ดนตรี วิถีผู้ไท ในมนต์เสน่ห์บ้านสวนนอเวียง – รสสา

ดนตรี วิถีผู้ไท ในมนต์เสน่ห์บ้านสวนนอเวียง – รสสา

งานดนตรี วิถีผู้ไทจัดขึ้นเมื่อปลายปี ๒๕๖๐ ที่บ้านสวนนอเวียง – รสสา บ้านบ่อสะอาด ตำบลเรณูใต้ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม  ได้สะท้อนถึงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้านของชาวผู้ไท เรณูนครและพื้นที่ใกล้เคียง ภายใต้การสนับสนุนของ ดร.วิทยา อินาลา นายกสมาคมผู้ไทโลก

สมาคมผู้ไทโลกเป็นองค์กรที่ศึกษา พัฒนาองค์ความรู้ อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน สนับสนุนจัดเป็นงานประเพณี อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อยกระดับเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของชาวผู้ไทในระดับท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ


มนต์เสน่ห์บ้านสวนนอเวียง – รสสา

“บ้านสวนนอเวียง – รสสา” ตั้งอยู่ที่บ้านบ่อสะอาด ตำบลเรณูใต้ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เป็นชื่อของนายรสสา – นางนอเวียง แก้วมณีชัย สองสามีภรรยาที่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนี้ ครั้งเมื่อสิ้นอายุขัยลูกหลานจึงนำชื่อมาตั้งเป็นอนุสรณ์แห่งความทรงจำและรำลึกถึงคุณงามความดีของบรรพบุรุษ

แม้ว่าบ้านไม้หลังเก่าได้ถูกรื้อถอน คงไว้เพียงลานกว้างรายล้อมด้วยต้นมะพร้าว ต้นตาล เป็นเสน่ห์ลึก ๆ ที่ไม่ต้องตกแต่ง เป็นที่ประทับใจเมื่อได้มาเยือน ที่สำคัญอยู่ใกล้กับลำห้วยสายบ่อแกอันเป็นถิ่นฐานความเป็นมาของชาวเรณูนครเมื่อครั้งอดีต

อดีตแห่งเมืองเรณูนคร

ตามประวัติเมืองเรณูนครโดยนายถวิล ทองสว่างรัตน์  ได้กล่าวถึงถิ่นฐานของชาวผู้ไทเมื่อครั้งอดีตตั้งอยู่ที่เมืองนาน้อยอ้อยหนู (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม) ต่อมาถูกจีนฮ่อรุกรานจึงอพยพมาอยู่ที่เมืองวัง (ปัจจุบันอยู่ในเขตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) แต่ยังถูกจีนฮ่อตามมารุกรานอีก จึงทำให้ผู้นำคือ ท้าวเพชร ท้าวสาย อพยพไพร่พลข้ามแม่น้ำโขงมาพำนักอยู่ที่บ้านพระกลางทุ่ง ธาตุพนม ก่อนที่จะไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่หนองหาน เมืองสกลนคร

ต่อมาได้เกิดโรคระบาดจึงอพยพไพร่พลกลับคืนเมืองวังถิ่นฐานเดิม ระหว่างทางได้พักอยู่ที่โพธิ์สามต้น เมืองธาตุพนม จึงเข้าไปกราบนมัสการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนม ท่านได้แนะนำให้ไปสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ที่ดงหวายสายบ่อแก ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มีต้นหวายขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก  ภายหลังจึงได้แต่งตั้งท้าวสายเป็นพระแก้วโกมล เป็นเจ้าเมืองเรณูนครคนแรก

จากเอกสารจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เล่มที่ ๕๘ จ.ศ. ๑๒๐๗ พ.ศ. ๒๓๘๘ ของหอสมุดแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการก่อตั้งเมืองเรณูนครไว้ว่า

“เมืองเรณูนคร พระราชทานสัญญาบัตรประทับตราราชลัญจกรให้ท้าวสาย นายครัวเมืองวังเป็นพระแก้วโกมล เจ้าเมืองบ้านดงหวาย เป็นเมืองเรณูนคร พระราชทานพระแก้วโกมล เจ้าเมือง เงินตราหนึ่งชั่งสิบตำลึง ถาดหมากเงินคนโทเงินสำรับ ๑ เสื้อขาบก้านแย่ง ๑ แพรสีทับทิมติดขลิบ ๑ ผ้าดำปักทองมีซับ ๑ แพรขาว ๑ ได้กราบถวายบังคมลากลับไปเมื่อวันพฤหัสบดีแรม ๙ ค่ำ เดือน ๗ ตรงกับวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๘๘”

