ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 7
นายจำรัส ดนัยมนัสราษฎร์ เปิดบันทึกจางวางดนัยมนัสราษฎร์อ่านต่อไปแบบวางไม่ลงท่านเจ้าคุณปู่ได้วางโครงวางแนวไว้ชวนติดตามแทรกเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ พร้อมทั้งวิเคราะห์และวิจารณ์อย่างผู้ทรงภูมิรู้ เมื่อเอาข้อความของผู้ใดมาจะบอกไว้ว่าอ้างอิงจากหนังสือเล่มนั้นและเล่มนี้ แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้เคารพผู้อื่น ถ้าอ้างถึงคนอื่นว่ากล่าวถ้อยร้อยความอย่างใด ท่านก็จับใจความมาแต่เฉพาะความจริง ไม่ใช่นำมาตีไข่ใส่น้ำทำให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อนและเป็นเท็จ แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นผู้มีความเป็นธรรม จึงรักษายุติธรรมไว้ได้
…จำเดิมแต่เมื่อครั้งฝรั่งเศส ได้ทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี กับรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพุทธศักราช 2399 แล้วคณะราชทูตฝรั่งเศสที่มี มองสิเออร์ มองตินยี เป็นหัวหน้า ก็เดินทางเข้าญวน เพื่อจะทำสนธิสัญญาแบบเดียวกัน แต่ฝ่ายญวนกลับไม่ต้องการ ฉันไม่รู้สาเหตุว่า เพราะเหตุใดญวนจึงไม่มีความประสงค์จะติดต่อค้าขายกับฝรั่งเศส เลยทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจญวนเป็นอย่างยิ่ง ก็เลยพาลจะหักหาญเอาญวนไปเป็นเมืองขึ้นเสียเลย
ในครั้งนี้ ฝรั่งเศสพ่ายแพ้สงคราม ฟรังโก – ปรัสเซี่ยน อิทธิพลในทวีปยุโรปลดลง ชื่อเสียงไม่ค่อยจะดีนัก และฝรั่งเศสได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบรีพับลิค หรือสาธารณรัฐ แล้วก็แล่นเรือแสวงหาอาณานิคมเพื่อฟื้นฟูเกียรติยศและอำนาจ
ฉันได้ยินมาอีกว่า แนวทางของนักล่าเมืองขึ้นนี้ มีองค์กรทางศาสนาเป็นผู้นำ ปลูกฝังคติว่าชาวคริสเตียนเป็นอารยัน ชาวพื้นเมืองเป็นพวกป่าเถื่อนคริสเตียนที่ดีต้องปกครองพวกป่าเถื่อนและสั่งสอนให้รู้จักพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นทางด้านตะวันออกนี้สมาคมภูมิศาสตร์ปารีสจึงให้การสนับสนุนคณะนักสำรวจ จะเป็นคณะของผู้ใดใครก็ตามที่จะเข้ามาสำรวจลุ่มแม่น้ำโขง สมาคมฯมีเงินทุนให้ ในคราวนั้นจึงมีคณะของ ดูดาร์ต เดอ ลาเกร และ ฟรังซิส การ์นิเอร์ เดินทางเข้ามา
สมาคมที่ฉันกล่าวถึงข้างต้นเพียงให้เงินทุนนักสำรวจ แต่บางสมาคมถึงกับเสนอให้รัฐบาลฝรั่งเศสเข้าควบคุมราชอาณาจักรสยาม เขมรและญวนเสียเลย ด้วยเหตุผลที่ว่าอิทธิพลของบริษัทอีสอินเดียแห่งอังกฤษกว้างขวางใหญ่โตและทรงอำนาจมากที่สุด ถ้าฝรั่งเศสขืนชักช้าผลประโยชน์ก็จะแห้วโดยไม่ต้องสงสัย สมาคมภูมิศาสตร์แห่งดิจอง เสนอว่าอนาคตของฝรั่งเศสอยู่ที่อินโดจีน ไม่ใช่ยุโรป
อินโดจีนนี้เรียกว่าดินแดนสุวรรณภูมิมาแต่โบราณกาล อุดมด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาล เป็นแหล่งข้าวน้ำซ่ามปลา เป็นดินแดนที่มั่งคั่งด้วยศิลปวัฒนธรรม มีพระพุทธศาสนาเป็นเสาหลักหลายพันปี อบอวลด้วยดวงดอกสร้อยมณีคำล้ำค่า และจิตใจของผู้คนก็แสนจะงดงาม ฉันเดินทางมารับราชการที่โคราชและได้เที่ยวท่องไปหลายบ้านหลายเมืองดอก จึงได้รับรู้ว่ามิใช่ธรรมดา ในพ.ศ.2411 คณะนักสำรวจสองคณะที่กล่าวถึงข้างต้นได้เขียนเรื่องอินโดจีนเปรียบเทียบไว้ว่า เป็นดั่งนิ้วมือห้านิ้ว เพราะมีแม่น้ำสายใหญ่ 5 สายไหลผ่านลงทะเลคือแม่น้ำแดงของญวน แม่น้ำโขงผ่านดินแดนลาว เจ้าพระยาผ่านดินแดนสยาม แม่น้ำสาละวินและอิระวดี ไหลผ่านพม่า ดังนั้น ประเทศทั้งหลายที่ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำห้าสายไหลผ่านควรตกอยู่ในอำนาจของฝรั่งเศส ตามหลักแห่งประวัติศาสตร์ เชื้อชาติ และนโยบายการปกครอง?
