“ตลาดนัดสีเขียว” สุรินทร์ ประชาธิปไตยที่กินได้

“ตลาดนัดสีเขียว” สุรินทร์ ประชาธิปไตยที่กินได้
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒​ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: บ้านเมืองเรื่องของเรา
Column: Our Country Is Our Business
ผู้เขียน: สนั่น ชูสกุล

e-shann13_บ้านเมืองเรื่องของเรา

ตลาดนัดสีเขียว คือเครื่องมือสำคัญ เป็นพื้นที่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ถูกนำร่องทดลองตั้งขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น สงขลา เชียงใหม่ ขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ ยโสธร ส่วนมากจะจัดตั้งอยู่ในพื้นที่สาธารณะของเมือง เช่น หน้าที่ว่าการอำเภอ สนามหน้าองค์การบริหารส่วนจังหวัด หอนาฬิกา สวนสาธารณะ ด้วยความคำนึงว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากที่ต้องการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ แต่ไม่สามารถเข้าถึงได้ และสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็มีราคาแพง ในขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเมื่อผลิตแล้วไม่มีที่ขาย กระบวนการจะไปไม่ได้

เมื่อพูดถึงระบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ตลาด” ในสำนึกของชนชั้นชาวนานั้น มันย่อมหมายถึงที่ที่เขาเอาของไปขายในราคาที่พ่อค้ากำหนด ด้วยการตีคุณภาพและชั่งตวงด้วยเครื่องมือของพ่อค้า พร้อม ๆ กับตลาดเป็นที่ที่เขาไปซื้อสินค้าที่ราคาสินค้าสุดแต่พ่อค้าจะกำหนด

พื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม กำหนดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และซื้อขายกันโดยตรงโดยไม่มีพ่อค้าคนกลาง และสินค้าในตลาดแห่งนี้ต้องเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปลอดสารพิษ เท่านั้น

พื้นที่ตลาดสีเขียวจึงเหมือนองค์กรเครือข่ายหนึ่งของเกษตรกรผู้ผลิต และผู้บริโภคในเมือง ซึ่งมีความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพ รวมทั้งองค์กรประชาสังคมอื่น ๆ ที่มีความเชื่อความศรัทธาตรงกันที่จะสร้างให้ที่นี่เป็น “พื้นที่ส่วนรวม” อันแสดงออกถึงความเข้มแข็งความน่าอยู่ของเมือง

ทางฝ่ายผู้ผลิตก็มีองค์กรที่แข็งแรงของตัวเองมีระบบการรวมกลุ่มส่งเสริมสนับสนุนกัน ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล และเครือข่ายในระดับจังหวัดรวมทั้งระบบความสัมพันธ์กับเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ พวกเขาฉลาดที่จะประสานความร่วมมือและประสานทรัพยากรจากองค์กรท้องถิ่น อย่าง อบต. อบจ. เป็นต้น ในการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการผลิตเมื่อดำเนินการตลาดนัดสีเขียวเกษตรกรที่รวบรวมผลผลิตของตนและเพื่อนบ้านมาวางขาย ก็จะเป็นสมาชิกของกลุ่มผู้ค้าที่จะมีกระบวนการสนับสนุนการดูแล การควบคุมในหมู่เดียวกัน เช่นมีการเก็บค่าวางแผงขายสินค้ามาจัดทำเป็นกองทุนเพื่อใช้ในการจัดการกลาง เพื่อการจัดประชุมและกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนั้น เขาได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นในหมู่สมาชิกเพื่อช่วยเหลือกันในเรื่องเงินทุนเพื่อการผลิตและการจัดสวัสดิการ

มีการจัดตั้งคณะกรรมการตลาดนัดสีเขียวขึ้นมา โดยมีองค์ประกอบจากผู้ผลิต ผู้บริโภค องค์กร ภาคประชาสังคม สถาบันวิชาการ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น พาณิชย์จังหวัด สาธารณสุข เกษตร เป็นต้น ในนั้นมีฝ่ายที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องที่สำคัญคือ ฝ่ายตรวจสอบคุณภาพสินค้าฝ่ายทะเบียน ฝ่ายสถานที่และรักษาความสะอาด

