ชีวิตการอ่าน…กามนิต

ทางอีศาน ฉบับที่ ๖ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๕
คอลัมน์: เรื่อยๆมาเรียงๆ
Column: Easy… easy
ผู้เขียน: ปกรณ์ ปกีรณัม


ช่วงอากาศแปรปรวนเช่นนี้ ผมไม่อยากอ่านหนังสือเอาดื้อ ๆ วิธีแก้ปัญหาที่ผมใช้บ่อย ๆ คือหาการ์ตูนตลกมาอ่าน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นตัวฉุดอารมณ์อยากอ่านให้เกิดขึ้น ซึ่งก็ได้ผลอยู่บ้างทำให้นึกถึงประโยคที่ว่า

“A man ought to read just as inclination leads him ; for what he reads as a task will do him little good” [๑]

“คนเราควรจะอ่านหนังสือตามที่เขาอยากจะอ่าน : เพราะคนที่อ่านหนังสือแบบเป็นงานที่ต้องอ่าน จะไม่ได้อะไรมากนัก”

คิดถึงสมัยเรียนอยู่ชั้นประถม บ้านผมอยู่ไกลปืนเที่ยง โรงเรียนอาศัยศาลาวัด วันไหนฝนตก ฝนสาด ต้องอยู่รวม ๆ กันกลางศาลา ถ้าตรงกับวันที่ทางวัดมีกิจกรรมทางศาสนาก็ต้องหยุดเรียนขณะที่ผมเรียนอยู่ชั้น ป.๓ ครูจบใหม่ย้ายไปสอนและพักที่บ้านผม ผมแอบเอาหนังสือเรื่องกามนิตของครูไปอ่าน รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ตามประสาเด็กชั้นประถม

อ่านไปก็ฝันไป ฝันถึงลานอโศก ฝันถึงทางช้างเผือก ครับ นั่นคือจุดเริ่มต้นการอ่านของผม

นวนิยายเรื่องกามนิต คาร์ล อดอล์ฟ เจลลิรูป (Karl Adolph Gjelleru) เขียนขึ้นในช่วง พ.ศ. ๒๔๐๐ – ๒๔๖๒ เป็นการนำพระสูตรใหม่อีกเรื่องหนึ่งของพระพุทธเจ้าในมหายานมากล่าวสู่กันฟัง

“เสฐียรโกเศศ” , “นาคะประทีป” ทั้งสองท่านร่วมกันถ่ายทอดออกมาด้วยสำนวนที่ชวนติดตาม ทำให้เด็กรุ่นหลังอย่างผมหลงใหล รักการอ่าน รักหนังสือ มาจนถึงวันนี้

จำประโยคที่ท่าน “เสฐียรโกเศศ” เขียนไว้ว่า

“หนังสือกามนิต สำเร็จเป็นภาษาไทยได้อย่างงดงาม เพราะพระสารประเสริฐเลือกหาคำมาใช้ได้เหมาะ ๆ เป็นอย่างในภาษาอังกฤษว่า คำเหมาะอยู่ในที่เหมาะ”

ที่อ่านติดเพราะประทับใจในบทเริ่มต้น ผมมองเห็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จตามทางมาใกล้เบญจคีรีนคร ผมมองเห็นแสงแดดยามเย็นทอแสงทั่วทุ่ง เห็นหมู่เมฆซ้อนซับสลับเป็นทิวแถว เห็นชาวนาและวัวต่างพากันเดินกลับบ้าน

บ้านหลายหลังที่พระพุทธเจ้าเสด็จผ่านไปนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านนายพราน บ้านผัวเมียทะเลาะกัน บ้านที่กำลังตั้งวงสรวลเสเฮฮาร้องรำทำเพลงกัน ตอนที่ผมต้อนควายกลับเข้าคอก ผมผ่านบ้านเช่นนั้นที่หมู่บ้านของผมทุกวันเช่นกัน จึงเป็นความประทับใจที่ฝังอยู่ในความทรงจำของผมตลอดมา

เมื่อเริ่มต้นอ่าน ผมจึงตะลุยอ่านให้จบ เพราะอยากรู้ว่าเรื่องราวจะเป็นไปอย่างไร ประโยคยาก ๆ ศัพท์แสงที่ไม่เข้าใจผมก็ผ่านเลยไปยังจำได้ไปถึง เมื่อพระพุทธองค์ผ่านบ้านหลายหลังไปนั้น ทรงระลึกถึงถ้อยคำที่เคยตรัสไว้คือ

