ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 10

ดอกขะเจียวจากโคกขี้แลน ตอนที่ 10


กินข้าวงายแล้ว ชายชราก็เข้าห้องพระเพื่อนั่งสมาธิหรือพักผ่อนตามสะดวก ถ้าไม่ได้ออกนอกเรือนไปนั่งสนทนากับเฒ่าแก่คนอื่น ๆ ในหมู่บ้านก็จะเข้าห้องพระเป็นประจำ บนโต๊ะบูชานอกจากมีพระพุทธรูปบูชาประดิษฐานไว้แล้ว ยังมีห่อผ้าหนังสือผูกใบลานและห่อผ้าสีฟ้าอันรับมรดกมาแต่บิดาเป็นของสำคัญวางไว้ด้วย

เหมือนมีสิ่งดลใจให้เอื้อมมือไปหยิบห่อดาบสีฟ้าขึ้นมาเปิดออกดู ฝักดาบเป็นงาช้างแกะสลักลวดลายโบราณคล้ายบอกเรื่องราวต่าง ๆ ฝีมือในการควัดมีดแกะสลักอยู่ในขั้นประณีตยิ่งนัก ด้ามดาบถืองาคชสารสีดำ ชายชรารำพึงว่ามือของท่านผู้กล้ามากมายที่ได้กุมกำด้ามดาบนี้ข้าน้อยขอกุมกำบ้าง ขอขมาอย่าว่าล่วงเกินท่านผู้มีคุณได้ก่อบ้านแปงเมืองมาด้วยดาบสำคัญตาวฮางเซ็ง แล้วชายชราจึงชักดาบออกจากฝัก

ทันใดนั้น, เมื่อดาบอยู่นอกฝัก เหมือนกับว่าปฐพีสะเทือนเลื่อนลั่นขึ้น มันเป็นความรู้สึกของชายชราเองหรือว่าเป็นเช่นนั้น แสงดาบแวววาวแยงนัยน์ตา พระแสงสว่างไสวไปทั้งห้องดั่งว่าขุนเจืองมานั่งบริกรรมอยู่ต่อหน้าเป็นที่อัศจรรย์ใจนักในคราวนี้ แม้ว่าจะเคยนำออกมาลูบคลำทำความสะอาดมาก่อน ชายชรารู้สึกตัวว่า มีพลังจิตเจิดจ้าไปเช่นเดียวกับแสงดาบ จนต้องยืนถือดาบขึ้นกวัดแกว่งไปมา…

เมื่อคราวที่จารย์บุญและจารย์แก้วกับอีแพงเมียข่า พร้อมครอบครัวชาวข่าจำนวนหนึ่งลงมาจากยอดภู พวกเขาก็เดินทางเข้าตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ดินแดนห้วยขุหลุ อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนแต่เดิมมาของจารย์บุญ ฝ่ายเฒ่าแก่และหมู่ญาติก็พากันทำพิธีบายศรีสู่ขวัญว่า

ศรี ศรี มื้อนี้เป็นมื้อสันวันดี เป็นมื้อศรีอุตตะมะโชค เป็นสะโหลกขวัญเจ้ามาเฮือน เดือนนี้แม่นเดือนดีฤทธิกล้า จารย์แก้วกับนางแพงหล่าทองศรี จารย์บุญกะมีบริวารชาวข่า ขวัญเจ้ามาตั้งแต่ภูดอยดั้น น้ำโขงคั่นขวัญเจ้ากะมา มาเยอขวัญเอ้ย…