บ้านดงหวาย แขวงเมืองนครพนม ตั้งเป็นเมืองเรณูนคร นายไพร่ ๖๒๒ นาย ครัว ๑,๙๘๖ คน รวม ๒,๖๔๘ คน

ในปี ๒๔๕๐ ได้ยกเลิกระบบการปกครองจากเจ้าเมืองเป็นการปกครองแบบเทศาภิบาล เป็นมณฑลเทศาภิบาล ตั้งเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการจังหวัด โดยตั้งราชวงศ์กา เตโช เป็นนายอำเภอเรณูนครคนแรก ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงชาญยุทธกิจ

ภายหลังได้ย้ายที่ว่าการอำเภอเรณูนครไปตั้งที่ตำบลธาตุพนม   แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนครถูกลดฐานะเป็นตำบลเรณูนคร ต่อมาในปี ๒๕๑๓ ได้จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรณูนคร แยกจากอำเภอธาตุพนม และยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเรณูนครในปี ๒๕๑๘ เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบัน

อนุสรณ์ท้าวเพชร ท้าวสาย บรรพบุรุษชาวเรณูนคร ประดิษฐาน ณ โรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูลแลนด์มาร์คสัญลักษณ์ผู้ไทใจกลางอำเภอเรณูนคร

ปัจจุบันอำเภอเรณูนครมีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยเฉพาะการฟ้อนผู้ไทเรณูนคร ด้วยลีลาที่อ่อนช้อย ประกอบกับการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นเป็นที่ประทับใจของผู้ที่มาเยือน นอกจากนั้นยังมีเหล้าอุ (เหล้าสาโทพื้นบ้าน) ที่ขึ้นชื่อไว้ต้อนรับแขกที่มาเยือน และจำหน่ายเป็นสินค้าของท้องถิ่นด้วย

บริเวณใจกลางอำเภอเรณูนครจะมีรูปปั้นนักฟ้อนรำชายหญิงเคียงคู่หมอแคนเป็นสัญลักษณ์ของเรณูนคร  อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันให้เลือกซื้อหา

เครื่องแต่งกายพื้นเมืองของชาวเรณูนคร ผู้หญิงจะสวมผ้าซิ่นประดิษฐ์และสวมเสื้อแขนสามส่วนสีน้ำเงินแถบแดง สวมทับด้วยผ้าสไบสีขาว ทัดผมมวยดอกไม้สีขาว ผู้ชายจะใส่เสื้อแขนสั้น กางเกงขาก๊วยสีน้ำเงิน มัดเอวด้วยผ้าขาวม้า หรือสวมโสร่งพื้นบ้านเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในงานบุญประจำปี พิธีบวงสรวงในพิธีกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งฟ้อนต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่น

ภายในตัวอำเภอเรณูนครมีพระธาตุเรณูนครประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุเรณู เป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันจันทร์ ตามตำนานก่อสร้างเมื่อปี ๒๔๖๑  โดยพระอุปัชฌาย์อินภูมิโย ได้จำลองรูปแบบมาจากองค์พระธาตุพนม โดยมีพิธีสักการะพระธาตุเรณูนครในเดือนสี่ของทุกปี

การแต่งกายของชาวผู้ไทเรณูนครเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นจากอดีตถึงปัจจุบัน

หาปลากลางทุ่งห้วยสายบ่อแก

ผืนนาลุ่มชุ่มน้ำของบ้านสวนนอเวียง – รสสา มีบ่อน้ำใสสะอาดอยู่ติดกับลำห้วยสายบ่อแก อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านบ่อสะอาด เป็นบ่อน้ำซับธรรมชาติที่ผุดขึ้นจากใต้ดินตลอดปี หล่อเลี้ยงชีวิตบรรพบุรุษชาวผู้ไทสืบสานถึงลูกหลาน ในวันนี้คนรุ่นใหม่ได้มาสัมผัสกับบรรยากาศเสียงพิณเสียงแคนและสนูว่าวเมื่อครั้งอดีต

