แรงบันดาลใจสำหรับผู้เขียนเป็นนิยายที่ชื่อเรื่อง คำพิพากษา ของนักเขียนซึ่งได้ซีไรต์ชายสองสมัยซ้อน ชาติ กอบจิตติ คนสมุทรสาครเช่นเดียวกับผู้เขียน
เนื้อหามีไอ้ฟักเป็นตัวเอกของเรื่อง ชายหนุ่มผู้มีชีวิตที่ยากลำบากและตายไปด้วยความเดียวดาย ชีวิตที่ต้องทน ตกอยู่ในคำพิพากษาของมนุษย์ด้วยกัน เพียงเพราะชายหนุ่มเป็นคนที่ไม่พูดว่าความจริงที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร นิ่งเงียบรอให้ปรากฏ ซึ่งในความจริงแล้วเรื่องบางเรื่องการนิ่งเงียบทำให้เกิดความเสียหายแก่ตนเอง บางทีก็ต้องลุกขึ้นสู้กับเรื่องที่เข้ามาในชีวิตด้วยการยืนยันจากปากของเราเอง
ผู้เขียนเองก็การอ่านเรื่องคำพิพากษาเหมือนกับเป็นสิ่งเตือนใจว่าอย่าปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปอย่างเสียเวลาเปล่า ไม่อยู่ไปวันต่อวัน แต่ทำทุกวันให้มีคุณค่า เรื่องนี้จะได้มุมมองใหม่ทุกครั้งที่ได้อ่าน ไม่เชื่อลองดูเลยแล้วจะรู้ว่าสนุกและร้องไห้ไปด้วยตั้งแต่ต้นจนจบ
อยากจะเล่าเรื่องชุมชนที่นักเขียนอย่าง ชาติ กอบจิตติ เกิดว่าเป็นชุมชนแบบไหนและเป็นอย่างไร
ชุมชนบ้านบ่อ หรือตำบลบ้านบ่อ เป็นชุมชนหนึ่งใน 40 ตำบลของจังหวัดสมุทรสาคร ตำบลขนาดเล็กที่พัฒนาเป็นชุมชนที่มีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวมาหลายสิบปี มีร้านอาหารในท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อว่ามีอาหารทะเลสด กุ้ง หอย ปู ปลาที่มาจากท้องถิ่น มีการทำประมงพื้นบ้าน ทำนาเกลือ ขายเกลือ ซึ่งชาติ กอบจิตติ เขียนไว้ในเรื่องสั้นกึ่งนวนิยายเรื่องแรกที่ชื่อว่า “ทางชนะ” ในปี 2522 ซึ่งมีเรื่องการค้าขายเกลือ พื้นที่ติดกับทะเลอ่าวไทย มีรีสอร์ทให้พักผ่อนเที่ยวชมดูหิ่งห้อยได้ทุกคืน แม้หิ่งห้อยจะน้อยลงแล้วก็ตาม แต่ถ้าเป็นนักอ่านหนังสือตัวยงต้องเคยอ่านเรื่อง “คำพิพากษา” ที่เขียนเป็นนวนิยายในอันดับ 3 ในปี 2525 ผ่านมาถึง 36 ปี แต่เนื้อหาในเรื่องก็ยังตราตรึงต่อผู้อ่านเสมอ
หนังสือนวนิยาย คำพิพากษา นักเขียน ชาติ กอบจิตติ
คลองสุนัขหอน ตำบลบ้านบ่อ ในยามค่ำคืนเงียบสงบเหมือนกับเวลาหนึ่งในนวนิยาย “คำพิพากษา”
ชาติ กอบจิตติ จะเล่าเรื่องภูมิประเทศขนบธรรมเนียบของท้องถิ่นบางส่วนแทรกซึมมาจากชุมชนผ่านกลิ่นไอของหนังสือ ผ่านงานเขียนไม่ว่าจะเป็นงานวัดงานบุญต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในเนื้อเรื่องในนิยายได้อย่างเหมาะสมตรงไปตรงมาสมกับรางวัลซีไรต์ เป็นงานเขียนที่ผู้เขียนจะอ่านทุกปีเป็นเครื่องเตือนใจว่าการใช้ชีวิตไม่ควรประมาท เป็นแรงบันดาลใจของคนเขียนรุ่นใหม่ เป็นหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่ง ใช้เป็นงานเขียนชั้นครูของนักเขียนหัดใหม่ทุกคน