“ถ้าจะดูโศกาดูรในหมู่สงฆ์ก็ในการร้องขับทำเพลง ถ้าจะดูความบ้าในหมู่สงฆ์ก็ในการเต้นรำ ถ้าจะดูความเป็นเด็กในหมู่สงฆ์ ก็ในอาการยิงฟันหัวเราะ”

ที่จำได้เพราะเวลาผมไปวัดกับแม่ ผมจะแอบดูว่า หลวงพี่ทำอย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ไหม

เมื่อไม่นานมานี้ ผมไปพักโรงแรมระดับห้าดาวในกรุงเทพฯ เดินผ่านห้องประชุม ได้ยินเสียงหัวเราะเฮฮา ปรบมือเป็นจังหวะ นึกว่าคอนเสิร์ตถามบ๋อย ๆ บอกว่า ในห้องนั้นพระกำลังเทศน์

ปัจฉิมโอวาทที่พระองค์ตรัสกับวาสิฏฐีคือ “ที่ใดมีความรัก ที่นั้นมีความทุกข์”, “จงถือเอาตนเป็นที่พึ่ง จงถือเอาพระธรรมเป็นที่พึ่ง”

ประทับใจฉากหนึ่งที่หญิงครรภ์แก่ใกล้คลอดตกใจที่เห็นพระองคุลิมาล พุ่งหัวเข้าไปช่องรั้ว สองมือยันดินติดท้องอยู่ครึ่งตัว เท้าทั้งสองเชิดดิ้นถีบลมอยู่กระแด่ว ๆ พระองคุลิมาลจะเข้าไปช่วยแหวกรั้วก็กลัวจะตกใจขวัญหนีดีฝ่อหนักขึ้น ได้แต่ทำสัจกิริยา ตั้งสัจจาธิษฐานดัง ๆ ให้ได้ยินว่า

“ยโต, หํ ภคินิ อริยาย ชาติยา, นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชิวิตา โวโรเปตา, เตน สจฺเจน โสตฺถิเต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส”

พอสิ้นเสียงสัจจาธิษฐาน ลูกก็ผลุดจากครรภ์โดยสวัสดิภาพ

ผมมองเห็นนรกหอกที่พระพุทธเจ้าพาองคุลิมาลไปดู เห็นวาชศรพถูกหอกซัดแปลบปลาบเสียบติดร่างกายทุกด้าน ร้องครวญคราง และยังมีฝูงกาปากเหล็กจิกเนื้อทึ้งหนังกินซ้ำอีก

ผมเห็นสวรรค์ที่มีกามนิตนั่งขัดสมาธิบนดอกบัวกลางสระ พื้นชานตลิ่งเป็นลานหญ้าผืนใหญ่ราบรื่นขจีเขียว ระดาดด้วยไม้ดอกบ้างกอบ้างเบื้องบนอันตระการ ท้องฟ้าโค้งคล้ายครอบไว้ด้วยเพดานสีน้ำเงิน เมฆสีขาวสะอาดเป็นเงินยวง ก้อนน้อย ๆ ลอยเป็นกลุ่ม ๆ แต่ละก้อนมีอัปสรทรงโฉมวิลาสเอนอิงขับสังคีตทิพยดนตรี…

ฝันถึงพรหมโลก… เป็นแดนวิศวากาศอันหาเขตมิได้ ดาวเทพพร่างพราวนับจำนวนไม่ได้ดาวดวงนั้นเหมือนกับมีชีวิต ด้วยอาศัยมโนมยฤทธิ์ของกามนิต หมุนรอบตัวเอง คือลักษณะความเป็นอยู่แห่งกามนิตในพรหมโลก รวมทั้งดาวของวาสิฏฐี ที่เปล่งรัศมีประสานและหมุนตามกัน ดาวทุกดวงมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือรับแสงจากท้าวมหาพรหมแล้วสะท้อนกลับไปสู่ท้าวมหาพรหม สืบชีพนับอสงไขยกัลป์

ในวันนี้ ผมเห็นหน้าตาตัวละครในเรื่อง เห็นกามนิต เห็นวาสิฏฐี เห็นบรรยากาศผ่านลายเส้นของ ช่วง มูลพินิจ

ผมปลูกทองหลางลาย[๒] ไว้หน้าบ้าน ออกดอกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

“ดอกแดงเข้มส่งสีรุ่งโรจน์ราวกับจะลุกไหม้”.

 

เชิงอรรถ
๑ วิทยากร เชียงกูล จากหนังสือ คำคมคนรักหนังสือ สำนักพิมพ์มิ่งมิตร คำของ แซมมวล จอห์นสัน.
๒ ชื่ออื่น ปาริชาติ ปาริฉัตร ทองบ้าน ทองหลางด่าง เป็นไม้มงคลจังหวัดปทุมธานี.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com