พร้อมแนวคิดดังกล่าว ฝรั่งเศสก็ส่งกองทัพเรือแล่นเข้าอ่าวตูราน อ้างว่า รัฐบาลญวนกดขี่ทารุณต่อคณะบาทหลวงฝรั่งเศสจนถึงแก่ความตาย ก็ถือข้ออ้างนี้ยึดไซ่ง่อนและแคว้นโคชินไชน่าเสียเลย จากนั้นก็เข้ายึดฮาเตียน และหาข้ออ้างต่าง ๆ ให้สยามหมดอิทธิพลในเขมร เช่นอ้างว่าสยามเอาเมืองสำคัญ ๆ มี นครวัด นครธม พระตะบอง เสียมราฐให้พระยาไทยปกครอง เอาดินแดนเขมรที่มีความสำคัญรอง ๆ ลงไปให้เจ้าเขมรปกครอง ตอนนั้นฉันก็ได้รู้มาเพียงเลา ๆ ว่า พระเจ้านโรดมยินยอมทำสัญญาให้เขมรเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสไป โดยไม่กราบบังคมทูลเข้ามาแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่ได้เคยพึ่งพาพระบรมโพธิสมภาร เสวยข้าวแดงแกงร้อนในพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพฯ
ฝรั่งเศสมิได้หยุดอยู่ที่เขมรเท่านั้นก็หาไม่ กองเรือรบได้แล่นเข้าแม่น้ำแดงขึ้นไปยึดเอาฮานอยอันถือว่าเป็นญวนเหนือ คงเหลือแต่ญวนกลาง ที่มีเมืองเว้เป็นเมืองหลวง ในเวลาสิบปีเท่านั้นฝรั่งเศสก็ยึดเอาไว้ได้สิ้น กษัตริย์ตีดึกจำใจต้องทำสนธิสัญญาที่เสียเปรียบทุกด้าน และตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสตั้งแต่กลาง พ.ศ.2426
ในเวลานั้น พระประจักษ์สนิทนึกเล่าให้ฉันฟังว่า บิดาของท่านคือ เหงียนดึกกวาง ได้ขอสมัครเข้าเป็นข้ารับใช้กองทหารฝรั่งเศสและเดินทางเข้ามาในดินแดนหัวเมืองลาวในคณะของ มองสิเออร์ ออกุสปาวี ที่รับอาสาสำรวจเส้นทางในการติดตั้งวางสายโทรเลขให้แก่รัฐบาลไทย ฉันขอบอกว่าในเวลานั้นผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเรื่องโทรเลขแทบไม่มีราชการไทยจึงต้องอาศัยฝรั่งเศสคนนี้ที่อาสามาทำงานให้ ได้รับมอบหมายให้วางสายโทรเลขจากกรุงเทพฯ ผ่านเมืองพระตะบองในแดนเขมรเลยออกไปขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน
ทว่า ม.ปาวีก็อาศัยข้ออ้างว่าทำงานให้ราชการสยาม สำรวจนอกเส้นทางขึ้นไปเสียมราฐ แล้วเลยขึ้นไปถึงหลวงพระบาง แล้วก็เลยขึ้นไปถึงเชียงรุ่งในแคว้นสิบสองพันนาและสิบสองจุไทใกล้เขตแดนจีน โดยที่ฝ่ายเรารู้ก็เมื่อคณะสำรวจได้กลับลงมาที่พระตะบองแล้ว จะให้ตีความเจตนาของ ม.ปาวีว่าอย่างใด?
ที่กรุงเทพฯ มีชาวญวนหนีราชภัยจากเมืองเว้เข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารอยู่จำนวนหนึ่ง บีองตือเป็นหัวหน้าและเคยเป็นเจ้านายในราชสำนักของพระเจ้าตีดึก ฉันไม่เคยทราบมาก่อนว่าองตือได้กระทำความผิดหรือหนีเข้ามาเพราะเหตุใด เคยมีคนลือกันไปว่าองตือคิดกบฏ ขืนอยู่ไปในอันนามคงต้องถูกจับสำเร็จโทษถึงชีวิตเป็นแน่ คราวนั้นคณะของ ม.ปาวี เดินทางขึ้นมาที่กรุงเทพฯและพักอยู่หลายวัน เป็นเหตุให้เหงียนดึกกวางได้มีโอกาสพบกับองตือ และฝากตรันดึกกวาง บุตรชายให้ไว้กับองตือแต่วันนั้นฉันพอทราบความในภายหลังว่าสกุลเหงียนเป็นญาติกับองตือ โดยฝ่ายมารดาของตรันเคยเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามในวัง ก่อนจะได้แต่งงานกับเหงียนดึกกวาง ด้วยการสนับสนุนขององตือ ดังนั้นจะว่าไปตรันก็เปรียบว่าเป็นหลานขององตือ จึงได้รับการสนับสนุนเพื่อเข้ารับราชการในเวลาต่อมา แต่ตอนนั้นก่อนจะมาดำรงยศเป็นพระประจักษ์สนิทนึกเวลานี้ ตรันได้เข้าเรียนภาษาไทยที่สำนักวัดมหรรณพารามจนอ่านออกเขียนได้คล่อง ตรันได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ สอบได้เปรียญ ซึ่งนับว่าไม่ใช่ธรรมดา ก่อนจะสึกขาลาเพศบรรพชิตแล้วเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามใหม่เป็น มหาเจริญ สอบเข้ารับราชการที่เมืองนครพนม แน่นอนว่ามีการสนับสนุนอยู่เบื้องหลังมหาเจริญอย่างลับ ๆ โดยองตือผู้นั้น
