#ชะตากรรมกับเจตจำนงเสรี ฉบับที่ ๒

#ชะตากรรมกับเจตจำนงเสรี

ฉบับที่ ๒ “พ่อ”

ลูกรัก

ปู่เดินทางมาจากเวียดนามตอนกลาง จากหมู่บ้านไตรเล ตำบลกันล็อค จังหวัดฮาติ่น ไม่ไกลจากวินห์ บ้านเกิดของโฮ จี มินท์ ท่านเล่าว่า มาตอนอายุ 8 ขวบกับแม่และน้อง ๆ เดินเท้ามาระยะทาง 200 กิโลเมตร ใช้เวลากว่าสามสัปดาห์ ถึงท่าแขก แล้วข้ามมานครพนม ที่ทวด (พ่อของปู่) รออยู่กับญาติพี่น้องคนอื่นที่ล่วงหน้ามาก่อน

ปู่อยู่นครพนมหลายปีก่อนย้ายมาอยู่ท่าแร่ ห่างจากนครพนมมาทางสกลนคร 70 ก.ม. ที่นครพนมปู่เล่าว่า ไปจับปลาในแม่น้ำโขงกับพ่อของท่าน (องเทียว) ที่คงจับปลาเก่ง เพราะสามารถทำเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้

ปู่บอกว่า เรียนที่โรงเรียนที่บ้านที่ไตรเลยังไม่จบ ป.4 ภาษาเวียดนามเขาใช้อักษรโรมัน ปู่อ่านออกเขียนภาษาเวียดนามได้ ส่วนภาษาไทยพูดได้ฟังได้ อ่านก็พอได้ แต่เขียนไม่ถนัด เมื่อพ่อไปเรียนต่างประเทศ ปู่เขียนถึงพ่อเป็นภาษาไทยด้วยอักษรโรมัน ต้องใช้เวลาอ่านนานหน่อย

จำได้ว่า ตอนปู่อายุมาก เคยเห็นซื้อหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชนมาอ่านที่บ้าน ท่านเรียนรู้เมื่อไรอย่างไรไม่ได้ถาม ปู่สนใจติดตามข่าวสารบ้านเมือง ปกติฟังวิทยุ ต่อมาดูทีวี แต่ก็คงอยากรู้จากหนังสือพิมพ์ด้วย

ปู่ทำงานจิตอาสาให้วัด ให้บ้านเณร ให้สมาคมวินเซนต์เดอปอล ที่ทำหน้าที่ช่วยคนจน เป็นเหรัญญิกสภาวัด ช่วยคุณพ่อที่บ้านเณรซื้อข้าวเปลือก และป้องกันไม่ให้ถูกโกง รายละเอียดที่คุณพ่อจักแมง อดีตอธิการบ้านเณรเล่าด้วยความชื่นชมในหนังสือ “ผู้เป็นแบบอย่างชีวิต”

ปู่เข้าใจหัวอกคนจน เพราะเคยเป็นคนจนและยังถือว่าเป็นอยู่ก็ได้ ถ้าเอามาตรฐานสังคมทั่วไปมาวัด แต่ถ้าวัดกันแบบพอเพียง ปู่ก็ไม่จน แต่ก็ไม่รวย

ที่บ้านมีร้านขายของชำเล็ก ๆ ที่ย่าดูแล บางวันย่าไปในเมืองสกลนคร ห่างออกไป 20 ก.ม. บอกปู่ให้ดูแลร้านและขายของ เมื่อย่ากลับมาพบว่า ปู่ขายข้าวในราคาขาดทุน ปู่บอกว่า ก็เขามีเงินมาแค่นั้น เลยให้ไปเพราะครอบครัวเขาลูกมาก คงเดาได้ว่า ปู่ถูกย่าดุแน่นอน แต่ปู่ก็คงได้แต่ยิ้มและหัวเราะหึหึเท่านั้น

ปู่ใส่ใจในความต้องการและปัญหาของลูกหลาน คนยากคนจน และรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายเพื่อสังคม คุณมสาร วงศ์ภักดี อดีตนายกสมาคมวินเซนต์เดอปอล เขียนเล่าในหนังสือ “ผู้เป็นแบบอย่างชีวิต” ว่า ฝรั่งที่มาดูงานเรียกปู่ว่า “นายพล” (the general) เพราะเป็นคนที่จัดการงานได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย

ปู่เป็นคนเสียงดัง บางครั้งย่าต้องบอกให้เบาเสียงลง ปู่เคยสูบยาเส้น ต่อมาสูบบุหรี่เหมือนผู้คนทั่วไป แต่เมื่ออายุประมาณ 60 ก็เลิก เคยถามท่านว่า ทำไมดูเลิกง่ายจัง ปู่ตอบว่า ไม่ง่ายหรอก แต่พอเลิกแล้วหายใจสะดวกขึ้น สบายดีกว่าเดิมเลยเลิกเลยปู่ดื่มเหล้า แต่ดื่มเพื่อให้กินข้าวแซบ คือดื่มก่อนกินข้าวเหมือนเรียกน้ำย่อย พ่อกลับไปบ้านตอนปู่ย่าอายุมากก็มักซื้อเหล้าฝรั่งดี ๆ ไปฝากปู่ มีช่วงหนึ่งที่ไปบ้านบ่อย พบว่าเหล้าหมดเร็ว ปู่บอกว่า เพราะเจ้าหลานสองคนมาบ้านทีไรก็ขอดื่มด้วย ปู่ก็ไม่เคยปฏิเสธ พ่อจึงแนะนำว่า ควรเอาไปไว้ในห้องนอนดีกว่า ต่อมาเหล้าจึงหมดช้าลง

