ตอนที่ 3 จากตำนานสู่สถานการณ์จริง

ตอนที่ 3 จากตำนานสู่สถานการณ์จริง

ตอนที่แล้ว เราได้ซึมซับตำนานแห่งความแห้งแล้งของภาคอีสานว่าเล่าขานกันมาอย่างไร ใครเป็นผู้เกี่ยวข้องในตำนานในแต่ละช่วง คราวนี้ลองมาพิจารณาสภาพของความเป็นจริงในปัจจุบันดูว่าอีสานแห้งแล้งจริงหรือไม่? สภาพ, ข้อมูล, สถิติ, ตัวเลขต่าง ๆ ที่มีอยู่ มันก็ได้สะท้อนปัญหาอย่างชัดเจนว่า การแก้ปัญหาทั้งภัยแล้งและปัญหาน้ำท่วมภาคอีสาน นอกจากแก้ไขกันไม่ได้แล้ว ดูเหมือนปัญหามันจะทวีคูณหนักหนาขึ้นทุกวันด้วยซ้ำ

            ยิ่งสถานการณ์ ณ วันนี้ ก็ขอบันทึกเอาไว้ให้เป็นประวัติศาสตร์ เพื่อเพิ่มเติมตำนานความแห้งแล้ง เพื่อตอกย้ำความล้มเหลวในการพัฒนาและเพื่อยืนยันให้เห็นการบริหารจัดการที่ผิดพลาดตลอดมา

            ผู้เขียนเขียนต้นฉบับนี้ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นช่วงของวันเวลาที่จะถูกบันทึกว่าได้เกิดวิกฤติภัยแล้งอย่างแสนสาหัสที่ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน ลุ่มน้ำโขงแห้งขอดที่สุดในรอบ ๑๐๐ ปี เขื่อนอุบลรัตน์ น้ำน้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมา เหลือน้ำก้นอ่างอยู่แค่ ๔๐๐ กว่าล้านลูกบาศ์กเมตร เป็นน้ำฉุกเฉินที่จะกันเอาไว้เพื่อผลิตแค่น้ำประปา และปล่อยนิดหน่อยเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำพองเท่านั้น ถ้าฝนไม่ตกลงมาเลยกว่าจะถึงฤดูฝน ๑ กรกฎาคม ก็ไม่รู้ว่าสถานการณ์จะวิกฤติขนาดไหน

            การเกิดภาวะเอลนินโญ่ ที่เกิดภาวะความแห้งแล้งที่ยาวนาน บวกกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก, การกั้นเขื่อนแม่น้ำโขงของจีนและลาว ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างเป็นปัญหา อ้างแล้วก็ดูเหมือนได้แก้ผ้าเอาหน้ารอด เป็นฤดู ๆ ไป จริง ๆ แล้วถ้าย้อนดูตั้งแต่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อ ปี ๒๕๐๔ มาจนถึงปัจจุบันก็เป็นเวลากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยควรจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์แบบกันได้แล้ว

            กรมชลประทานคือ หน่วยงานหลักที่ตั้งกันมา ๑๐๐ กว่าปี ถูกสถาปนาจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ คือ กรมทดน้ำ   ในอดีต มีภาระหน้าที่หลักในการบริหารจัดการน้ำ ใช้เงินมากมายมหาศาลในแต่ละปี ทั้งขุดลอกก่อสร้างเขื่อน, เหมืองฝาย, จนเต็มพื้นที่ในแต่ละลุ่มน้ำ แต่กว่าประเทศไทยจะสรุปว่า การบริหารจัดการน้ำมีปัญหาทั้งระบบ, โครงสร้าง, กฎหมาย, ไม่พัฒนาเป็นระบบลุ่มน้ำ, ไม่มีแผนบูรณาการ, ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม, ท้องถิ่นไม่มีอำนาจบริหารจัดการ สรุปยาก…ความรู้สึก…มันช้าเสียเหลือเกิน เราล้มเหลวกันมาเป็น ๑๐๐ ปีแล้วหรือนี่ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