ฝ่ายบิดาของมหาเจริญเมื่อติดตามคณะของม.ปาวีขึ้นไปที่นครหลวงพระบาง ได้เป็นถึงหัวหน้ากองฝ่ายญวน บังคับบัญชาคนญวนที่อยู่ในคณะของม.ปาวี ส่วนใหญ่คนเหล่านี้มีหน้าที่อย่างลูกหาบ เมื่อคณะหยุดพักลง ณ ที่แห่งใดก็จะเทียวจัดแจงฟืนไฟหุงหาอาหารการครัวทุกชนิด ฝ่ายช้างม้าพาหนะในการเดินทางอยู่ในความรับผิดชอบของพวกควาญ ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนพื้นเมืองเผ่ากุยเสียส่วนมาก ในคราวนั้นตัวเหงียนดึกกวางไม่ได้กลับลงมาอีก บ้างว่าล้มตายด้วยโรคไข้ป่ากิน มหาเจริญผู้ลูกว่าบิดาของเขาตายเพราะพวกห้อฆ่า
จากหลักฐานเอกสารในเวลาต่อมาที่ฝรั่งเศสใช้เจรจาความเมืองกับฝ่ายไทย เห็นได้เป็นแม่นมั่นว่า คณะสำรวจของ ม.ปาวีได้จัดส่งรายงานการสำรวจภูมิประเทศขึ้นไปให้รัฐบาลฝรั่งเศสเป็นระยะ ๆ ตลอดมา จะเปรียบว่าเกลือเป็นหนอนก็พอจะฟังได้ เนื่องจากเวลานั้น ม.ปาวียังอาสาราชการให้ฝ่ายไทยอยู่ จนอยู่ต่อมาฝ่ายไทยทางนครหลวงพระบางได้สติ รายงานลงไปกรุงเทพฯ เกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลนี้และคณะว่า ได้เข้าไปชักชวนพวกห้อหัวแดง (ธงแดงก็ว่า) ให้ก่อกบฏขึ้นในราชอาณาจักร แต่ข่าวคราวไม่ชัดเจนมากนัก เพราะนครหลวงพระบางอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ มากม.ปาวีคงได้อาศัยช่องว่างนี้เข้าไปชักชวน ยุแหย่แล้วทั้งให้การสนับสนุนด้านอาวุธแก่พวก
ฉันจะกล่าวถึงพวกห้อให้ฟัง พวกห้อนี้เป็นคนจีนที่แคว้นกวางใส เสฉวนและยูนนาน มีหัวหน้าชื่อซุงวัง คบคิดกันจะโค่นล้มราชวงศ์แมนจู ซึ่งไม่ใช่จีนแท้และต้องการฟื้นฟูราชวงศ์เหม็งจีนแท้ขึ้นใหม่ชักชวนกันเข้ายึดนครนานกิงได้แล้วตั้งตนเป็นอ๋องนามว่าไต้เผง พระเจ้าเหี้ยนฟุ้งปราบไม่สำเร็จต้องไปขออังกฤษมาปราบ จนฆ่าไต้เผงตาย ฝ่ายพลพรรคก็แตกกระเจิงขึ้นภูเขา รวบรวมกันได้ประมาณว่าห้าพันปลาย ยกให้ปวงนันซีน้องชายของไต้เผงเป็นหัวหน้า พากันออกปล้นเสบียงอาหารในแดนญวนจนยึดได้เป็นเมืองลาวกายในเขตสิบสองจุไท คราวนั้นพวกห้อด้วยกันแย่งกันเป็นใหญ่ หลิวตายันจึงฆ่าปวงนันซีเสีย ขึ้นนั่งเมืองลาวกายแทน
พลพรรคของปวงนันซีที่เหลือรอดชีวิตจึงแตกกระจายออกไปอยู่ตามป่าเขา เที่ยวปล้นฆ่าตามเมืองเล็กเมืองน้อยในเขตญวนนั้นเช่นเมืองนัมไบ เมืองลังกลัง เมืองฮาเกียง เมืองบ่าวลาค เป็นต้น จนได้ชื่อว่าก๊กโจร มีอยู่ 4 ก๊กใช้ธงสีต่าง ๆ เป็นสัญลักษณ์เรียกง่าย ๆ ว่า พวกห้อธงแดง ห้อธงดำ ห้อธงเหลืองและห้อธงลาย ห้อเหล่านี้ยกเข้ามาตั้งในเขตทุ่งเชียงคำ แขวงเชียงขวาง เที่ยวออกปล้นฆ่าราษฎรได้รับความเดือดร้อนเป็นอันมาก ผู้เป็นเด็กเล็กถ้าไม่ฆ่าทิ้งก็บังคับให้ไว้ผมเปีย ถ้าเป็นผู้ใหญ่ก็บังคับให้ไปเลี้ยงม้าเลี้ยงฬ่อ หรือเป็นคนใช้เป็นทาส