บัดนี้, เชิญขวัญเจ้ามาอยู่เฮือนพื้นแป้นหญ้าแฝกมุงหนา มาอยู่เฮือนหลังคามุงถี่ ขวัญเจ้ามาอยู่เฮือนพื้นแป้นหอแก้วแผ่นกระดาน อย่าได้ตกสะท้านย้านใจกลัว ขวัญหัวให้มาอยู่หัวซมเกล้า ขวัญเกล้าให้มาอยู่เกล้าซมคีง ขวัญคีงให้มาอยู่คีงละใหม่ ขวัญไหล่ให้มาอยู่ไหล่สะมังสังขวัญดังให้มาอยู่ดังสะแย้ม ขวัญแก้มให้มาอยู่แก้มสะมอ ขวัญคอให้มาอยู่คอพิพาก ขวัญปากให้มาอยู่ปากเจรจา ขวัญตาให้มาอยู่ตาดูแจ้ง…ฯลฯ

          มาเย้อขวัญเอ้ย…ขวัญเจ้าไปอยู่เหล่าแกมป่าหญ้าคา 

ก็ให้มามื้อนี้วันนี้

          ขวัญเจ้าไปอยู่นาแกมป่าต้นข้าว

ก็ให้มามื้อนี้วันนี้

          ขวัญเจ้าไปอยู่ปางหลวง

ก็ให้มามื้อนี้วันนี้

          ขวัญเจ้าไปอยู่สวนเผือกนางงาม

ก็ให้มามื้อนี้วันนี้

          ขวัญเจ้าไปอยู่สวนครามนางไอ่

ก็ให้มามื้อนี้วันนี้

          ขวัญเจ้าไปอยู่ไฮ่นางนอน

ก็ให้มามื้อนี้วันนี้

มาเย้อขวัญเอ้ย ไชยะตุ ภะวัง ไชยะมังคะละ…ขวัญเจ้าไปดอมเงือกสี่หัวห้าหาง ขวัญเจ้าไปตามนางสี่หัวห้าเกล้า ขวัญเจ้าไปซู้หมู่ลิงโถงไปดอมนางโพงและนางเป้า ขวัญเจ้าไปอยู่กลางเถื่อนถ้ำคูหา ไปอยู่ในงาช้าง ไปอยู่ถ้ำเมืองแมนไปอยู่แดนเมืองนาค ไปอยู่ฟากโขงไกล ก็ให้มามาทั้งขวัญบุตตาและลูกเต้า มาทั้งขวัญเข้าอันอยู่ในเยีย มาทั้งขวัญลูกเมียอันอยู่พางข้าง มาทั้งขวัญพี่น้องอันอยู่ทางไกล มาทั้งขวัญนางสีไวและนางนาถไท้แก้วแก่นกินรี มาทั้งขวัญนางธรณีอันอยู่ใต้พื้น สามขวัญให้มาเฮ้าเก้าขวัญให้มาโฮมมาเยอขวัญเอ้ย…

ปีนั้น…เมื่อลงมาตั้งรกราก ส่าวไฮ่ส่าวนาขึ้น พวกเขาก็พร้อมกันยกจารย์บุญให้ขึ้นเป็นกวานบ้าน อายุยังหนุ่มน้อยไม่ได้แต่งงาน พออายุได้หนุ่มใหญ่ใกล้สามสิบปี จารย์บุญจึงได้สู่ขออีดามาเป็นเมีย ยามนั้นการทำนาก็พอจะให้ผลเป็นที่เพียงพอในแต่ละปีไป ข้าวเปลือกไม่เหลือเก็บแต่ละปี พอมาปีหลัง เมื่ออีสานเกิดแห้งแล้งติดต่อกันไปหลายปี จึงเกิดความอดอยากแร้นแค้นถึงที่สุด เรียกว่า ขุดหัวเลา เกาหัวมันกินแทนข้าวกันตาย

