จากก่องกานท์ ~ กายาฟู้ด
อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี (4 – จบเบื้องต้น)
คุณสมศักดิ์ – คุณบุษบา ประภาสพงศ์ สองสามีภรรยาเจ้าของ “ก่องกานท์ ~ กายาฟู้ด” ผู้สามีเรียนมาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ภรรยาเรียนอักษรศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเดียวกัน
คุณสมศักดิ์ และคุณบุษบา เป็นนักกิจกรรม อยู่ในสายธารประชาธิปไตยมาตั้งแต่เป็นนิสิตนักศึกษา แม้เมื่อประกอบกิจการใช้วิชาหาเลี้ยงชีพก็ยังมีจิตใจสำนึกเพื่อนส่วนรวมอย่างเต็มเปี่ยม ยังเข้าร่วมกิจกรรมกับมิตรสหายอย่างสม่ำเสมอ
ในโอกาสที่ผมได้ไปเยี่ยมเยือนครั้งนี้ มีเรื่องหนึ่งที่ตัวผมและคุณบุษบาคาดคิดไม่ถึง คือ ผมได้นำหนังสือ 3 เล่มชุดเรื่องครูเตียง ศิริขันธ์ ติดตัวไปแนะนำด้วย 1 ใน 3 เล่มชุดบรรจุกล่องนั้นเขียนโดย ศ.วิสุทธ์ บุษยกุล อาจารย์อาวุโสคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่คุณบุษบาชื่นชมศรัทธามาก โดยไม่เคยรู้อดีตประวัติที่สำคัญของอาจารย์วิสุทธ์มาก่อนเลยว่า ท่านเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย ที่ต่อสู้กู้ชาติภายใต้การนำของ “ขุนพลภูพาน” ~ เตียง ศิริขันธ์ ทั้งนี้อาจารย์วิสุทธ์ยังเป็นศิษย์รักของครูเตียง ยามเรียกชื่อครูเตียงจะเรียก “คุณครูเตียง” ทุกคำพูด
“ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล เกิด: 8 พฤศจิกายน 2462, อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี; อนิจกรรม: 21 มกราคม 2554, กรุงเทพมหานคร (91 ปี 74 วัน) บิดาเป็นชาวจังหวัดอุดรธานี มารดาเป็นชาวสมุทรสงคราม เนื่องจากบิดารับราชการในแผนกคลังจังหวัด เด็กชายวิสุทธ์จึงต้องติดตามบิดาไปอยู่จังหวัดนครพนมตั้งแต่อายุประมาณ 2-3 ขวบ และได้เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จึงได้ย้ายไปศึกษาต่อที่ โรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ได้เข้ารับราชการเป็นครูประชาบาลเมื่อ พ.ศ. 2478
ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล ขณะเรียนมัธยมมีความสนใจในภาษาอังกฤษและภาษาไทย ต่อมาได้ศึกษาภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมและสอบได้วิชาครูประถม พ.ศ. 2480 เข้าเป็นครูในโรงเรียนประจำจังหวัดสกลนคร ทำให้มีทุนทรัพย์พอจะหาทางศึกษาต่อระดับสูง ขณะนั้น มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็นมหาวิทยาลัยเปิด สามารถสมัครเรียนได้โดยไม่ต้องมาเข้าเรียน อาจารย์วิสุทธิ์จึงได้สมัครเรียนวิชานิติศาสตร์ โดยอ่านตำราด้วยตนเองและลาเข้ามาสอบในกรุงเทพฯ ปีละครั้ง กระทั่งสอบได้ปริญญาธรรมศาสตร์บัณฑิต
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจารย์วิสุทธ์ได้เข้าร่วมกับขบวนการเสรีไทย และถูกส่งตัวไปอินเดียเพื่อฝึกการรับส่งวิทยุโทรเลขที่เมืองปูนา ระหว่างนั้นได้พบเห็นวัฒนธรรมหลายประการ ทำให้เกิดความสนใจในเรื่องภาษาและศาสนาของชาวอินเดีย ทว่าอยู่ที่อินเดียไม่นานนักสงครามก็ยุติจึงได้กลับประเทศไทย ปี พ.ศ. 2490 ได้เข้ารับราชการในกรมสรรพากรจนถึงปีต่อมาได้ลาอุปสมบท 1 พรรษาที่จังหวัดสกลนคร เมื่อลาสิกขาแล้ว ได้ตัดสินใจสอบแข่งขันชิงทุนไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ปรากฏว่าได้รับทุนกระทรวงศึกษาธิการไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา
ได้ศึกษาภาษาสันสกฤตที่ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เมืองฟิลาเดลเฟีย และยังสนใจศึกษาภาษาโบราณอื่น ๆ เช่น ภาษาอิหร่านและเปอร์เซียโบราณ ตลอดจนภาษาโขตานในเอเชียกลาง ระหว่างทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเกิดล้มป่วยต้องเข้ารับการรักษาและมีโรคแทรกซ้อน ต้องเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อกลับมาได้เป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตำแหน่งสุดท้ายคือหัวหน้าภาควิชาภาษาตะวันออก กระทั่งได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณตามลำดับ
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์วิสุทธ์ บุษยกุล ยังดำรงตำแหน่งราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ประเภทวรรณศิลป์ สาขาวิชาตันติภาษา หนังสือผลงานเขียนเล่มอื่น ๆ ของท่าน เช่น “วิสุทธ์นิพนธ์”, ภาษาบาลีเบื้องต้น, วิสุทธอักษร เป็นต้น …“
การส่งมอบหนังสือชีวประวัติขุนพลภูพาน ~ เตียง ศิริขันธ์ 3 เล่มชุดให้คุณบุษบา จึงปีติทั้งผู้ส่งมอบ ผู้รับ และสักขีพยานในที่ชุมนุม ณ “ก่องกานท์ | ฟาร์มผัก | ที่พัก” แห่งนั้น.