ฝ่ายรัฐบาลไทยได้ข่าวพวกห้อไม่ชัดเจน จึงวานให้นายแมคคาธี หรือต่อมาคือพระวิภาคภูวดลอธิบดีกรม สำรวจเดินทางขึ้นไปสอบข้อเท็จจริง มีทหารไทย 200 คนจากกรมทหารม้า ภายใต้การบังคับบัญชาของร.อ.หลุยส์ เลียวโนเวนส์เป็นกองคุ้มกัน เดินทางขึ้นมาแวะพักที่นครราชสีมา 2 วัน คราวนั้นข้าหลวงใหญ่มีบัญชาให้ฉันติดตามคณะขึ้นไปด้วย เป็นเหตุให้ชะตาชีวิตฉันหักเหมาพบกับมหาเจริญหรือหมื่นประจักษ์สนิทนึกในคราวนี้
สงครามรบกับพวกห้อเป็นสงครามยืดเยื้อนานถึง 16 ปีจึงสงบลงได้ นับจาก พ.ศ. 2415 พวกห้อยึดสิบสองจุไทได้แล้วก็เข้ายึดแขวงหัวพันแล้วกระจายกองกำลังตั้งค่ายอยู่ในเมืองรัง บ้านต้างและบ้านสบสาน ขึ้นปีใหม่พวกห้อยกกำลังเข้าตีเอาเมืองแถนได้แล้ว ก็จะเข้าตีนครหลวงพระบางบ้าง แต่ถูกกองทัพของเจ้าคำสุกบีแตกพ่ายไป จึงไปรวบรวมพลพรรคขึ้นใหม่ที่ทุ่งเชียงคำ แขวงเชียงขวาง เจ้าอุงได้มีหนังสือไปขอกำลังทัพญวนทางหนึ่งและมีหนังสือลงมากรุงเทพฯ ทางหนึ่ง เจ้าอุงออกไปรบกับห้อถูกปืนตายในสนามรบ องเดคุมทหารแกวสองพันออกมาสู้ก็สู้พวกห้อไม่ได้ เมืองเชียงขวางจึงแตก พระพนมสารนรินทร์ลูกเจ้าอุงแตกลงมาเมืองโพนพิสัย ราษฎรบางพวกแตกไปหลวงพระบางบ้างแตกหนีลงเวียงจันทน์
ล่วงมาถึง พ.ศ.2418 พวกห้อยกเข้าตีเวียงจันทน์ เวลานั้นมีราษฎรในเวียงจันทน์ไม่มากฝ่ายไทยก็ตั้งกองอยู่หนองคาย พวกห้อจึงเที่ยวขุดค้นของมีค่าที่พระธาตุหลวงได้ทองคำเป็นจำนวนมาก ความทราบถึงข้าหลวงใหญ่ที่เมืองอุบล จึงแต่งให้เจ้าหน่อคำเป็นนายกองใหญ่ ให้ราชวงศ์สิทธิสารเป็นปลัดกอง ท้าวจูมมณีและท้าวคำพูน สุวรรณกูฏเป็นนายกอง คุมไพร่พลจากเมืองร้อยเอ็ดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ขอนแก่นขึ้นมาตีห้อ โดยมีกองหนุนจากเมืองนครราชสีมาขึ้นมารวบรวมพลที่หนองคาย เสียดายนักที่ปีนั้นฉันไม่ได้ขึ้นไปด้วย เห็นพูดกันเลื่องลือไปว่าฆ่าพวกห้อได้นับหมื่น พวกมันแตกหนีขึ้นไปเชียงขวางได้เพียงเล็กน้อย
พ.ศ.2422 พวกห้อรวบรวมพลได้อีก พากันยกลงมาจากเข้าตีนครหลวงพระบาง พระยาพิชัยแม่ทัพไทยยกขึ้นไปปราบ สู้รบกันอยู่กว่าครึ่งเดือนถ้าไม่ได้กองทหารของเจ้าราชวงศ์เมืองหลวงพระบางยกมาโอบล้อมห้อไว้ทางหนึ่ง คงสู้เอาเป็นแพ้ไม่ได้ การรบคราวนี้เจ้าอุปราชเมืองน่านถูกปืนตายในสนามรบ ในพ.ศ.2425 เจ้าอุ่นคำเจ้าเมืองหลวงพระบางให้เจ้าอุปราชคุมทัพหลวงพระบางสมทบกับทัพไทยขึ้นไปตีห้อที่ทุ่งเชียงคำอีก แต่ตีไม่แตกเพราะค่ายพวกห้อได้ปลูกต้นไผ่เป็นกำแพงหนาทึบ ปืนใหญ่ยังทำลายไม่ได้พระราชวรานุกูล แม่ทัพไทยถูกปืนบาดเจ็บสาหัส
ในระหว่างระยะเวลา 4-5 ปีนี้ ฝรั่งเศสยึดได้ญวนทั้งหมดแล้วเข้ายึดเขมร และคณะนักสำรวจก็เดินทางขึ้นไปถึงหลวงพระบาง ฉันออกเดินทางจากโคราชกับคณะนายแมคคาธี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2427 ฉันจำได้แม่นยำเดินทพั ผ่านประตูเมืองทิศเหนือออกไปข้ามลำตะคอง หมอกยามเช้ายังอ้อยอิ่ง เป็นรุ่งรางสางอุษาที่ลมหนาวหลับใหลอยู่ในความเยือกเย็น…