หมู่บ้านที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยนั้น แต่ก่อนมีหนองน้ำที่มีน้ำบริโภคตลอดทั้งปี พอเกิดแห้งแล้งน้ำในหนองแห้งขอด ลมแล้งก็หอบเอาทรายมาปิดหนอง ทำให้ตื้นเขินขึ้นเป็นอันมาก ชายชราเกิดทันในปีที่หนองยังพอเห็นซากเรียกว่า หนองแตแหล แล้วชื่อหมู่บ้านก็ได้ชื่อตามหนองนั้น ปีต่อมาจารย์ก็เลยตัดใจพาชาวบ้านอพยพไปหาที่อยู่ใหม่ การอพยพนี้มุ่งไปหาแหล่งน้ำเป็นสำคัญ แต่การอพยพไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ จำจะต้องเตรียมเสบียงกรังในการเดินทางให้เพียงพอ อย่างข้าวเกลือ พริกแห้ง ต้องกะให้พอดีว่า เมื่อไปถึงที่ที่จะตั้งบ้านเรือนแล้ว จับขวานจับพร้าขึ้นฟันไร่ใส่ข้าว ปีนี้ทั้งปีจะต้องรอข้าวไร่ ได้ข้าวแล้วปีต่อ ๆ มาจึงจะขุดตอ ฟันขอน ขุดคันนา เป็นการใช้แรงคนและควาย เรียกสั้น ๆ ว่า การส่าวนา ได้นาปีละแปลงสองแปลงก็นับว่าดีโข กว่าจะได้นาเป็นทุ่งลงแรงไปเหนื่อยยากสักเท่าใด ? หากไม่จำเป็นชาวนาจึงไม่อยากอพยพย้ายถิ่น เพราะมันลำบากและถ้าเกิดโรคภัยไข้ป่าผีกิน ก็จะตายไปเปล่าดาย ไม่มีอะไรไว้ตกถึงลูกหลาน เวรกรรมแท้ ๆ

ในคราวนั้น จารย์บุญพาลูกเมียและเพื่อนบ้านจารย์แก้วไปอยู่ใกล้ลำเซบาย ตั้งชื่อบ้านว่าบ้านหนองหญ้าปล้อง การอพยพคราวนี้มีเหตุจากความแห้งแล้งขาดน้ำบริโภค และลูกหลานชาวบ้านจำนวนหนึ่งถูกเกณฑ์ออกไปรบกับฝรั่งเศส ข่าวลือเรื่องสงคราม สร้างความหวาดหวั่นเกิดในหมู่ราษฎรทั่วไป ฝ่ายชายฉกรรจ์ที่ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารจนกระทั่งวันอพยพทิ้งบ้าน ก็ยังไม่กลับมา บางคนจึงว่า แล้วแต่บุญแต่กรรมของมันเถิด…

ในปีต่อมาจารย์บุญและจารย์แก้วได้กลับขึ้นไปหนองแตแหล เพื่อนิมนต์ญาครูอินอุปัชญาย์ มาสร้างวัดขึ้นที่โคกหนองหญ้าปล้องคราวนั้นราษฎรได้ร่วมแรงร่วมใจ โดยมีพระครูอินเป็นผู้นำ ทำการสร้างโบสถ์ หรือสิมขึ้น การสร้างสิมนั้น จะมีการผูกสิม พวกเขาก็ได้ออกไปหาลูกนิมิตเป็นแผ่นหิน  8 แผ่น กว้าง ยาวประมาณศอกหนึ่ง เพื่อนำไปฝังไว้ในทิศทั้งแปดห่างจากบือสิมประมาณห้าวา ลูกนิมิตอันเรียกว่า บือสิมนั้น พวกเขาก็นำหินก้อนกลมอันถากทำขึ้นด้วยฝีมือประณีตมา 1 ก้อน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ฟุต

