ดอกไม้บานที่อิตาลี “บ้านเมืองต้องการผู้นำทางปัญญา…เรามีแต่ปัญญาเท่านั้นที่จะเอาชนะกระบอกปืน”
ดอกไม้บานที่อิตาลี
“บ้านเมืองต้องการผู้นำทางปัญญา…เรามีแต่ปัญญาเท่านั้นที่จะเอาชนะกระบอกปืน”
คอลัมน์”ปากกาขนนก” / สกุล บุณยทัต / นสพ.สยามรัฐ 28 มิถุนายน 2565
https://siamrath.co.th/n/351775?fbclid=IwAR157LwK45LQ5w_CugjqdxwbgfCvOdk40VuXPuC7bLP_rq0bEMVPzy6Z8pA
“ความงามแห่งประสบการณ์อันดิ่งลึกและลีลาชีวิตที่ถูกใช้ไปในการเรียนรู้เสมอ คือความทรงจำอันล้ำค่าที่ทั้งแปรเปลี่ยนและเสริมค่าให้ตัวตนของชีวิต มีเกียรติภูมิที่สูงขึ้น ด้วยโครงสร้างของจิตวิญญาณอันเปี่ยมเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ …เรื่องราวนานาที่อุบัติขึ้นจากเจตจำนงที่มีนัยสำคัญนี้ ล้วนคือตัวอย่างแห่งการปลูกสร้างรอยร่างทางอารมณ์ความรู้สึก… ที่ชีวิตได้น้อมรับเอาไว้เป็นกุศลธรรม มันนำชีวิตทั้งมวลไปอยู่ ณ สถานที่ของการตระหนักรู้อันถาวร และยิ่งไปกว่านั้น มันยังสามารถสร้างเสริมตัวตนของความเป็นมนุษย์ให้ขยับเข้าใกล้ปวงปราชญาแห่งความเป็นปราชญ์ อันยากจะรุกล้ำหรือทำลายลงได้”
สาระความหมายดังกล่าวนี้คือใจความสำคัญ แห่งสำนึกคิด ที่ได้รับจากประกายไฟขององค์ความรู้ที่ปรากฏในหนังสือ… “ดอกไม้บานที่อิตาลี” ที่เขียนโดย “เสรี พงศ์พิศ” ปราชญ์แห่งยุคสมัย ผู้บุกเบิกการเรียนรู้ด้านปรัชญา ภาษาศาสตร์ และองค์ความรู้จากหลักวิชชานานาในโลกร่วมสมัย ให้หลอมรวมเกิดเป็นศาสตร์แห่งกาลเวลา ที่ยึดพยุงหลักคิด และหัวใจแห่งการใฝ่รู้ของคนรุ่นใหม่…ให้สามารถแยกแยะและอธิบายความถึงเป้าประสงค์อันดิ่งลึกและสลับซับซ้อนได้…กลไกในการเรียนรู้ทั้งหมดนับเป็น…บทเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุคแสวงหาของไทย ในทศวรรษก่อนเหตุการณ์ “14 ตุลา ปี 16” ที่มีการเปลี่ยนแปลงบริบททางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศของเรา…จากภาพรวมของกระบวนการทางการเมืองแบบผูกขาดโดยกลุ่มทหารเพียงบางตระกูล…มาสู่การเปิดสายทางด้านการเมืองการปกครองในนามของประชาชนคนสามัญ…ในที่สุด...