หลายวันต่อมา กองทหารก็พาฉันเข้าเขตเมืองหนองคาย คณะนายแมคคาธีซึ่งมีฉันเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยที่สุดได้เข้าเฝ้าเสด็จในกรมฯ อย่างที่ฉันเคยกล่าวมาแล้วข้างต้นว่า เวลานั้นได้เปลี่ยนแปลงการปกครองหัวเมืองลาวเป็นหลายภาคการปกครองทางด้านเหนือนี้คือหัวเมืองลาวพวน มีข้าหลวงใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณคือ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงดูแลบัญชาการอยู่ เสด็จในกรมฯ ทรงกำชับให้คณะพวกเรารีบเร่งเดินทางขึ้นไปปฏิบัติราชการ หากสอบได้ความอย่างไรก็ให้รีบรายงานลงมา จะได้แก้ไขเหตุได้ทันการณ์ คณะเราได้ข้ามฝั่งโขงไปขึ้นฝั่งเวียงจันทน์ จากนั้นเร่งเดินทางต่อไปยังเชียงขวางทันที แต่ก็ไม่ได้แวะพักอยู่หลายวัน ในเมืองเชียงขวางนั้นก็ดั่งเป็นเมืองร้าง มีราษฎรอาศัยอยู่ไม่ถึงพัน เจ้าเมืองคือ เจ้าขันตีราชบุตรเจ้าอุงกับเจ้านาม เห็นคณะของเรายกขึ้นมาก็สุดแสนจะดีใจนัก ด้วยว่าเวลานั้นกลัวพวกห้อยกเข้าปล้นจนไม่เป็นอันกินอันนอน ราษฎรได้บอกกับฉันว่าหากห้อยกเข้าปล้น คนเชียงขวางก็หนีออกไปอยู่ตามป่าตามเขาเมื่อสงบแล้วจึงกลับบ้าน
จากเชียงขวางเดินทางต่อไปที่เชียงคำระหว่างทางจากเมืองพวนเป็นทุ่งเพียงเชียงขวางฉันได้เห็นไหหินกระจัดกระจายอยู่เป็นอันมาก จนได้เรียกกันว่าทุ่งไหหิน เขาเล่าว่าไหหินเหล่านี้คือไหเหล้านักรบโบราณนามว่าท้าวฮุ่งหรือเจือง ซึ่งปกครองเมืองอาณาจักรนครเงินยางในระหว่างศตวรรษที่ 8 ขุนเจืองขึ้นไปรบได้รับชัยชนะเหนือพวกแกวปะกันเมืองเกาบัง แล้วจึงพานักรบมาฉลองชัยชนะอยู่ทุ่งเพียงเมืองพวนนี้ถึง 7 เดือน
คราวนั้นฉันได้เดินทางขึ้นไปถึงเมืองงอย เจ้าเมืองรายงานว่า เมื่อปีที่แล้ว มีบาทหลวงฝรั่งเศส 2 องค์คือ จองน์และอันโตนีโอ เดินทางขึ้นมาพักที่นี่ปลุกปั่นชาวเมืองว่าพระเจ้าจะคุ้มครองจากโจรห้อขอให้มาเข้ารีต หรือใครเดือดร้อนอย่างใดให้มาหาท่านทั้งสอง ต่อมาก็มีชาวฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาเมืองงอยอีกชื่อ ดอกเตอร์เนียสส์ เห็นว่ารู้จักกับบาทหลวงทั้ง 2 ดี ใช้ให้คนถือจดหมายไปส่งให้พวกห้อที่ทุ่งเชียงคำพวกห้อได้ตอบจดหมายกลับมาว่าทุกอย่างพร้อม บาทหลวง 2 องค์กับ ดร.เนียสส์ก็เรียกประชุมชาวเมือง ประกาศว่าถ้าเมืองงอยยอมเป็นเมืองในอารักขาฝรั่งเศส ตัวเขาจะยอมเป็นธุระเจรจากับพวกห้อ มิให้เข้าปล้นเมืองงอย แต่ชาวเมืองไม่ยอมก็เลยมีโจรห้อเข้าปล้นในเวลาต่อมา
เจ้าเมืองงอยยังได้บอกกับคณะของนายแมคคาธีต่อไปว่า ฝรั่งเศสใช้แผนยุยงส่งเสริมให้พวกโจรห้อบุกเข้าปล้น กระทั่งก่อความไม่สงบต่าง ๆ โดยฝรั่งเศสเป็นผู้หนุนหลัง และยังอ้างว่าฝรั่งเศสมีสิทธิเหนือดินแดนสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก เพราะดินแดนส่วนนี้อยู่ในสิทธิครอบครองของญวนมาก่อน เมื่อได้ฟังถ้อยคำเจ้าเมืองงอยเช่นนี้ ฉันให้รู้สึกโกรธแค้นฝรั่งเศสยิ่งนัก ที่มาทำเล่ห์เพทุบายให้บ้านเมืองไม่สงบเพื่อตนจะได้สวมบทยึดเอาไปครองดื้อ ๆ
เมื่อรู้แจ้งชัดเช่นนี้ ในพ.ศ.2428 กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ข้าหลวงใหญ่จึงเสด็จออกทัพยกขึ้นมาตีพวกห้อ แล้วให้พระราชสุรินทร์คุมกองทหารรักษาเมืองเชียงขวางไว้ ส่วนทางด้านหลวงพระบางพระเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ต่อมาได้เป็นเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพยกขึ้นมาปราบห้อ กองทัพไทยก็เข้ารบร่วมกับกองทัพหลวงพระบางที่นำทัพโดยเจ้าราชวงศ์คำสุก ตีทัพห้อจนแตกพ่ายไปที่เมืองซ่อน ตกถึงฤดูฝน ทหารไทยเป็นไข้ป่ากันมาก พวกห้อจึงยกกำลังมาล้อมทัพไทยและลาวไว้ แต่มิกล้าจะจู่โจมเข้ามาในค่าย เพราะเกรงปืนใหญ่และลูกระเบิด นับเดือนต่อมาเจ้าภาคิไนยคิดกลศึกออก ให้เป่าแตรประจัญบานขึ้น พวกห้อคิดว่าทหารไทยได้กองหนุนมาช่วยแล้วก็แตกหนีไป