บือสิม ขุดเป็นหลุมสี่เหลี่ยมกว้างยาวลึก 1 เมตร จากนั้นก็กำหนดวันฝังลูกนิมิต งานนี้จารย์บุญได้นิมนต์พระสงฆ์สามเณรจากหลายหมู่บ้านแต่ในปีนั้นชายฉกรรจ์ครบอายุบวช ส่วนใหญ่ถูกเกณฑ์ไปรบฝรั่งเศส วัดบางวัดไม่มีพระเณรกลายเป็นวัดร้างก็มี จึงได้พระสงฆ์มาทำพิธีเพียงห้ารูป สามเณรสิบรูป พอถึงวันงานก็เอาลูกนิมิตแขวนไว้หน้าสิม ศรัทธาทั้งหลายก็เอาเครื่องค้ำของคูณทิ้งลงไปในหลุม ตามประสายากจะมีแก้วแหวนเงินทองมากมายก็หาไม่ พระสงฆ์ที่มาในงานท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร การทำบุญเป็นเรื่องของจิตใจบริสุทธิ์ เมื่อกระทำทักนิมิตพระสงฆ์ก็สวดทักนิมิตว่า

ปุริมาย ทิสาย กิง นิมิตตังทิศบูรพาอิหยังเป็นนิมิต ?

คฤหัสถ์คือจารย์บุญตอบว่า        

ปาสาโณ ภันเต หินเจ้าข้า

พระสงฆ์ถามว่า               

เอโส ปาสาโณ นิมิตตัง หินนั้นหรือเป็นนิมิต

จารย์บุญตอบว่า              

อาม ภันเต ขอรับเจ้าข้า

ทักนิมิต เวียนจากตะวันออกไปตะวันตกแล้วเวียนจากตะวันตกมาตะวันออก จากนั้นพระสงฆ์สวดถอนสิม สวดถอนภายนอก แล้วสวดถอนภายใน ด้วยพระสงฆ์ 2 รูป แล้วต่อมาพระสงฆ์ 2 รูปสวดผูกสิม สวดจบแล้วสาธุพร้อมกันแล้วพระครูอินก็ตัดลูกนิมิตลงดิน ปิดหลุมกลบดิน บือสิม เป็นอันเสร็จพิธี

แม้จะสร้างวัดสร้างสิม และมีญาครูอินเป็นเจ้าหัวอุปัชญาย์ แต่ความเชื่อเรื่องผีด้ำ ผีปู่ตาของชาวบ้านก็ยังมีอยู่ จารย์บุญจึงพาพวกมันก่อสร้างตูบปู่ตา ขึ้นไว้ที่ป่าหัวหนอง เป็นที่ร่มรื่นเย็นสบาย แล้วห้ามเข้าไปแผ้วถางบุกรุกอย่างเด็ดขาด ปู่ตาบันดาลให้ลูกหลานอยู่ดีมีสุข จะทำการใดก็ต้องบอกกล่าวผีปู่ตา

นอกจากผีปู่ตาก็ยังมีผีอื่น ๆ ผีเชื้อ ผีเป้า ผีโพง ผีเผต ผีเฮือน ผีกองกอย ผีพราย ผีเสื้อบกผีเสื้อน้ำ ผีป่าผีภู ผีย่าง่าม ผีตาแฮก ผีพญาแถนและผีปอบ เป็นต้น ก็ให้ความเกรงกลัว ไม่กระทำความชั่วกลัวผีหักคอ..

อันธรรมดาของชาวบ้านก็ย่อมจะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกัน จารย์บุญจารย์แก้วเป็นหลักสำคัญของบ้านก็ได้ทำการบอกกล่าวสั่งสอนพวกเขาว่า เมื่อเกิดมาจากน้ำเต้าปุ้งลูกใหญ่อันเดียวกัน ก็ต้องฮักแพงกันไว้ เป็นญาติพี่น้องพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อการงานครอบครัวของตนทำเสร็จแล้วก็ต้องรู้จักไปช่วยเหลือครอบครัวอื่น ๆ ต่อไป เช่นไปช่วยเกี่ยวข้าว สร้างเรือนสร้างเล้าไปช่วยทำบุญงันเฮือนดีหามผีไปป่า เป็นต้น

