอบอ่านทำนองเสนาะ ทำให้คำและความมันก้องอยู่ในหัวพอเรียนระดับมัธยมศึกษาเขาก็เขียนกลอน อ่านทำนองเสนาะผสมกันไป เขาบอกว่าพอได้อ่านทำนองเสนาะแล้วทำให้ใจเขามีความสุข และครั้งแรก ๆ เคยเป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งขันการอ่านทำนองเสนาะ ได้ลำดับที่ ๑๑ ของอำเภอ ซึ่งเป็นแรงขับทำให้เขาไม่ยอมแพ้และฝึกซ้อมจนกระทั่งสามารถคว้ารางวัลที่ ๑ มาได้
“พออ่านกลอนแล้วมันซึมซับจังหวะ ฉันทลักษณ์ เพราะเรามีตุ๊กตาในใจ เวลาเรียน พออาจารย์สั่งการบ้านให้แต่งกลอนเราก็แต่งได้เลยในขณะที่เพื่อนบอกยาก แต่เราบอกง่ายมาก และพอเราแต่งได้ดีเพื่อนก็มาขอให้เราช่วยแต่งให้ แต่เราไม่ได้แต่งฟรี ๆ นะ รับจ้างแต่งกลอนละ ๒ บาท เราก็หาเงินตั้งแต่สมัยยังเด็กเลย เขียนด้วยลายมือไปให้เพื่อนลอกเอาเพื่อส่งครู ปรากฏว่ามีเพื่อนคนหนึ่งเอาเศษกระดาษที่เราเขียนไว้ไปทิ้งขยะ แล้วอาจารย์ไปเจอซึ่งมีลายมือผมเขียนว่า ค่าบริการ ๒ บาท อาจารย์เลยเรียกผมมาตี และเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เรามีประวัติศาสตร์ส่วนตัวร่วมกับครูคนนั้น พอถึงระดับ ม.ปลายก็ได้ฝึกเขียน และพอเข้ามหาวิทยาลัย ก็ได้เขียนกลอนและเขียนจากความรัก รักที่อยากเขียนเพราะเราอ่านมาเยอะ” จักรินทร์บอกเล่าในวันที่มีโอกาสได้นั่งคุยกันจริง ๆ จัง ๆ หลังจากเขาขึ้นเวทีโชว์ลูกคอ พร้อมสเต็ปการรำ บนเวทีงานบุญเดือนสามของปีนี้
เขายังบอกอีกว่า เริ่มอ่านกวีนิพนธ์ และยิ่งอ่านยิ่งมีแรงบันดาลใจมาก อ่านทั้งกวีนิพนธ์ โดยเฉพาะเรื่อง ใบไม้ที่หายไป ของ จิระนันท์ พิตรปรีชา และการอ่านบทกวีนิพนธ์ก็สามารถตอบโจทย์ตัวเขาเองได้ เพราะบทกวีส่วนใหญ่สะท้อนสะท้อนความเป็นไปของสังคม เป็นภาพชีวิตประจำวันของคนอยู่แล้ว และตัวเขาเองเกิดในบริบทสังคมอีสานเห็นความลำบาก เห็นการเอารัดเอาเปรียบ ทำให้เขาไม่ยอมคน และต้องการเขียนกลอนออกมาเพื่อสิ่งที่พบเห็นและสิ่งที่อยู่ในใจ เลยเอาภาพชีวิตที่เห็นมานำเสนอ
“ผมเขียนเรื่อง จากแดนปลาแดกสู่แดนปลาดิบ ซึ่งเป็นชีวิตของผู้หญิงในหมู่บ้านของผมที่ไปทำงานที่ญี่ปุ่น และพอเขียนเสร็จก็ส่งไปลงในหน้านิตยสาร ปรากฏว่าได้ลงตีพิมพ์เลย ซึ่งโชคดีเวลาส่งไปที่ไหนก็จะส่งไปชิ้นเดียว และมักจะได้ลง ผมไม่เขียนเยอะ จะเขียนเท่าที่อยากจะเขียนจริง ๆ ถ้าเขียนด้วยอารมณ์จะเขียนได้น้อย แต่ถ้าเขียนด้วยความคิดจะเขียนได้เยอะ” จักรินทร์กล่าวเสริม