แม่ทัพใหญ่ได้บัญชาให้พระอินทเสนแสง คุมทหารยกตามห้อไปจนถึงเมืองแถง ให้สะสมเสบียงอาหารเตรียมไว้ กองทัพใหญ่จะตามไปทีหลัง เมื่อถึงเมืองแถงก็ได้สู้รบกับพวกห้อ และเกลี้ยกล่อมลูกชายเจ้าเมืองไล่ที่ไปเข้าข้างห้อให้ยอมแพ้เสีย เข้าตรวจค้นในค่ายพวกมันยึดอาวุธปืนจำนวนมากคราวนั้นแม่ทัพใหญ่จึงแต่งตั้งให้ กายตง ชาวเวียดนามได้บรรดาศักดิ์เป็นพระยาภักดีสยามเขตรักษาเมืองแถง แล้วคุมตัวคำหล้า คำสาม บางเบียนลูกชายเจ้าเมืองไล่ที่ยอมแพ้เข้ากรุงเทพฯ
ฉันได้เดินทางขึ้นไปถึงนครหลวงพระบางในเวลาต่อมา อันนครแห่งนี้เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี มีภูเขาล้อมรอบเสมือนกำแพงธรรมชาติ มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน แม่น้ำคานไหลสบบนที่ราบลุ่มระหว่างสองแม่น้ำจึงปลูกข้าวทำไร่ทำนาได้ผลดี จากหลวงพระบางขึ้นไปที่เชียงของ เชียงแสนและเชียงใหม่ก็เป็นเส้นทางคมนาคมค้าขาย และเป็นเมืองที่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินตั้งแต่โบราณมาผูกมิตรเป็นบ้านพี่เมืองน้อง
พระเจ้ามหินทรเทพ เจ้านครหลวงพระบางเวลานั้นพระชนมายุ 77 พรรษา อัธยาศัยละมุนละม่อม ทรงเรียกประชุมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ขึ้นที่ท้องพระโรงวังหลวง ฉันเองก็ได้เข้าประชุมกับพวกขุนนาง ข้าราชการฝ่ายลาวและไทยนี้ด้วย นายแมคคาธีได้กราบทูลถามเจ้านครว่า ที่ฝรั่งเศสอ้างว่านครหลวงพระบางเคยเป็นเมืองขึ้นของญวนมาก่อนไทย เท็จจริงเป็นประการใดพระเจ้าข้า? เจ้านครหลวงพระบางตรัสว่า ไม่เคย ตั้งแต่สมัยปู่ย่าเจ้าฟ้างุ้ม หลวงพระบางไม่เคยอยู่ในอาณาจักรของแกวปะกัน แต่อันนัมนั้นเคยขึ้นต่อจีน ส่งเครื่องราชบรรณาการถวายกษัตริย์จีนสิบปีต่อครั้ง เช่นเดียวกับนครหลวงพระบางก็กระทำเช่นนั้น อันเป็นการส่งส่วยสองฝ่ายฟ้า
ทรงตรัสช้า ๆ ต่อไปว่า หลวงพระบางส่งส่วยขึ้นไปที่จีน โดยผ่านขึ้นไปที่เมืองสาย เมืองล้า เข้าไปถึงเชียงรุ่งและยูนนาน ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายจีนเรียกว่าเจ้าฟ้าวอง ประทับอยู่ที่นั่น นำเครื่องราชบรรณาการถวายต่อข้าหลวงใหญ่ท่านนี้
ฉันเห็นเจ้านครหลวงพระบางชราภาพมากตรัสไปหยุดไปเป็นระยะ ๆ ฝ่ายราชองครักษ์ก้มหมอบคลานเอาน้ำให้ทรงดื่ม แต่สังเกตว่าพระทัยท่านมั่นคงและลึกซึ้ง ตรัสว่า อันเครื่องราชบรรณาการที่ส่งขึ้นไปถวายฝ่ายฟ้าจีนนั้นมีช้าง 4 เชือก ฬ่อ 41 ตัว นาก 533 ปอนด์ นอแรด 25 นอ งาช้าง ๑,๐๐๐ ปอนด์ ผ้าทอพื้นเมือง 250 พับ หมากดิบ 150 ทะลาย มะพร้าว 150 ผล ไข่ปลาบึก 23 ถุง …แต่ก่อนนครหลวงพระบางอุดมสมบูรณ์แต่บัดนี้โจรห้อเข้าปล้นไปเป็นอันมาก คำและเงินหายาก เหลืออยู่แต่ไม้สัก ไม้เนื้อแข็งชั้นดีบนภูผาป่าไม้ เหตุใด เลอเมียร์ เดวิเลร์ ผู้สำเร็จราชการประจำอินโดจีนยังต้องการนครล้านช้างเป็นเมืองขึ้น?