ปู่อบรมสั่งสอนลูกเสมอ ปกติพูดเท่านั้น ไม่มีการลงโทษ ยกเว้นที่พ่อโดนปู่ตีสองหน ครั้งหนึ่งเพราะงอนไม่กินข้าว ซึ่งปู่ถือว่า ทำเช่นนั้นไม่ได้ อีกครั้งทะเลาะกับพี่สาวขณะทานข้าว ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้าม ทั้งสองครั้ง ปู่ให้พ่อนอนคว่ำลงกับพื้นบ้าน ข้าง ๆ ที่ทุกคนกำลังทานข้าวนั่นเอง ปู่เทศน์สอนนาน แล้วก็หวดด้วยหวายสองสามที ก็คงเจ็บอยู่บ้างหรอก ทำให้จดจำมาจนถึงทุกวันนี้ และไม่ทำสองอย่างนั้นอีกเลย

ตอนอายุมาก ปู่ก็เลิกทำงานหนัก ลูก ๆ ช่วยกันดูแลปู่กับย่า อาตา ลูกสาวคนเล็กกับครอบครัวอยู่ที่บ้านกับท่านทั้งสอง คนอื่น ๆ ก็ช่วยกันดูแลเท่าที่แต่ละคนจะทำได้

แม้งานไม่หนัก พี่ ๆ ยังขอให้พ่อบอกปู่ให้เลิกทำงาน อยู่เฉย ๆ พักผ่อนเถอะ ทำงานมาตลอดชีวิตแล้ว พ่อไม่ได้บอกปู่ ตอบพี่ ๆ ไปว่า “พ่อยังสุขภาพดี ไม่ได้เจ็บป่วยอะไร ยังทำงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ คนทำงานมาตลอดชีวิต จะให้นั่ง ๆ นอน ๆ อยู่เฉย ๆ ได้อย่างไร พ่อเขารู้ตัวดีว่า ถ้าเหนื่อยก็พัก หนักก็เลิก การทำงานเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ปล่อยให้พ่อทำไปเถิด”

แต่ที่ทำให้พี่ ๆ เลิกขอให้พ่อบอกปู่เรื่องการทำงาน เพราะพ่ออ้างงานวิจัยของเยอรมันว่า คนเกษียณอายุแล้วไม่ทำอะไร ได้แต่กินแล้วนั่ง ๆ นอน ๆ ดูทีวี สองปีก็ตาย

ทุกวันปู่จะตื่นนอนตั้งแต่ตีสามตีสี่ สวดมนต์ ไปวัด ฟังมิสซา กลับมาก็รดน้ำดอกไม้ที่หน้าแท่นพระที่ห้าแยกหน้าบ้าน ไปตัดหญ้ามาให้วัวตัวหนึ่งที่เลี้ยงไว้ในเครือข่ายวัวเนื้อ “โพนยางคำ” ทานอาหารเช้า แล้วก็นอนพักผ่อน จนถึงอาหารเที่ยง ตอนบ่ายก็ไปวัดอีกพักใหญ่ ปู่นอนแต่หัวค่ำเมื่อดูข่าวเสร็จ

เคยถามปู่ว่า เห็นสวดภาวนามาก บอกพระว่าอย่างไร ปู่ตอบว่า สวดให้ลูกหลานทุกคน ขอให้สุขภาพดี ปลอดภัย ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย และขอให้ตัวเองตายดี ไม่ทรมานนาน และปู่ก็ได้สมความปรารถนา ปู่เจ็บป่วยหนักจริง ๆ 10 วันที่โคม่าก็จากไป ห้อมล้อมด้วยลูกหลานเต็มบ้าน

ปู่เรียนจบเพียงชั้น ป.2-3 ที่เวียดนาม แต่ก็ได้เรียนจากโรงเรียนชีวิต มีความเชื่อศรัทธาในศาสนา เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คน แม้แต่ผียังกลัว ปู่เคยไล่ผีตอนที่ไปอยู่บ้านนาเพียง เวลามีผีเข้า คนมักไปขอให้ไล่ผีให้ ปู่ก็ใช้สายประคำและสวดมนต์จนผีออก พ่อเคยเรียนเรื่องผีปอบกับคุณหมอสงัน สุวรรณเลิศ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา ที่ทำวิจัยเรื่องผีปอบมามาก พ่อไม่เชื่อเรื่องผีบอป ไปเถียงกับปู่ ท่านบอกว่า “ไม่มีผีได้ยังไง ก็พ่อไล่มันมากับมือไม่รู้กี่ตัว”