ชาติ กอบจิตติ เรียนประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดใหญ่บ้านบ่อ และโรงเรียนเอกชัยจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงได้เข้าไปเรียนหนังสือที่กรุงเทพมหานคร เขาอยากจะเรียนศิลปะก็เลยไปเข้าเรียนที่วิทยาลัยเพาะช่างจนจบอนุปริญญาตรี และไม่ได้เรียนต่ออีกเนื่องจากการอยากทำงาน และครั้งหนึ่งชาติกลับไปอยู่บ้าน คุณพ่อถามว่าอยากเรียนหนังสือต่อหรือไม่ พ่อจะได้ส่งให้เรียน ชาติตอบว่า เขาขอทำงานแล้วค่อยเรียนต่อดีกว่า โตเป็นหนุ่มแล้วไม่อยากจะพึ่งพาครอบครัว ในฐานะของความเป็นพี่ชายคนโตของบ้าน ชาติปฏิเสธพ่อไปด้วยความรู้สึกเต็มตื้นในหัวใจและยังคงคิดถึงพ่อซึ่งเป็นต้นแบบเสมอ : ข้อมูลจากงาน 30 ปีพันธุ์หมาบ้า วันที่ 1 ธันวาคม 2560
เมื่อไปที่ไหนและสัมภาษณ์ที่ใดชาติ จะบอกใคร ๆ เสมอว่าเขาเกิดที่ตำบลบ้านบ่อ จังหวัดสมุทรสาคร และนำชื่อเสียงมาสู่จังหวัดสมุทรสาครอย่างมากมายในนาม “ชาติ กอบจิตติ” นักเขียนซีไรต์ และศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2547 เกิดและเติบโตขึ้นมาเห็นพ่อแม่ทำอาชีพค้าขายเกลือ ทำนาเกลือมาตั้งแต่บรรพบุรุษ คลองสุนัขหอนเป็นสิ่งหนึ่งที่ซึมลึกกับการใช้ชีวิตของนักเขียนรุ่นใหญ่วัย ๖๔ ปีท่านนี้
“คลองสุนัขหอน” หรือคลองหมาหอนไหลผ่านชุมชนบ้านบ่อนั้นจะเป็นสิ่งหนึ่งที่หล่อหลอมชีวิตของเด็กผู้ชายคนหนึ่งให้ทำอะไรเกี่ยวกับหมา ๆ ในชีวิตได้หลายอย่าง คลองสายหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ คลองที่ยาวถึง 31 กิโลเมตร มีบรรยากาศสองฝั่งเต็มไปด้วยป่าชายเลน โกงกาง แสม ประชาชนเรียกชื่อคลองว่า “คลองหมาหอน” แหล่งกำเนิดของนักเขียนผู้เป็นต้นแบบของการเขียน และผู้เขียนเชื่ออย่างมากว่า ชาติ กอบจิตติ มีแฟนนักอ่านมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
ชุมชนบ้านบ่อนั้นมี 9 หมู่บ้าน หมู่ 1 บ้านศาลเจ้าพ่อขุนโขน หมู่ 2 บ้านท้ายวัดใหญ่ หมู่ 3 บ้านคลองหลวง หมู่ 4 บ้านใหม่ หมู่ 5 บ้านใหม่ท้องคุ้ง หมู่ 6 บ้านแหลมเจริญสุข หมู่ 7 บ้านบางยี่พระ และหมู่ 9 บ้านบางขุด จากจดหมายเหตุของกระทรวงมหาดไทย วันที่ 30 ตุลาคม 2468 นั้นบ้านบ่อยังเป็นอำเภอบ้านบ่อ จังหวัดสมุทรสาคร ขึ้นกับมณฑลนครชัยศรี อำเภอบ้านบ่อเป็นชุมชนราษฎรหัวเมืองในเรื่องการค้าขาย ตอนหลังมาก็ถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอและยุบเหลือแค่เป็นตำบลหนึ่งเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2470 ในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาคร แต่ความเจริญและความรุ่งเรืองดูได้จากวัดใหญ่บ้านบ่อ มีการปลูกสร้างแบบดั้งเดิม ชุมชนบ้านบ่อจึงมีความสำคัญในด้านการค้าขายมาแต่โบราณ มีชุมชนชาวจีน ไทย มอญอยู่ร่วมกัน การเป็นชุมชนมานานมากตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงธนบุรี ในเรื่องการใช้ลำน้ำนี้หนีภัยสงครามที่พม่ามารบกับไทยตอนปลายของการเสียกรุงศรีอยุธยาเพราะครอบครัวผู้เขียนเองก็เดินทางทางเรือขนย้ายครัวมาจากจังหวัดอุทัยธานีปลายสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มาตั้งบ้านเรือนถัดจากตำบลบ้านบ่อไป คลองหมาหอนเป็นลำน้ำที่สามารถเดินทางต่อไปยังจังหวัดเพชรบุรี ลงไปยังหัวเมืองทางใต้ได้