เขาบอกต่อว่า กาพย์กลอนทำให้เขาได้กลับบ้าน เพราะตั้งแต่ ม. ๑ – ๖ ไม่เคยออกจากบ้านเลยเรียนหนังสืออยู่บ้านตลอด พอเรียนมหาวิทยาลัยต้องมาอยู่กรุงเทพฯ และเวลาเขียนกาพย์กลอนทำให้ได้กลับบ้านเพราะเขียนสะท้อนสังคมชนบทที่คุ้นชิน เวลาเขียนทีไรก็จะมีฉากชีวิตที่บ้านเกิดแต่หลัง ๆ พอเอาผลงานเก่า ๆ มาอ่านก็รู้สึกเชยโดยเฉพาะกลอนที่เขียนเอาไว้ตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๔๗ พอมาอ่านในช่วงที่ตัวเองเริ่มชำนาญขึ้นก็จะพบว่าสิ่งที่เขียนมันดูเชย ดูเก่าไปแล้ว
“การเข้าแข่งขันเขียนกลอนสดมันมีอิทธิพลกับผมมาก เพราะกลอนสดมันครอบเรา เนื่องจากกลอนสดต้องเขียนภายในเวลา ๘-๑๐ นาที เวลาเขียนจะต้องเขียนให้ได้ภายในเวลากำหนด เวลาใช้คำ ใช้ความคิดจะติดในกรอบ เพราะฉะนั้นคำที่ใช้ก็เป็นคำเชย ๆ เป็นคำชุดที่ใช้กันดาษดื่น ทำให้ช่วงหลัง ๆ ผมไม่อยากเขียนกลอนสดเท่าไหร่ อยากเขียนกลอนที่ใช้ความคิด และใช้คำที่มันมีคุณค่ามากขึ้นมากกว่า ทำให้ผมตะลุยอ่านหนังสือเยอะมาก เพื่อเก็บคำ เพื่อพัฒนาเนื้อหาในการเขียนพัฒนาตัวเองด้วย ต้องสร้างวุฒิภาวะให้เกิดขึ้นในใจเราด้วย
“เวลาผมเขียนงานแล้วไม่ผ่านกรรมการ ไม่ผ่านบรรณาธิการ ผมทิ้งเลยนะ เพราะชีวิตของผม ผมให้คนอื่นตัดสินมาตลอด จนปัจจุบันนี้ผมจะเขียนงานให้คนอื่นอ่าน หากไม่ผ่าน ผมก็ไม่เอา” จักรินทร์ตอกย้ำถึงคุณภาพงานที่เขานำเสนอ และเกณฑ์มาตรฐานของงานที่เขากำหนดเอาไว้
ส่วนบทบาทหน้าที่การงานของเขาที่เป็นอยู่คือการเป็นครูสอนวิชาภาษาไทยให้กับเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษา และสร้างเด็ก ๆ ให้รักการอ่านการเขียนนั้นเขาบอกว่า งานหลักของเขาคืออ่านหนังสือ งานรองคือสอนหนังสือ งานที่สามคือเขียนหนังสือ แม้งานที่สามจะทำได้น้อย แต่ก็ทำด้วยความจริงใจและบริสุทธิ์ใจ อาทิตย์หนึ่งมีชั่วโมงสอน ๑๘ ชั่วโมง มีเวลาว่างอย่างวันพุธสอน ๑ คาบ ว่าง ๗ คาบ ก็ไปซื้อหนังสือ เพื่อเอาหนังสือมาอ่าน ถ้าอ่านแล้วไม่เขียนก็เสียดายวัตถุดิบ เพราะอ่านแล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจให้เราอยากเขียน บางเรื่องที่อ่านแล้วทำให้สามารถแตกยอด แตกประเด็น ไปเกิดบทกวีบทหนึ่งได้เพราะงานศิลปะส่งอิทธิพลถึงกัน