วิธีคิดผ่านการศึกษาของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น เป็นบทเริ่มต้นของการเรียนรู้แบบ “โลกสันนิวาส” เป็นการเรียนรู้ในองค์รวมของสถานการณ์ของความเป็นโลกและโลกย์ …ผ่านจินตนาการ ประสบการณ์ และวิชาการ อันกว้างไกล…เหตุนี้…หลักคิดของนักคิด นักปรัชญา และนักปฏิบัติซึ่งล้วนแต่เป็นปราชญ์คนสำคัญของโลก จึงล้วนแล้วแต่ส่องแสดงภาพลักษณ์อันเป็นตัวอย่างแบบเรียนถึง ความเป็นไปอันสดใหม่เหนือกาลเวลาในยามนั้น… มันคือปฐมบทของยุคสมัยที่โลกเหลือเพียงองศาที่ปิดกั้นสัมพันธภาพระหว่างกันเพียงน้อยนิด…
“เสรี” ได้สร้างตัวละคร “อานนท์” เป็นตัวเอกของเรื่อง…อันเปรียบเสมือนตัวแทนแห่งความเป็นชีวิตของเขา…จากหนุ่มต่างจังหวัดของไทย ได้ทุนไปศึกษาปริญญาโทที่อิตาลี และปริญญาเอกที่เยอรมัน…ในสาขาวิชาที่เรียนรู้ถึงปรัชญาชีวิต สังคม และกระบวนการแห่งความรู้แจ้ง… กอปรกับชีวิตของตัวละครอื่นที่มาเรียนรู้ด้านวิชาการในลักษณะเดียวกันแต่ต่างแขนงสาขา รวมทั้งผู้มาใช้ประสบการณ์ชีวิตเพื่อการดำรงอยู่ในวิถีแห่งชีวิตใหม่ที่นี่… การจัดวางตัวละครในเรื่องทั้งหมดมีลักษณะสอดรับเหตุและผลของการมีชีวิตอยู่อย่างตระหนักรู้ถึงภูมิหลังในเชิงเปรียบเทียบเพื่อการ “รับรู้ในรู้สึก” ต่อการประจักษ์แจ้งในแก่นสารของโลกแห่งชีวิต…ในแง่มุมเปรียบเทียบที่ชวนพินิจพิเคราะห์… ผ่านรูปรอยของเรื่องเล่าด้วยจดหมาย (LETTER NOVEL)… และเรื่องเล่าในฉากแสดงชีวิต ณ ต่างประเทศในนามของไพรัชนิยาย (EXOTIC NOVEL)…
“ผมมาจากครอบครัวชาวนา… ทำงานหนักมาตั้งแต่เด็กแล้ว ช่วยพ่อแม่ทำนา ใช้ควายไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว หลังหน้านายังปลูกข้าวโพด ปลูกถั่วปลูกมันเพิ่มเติมอีก”
รากเหง้าแห่งชีวิตของ “อานนท์” เริ่มต้นจากสังคมเกษตรกรรมอันเป็นพื้นฐานของประเทศแห่งซีกโลกตะวันออกโดยรวม…แต่เป้าหมายทางการศึกษาที่คนไทยอย่างเขาได้มีโอกาสมาเรียนทางด้านอักษรศาสตร์ที่โรม ได้อย่างไร? รวมทั้งเรียนไปทำไม?… กลับเป็นปริศนาสำคัญ ให้คนต่างชาติสงสัยในจุดมุ่งหมายนั้นอยู่…ไม่น้อย…มันคือจุดเริ่มต้นของการแผ่ขยายทางด้านวัฒนธรรมในเชิงลึก…ที่คาบเกี่ยวกันระหว่างนโยบายกับการบริหารประเทศที่เป็นสากล และเป็นดั่งเสมือนการก่อตัวริเริ่มในการปฏิวัติทางความคิด…ในเวลาต่อ ๆ มา…
“เพราะเขาเตรียมให้ผมกลับไปเป็นอาจารย์สอน…ในมหาวิทยาลัย…ผมเป็นลูกชาวนามาเรียนที่โรม…เพราะได้ทุนครับ…รัฐบาลอิตาลีใจดี มอบทุนให้มหาวิทยาลัยผม…คัดเลือกคนให้มาเรียนต่อ…ผมสนใจทางอักษรศาสตร์…ก็เพราะประวัติศาสตร์ของทุกประเทศมีหลายอย่าง…คือการพัฒนา การเปลี่ยนแปลง การต่อสู้ระหว่างผู้คนกลุ่มต่าง ๆ …นอกจากในประเทศแล้ว ยังไปเกี่ยวกับประเทศอื่น ไม่ใช่แค่เพื่อนบ้าน อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ไปล่าอาณานิคมหาเมืองขึ้นทั่วโลก มีการปฏิวัติ ทางความคิดเกี่ยวกับโลก วิชาการ วิทยาศาสตร์”
อีกด้านหนึ่ง “เสรี” ได้สร้างตัวละคร “รมิตา” ให้เป็นคู่เคียงในเรื่อง…เธอคือตัวแทนของผู้เรียนรู้ในเชิง “ปฏิบัติการณ์ศาสตร์…” การเรียนรู้ทางด้านเกษตรกรรม อาจมองดูย้อนแย้งในสถานะและบทบาทที่เคยคุ้นของคนไทยเมื่อมองไปยังความหมายของเพศหญิง….แต่เธอมีความเชื่อว่า…การศึกษาจะแก้ปัญหาสังคมได้ ไม่ใช่เงินหรืออำนาจอย่างที่เห็นกันในประเทศทั้งที่พัฒนาแล้ว หรือด้อยพัฒนาอย่างบ้านเรา