แล้วจารย์บุญจารย์แก้วก็สั่งสอนพวกมันให้รู้จักเกี่ยวกับฮีต 12 หลักใหญ่อันสำคัญที่จะค้ำชูบ้านเมืองให้รุ่งเรืองตามคำบอกคำสอนแต่โบราณนานมา กระทำให้สำเร็จตามคำบอกสอนของปู่ย่าตายายในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี

ฮีตหนึ่งนั้นเฮ็ดบุญเข้ากรรม บุญเดือนอ้ายคือ พระสงฆ์เข้าปริวาสกรรมเพื่อให้พระที่ประพฤติผิดวินัยได้สำนึกและสารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ อยู่กรรมจนครบกำหนดก็ขอมานัตและขออัพภานต่อไป เมื่อคณะสงฆ์ให้อัพภานแล้วถือว่าบริสุทธิ์

ฮีตสองนั้นเฮ็ดบุญคูณลาน จารย์บุญบอกว่า เฮ็ดนาได้ข้าวได้น้ำแล้ว ก็สมควรนิมนต์พระสงฆ์ผู้มีศีลมาเจริญพระพุทธมนต์แล้วถวายข้าวปลาอาหารที่ลานตีข้าวนั้น แต่ถ้าทั้งหมู่บ้านจะทำบุญพร้อมกัน ก็ควรนำข้าวที่ทำนาได้นั้นมากองที่ลานวัดเพื่อถวายพระสงฆ์ กองข้าวนั้นก็จะเรียกว่า กุ้มข้าวใหญ่ จึงเรียกบุญนี้ว่า บุญกุ้มข้าวใหญ่ก็มี

ฮีตสามเฮ็ดบุญข้าวจี่ วันเพ็ญเดือนสามเป็นวันมาฆบูชา ชอบที่จะเข้าวัดฟังธรรม เวียนเทียน ส่วนข้าวจี่ต้องจี่ให้แห่มจนเหลืองสวย และมีไส้เป็นน้ำอ้อย หอมหวาน จึงนำไปถวายพระสงฆ์และจัวน้อย จารย์บุญได้ยกคำผะหยามาเปรียบว่า เดือนสามค้อย เจ้าหัวคอยปั้นข้าวจี่ หรือว่า เดือนสามค้อย ลมวอย ๆ ปั้นข้าวจี่ ข้าวจี่บ่มีน้ำอ้อย จัวน้อยเช็ดน้ำตาพระพุทธเจ้าตรัสโอวาทปาฏิโมกข์ไว้ในวันนี้ด้วยว่า อย่าทำชั่ว ทำแต่ความดี และชำระใจให้สะอาด ต่อหน้าพระสงฆ์อรหันต์สาวก 1,250 รูปที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

ฮีตสี่เฮ็ดบุญผะเหวดมีเทศน์มหาชาติจารย์บุญว่า เมื่อกำหนดวันงานแล้วจะต้องทำการใส่หนังสือใบลานแบ่งกัณฑ์ส่งไปตามวัดต่าง ๆ เพื่อพระสงฆ์ที่วัดนั้น ๆ จะได้นำมาเทศน์ถือเป็นการนิมนต์ ในตอนเย็นของวันโฮมจะมีการไปรวมกันที่ชายป่า แล้วพากันแห่ผ้าที่เขียนเป็นรูปภาพทั้ง 13 กัณฑ์เข้ามาในหมู่บ้าน ตามทางก็จะตั้งหม้อน้ำหอม เอาดอกมันปาและดอกมวกเป็นต้นจุ่มน้ำรดบูชาพระเวสสันดร ที่วัดจะมีธงทิวประดับประดา ถ้าเป็นไปได้ให้มีครบ 1,000 ผืนเท่ากับคาถาพระเวสฯ มีแห่ข้าวพันก้อนในตอนเช้าหรือแห่มาพร้อมกันกับแห่ผ้าแหล่ผะเหวดนั้น พระเณรองค์ใดเล่นลูกคอขึ้นเสียงได้ไพเราะก็จะมีแห่กัณฑ์หลอนมาถวาย ซึ่งก็จะเป็นตอนค่ำย่ำเย็น ที่ถึงกัณฑ์มัทรี กัณฑ์กุมาร หรือกัณฑ์ชูชก พอดีจารย์แก้วนั้นแหล่ได้ไพเราะยิ่งนัก แต่ตอนบวชพระโน้น