“ผมเป็นนักเขียนได้เกิดจากการอ่านหนังสือคนจะเขียนหนังสือต้องอ่านหนังสือ ถ้านักเขียนคนไหนไม่อ่านหนังสือ คุณจะเป็นนักเขียนได้แค่เศษสวะ และเป็นวรรณกรรมที่มาแล้วหายไป จะไม่มีชื่อปรากฏในวงการนักเขียนไทย เป็นงานแค่หลอกล่ออารมณ์ของผู้อ่านเท่านั้น เป็นความบันเทิงในทางร้าย และเป็นภัยต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพราะงานประเภทนี้เยาวชนเสพเยอะ ทำให้เกิดค่านิยมไม่ดีขึ้นในสังคม คนเป็นนักเขียนควรจะคำนึงเวลาเขียนอะไรออกมา ว่าคนอ่านจะได้รับอะไรจากสิ่งที่คุณเขียน
“การอ่านของเด็กในกรุงเทพฯ ผมเป็นครูสอนเด็ก บอกได้เลยว่า เด็กกรุงเทพฯสนใจการอ่านมาก อย่างผมเป็นเพียงเด็กต่างจังหวัดที่อ่านหนังสือ แล้วผมไปอยู่ในกรุงเทพฯ แต่เด็กกรุงเทพฯ มีรากฐานการอ่านที่เข้มแข็ง จะไปบอกว่าเขาไม่อ่านหนังสือไม่ได้ เพราะเขาอ่านหนังสือแต่อาจจะอ่านหนังสือไม่เหมือนเรา พื้นฐานการอ่านเขาดีมาก อย่างล่าสุดเด็กนักเรียนถามผมว่าคุณครูเคยอ่าน แฮรี่ พ็อตเตอร์ ไหม ? ผมบอกไม่ได้อ่าน เด็กก็โห่ผม แล้วเขาตอกกลับมาว่าอาจารย์รู้จักอ่านหนังสือบ้างสิ เพราะหนังสือเล่มนี้เขาดังไปทั่วโลกแล้ว เห็นไหมว่าเขาอ่านหนังสือแต่อ่านในแบบของเขา ผมก็ต้องลบช่องว่างด้วยการไปอ่านกับเขา เวลาเราอ่านหนังสือดี เราต้องบอกเขา แต่ไม่ใช่ยัดเยียดให้เขาอ่าน” ครูนักเขียนบอก
ส่วนเคล็ดลับในการเขียนหนังสือนั้น จักรินทร์บอกว่า มีครูในใจหลายคน ทั้งครูกลอน ครูเรื่องสั้น นวนิยาย ครูเพลงพื้นบ้าน ที่เขาอ่านผลงาน ฟังผลงาน และครูอาจารย์เหล่านี้อยู่ในใจเขาทั้งนั้น เวลาเขาทำอะไรจะระลึกถึงครูเหล่านี้เสมอ
“ทำอะไรผมจะนับถือครูอาจารย์มาก เพราะผมได้ดีเพราะครู เห็นผมท่าทางอย่างนี้ เวลาเขียนอะไรจริงจัง ผมจะสวดนะโม ๓ จบ และตั้งจิตรำลึกถึงคนดี ความดี จะทำให้เราเขียนออกมาดี มีวุฒิภาวะของการคิดได้ สร้างขึ้นมาเพื่อนำเสนอสิ่งดี ๆ ชักนำให้เกิดสิ่งดีงามขึ้นมาในชีวิตเราเสมอ” นั่นคือถ้อยคำของนักเขียนหนุ่มวัยเลยเบญจเพส ที่บอกเล่าให้ฟัง ในวันที่ชื่อของเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วบรรณพิภพ และนี่คือคนบนที่ราบสูงอีกคนหนึ่งที่วันนี้ทุกคนได้รู้จักเขา จักรินทร์ สร้อยสูงเนิน