ที่ทุ่งนาริมห้วยหนองหวายสายบ่อแกมีวิถีการหาปลาด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านที่เรียกว่า “กะโซ้” ใช้ในการวิดน้ำจากหนองกลางทุ่งนาเพื่อจะจับปลานำไปเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัว  อีกทั้งยังใช้วิดน้ำเข้าสู่ผืนนาเพื่อตกกล้าและปักดำในห้วงฤดูกาลทำนา

ภูมิปัญญาแห่งท้องทุ่งที่สานด้วยไม้ไผ่เป็นลักษณะครึ่งวงกลม มีขอบและมือจับยาวประมาณ ๑ เมตร เพื่อความสะดวกในการวิดน้ำ โดยแขวนกะโซ้ไว้บนขาหยั่งสามขา จากนั้นใช้มือจับคันกะโซ้วิดน้ำจนกว่าน้ำจะแห้งจึงลงมือหาปลาอย่างสนุกสนาน

เด็กสมัยใหม่เรียนรู้การวิดน้ำด้วยกะโซ้ด้วยความชำนาญ เป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่ปู่ ย่า ตา ยาย ทำมาหากินเลี้ยงลูกหลานจนเติบใหญ่มาถึงปัจจุบัน

สะปลา (วิดปลา) กลางทุ่งนาโดยใช้กะโซ้ ช่างทายท้าและน่าค้นหายิ่งนัก

ควายคงอยู่คู่นา

คุณวาหลิต เชื้อพระซอง แห่งบ้านโพนสวรรค์ ตำบลนาเลียง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เจ้าของ โรงเรียนสอนควายและฝึกควายไถนา ได้ยกโรงเรียนนอกระบบมาไว้ที่นี้ ตั้งแต่พิธีแฮกนาขวัญ การฝึกควายไถนา การฝึกขี่ควาย พื้นที่เรียนรู้การทำนาของชาวผู้ไท

คนกับควายอยู่กับท้องทุ่งจนเข้าสู่โลกยุคใหม่ ได้มาทบทวนความทรงจำในการทำนา อุปกรณ์ที่ใช้ไถนา การปักดำนา เรียนรู้นิสัยของควาย การสื่อสารภาษากับควาย และการใช้ชีวิตอยู่ในท้องทุ่ง

การฝึกควายจะเริ่มจากการสนเขาควาย การทำความคุ้นเคยกับควาย การฝึกเข้าแอกและอุปกรณ์ การฝึกเข้าไถและคราด การใช้ภาษาสื่อสารกับควาย และข้อห้ามปฏิบัติระหว่างการฝึกควายและการไถนา

วิถีชีวิตที่สืบทอดจากรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย ถึงรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูก เป็นวิชาที่ไม่ได้เปิดสอนในห้องเรียน เด็กรุ่นใหม่จะสนใจกับสิ่งเหล่านี้บ้างไหมหนอ แต่ก็ผิดคาดเพราะในวันนี้เด็ก ๆ ละจากห้องเรียนได้มาเรียนรู้กิจกรรมในท้องทุ่งด้วยความคล่องแคล่วว่องไว สมเป็นเชื้อสายลูกหลานชาวผู้ไทโดยแท้

โรงเรียนสอนควายและฝึกควายไถนา ความผูกพันระหว่างคนกับควายเพื่อใช้แรงงานและผลผลิตในครอบครัว

เด็กนักเรียนในอำเภอเรณูนครมีความผูกพันอยู่กับท้องทุ่งนาเช่นเดียวกับวิถีบรรพบุรุษ

ข้าวลาลานวันวานยังจดจำ

ลานข้าวชาวผู้ไทเมื่อครั้งอดีตที่ใช้วัสดุในท้องทุ่งเป็นหลัก เริ่มจากการเลือกพื้นที่ราบเรียบอยู่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่เพื่อให้ร่มเงาระหว่างทำงาน และง่ายต่อการขนย้ายส่งยุ้งฉาง

จากนั้นจะปรับพื้นที่ด้วยการตัดตอซังข้าวให้ติดกับพื้นนาให้เรียบ แล้วนำขี้ควายผสมกับน้ำพอประมาณ เทบริเวณพื้นลานให้มีความหนาสม่ำเสมอ ครั้นขี้ควายแห้งก็จะได้ลานข้าวธรรมชาติที่วิเศษสุดสำหรับรองรับการตีข้าวในฤดูกาลนี้