“…เหตุนี้เราจึงสมควรมาแชร์เรื่องทุนทางสังคมในอดีตดู…เพื่อจะได้คืนสู่รากเหง้า และเอาสิ่งดี ๆ มาประยุกต์ใช้ในวันนี้” …จุดมุ่งหมายของ”รมิตา”ที่มาเรียนเกษตร…ไม่ใช่เพราะอยากทำเกษตร แต่เพราะ…เธอมีสายเลือดชาวนาเต็มตัว ชาวนาที่ถูกเอาเปรียบ ถูกกดขี่ เธออยากช่วยพวกเขาให้เป็นอิสระ และเชื่อมั่นเหมือนกับอานนท์ว่า … “การศึกษาเท่านั้นจะช่วยปลดปล่อยชาวนาบ้านเรา”
ปัญหาทางด้านเกษตรกรรมในประเทศคือปัญหาอันไม่รู้จบที่มีกลไกเชิงซ้อนอันพิลึกพิลั่น มันไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาใด ๆ… มีเพียงแต่จะแสดงถึงความขาดพร่องสูญเสียของฝ่ายรัฐบาลเป็นหลักใหญ่…สิ่งนี้จึงคือประเด็นสำคัญที่ผู้เรียนรู้โลกกว้างและวิชาการแผนใหม่…จักต้องหยั่งรู้และเข้าใจเพื่อการเยียวยาแก้ไขเนื้อในแห่งบาดแผลฉกรรจ์ของประเทศให้จงได้…
“ประเทศไทย มีสหกรณ์มาได้ประมาณ 50 ปีแล้ว มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ และอื่น ๆ มีหลายพันกลุ่ม อย่างสหกรณ์การเกษตรก็ไม่ได้แก้ปัญหาหรือพัฒนาชาวไร่ชาวนาอะไรเลย คงเป็นเพราะสหกรณ์เหล่านี้ยังถูกครอบงำจากราชการ ไม่ได้เป็นอิสระจริง …ข้าราชการจากกระทรวงเกษตรยังไปนั่งที่สำนักงานสหกรณ์ ใช้จ่ายอะไรก็ยังไปเบิกจากสหกรณ์ และสหกรณ์เหล่านี้ก็ตั้งอยู่ที่อำเภอ ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ที่หมู่บ้าน ตำบล… ส่วนใหญ่จึงไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์”
บทวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาเช่นนี้…มีนัยเชิงเปรียบเทียบกับวิถีของต่างชาติ ซึ่งก็ได้บทสรุปที่แทบจะไม่แตกต่างจากกันนัก…อย่างที่บราซิลปัญหาใหญ่ก็คือ การศึกษาของสมาชิก ล่าสุดมีการแสดงความจริงนี้ผ่านหนังสือ “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” ของ “เปาโลแฟร์” เป็นภาษาโปรตุเกส ซึ่งแปลไปหลายภาษา…รวมทั้งภาษาไทย…
“การศึกษาที่ว่า… ไม่ใช่การศึกษาแบบที่หลอกให้ให้เราเอาปริญญาไปอวดกัน หรือไปเร่หางานทำเมื่อเรียนจบ แต่เป็นการศึกษาเพื่อการปลดปล่อยจากการถูกครอบงำทางความคิด อย่างที่นักปรัชญาชาวอิตาลีผู้โด่งดัง… “อันโตนิโอ กรัมซี” เรียกว่า… “hegemony” อันหมายถึง “อำนาจ” …นั่นแหละ ”
บทสรุปเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของบ้านเราที่ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ในฐานะประชาชนคนไทยกลับมีส่วนรับรู้กันน้อยมาก นั่นคือการที่สมาชิกสหกรณ์ของประเทศเราต้องเป็นหนี้ …ซึ่งมันมีมากแค่ไหน?…
“เสรี”ได้แสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ผ่านทัศนะที่เสียดแทงอย่างตรงไปตรงมาของตัวละคร “รมิตา” เอาไว้ว่า… “เป็นมากทุกคน… เพราะสหกรณ์ มีหน้าที่ไปกู้เงินธนาคารเกษตรซึ่งเป็นของรัฐมาให้สมาชิกกู้ แทนที่จะให้สมาชิกออมเงิน แล้วเอาเงินออมมาปล่อย เพื่อช่วยเหลือกัน”