ฮีตห้าเฮ็ดบุญสรงน้ำพระ มีการเล่นหลายอย่างทั้ง สาดน้ำ ตีคี สะบ้า หนุ่มสาวได้ทำบุญและมีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกัน ฮีตหกเฮ็ดบุญวิสาขบูชา มีเล่นบั้งไฟจุดขึ้นไปไหว้พญาแถน ขอฟ้าขอฝน ก่อนจะถึงวันบุญบรรดาช่างบั้งไฟจะทำหมื่อและเจีย ผสมมาดและถ่านให้ได้สัดส่วนตำลงไปในบั้งไม้ไผ่ อัดเถียด แล้วเจาะรูตรงกลางสำหรับใส่สายฉนวนไว้จุด หางบั้งไฟต้องให้ได้ความยาวและน้ำหนักสมดุลกับบั้ง ที่เรียกว่าบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน ถ้าบั้งไฟที่จุดเกิดหลูเถียดก็เอาเจ้าของหามไปลงตม คราวนั้นบรรดาหาเซิ้งกินเหล้า ก็ออกเซิ้งเลาะไปรอบบ้าน

            “โอเฮาโอเฮาโอ้เฮาโอ…

ขอเหล้าเด็ดให้ข้อยจักโอ

          ขอเหล้าโทให้ข้อยจักถ้วย

หวานจ้วย ๆ ใส่ปากหลานชาย

          เจ้าบ่ให้ข้อยกะบ่หนี

ตายเป็นผีข้อยสินำมาหลอก

          ออกจากบ้านข้อยสิหว่านดินนำ…”

พวกขี้ดื้อหัวใส เอาติวไม้ไผ่หนังสือเจียงแขวนคอ กลุ่มละสี่ห้าคน ไปถึงผามหมู่บ้านใดก็จะอ่านหนังสือเจียงให้ฟัง ส่วนใหญ่คุ้มบ้านใดได้ต้อนรับคนจากหมู่บ้านใด จะปลูกผามและตูบไว้ต้อนรับ พวกที่มาในบุญบั้งไฟก็จะไปพักตามคุ้มตามผาม คนในคุ้มก็จะเอาหนังสือเจียงมาอ่านให้ฟัง จารย์แก้วยกตัวอย่างอันหยาบลามกสุด ๆ แต่ในงานนี้จะไม่มีผู้ใดถือสาหาความเช่นว่า อิมัสมิงขาเป คนขาเคหีใหญ่ หน้าผากไข่หีโน ผีสบโปหีสวด ผู้มีหนวดหีหมอย ฮ้องจิล่อง จิล่อง แม่นนกอีเอี้ยง หัวเกลี้ยง ๆ แม่นนกกระซุม…

ฮีตเจ็ดเฮ็ดบุญชำระบะเบิก พระสงฆ์สวดพระปริตแล้วพรมน้ำพระพุทธมนต์ ฝ่ายราษฎรก็ทำการบูชาเทวดาอาฮักหลักเมือง ศาลปู่เจ้ามเหสักข์หลักบ้าน หว่านแฮ่หว่านทราย สวดส่งโทง

ฮีตแปดเฮ็ดบุญเข้าพรรษา

ฮีตเก้าเฮ็ดบุญข้าวประดับดิน

จารย์บุญบอกว่าวันแฮม 19 ค่ำเดือน 9 เป็นวันปล่อยเผต จึงต้องนำอาหารหวานคาวไปถวายพระภิกษุสงฆ์ แล้วนำไปวางไว้ตามที่ต่าง ๆ อุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรดาเปรตที่ขึ้นมาจากนรก