            เราต้องมีคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้ง ๒๕ ลุ่มน้ำหลักปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการทำให้เป็นระบบ ซิงเกิ้ล คอมมานด์ โดยมีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นประธานหัวโต๊ะด้วย…นอกจากนั้นเราจะต้องมีเครื่องมือที่ดีและวิเศษ คือ มีกฎหมาย พรบ.น้ำ ด้วยการจัดเก็บค่าใช้น้ำ เพื่อนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนในการบริหารจัดการน้ำต่อไป…ฟังแล้ว…เห็นแล้ว ก็เหมือนกรอบและทิศทางในการบริหารน่าจะดีขึ้นกว่าเดิม

            แต่ผู้เขียนก็พยายามเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้าง, ระบบและกฎหมายที่เกิดขึ้นใหม่ ดูเหมือนยังกั๊ก ๆ ติด ๆ ขัด ๆ กันอยู่ในหลาย ๆ บริบท และในหลาย ๆ ขั้นตอน จริง ๆ แล้วการประกาศจัดตั้ง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) โดย ม.๔๔ ของคณะ คสช. เมื่อสองปีที่แล้ว มันน่าจะทำได้กระชับเบ็ดเสร็จเด็ดขาดกว่านี้ เพราะเป็นการใช้กลไกอำนาจพิเศษในขณะนั้น พลาดไปอย่างน่าเสียดายอย่างยิ่ง

            ถ้าวันนั้น ม.๔๔ ประกาศจัดตั้ง “กระทรวงน้ำ” ไปเลย แนบท้ายประกาศให้มีการโอนย้ายหน่วยงาน, กรม, กอง ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำทั้งหมด มาอยู่ในกระทรวงเดียวกัน โดยเฉพาะกรมหลัก ๆ คือ กรมชลประทาน, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กรมพัฒนาที่ดิน, กรมเจ้าท่า, กรมอุตุนิยมวิทยา, งานบางส่วนของกรมป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ของมหาดไทย เป็นต้น เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ, ลดความซ้ำซ้อน, ประหยัดงบประมาณก็ให้เสียดายเวลาและโอกาส เพราะจนป่านนี้เราก็ยังไม่เห็นบทบาท, หน้าที่ที่ชัดเจนของคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่จะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องภัยแล้ง และน้ำท่วมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้

            มิหนำซ้ำยังเห็นวัฒนธรรมองค์กร เห็นอัตตาตัวตนของระบบราชการแบบเดิม ๆ เก่า ๆ กันอยู่ คือ กอดหน้าที่เดิม บทบาทเก่าของตัวเอาไว้ ไม่ยอมบูรณาการและปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ประกาศจัดตั้งตาม ม.๔๔

            แม้แต่วันนี้ กระบวนการสรรหาคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทั้ง ๒๒ ลุ่มน้ำ ตามที่แบ่งกันใหม่ ก็ยังไม่มีกระบวนการสรรหา กฎหมายลูกต่าง ๆ ที่จะต้องออกตาม พรบ.น้ำ ก็ยังล่าช้าผิดปกติ คณะทำงานลุ่มน้ำสาขาก็ยังเฝ้ารอความชัดเจนว่า พวกเขาจะยังอยู่ในกระบวนการบริหารจัดการน้ำหรือไม่ ปัญหาเหล่านี้ถ้าฝ่ายนโยบายไม่เร่งรัดและกระชับในการสั่งการ ปัญหาและสถานการณ์มันก็จะยิ่งทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ จนยากที่จะตามทันและแก้ปัญหาได้