ที่ตลาดนัดสีเขียวเมืองสุรินทร์ ซึ่งจัดตั้งมาตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๔๖ นับได้ ๑๐ ปีเต็ม ๆ ผู้เกี่ยวข้องได้ร่วมสรุปบทเรียนการดำเนินงานกันมาทุกระยะ เขาเริ่มจัดตั้งตลาดขึ้นทำการทุกวันเสาร์ที่สวนสาธารณะกลางเมือง และย้ายมาอยู่ที่สนามหน้าสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดในปัจจุบัน

ข้อสรุปสำคัญที่สุดก็คือ ตลาดนัดสีเขียวหรือตลาดท้องถิ่นเป็นทางเลือกสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรรายย่อยที่ทำเกษตรอินทรีย์อยู่ได้ รายได้สัปดาห์ละ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท หรือมากกว่านั้นของครอบครัวหนึ่งสามารถพยุงชีวิตให้ครอบครัวอยู่ได้ สามารถหมุนหนี้ที่เกิดขึ้นบนความจำเป็นของชีวิตได้ทัน มีเงินออมเงินเก็บเป็นสวัสดิการของชีวิต ลูกหลานของพวกเขายังได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิต การจัดการผลผลิตและการขายสินค้าของพ่อแม่อย่างแข็งขัน แรงงานที่เคยอพยพไปหากินต่างถิ่นจำนวนไม่น้อยเริ่มทยอยกลับมาบ้าน เลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงไก่ เลี้ยงจิ้งหรีด ปลูกพืชผัก วันเสาร์ก็เดินทางเข้าเมืองไปตลาดนัดสีเขียวและเขาพบกับความสุขความสบายมากกว่าการทำงานอยู่ในโรงงานอย่างมากมาย

สำหรับคนจน คนไร้ที่ดิน ส่วนหนึ่งได้รับความเผื่อแผ่จากเพื่อนบ้านให้ใช้ที่ดินแปลงเล็ก ๆ ในการผลิต และไกลออกไปจากหมู่บ้านมีพื้นที่ป่าชุมชนที่เขาสามารถเก็บเกี่ยวพืชผัก ไข่มดแดง แมลงต่าง ๆ ห่างออกไปอีกมีห้วยหนองคลองบึงที่เขาสามารถ
หาจับสัตว์น้ำได้ ผลิตผลจากพื้นที่ส่วนรวมคือป่าและแหล่งน้ำนั้นถูกนำไปสู่พื้นที่ส่วนรวมในเมืองคือตลาดนัดสีเขียว เพื่อเลี้ยงดูคนจนคนด้อยโอกาสให้อยู่รอดได้ และเป็นคำตอบที่ตรง ๆ ง่าย ๆ ว่าเขาต้องหวงแหนดูแลระบบนิเวศท้องถิ่นให้สมดุลยั่งยืน เพราะมันเป็นฐานการอยู่รอดของชีวิตของเขา

ตลาดนัดสีเขียวให้คำตอบอย่างหนักแน่นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างหน่วยจัดการ “เศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น” ด้วยการวางแผนการผลิตเพื่อการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นกันเอง ไม่ต้องพึ่งสินค้าที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่เดินทางมาไกล สิ้นเปลืองพลังงานและไม่ปลอดภัย และผลประโยชน์ส่วนเกินต่าง ๆ ก็หมุนเวียนอยู่ในท้องถิ่น

ในส่วนของผู้บริโภคก็สามารถซื้อหาพืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ที่สด สะอาด ปลอดภัย ที่ผลิตจากแปลงเกษตรอินทรีย์และเก็บเกี่ยวจากป่าและห้วยหนองคลองบึง เวลาผ่านไป พวกเขากลายเป็น “ขาประจำ” ของตลาดนัดสีเขียว ที่นัดใดหนึ่งที่เขาหายไปผู้ขายจะคิดถึงเขา เป็นความสัมพันธ์ที่ไปไกลกว่าความเป็นตลาด ปีละหนสองหนพวกเขาจะได้มีโอกาสนั่งรถไปเยี่ยมครอบครัว แปลงผักคอกสัตว์ของผู้ผลิตถึงในหมู่บ้าน มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สังสรรค์บันเทิงระหว่างกัน ในส่วนของผู้บริโภคนี้มีการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายผู้บริโภคด้วย แต่ไม่มีรูปการจัดตั้งที่เป็นระบบเท่ากับฝ่ายองค์กรผู้ผลิต