ฮีตสิบเอ็ดบุญข้าวสาก ก็คือบุญทานสลากภัตต์ จารย์บุญเล่าว่า ในอดีตกาลมีบุตรชายกุมพีคนหนึ่ง ได้เมียแต่ไม่มีลูกด้วยกัน เมื่อบิดาตายไป แม่ก็ไปหาเมียอีกคนให้ และได้ลูกด้วยกัน เมียใหญ่อิจฉาเมียน้อยก็หายาพิษให้กินจนเสียชีวิตอธิษฐานก่อนตายว่าขอเกิดเป็นยักษิณี และให้ได้จับกินเมียใหญ่ไปทุกภพชาติ ก็ไปเกิดเป็นแมวฝ่ายเมียใหญ่ไปเกิดเป็นไก่ แมวก็กินไก่ ตายไปเกิดเป็นเสือ เสือก็กินเนื้อ เนื้อมาเกิดเป็นยักษิณีแม่เสือเกิดเป็นธิดาสาวลูกเศรษฐี ได้แต่งงานกับชายหนุ่มคนหนึ่ง ยักษิณีก็ไปจับทารกลูกของนางกินเสีย พอได้บุตรคนที่สอง ขณะที่ผัวลงอาบน้ำยักษิณีเหาะมาจะกินทารก ก็พาลูกอุ้มวิ่งหนีเข้าไปในวิหารเชตวัน ยักษิณีเข้าไปไม่ได้ เพราะเทวดายืนกันไว้ พระพุทธเจ้าให้พระอานนท์ไปตามนางยักษ์มา แล้วเทศนาโปรดให้เลิกจองเวรกันเสีย ให้เอานางยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่ตาแฮกหัวนาชาวบ้านก็ได้พึ่งพา และให้อาหารการกินมากมาย นางยักษ์ก็นำสิ่งของอาหารการกินไปถวายพระสงฆ์วันละแปดองค์ อาศัยเหตุนี้จึงเกิดเป็นบุญข้าวสาก

ฮีตสิบเอ็ดเฮ็ดบุญออกพรรษา

แล้วฮีตสิบสองเฮ็ดบุญกองกฐิน

จารย์บุญบอกว่า ชาวบ้านเราก็ทำกันมาทุกปีไม่ได้เว้น แต่จารย์แก้วว่า ในบุญออกพรรษา มีการทำโคมลมและโคมไฟ แต่ว่าเจี้ยหรือกระดาษหายาก เอาอย่างนี้แล้วกัน เราจุดไต้จุดประทีปตามไฟให้สว่าง เพราะเดือนนี้จะเรียกว่าบุญไต้ประทีปก็ว่า ถ้าอยู่ใกล้แม่น้ำก็จะทำแพเป็นรูปเรือยาวสัก 1 วาถึงสิบวาก็ไม่ว่า ข้างในใส่ขนมต่าง ๆ ข้างนอกมีดอกไม้ธูปเทียน ขี้กระบองกลางคืนมาจุดเทียนจุดขี้ไต้ขี้กระบองขึ้น แล้วไหลเรือลงน้ำไป

ถ้ามีเจี้ยมีกระดาษติดเป็นรูปโคมใหญ่ ๆ ยาวสักห้าวาสิบวาก็ไม่ว่า ก่อนจะปล่อยเขียนสาส์นสาริกา หรือจดหมายก้อมว่า นี่คือโคมลมหรือโคมไฟบ้านหนองหญ้าปล้อง ปล่อยขึ้นมาถึงน้องอีนางหล่า ฮักเจ้าหลายจึงเขียนสารสาริกา ได้ฮับแล้วตอบมาบ้านอ้ายเด้อ…ก็ใช้ควันไฟเป็นตัวส่งให้โคมลอย ถ้าเป็นโคมไฟก็เอาผ้าชุบขี้ยางติดไว้เป็นเชื้อไฟ เป่าควันเป่าลมเข้าในโคมให้โป่งแล้วจุดไฟ โคมลอยไปไฟสว่างขึ้นไปบนฟ้า ยามนั้นเมื่อเด็กน้อยผู้ใหญ่เห็นโคมไฟผ่านหน้าก็จะพากันวิ่งตาม ลงทุ่งลงป่าจนโคมร่วงเพราะกระดาษขาดเป็นรู หรือลมหมดไฟดับก็ตาม พวกมันก็จะพากันเข้าไปแย่งเอาสาส์นสาริกา สนุกเป็นบ้าเป็นหลัง แต่ว่าข้าวในนากูล้มระเนระนาด สูเอ๋ยสู…