            นโยบาย, โครงสร้าง, ระบบกฎหมายและเครื่องมือที่ดีเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดเอกภาพและประสิทธิภาพสูงสุด และผู้เขียนเองก็ยังมั่นใจเต็มเปี่ยม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่า การบริหารจัดการน้ำที่ถูกต้องสมบูรณ์แบบนั้นจะต้องยึดปรัชญาให้คนใกล้ที่สุดดูแล บริหารจัดการ เพราะเขารู้ปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาได้ดีที่สุด

            นั่นคือกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นหรือ อปท. ทั้งหมด ให้มีทั้งอำนาจ, งบประมาณ, เครื่องมือ, บุคลากร อย่างเพียงพอ พร้อมทั้งเปิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน, ชุมชน ในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการ ให้เข้ามามีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ให้การอบรม, ให้การศึกษา สร้างจิตสำนึกในการเป็นเจ้าของดิน, น้ำ, ป่า อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะเยาวชนของชาติมีความสำคัญที่สุด เพราะพวกเขาจะต้องโตมาเพื่อร่วมกันบริหารทรัพยากรท้องถิ่นของตัวเองให้คุ้มค่า และยั่งยืนที่สุด

            ปัญหาที่ได้เกริ่นมานี้ เป็นปัญหาเฉพาะของประเทศของเรา ปัญหาของจุดหนึ่ง แน่นอนที่สุดว่ามันจะต้องขยายเกี่ยวโยงไปสู่ปัญหาในระดับใหญ่ขึ้น มันคือปัญหาในระดับภูมิภาคหรือเป็นผลกระทบข้ามพรมแดนนั่นเอง รัฐกะเหรี่ยงในพม่าเผาป่า ควันพิษก็ลอยมาถึงเชียงใหม่ รัฐฉานตัดป่า บุกร้างถางพงมาก ตลิ่งแม่น้ำโขงก็พังทลาย จีนปิดเขื่อน ๕ – ๖ เขื่อนพร้อมกัน น้ำโขงก็มีส่วนแห้งขอด หรือแม้แต่น้ำพองเน่า ระบายลงสู่น้ำชี, น้ำมูล และลงสู่น้ำโขง ปลาน้ำโขงที่แขวงสาละวัน ประเทศลาว ก็พลอยตายไปด้วย เป็นต้น

            ฉะนั้นกรอบความร่วมมือในระดับภูมิภาค หรือระดับภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทั้ง ๖ ประเทศ ก็ต้องมีกรอบ มีข้อตกลงร่วมกัน เพราะที่ผ่านมาถึงแม้จะมีกรอบ GMS และกรอบ MRC ที่ถือปฏิบัติกันอยู่ก็เป็นกรอบหลวม ๆ ที่ไม่มีผลผูกพันในการปฏิบัติในแต่ละประเทศ

            มหาอำนาจอย่างเช่นจีน ก็ยังเป็นผู้ถือดุลหลักหรือเป็นลูกพี่ใหญ่ในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง การอนุญาตให้จีนระเบิดเซาะร่องน้ำลึกต่อจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ผ่านพรมแดนไทย – ลาว ไปยังหลวงพระบาง เพื่อให้เรือระหว่างขนาด ๕๐๐ ตัน เดินเรือผ่านได้, การเข้ามาสัมปทาน และประมูลสร้างเขื่อนในพม่าและสปป.ลาวของจีน อย่างมากมาย ก็ล้วนแล้วแต่จะสร้างปัญหาอีกมากมายตามมา

            ๕ ประเทศข้างล่างในลุ่มน้ำโขงจำเป็นจะต้องมีจุดยืนร่วมกัน มีความเป็นเอกภาพในการต่อรอง นั่นก็คือเพื่อร่วมกันจัดทำกรอบความร่วมมือใหม่ที่เคารพสิทธิ์, เสมอภาค, เกิดผลประโยชน์ร่วมกันอย่างไพบูลย์ ทั้ง ๖ ประเทศในลุ่มน้ำโขง

Related Posts

มรดกวัฒนธรรมพิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน
ปิดเล่ม ทางอีศาน 94
ยังไม่ล้าง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com