ปู่ไม่เคยเรียนสูง ๆ ไม่รู้จักแนวคิดทางสังคม ไม่รู้จักมาร์กซิสต์ แต่ปู่รับความเหลื่อมล้ำต่ำสูงไม่ได้ คนทุกคนมีศักดิ์ศรี เป็นบุตรพระเจ้าเหมือนกัน ปู่อยากให้ทุกคนรักกัน เป็นพี่น้องกัน เคารพกัน ไม่ว่าจะแตกต่างกันในความเชื่อ ความคิด เชื้อชาติ ศาสนา และสถานะทางสังคม

ในงานบุญร้อยวันของปู่กับย่า พ่อได้ขอให้ผู้ใหญ่และกัลยาณมิตรหลายท่าน ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านเขียนบทความภายใต้หัวข้อ “พี่น้องเดียวพี่น้องกัน” แล้วพิมพ์เป็นหนังสือชื่อเดียวกัน

ดูรายชื่อผู้เขียนสิ ลูกจะรู้ว่า ท่านเหล่านั้นมีน้ำใจขนาดไหน ที่กรุณาเขียนบทความให้เป็นพิเศษทุกคน พระไพศาล วิสาโล, คุณหมอประเวศ วะสี, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, ทองใบ ทองเปานด์, ยอดธง ทับทิวไม้, นิธิ เอียวศรีวงศ์, สุจิตต์ วงศ์เทศ, ขรรค์ชัย บุนปาน, สมบูรณ์ วรพงษ์, กรุณา กุศลาศัย, พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ, นอกนั้นมีบรรดาผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านอย่างผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ลุงประยงค์ รณรงค์ เตือนใจ ดีเทศก์ เล็ก กุดวงศ์แก้ว เป็นต้น

หนังสือมีเนื้อหาดี จนบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์แนะนำว่า น่าจะเผยแพร่ในวงกว้าง ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมที่ต้องการความสมานฉันท์ ในสภาพบ้านเมืองที่แตกแยก พ่อจึงได้ตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง โดยคัดบางบทความที่เป็นเรื่องเฉพาะออก

อีกเล่มหนึ่ง คือ ผู้เป็นแบบอย่างชีวิต ที่พ่อได้สัมภาษณ์ผู้ใหญ่ รวมทั้งที่เป็นพระสงฆ์ นักบวช ที่ได้รู้จัก เพื่อนสนิทของปู่ย่า ให้เขียนความทรงจำเกี่ยวกับท่านทั้งสอง และได้ขอให้ลูกหลานเหลนเขียนด้วย แรก ๆ ก็ไม่มีใครยอมเขียน แต่เมื่อพ่อเล่าให้ทุกคนฟังว่า แม้แต่ป้าจุ้ด พี่สาวคนโตของพ่อ ที่จบป.4 แม่ค้าขายของที่ตลาดยังเขียนเลย ทุกคนจึงได้ลงมือเขียน เพราะพ่อสัญญาว่าจะปรับปรุงให้เป็นข้อเขียนที่ดี น่าอ่าน

เรื่องป้าจุ้ด เมื่อพ่อขอให้เขียน ป้าปฏิเสธว่า เธอเขียนเก่ง เขียนเองเถอะ พ่อถามว่า พี่มีอะไรดี ๆ ที่อยากเล่าเกี่ยวกับพ่อแม่เราให้ผมฟังบ้างไหม ป้าคิดครู่หนึ่งก็ตอบว่า มี แล้วก็เริ่มเล่า พ่อบอกว่า หยุด ๆ เอางี้ ขอให้พี่เขียนจดหมายถึงผม เล่าเรื่องทั้งหมดนี้และอื่น ๆ ที่อยากเล่า เพราะพี่เคยเขียนจดหมายถึงลูกที่เรียนอยู่กรุงเทพฯ ส่งลูกเรียนจบปริญญาตั้ง 4-5 คน พ่อบอกป้าเขาว่า จะปรับให้เป็นบทความน่าอ่าน

นั่นคือที่มาของหนงสือเล่มโต ที่พิมพ์แจกในงานบุญร้อยวัน ที่ใคร ๆ ชื่นชมและนำไปเป็นต้นแบบของการเขียนเรื่องราวเพื่อรำลึกถึงบุพการี ปู่ย่าตายาย

บันทึกชีวิตในรูปแบบจดหมายถึงลูกก็คงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทุกคนสามารถเขียน “อัตชีวประวัติ” ได้ง่ายกว่าแบบที่เขียนกันทั่วไป พ่ออยากให้ผู้สูงวัยทั้งหลายเขียน “จดหมาย” ถึงลูกหรือถึงใครก็ได้ เล่าเรื่องชีวิต ที่ล้วนเป็นสิ่งมหัศจรรย์ !

รักลูก – พ่อ

เสรี พพ บทเรียนชีวิต 13.11.22

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com