จารย์แก้วเล่ามา บรรดาชาวบ้านก็หัวเราะเพราะเป็นคนพูดทีเล่นทีจริง ครั้งอยากได้ยินได้ฟังชาดกหรือนิทานเรื่องใดก็จะเข้าไปถามจารย์แก้วแล้วเป็นได้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สังข์สินชัย ท้าวก่ำกาดำ ขูลูนางอั้ว ผาแดงนางไอ่ การะเกด พระลักพระลาม หน้าผากไกลกะโด้น จำปาสี่ต้น นางผมหอม นางสิบสอง กำพร้าผีน้อย หรือจะเป็นทางคำสั่งคำสอน อย่างปู่สอนหลาน กาบท้าวคำสอน การดูลักษณะหญิง ชาย และปัญหาเสียวสวาด เป็นต้น ในหมู่บ้านจึงนับว่ามีครบทุกประการ นอกจากการทำมาหากินที่ฝืดเคืองเท่านั้น ไม่เป็นที่ปรารถนาของทุกคน

วัด บ้าน การประเพณี และความเชื่อต่าง ๆ จึงหลอมรวมเข้าเป็นชีวิตจิตใจของผู้คน ในเวลานั้นโลกยังมิร้อนระอุด้วยการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นจะเป็นก็แต่พวกนักล่าเมืองขึ้น ก่อสงครามในหัวเมือง ราษฎรที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ก็ถูกเกณฑ์ไปรบบางบ้านก็พบพวกปล้นพวกชิง เป็นพวกแกวพวกเขมร อดอยากมาจากไหน เห็นข้าวของชาวบ้านเป็นไม่ได้ ชิงเอาไปเสียดื้อ ๆ ไม่ว่าไก่กาหมาหมูวัวควาย ที่พวกมันไล่ต้อนหรือจูงเอาไปต่อหน้าเดือดร้อนอยู่ไม่น้อย

ชายชราคิดทวนหวนไป ความจดจำรำลึกลางเลือน เอาดาบห่อไว้ดั่งเก่า เอาใบลานจารเรื่องราวเก็บขึ้นหิ้งเช่นเดิม หัวใจรู้สึกล้าโรยเป็นอันมาก บอกตนเองว่าขอนอนสักงีบแล้วจะตื่นมาเพื่อลงไปเดินเล่นรอบ ๆ บ้านเป็นการออกกำลัง ถึงตอนนั้นสุนทรจะต้มน้ำให้ร้อน นำมาผสมน้ำอุ่นเพื่อให้ปู่มันอาบ จากนั้นหาอาหารการกินใส่สำรับมานั่งกินพร้อมหน้าพร้อมตา บนชานเรือน…ขอนอนสักงีบก่อนเถิด บ่าย ๆ จะลุกออกไปเดินเล่น…

การนอนคราวนี้เป็นการหลับไปชั่วนิรันดรของปู่เฮือง…

(โปรดติดตามต่อฉบับหน้า)

Related Posts

บทกวี น ก เ ส รี สี รุ้ ง
เสียงพิณเสียงแคน
Visions for Mo Lam in Mainland Southeast Asia : การก้าวข้ามพรมแดนทางวัฒนธรรมดนตรี
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com