จากระบบความสัมพันธ์ในตลาดนัดสีเขียวเชื่อมโยงไปสู่โครงการ “ขยะยิ้ม” มีการหาอาสาสมัครจากชุมชนเมืองจัดการแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง แยกขยะแห้งไปใช้ใหม่ ไปขาย และขยะเปียกจากเศษอาหารจะถูกหมักเป็นน้ำหมักชีวภาพ และจะถูกขนไปสนับสนุนแก่เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในชนบท กระบวนการนี้ถูกทำนำร่องใน ๓๐-๔๐ ครอบครัวของผู้บริโภคมาระยะหนึ่ง และกำลังขยายสู่พื้นที่ขุมชนอื่น ๆ ในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ในปัจจุบัน นี้เป็นการเชื่อมโยงไปสู่การวางแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศเมืองเชื่อมกับชนบทได้อย่างมีพลัง และน่าจะเป็นคำตอบของอีกหลาย ๆ เมืองในอนาคตที่จะบอกการอยู่รอดร่วมกันอย่างยั่งยืนทั้งของคนหลายกลุ่มหลายชนชั้นและสิ่งแวดล้อมในสถานการณ์ใหม่ ทั้งจะเป็นระบบที่ทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงคุณค่าของตนเองที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างเท่าเทียมมีศักดิ์ศรี

ตลาดนัดสีเขียว เป็นพื้นที่แห่งการพบปะแลกเปลี่ยน ไปมาหาสู่ของคน เช่นนี้มันจึงเป็นพื้นที่ทางสังคมที่มีปฏิสัมพันธ์ชนิดต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ในความเป็นพื้นที่ทางโอกาสการทำกินของคน ผู้ค้าผู้ขายที่ “ไม่อินทรีย์” สารพัดชนิดก็จะเข้ามาขอร่วมส่วนด้วย มีความพยายามที่จะจัดการปัญหานี้ แต่ก็สามารถทำได้แค่กันพื้นที่ไม่ให้ปนกันเท่านั้น ผู้ที่จะผลักดันการจัดตั้งตลาดนัดสีเขียวพื้นที่ต่อไปต้องคำนึงถึงความลำบากใจประการนี้ไว้อย่างสำคัญส่วนสินค้าทางเลือกที่อยู่ในประเภทกลาง ๆ เช่นผ้าไหมของชาวบ้าน สินค้าโอท็อป สินค้าหัตถกรรมต่าง ๆ ก็ควรกำหนดท่าทีกันอีกแบบหนึ่ง

ตลาดนัดสีเขียวกลายเป็นพื้นที่จัดงานเสวนาทางวิชาการ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นที่ชุมนุมเพื่อขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะสำคัญของท้องถิ่น เช่น ด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการชุมนุมสร้างข้อเสนอทางการเมือง เหล่านี้เป็นชีวิตชีวา เป็นชีพจรของเมือง ที่เกิดและคลี่คลายไปพร้อมกันอย่างกลมกลืนกับความเป็นตลาดนัดสีเขียว

ถึงวันนี้ ตลาดนัดสีเขียว ในหลายพื้นที่/จังหวัด ได้กลายเป็นพื้นที่สัญลักษณ์ของเมือง ที่หลายองค์กรหลายหน่วยงานได้เกิดความภูมิใจและการอธิบายผลงานของตน-ซึ่งในตลาดนัดแห่งนี้ที่มีมิติที่กว้างขวางมาก ทุกหน่วยงานสามารถเข้ามาสนับสนุนและสร้างผลงานของตนเองได้มากมาย และตลาดนัดสีเขียวกำลังขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง สู่การจัดตั้งในระดับอำเภอ ตำบลอย่างเช่นที่จังหวัดสุรินทร์ มีการขยายจากระดับจังหวัดสู่ระดับอำเภอแล้วไม่น้อยกว่า ๖-๗ แห่งและยังมีการจัดตั้งตลาดสีเขียวที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีก ๑ แห่ง