ข้าวเหลืองอร่ามในท้องทุ่งรอเคียวเกี่ยวรวงงามมัดด้วยตอกมัดข้าวเป็นฟ่อน ก่อนขนเข้าสู่ลานข้าว จัดวางเป็นกองเรียงรายรอบลานข้าว จากนั้นเป็นหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวช่วยกันตีข้าวจากมัดแรกถึงมัดสุดท้ายได้ข้าวเปลือกกองสูง บรรทุกใส่เกวียนสู่ยุ่งฉางในหมู่บ้าน

วิถีปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นการเก็บเกี่ยว การนวดข้าวด้วยเครื่องจักร พร้อมที่จะนำเข้าสู่โรงสีเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสารนำมานึ่งบรรจุในกระติบข้าวที่แสนจะอร่อยในแต่ละมื้อ

เป็นลานข้าวในความทรงจำที่บันทึกวิถีชีวิตพื้นถิ่นของพี่น้องผู้ไทในอดีตกับความทรงจำดี ๆ ในวัยเยาว์

ลูกหลานผู้ไทบ้านคำชะอี อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร ดีใจที่ได้มาเยือนลานข้าวชาวเรณูนคร

จากเมล็ดข้าวเปลือกกลางลาน ผ่านการคัดเลือกเพื่อนำไปสีด้วยเครื่องสีข้าวแบบโบราณ

ลำนำแห่งราตรีกาล

เที่ยวทุ่งจนตะวันคล้อยแดดร่มลมตกถึงเวลาตุ้มโฮมพี่น้องชาวผู้ไทใต้ร่มมะพร้าวบ้านสวนนอเวียง – รสสา ด้วยจังหวะลีลารำกลองตุ้มเรียกน้ำย่อยก่อนอาหารพาแลง ทั้งจังหวะลีลาเนิบนาบ และสนุกสนานเร้าใจ ในบรรยากาศการฟ้อนเลาะตูบ เลาะผามในงานบุญผะเหวด  ประโคมด้วยเสียงกลองตุ้ม เสียงฉาบ เสียงปี่ เสียงแคน ดนตรีเชื่อมโยงความผูกพันชาวผู้ไทให้ฮักกันมั่นแก่นตลอดไป

ลีลาฟ้อนกลองตุ้ม ร้อยรัดดวงใจของชาวผู้ไทให้ฮักกันมั่นแก่นตลอดไป

ม่วนซื่น โฮแซว ดนตรี วิถีผู้ไท

งานพาแลงเริ่มต้นด้วยดนตรีแนวเพื่อชีวิตจากร้านบ้านเพลงพิณจังหวัดสกลนคร ถึงช่วงสำคัญด้วยการฟ้อนกลองตุ้มต้อนรับแขกพิเศษจากประเทศเม็กซิโกที่มาร่วมงาน และพิธีเปิดอย่างเป็นทางการโดย ดร.วิทยา อินาลา นายกสมาคมผู้ไทโลก

ดนตรี ลีลา ท่วงทำนองต่างส่องทางซึ่งกันและกัน เสียงพิณ เสียงแคน เสียงกลองตุ้มมีมนต์ขลังให้แขกจากต่างถิ่นได้ร่วมร่ายรำตามจังหวะลีลา ก่อนจะเข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขนเพื่อความเป็นสิริมงคล  ต่อด้วยการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจากคณะนักแสดงโรงเรียนเรณูนครวิทยานุกูล

ในความเรียบง่ายของวิถีชีวิตคนผู้ไทเป็นเหมือนมนต์เสน่ห์ที่ประทับใจ และความทรงจำของผู้มาร่วมงานในค่ำคืนนี้ตลอดไป

บรรยากาศตุ้มโฮม ม่วนซื่น โฮแซว ในงานดนตรี วิถีผู้ไท

ข้อมูลอ้างอิง

ถวิล ทองสว่างรัตน์. ประวัติผู้ไทย และ ชาวผู้ไทเมืองเรณูนคร. เอกสารที่ระลึกในงานทำบุญรวมญาติประจำปีของชาวผู้ไทยเรณูนคร ครั้งที่ ๓ วันที่ ๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ วัดนรนาถสุนทริการาม เทเวศร์ กรุงเทพฯ.

Related Posts

ชวนตะลึง! ลึงคบูชา ราชันย์ภิเษก
เขียนมนุษย์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com