และการขุดคลองหมาหอนมาโดยตลอดรัชกาลในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่มาเป็นที่รู้จักว่าเป็นอำเภอบ้านบ่อมาก่อนในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอและยุบเป็นตำบลหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาครนั้นย่อมมีความเจริญมาอย่างยาวนาน แน่นอนว่าการเคยเป็นตัวอำเภอมาก่อนทำให้ตำบลบ้านบ่อมีชุมชนโบราณหลากหลาย ทั้งทางเรือ ทางรถไฟ มีคนจีนที่มาจากโพ้นทะเลมาแต่งงานกับคนไทยและคนมอญ จนมีลูกออกหลานนานาเผ่าพันธุ์
วัดใหญ่บ้านบ่อ ตำบลบ้านบ่อ จังหวัดสมุทรสาคร และคลองสุนัขหอนในปัจจุบัน
คุณแม่ของ ชาติ กอบจิตติ หญิงแกร่งที่มีรอยยิ้มให้ลูกหลานเสมอ
ชาติ กอบจิตติ เองมีเชื้อสายคนจีนโพ้นทะเล และเป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธร้อยเปอร์เซ็นต์ ชุมชนบ้านบ่อมีเขตติดต่อกับตำบลบางกระเจ้าและตำบลบางโทรัด มีพื้นที่ในการทำอาชีพนาเกลือมาดังเดิม เนื้อที่ตำบลถูกตัดตรงกลางด้วยคลองหมาหอนที่เปลี่ยนชื่อเป็นคลองสุนัขหอน
ผู้เขียนจะเล่าในฐานะเป็นนักอ่าน ในฐานะเพื่อนและญาติน้ำหมึกของครอบครัวกอบจิตติ ซึ่งเป็นครอบครัวที่ใหญ่และอบอุ่น มีพี่น้องชายหญิงทั้งหมด 9 คน ชาติ กอบจิตติ เป็นลูกชายคนโต และเขามักจะเล่าถึงบรรดาพี่น้องเสมอ ชาติ มีพี่สาวที่เกิดก่อน 3 คน มีน้องชาย 3 คนและน้องสาวอีก 2 คน
ตอนนี้ครอบครัวได้ย้ายภูมิลำเนาจากตำบลบ้านบ่อมาอยู่ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร และเปิดร้านขายเสื้อผ้าชื่อ “พันธุ์หมาบ้า” สาขามหาชัย อยู่ตรงสี่แยกมหาชัย กิจการการทำธุรกิจของ ชาติ ซึ่งสามารถเลี้ยงลูกน้องและคนเกี่ยวข้องอีกมากหลายฝ่าย และมีสาขาหลายจังหวัด
ผู้เขียนจะไม่พูดถึงรายละเอียดของครอบครัวจึงขอเกริ่นไว้เพียงแค่นี้ ชุมชนบ้านบ่อยังมีแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังระดับประเทศ ผู้เขียนหวังว่าจะมีผู้อ่านสนใจไปเที่ยวกันนะคะ มาติดต่อผู้เขียนก็ได้ ยินดีต้อนรับสู่สมุทรสาคร และขอหยิบยกการกล่าวสุนทรพจน์ของ ชาติ กอบจิตติ …มาปิดท้ายสารคดีเรื่องนี้
“ในวันข้างหน้าข้างหน้า ข้าพเจ้าปรารถนาเหลือเกินที่จะเขียนงานซึ่งมีเนื้อหาสดชื่นร่าเริง และข้าพเจ้าจะเขียนอย่างเชื่อมั่น เขียนอย่างซื่อสัตย์ ถ้าโลกของเราในอนาคตเป็นโรคเช่นนั้นจริง ๆ ถ้ามนุษย์ทุกผู้ทุกนามอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ถึงตอนนั้นถ้าข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่ข้าพเจ้าของสัญญากับท่านว่า จะเลิกเขียนงานที่หดหู่อย่างเด็ดขาด แต่ในปัจจุบันข้าพเจ้าไม่สามารถเขียนงานที่บ่งบอกถึงความร่าเริงแจ่มใสของมนุษย์ได้ เพราะข้าพเจ้าไม่สามารถโกหกตัวเองและโกหกโลกของเราได้”
ชาติ กอบจิตติ
29 กันยายน 2525
โรงแรมโอเรียนเต็ล กรุงเทพมหานคร