ผู้สำเร็จราชการประจำอินโดจีนนามนี้ ได้เป็นผู้เสนอให้ ม.ปาวีขึ้นดำรงตำแหน่งกงสุลที่ 2 ประจำอยู่นครหลวงพระบาง เพื่อรักษาและแสวงหาผลประโยชน์ให้ฝรั่งเศสต่อไป ครั้นต่อมาเดววันตรี เจ้าเมืองไล่ ได้รับคำยุยงจากฝรั่งเศส เคียดแค้นว่าลาวและไทยจับเอาลูกชายสามคนไปกรุงเทพฯ จึงให้คำฮุนลูกชายอีกคนหนึ่งยกกองทัพเข้าตีนครหลวงพระบาง เอาไฟเผาบ้านเรือนและเข้าตะลุมบอนกับทหารรักษาวัง มหาอุปราชสุวรรณพรหมาถูกฆ่าตายในการต่อสู้ พระเจ้ามหินทรเทพเสดจ็ หนีห้อไปทางเรือถึงเมืองปากลาย พร้อมด้วย ม.ปาวี กงสุลฝรั่งเศสในคราวนี้เองที่มหาเจริญหรือหมื่นประจักษ์สนิทนึกท่านเข้าใจว่าบิดาของท่านคือเหงียนดึกกวาง ถูกพวกโจรห้อฆ่าตาย
ฉันขอย้อนขึ้นไปถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ที่เขียนโดย ม.ลาเนซัง ชาวฝรั่งเศสที่แสดงเจตนาแจ้งชัดว่าอยากจะได้ดินแดนหัวเมืองลาวของไทยไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ข้อเขียนนั้นกล่าวว่า ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองลาวกาย เส้นคั่นพรมแดนระหว่างจีน พม่า และไทยยังสับสน เคลือบคลุมไม่แจ่มชัดจึงเป็นประโยชน์แห่งเรา (ฝรั่งเศส) ที่จะได้พรมแดนดังกล่าว สับสนปนเปอยู่เช่นนี้ เพราะสักวันหนึ่ง เราจะได้ฉวยโอกาสขยายพรมแดนของเราให้กว้างขวางจนจรดฝั่งแม่น้ำโขง เมื่อเราได้ดินแดนทางทะเลสาบ
เขมรเข้ามาอยู่ในครอบครองด้วยแล้ว เมื่อนั้นเราจึงหยุดการขยายและยึดมั่นในนโยบายที่จะเคารพและ(ถ้าจำเป็น) ปกปักรักษาเอกราชของประเทศไทย
พ.ศ.2434 ม.ลาเนซัง นักการเมืองเจ้าของความคิดดังกล่าวก็ได้มาเป็นข้าหลวงใหญ่ ปกครองญวน แผนการยึดครองดินแดนหัวเมืองลาวในความปกครองของไทยจึงเริ่มต้นมาอย่างนี้
ในคราวที่คณะของฉันยังสอบเรื่องราวอยู่หลวงพระบางนี้ แม่ทัพใหญ่ฝ่ายไทยก็ออกไปรบพวกห้ออยู่ตามดินแดนบ้านเมืองต่าง ๆ ชนิดเป็นการกวาดล้างไม่ให้หลงเหลือรอดได้สักคน กองทหารปืนใหญ่ที่นำโดย ร.ท.โรส มุสเสน ชาวเดนมาร์ก นำปืนใหญ่ขึ้นไปปราบในคราวนี้ด้วย ฉันเองตามกองทหารปืนใหญ่ออกไปสังเกตการณ์มิได้เข้าสู้รบอย่างทหารหาญ แต่มีอยู่วันหนึ่ง กองทหารปืนใหญ่ถูกโจรห้อที่ชำนาญภูมิประเทศดักซุ่มโจมตี ทหารฝ่ายเราตายไปห้าคน ส่วนฉันเพียงแต่ได้รับบาดเจ็บ ไม่ถึงชีวิต ถูกส่งเข้ามารักษาในที่ทำการพยาบาล ตั้งอยู่ใกล้ ๆ ภูจอมศรี
ในครั้งนั้น เมื่อร่างกายหายดีเป็นปกติ ฉันพักฟื้นด้วยการเดินชมไปรอบ ๆ เมือง จึงได้รู้ประวัติเมืองนี้ว่า แต่ก่อนชื่อเมืองชวา หรือเมืองซัว ถ้าว่าตามตำนานอุรังคธาตุ ว่า ดอยนันทกังรี ต่อมาได้ชื่อเมืองวาเชียงดงขุดทองคำได้มากก็เรียกว่าเชียงทอง มีหลายคนเชื่อว่าพระอุโบสถวัดเชียงทองสร้างครอบบ่อทองคำไว้ อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงและฝั่งสบคานฉันได้เข้าไปนมัสการพระบางในอุโบสถวัดนี้ เป็นพระพุทธรูปยืน ทองคำแท้ นำมาจากศรีลังกาเพื่อถวายต่อเจ้าเขมรองค์หนึ่ง เจ้าฟ้างุ้มราชโอรสเจ้านครหลวงพระบาง เกิดมาผิดลักษณะ พระบิดาจำใจตามคำบังคมทูลเสนาอำมาตย์ส่งลอยแพราชโอรสไหลไปตามลำโขงจนถึงลี่ผี มหาปาสมันตร์พระเขมรนำไปชุบเลี้ยงจนเติบใหญ่ แล้วเข้าถวายตัวกับเจ้าเขมร ได้รับราชการมีความกล้าสามารถมาก ทั้งเป็นผู้เฉลียวฉลาด จนเจ้าเขมรยอมยกพระราชธิดาเป็นคู่ครอง ต่อมาเมื่อพระราชบิดาสิ้นพระชนม์ จึงยกทัพจากเขมรขึ้นมาทวงราชบัลลังก์คืน ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองนครเชียงทอง ครั้งนั้นเจ้าขุนมูลนายทั้งในและนอกวัง พากันนับถือผี กระทำพลีกรรม ฆ่าช้าง ฆ่าควาย บูชาผีด้ำ พระนางแก้วเก็งยาเห็นแล้วสลดพระทัย เพราะพระนางนับถือศาสนาพุทธ สมาทานศีลบำเพ็ญทานมาแต่ครั้งอยู่เขมร จึงเฝ้าพระราชสามีขอนำพระพุทธศาสนามาประดิษฐาน