แต่ในบทความนี้ ขออธิบายว่าในสถานการณ์ที่ภาคเกษตรกรรมไทยกำลังอยู่ในฐานะเป็นเบี้ยล่างและถูกกลืนกินจากระบบเกษตรเคมี โดยการผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลทางการเมืองคับประเทศและคับโลกอยู่นี้ ตลาดนัดสีเขียวเป็นเครื่องมือสำคัญหนึ่งที่จะต่อกร ต่อสู้ ต่อรองกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่ผูกขาดด้วยการสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งตนเอง-พึ่งกันเองในระดับท้อง
ถิ่น และถ้าจะมองในมิติทางการเมือง เครือข่ายตลาดนัดสีเขียวนี้ก็คือองค์กรที่แสดงออกของอำนาจต่อรองของคนฐานล่างของสังคมและผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบรุ่นใหม่อย่างเช่นผู้บริโภค เป็นประชาธิปไตยที่กินได้ ประชาธิปไตยทางตรง หรือการเมืองภาคประชาชนก็สุดแล้วแต่จะอธิบาย ในมิติด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม มันก็เป็นทางเลือกทางรอดอย่างแจ่มชัดอยู่ในตัวแล้ว

เกษตรกรรายย่อยบ้านเรามีจุดแข็งอยู่ที่ยังเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต (แปลงเล็ก ๆ) อยู่ในฐานทรัพยากรส่วนรวม เช่น ป่าชุมชน ที่ดินสาธารณะแหล่งน้ำชุมชน เขาสะสมประสบการณ์ทั้งความสำเร็จและล้มเหลวในการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์มาชั่วชีวิต เทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์นั้นไม่ใช่เรื่องยากเกินการคิดค้น ก้าวผ่าน ของเกษตรกรบ้านเราเพียงแต่ต้องมีปัญญาชนท้องถิ่นเป็นพี่เลี้ยงที่เข้าใจสนับสนุนเขาอย่างจริงใจ ถูกทาง คำนึงถึงเงื่อนไของค์ประกอบแห่งความเป็นไปได้ทั้งกระบวนการ

อย่าลืมว่า ๗๐ เปอร์เซ็นต์ของอาหารในโลกนี้เป็นอาหารที่ผลิตโดยเกษตรกรรายย่อย โดยที่ผลผลิตส่วนใหญ่มาจากชาวนาชาวไร่ที่ทำการเกษตรในชนบท, มาจากการล่าสัตว์และเก็บของป่า และมาจากการทำการเกษตรในเขตเมือง ตามลำดับ ถ้าเขาสามารถจัดตั้งตัวเองด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม ความเป็นธรรมก็จะเกิดขึ้นได้ พร้อมกับความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทั้งด้านสุขภาพ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคมการเมือง

เราไม่สามารถฝากความหวังในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืน แก่ประชากรของเราไว้กับบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ได้เลย ปัจจุบันบริษัทด้านเกษตรที่ลงทุนทำการเกษตรแบบอุตสาหกรรม ได้ประสบความล้มเหลวในภารกิจผลิตอาหารคุณภาพดีในปริมาณที่เพียงพอไปแล้วอย่างสิ้นเชิง เพราะพื้นฐานของบรรษัทเกษตรและอาหารเหล่านี้คือการหากำไร ดังนั้นอาหารที่บรรษัทผลิตขึ้นนั้นจะไม่ไหลเวียนผ่านพื้นที่ที่มีความยากจน และความหิวโหย แต่จะเดินทางไปสู่พื้นที่ที่มีความมั่งคั่งและเหลือเฟือตามแรงเหวี่ยงของเงินตรา ทำให้ประชากรส่วนมากของโลกเข้าถึงอาหารได้ยาก ธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่ซึ่งถือเอาการค้าการส่งออกเป็นอาชีพหลัก จึงมีแนวโน้มที่จะผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงสัตว์ ผลิตเอทานอลเพื่อแทนน้ำมันรถยนต์ และปลูกพืชผลเกษตรอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารโดยตรง

ข่าวที่น่าดีใจสำหรับผู้เขียนก็คือ ที่นั่น ที่โน่นกำลังมีปัญญาชนท้องถิ่น นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวสังคม กลุ่มเกษตรกรรายย่อย และหน่วยงานราชการที่ก้าวหน้า มีวิสัยทัศน์ กำลังเรียนรู้ และวางแผนจัดตั้ง “ตลาดนัดสีเขียว” ให้กระจายไปทุกมุมเมือง

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com