แท้ที่จริง “ดอกไม้บาน” ในความหมายของหนังสือเล่มนี้คือะไร?…กันแน่……ท่ามกลางคนต่างชาติอันหลากวัฒนธรรมที่ยังมีจุดอ่อนอยู่กับนัยของตัวตนมากมายกับความเข้มแข็งสมบูรณ์ที่มีต้นรากอันยาวนาน…เราจะค้นพบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และทฤษฎีความคิดมากมาย ที่ “เสรี” ได้สืบค้นและแปรค่านำมาเสนอ ทั้งเหตุการณ์ สถานการณ์ และ ประสบการณ์แห่งตัวตนส่วนบุคคล…
การก้าวย่างไปบนทิศทางและบริบทของการเปรียบเทียบจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง หรือ ส่วนหนึ่งไปสู่ส่วนหนึ่ง คือความหนักแน่นของหนังสือเล่มนี้… มันคือการแสดงภูมิรู้ของผู้เขียนที่แจกแจงรายละเอียดออกมาได้หลากหลายมิติในเชิงจักรวาลนิยม
…ความเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์ ของ “เสรี” ทำให้ผู้อ่านได้ประจักษ์แจ้งในเรื่องราวของบุคคลอันหลากหลาย ที่ผสานเข้ากับเจตจำนงและยุทธวิธีในการใช้ชีวิตและนำพาชีวิตของเขา…อย่างแยบยลและเป็นที่เข้าใจ…
“ฉันไม่คิดว่า…เราต้องกลับไปใช้ชีวิตแบบอดีต…นั้นอีก เพราะมันเป็นไปไม่ได้ แต่เรากลับไปค้นหารากเหง้าของเราได้ ไปเรียนรู้คุณค่าของปู่ย่าตายาย และดูว่ามีอะไรดี ๆ ที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตวันนี้”
ทั้งหมดนั้น…จึงคือข้อสรุปสำคัญ…ที่โลกจะต้องมองไปในทางเดียวกัน เกี่ยวกับประเด็นอันสำคัญนี้ หาใช่การมุ่งทำลายรากเหง้าแห่งกำพืดอันดั้งเดิมและจริงแท้ของตนแต่อย่างใดไม่…
“…ฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดินก็ได้…ถ้าเป็นรุ่งอรุณ แต่นี่เป็นสนธยา รัตติกาลกำลังมาเยือน บ้านเมืองเราเข้าสู่ยุคทมิฬที่ไม่ควรฮึกเหิม…ควรมองไปข้างหน้าให้ไกล ใจเย็น และต่อสู้ด้วยอุดมการณ์ เราจะเติบโตไปด้วยกัน…ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น”
นี่จึงคือความหวังอันสูงสุดตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่เรียนรู้โลกกว้างอย่างชัดแจ้งและถ่องแท้ได้หวังเอาไว้ เป็นความหวังที่หยั่งลึกอยู่ในจิตใจที่ต้องเผชิญกับภาวะล้มคว่ำล้มหงายอยู่บ่อยครั้ง…กระทั่งเป็นความสิ้นหวังดั่งวันนี้… ความงามของ “ดอกไม้บาน” ทางความคิดได้ถูกหว่านโปรย และสรรสร้างแล้ว แต่สถานะแห่งความไม่เท่าเทียมในการเรียนรู้…ผสานเข้ากับอำนาจแห่งเจตจำนงอันชั่วร้ายที่ไม่เคยตายดับสูญ… ก็เป็นดั่งผีร้ายที่ฆ่าไม่ตายและยอมจำนนเสียที..!
“ดอกไม้งาม”ในความหมายของ “เสรี พงศ์พิศ” จึงคือสัญญะอันลึกล้ำที่จักต้องขุดค้นสู่รากเหง้าแห่งธารสำนึกของความประจักษ์แจ้ง…ตัวอย่างข้อคิดจากบรรดาหนังสือ ภาพยนตร์ อุบัติการณ์แห่งชีวิตของปราชญ์นานาที่เป็นข่ายใยซ้อนซับของหนังสือเล่มนี้… นับเป็นทางเลือกของศรัทธาผ่านแก่นแกนขององค์ความรู้ในส่วนขยาย ที่จะทำให้เราในฐานะ “พลเมืองไทย” ได้สะดุดกับทางออกแห่งบรรณาการของปัญญาญาณอันสูงสง่าที่จะเอาชนะอำนาจเถื่อนอันมืดดำและไร้กุศลธรรมธรรมนั้นได้…
“…บ้านเมืองต้องการผู้นำทางปัญญา เราไม่มีอาวุธไปสู้กับอำนาจ เรามีแต่ปัญญาเท่านั้นที่จะเอาชนะกระบอกปืนได้ เรายังไม่แข็งแกร่งพอ…เราแบ่งหน้าที่กันดีกว่า มีคนที่นำการต่อสู้ที่นี่ เพื่อนเรามากมาย ที่ไม่มีโอกาสได้ไปเรียนต่อ เขาก็ทำหน้าที่ของเขา เราทำหน้าที่ของเรา วันหนึ่งเราจะกลับมาร่วมกับเขา”