พระเจ้าฟ้าหล้าธรณีมหาราชฟ้างุ้ม จึงแต่งตั้งข้าราชการเชิญพระราชสาส์นและเครื่องบรรณาการลงไปเฝ้าพระเจ้านครหลวงพ่อตา ขอเอาพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ในลาว พระเจ้านครหลวงจึงนิมนต์มหาปาสมันตร์และพระมหาเทพลังกา พร้อมด้วยพระสงฆ์ 20 รูป นักปราชญ์ผู้เจนจบในพระไตรปิฎกอีก 3 คนขึ้นมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาพระราชทานพระบางมาให้เป็นที่สักการะบูชา แต่ได้ประดิษฐานอยู่เวียงคำเสียหลายปี จนสมัยพระเจ้าวิชุลราชจึงอาราธนามาไว้ที่อารามวิชุลมหาวิหารนครหลวงพระบาง พระบางเคยถูกนิมนต์ลงไปกรุงเทพฯ เมื่อคราวทัพไทยยกขึ้นมาตีราชอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง สมัยพระเจ้าตากสินมหาราชและเจ้าอินทวงศ์ขอพระราชทานกลับไปในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เมืองนครหลวงพระบางเป็นที่ราบล้อมรอบด้วยแม่น้ำและขุนเขา เมื่อขึ้นไปบนดอยพระธาตุภูศรี อันเป็นจอมภูอยู่ระหว่างกลางของที่ราบ ฉันก็ประจักษ์แก่ใจว่านครหลวงพระบางนี้งดงามเสียเหลือเกิน แลไปทิศใดก็มีแต่ภูเขา ยกเว้นทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มีแม่น้ำโขงไหลผ่าน ฉันยังได้เห็นภูเขาลูกหนึ่งที่มีตำนานความรักอันน่าเศร้า จบลงด้วยความตายของบ่าวสาวผู้บูชารักเหนือสิ่งใด ภูลูกนั้นชื่อว่าภูพระภูนาง หรือ ดอยขูลู นางอั้ว
ในเวลานั้นอังกฤษต้องการได้นครหลวงพระบางไม่แพ้ฝรั่งเศส จึงจัดตั้งสถานกงสุลขึ้นที่นครเชียงใหม่ ระยะทางจากเชียงใหม่มาหลวงพระบางไม่ไกล ชั่วเดินเท้าห้าวันเจ็ดวัน ฝรั่งเศสเกรงว่าอังกฤษจะรุกเข้ามาด้านนี้ จึงตั้งสถานกงสุลขึ้นที่นครหลวงพระบางบ้าง กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการเห็นการแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างสองมหาอำนาจจึงมีเงื่อนไขว่า หากฝรั่งเศสต้องการตั้งสถานกงสุลลงไว้ที่นครหลวงพระบาง ก็จะต้องทำสัญญาในลักษณะเดียวกันกับสัญญาของอังกฤษ ว่าด้วยการ
ตั้งสถานกงสุลที่เชียงใหม่ กล่าวคือฝรั่งเศสจะต้องยอมรับว่านครหลวงพระบางเป็นของไทย หาใช่เป็นหรือเคยเป็นเมืองขึ้นของญวนไม่
อนุสัญญาเมืองหลวงพระบาง ลงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2429 ว่าด้วยอำนาจศาลและการค้า ซึ่งการอุทธรณ์คดีจะทำได้ในกรุงเทพฯ ส่วนชนชาติฝรั่งเศสและคนในอารักขาก็ต้องได้รับความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ไทย และให้ฝรั่งเศสได้สิทธิ์ซื้อที่ดินในราชอาณาจักรหลวงพระบาง ได้ทั้งมีสิทธิ์ปลูกสร้างอาคารและตั้งถิ่นฐานแล้วเสียภาษีเช่นเดียวกับคนชาติไทย เมื่อ ม.ปาวีได้เป็นกงสุลคนที่ 2ก็ขึ้นล่องตามลำแม่น้ำโขงอยู่เสมอ เมื่อสำรวจตรวจสอบเส้นทางเดินเรือกลไฟ ถึงขั้นต่อมาก็ทำการระเบิดแก่งแหล่งหินในลำน้ำตามอำเภอใจ มิใคร่จะเคารพในสิทธิเหนือดินแดนแต่อย่างใด
เวลานั้นฉันได้รับแต่งตั้งเป็นผู้กำกับราชการฝ่ายพลเรือนที่นครหลวงพระบางได้ รู้เห็นและรับรู้จากรายงานเข้ามาเป็นระยะ ๆ ถึงพฤติกรรมของฝรั่งเศส ที่เตรียมการเข้ายึดเอาสิบสองจุไทและแขวงหัวพันทั้งห้าทั้งหกจากไทยด้วยข้ออ้างว่า ถ้าดินแดนส่วนนี้ถือว่าเป็นของไทย แล้วไทยมีแผนที่อันใดแสดงว่าเป็นของไทย? อย่างไม่เกรงใจและไม่มีใครรู้ก่อนล่วงหน้า ฝรั่งเศสได้ส่งทหาร 2 กองเข้ามายึดเอา 12 จุไทและเมืองซ่อนไว้เป็นของฝรั่งเศสโดยมิได้ทำสนธิสัญญาอย่างใดทั้งสิ้น